ควีน ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ รำลึกพระบรมราชินีแห่งโลก

 

ควีน ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ รำลึกพระบรมราชินีแห่งโลก

ควีน ออฟ เดอะ เวิร์ลด์

รำลึกพระบรมราชินีแห่งโลก

Advertisement

สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ทรงจากโลกนี้ไปแล้ว แต่พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และน้ำพระราชหฤทัย พระอารมณ์ขันในพระองค์ จะคงจำหลักในพระทัย ในใจ บรรดาผู้นำ พสกนิกรในพระองค์ และชาวโลกทั้งหลายที่อยู่ร่วมในรัชสมัยในพระองค์ตลอดไป

สำนักพิมพ์มติชนได้นำงานของ โรเบิร์ท ฮาร์ดแมน นักข่าว นักเขียน และนักสร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษ วัย 57 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับงานอันมีเนื้อหาเนื่องในพระราชวงศ์ เช่นหนังสือ เอาร์ ควีน (Our Queen 2554) ควีน ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ (Queen of the World 2561) ควีน ออฟ เอาร์ ไทม์ : เดอะ ไลฟ์ ออฟ เอลิซาเบธ 2 (Queen of Our Time : The Life of Elizabeth 2 2565) เป็นต้น โดยนำเล่ม “ควีน ออฟ เดอะ เวิร์ลด์” มาพากย์ไทยโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ และคณะ เพื่อมอบความทรงจำอันดีนี้แก่ทุกผู้คนที่มีชีวิตร่วมสมัย

Advertisement

หนังสือเล่มนี้เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ ที่จะบรรยายพระราชประวัติในสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และบทบาทในแวดวงความสัมพันธ์ระดับโลก ที่ส่งให้พระองค์ทรงเป็นรัฐสตรีอันเกริกเกียรติ ทั้งยังเปิดเผยเบื้องหลัง (บีไฮน์ด เดอะ ซีน behind the scene) ตั้วแต่วิเทโศบายทางการทูต ความแยบยลในบทสนทนาระหว่างอาหารค่ำพระราชทาน กับบุคคลชั้นนำสำคัญๆ ทั่วโลก ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยที่สุด เช่น การพิจารณาเลือกสรรชุดฉลองพระองค์

ยังมีบทสัมภาษณ์ลงลึกของเอกอัครราชทูต บุคคลใกล้ชิดในพระราชวัง รวมถึงเหล่าเชื้อพระวงศ์ จากผู้เขียนซึ่งสามารถเข้าถึงบรรดาข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยของพระราชวงศ์ ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในประวัติงานด้านนี้โดยเฉพาะ และเป็นที่ยอมรับในวงการหนังสือวงการนักอ่านหรือแวดวงผู้สันทัดกรณีอย่างกว้างขวาง

หนังสือเล่มนี้พิมพ์จำนวนจำกัด โดยเปิดให้จองตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 23 กันยายนที่จะถึง ในราคา 720 บาท จากราคาเต็ม 900 บาท และจะเริ่มจัดส่งในเดือนธันวาคม ตามลำดับการแจ้งโอนเงิน

จะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าอีกเล่มในต้นศตวรรษใหม่นี้

● การสนทนาเป็นส่วนหนึ่ง ในวิถีการสืบสายชาติพันธุ์มนุษย์ เพราะเป็นการถ่ายเท แลกเปลี่ยน หักล้างและประสมประเสความคิด เพื่อการดำเนินสังคมมนุษย์ไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการประดิษฐ์ คิดค้น การอยู่กิน อยู่ร่วม ไปจนถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพราะมนุษย์มีภาษาเป็นเครื่องมือนี้เอง จึงดำรงสถานะเป็นเอกในหมู่ผู้มีชีวิตทั้งหลายได้ ไม่สูญพันธุ์ไป

คิดว่าหากไดโนเสาร์พูดได้ และยังยืนชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน โลกคงอลหม่านพิลึก แต่ใครจะไปรู้ได้ว่า ไดโนเสาร์ไม่มีภาษาของตัวเอง ก่อนอุกกาบาตถล่มโลก จนยักษ์ใหญ่ในดาวดวงนี้ไม่อาจยังชีวิตต่อลมหายใจมาได้อีกแม้ชั่วรุ่น

แต่แม้มนุษย์มีภาษาเป็นเครื่องมือ ก็ยังมีอุปสรรคหนักหนาอยู่นั่นเอง คืออวิชชา หรือการไม่ยอมเรียนรู้ กระทั่งยึดมั่นกับความรู้ผิด ไม่ยอมพิจารณามุมความเห็นที่แตกต่าง เป็นอคติที่ก่อเหตุรุนแรงถึงขนาดฆ่าฟัน โดยเฉพาะการอ้างความเชื่อ ลัทธิ มีศาสนาและการแบ่งพรรคกั้นพวกเป็นเส้นกำหนดกฎเกณฑ์

ดื่มไดอะล็อก ของนักสัมภาษณ์ซึ่งมีผู้นิยมชมชอบ ใบพัด นบน้อม ทำงานสนทนาผ่านความคิดบุคคลว่าด้วยเรื่อง การเมือง ศาสนา บันเทิง และเซ็กซ์ กับการใช้ชีวิตอย่างถึงแก่นต่างรูปแบบ เพื่อตระเวนพื้นที่ความคิดหวงห้าม ความคิดละเอียดอ่อน ในปริมณฑลนานาที่ผิดแผกกันออกไป ให้เห็นความหลากหลายของชีวิต ของผู้คน และวัตรปฏิบัติที่ไม่สามารถผูกขาดด้วยบรรทัดวัดความถูกผิดที่ประทับเอาจากผู้หนึ่งผู้ใดได้ง่ายๆ

เช่น “ทำไมข้าพเจ้าจึง(ยัง)ไม่สึก” ของพระไพศาล วิสาโล “คุยนัย-นายใน” ของชานันท์ ยอดหงษ์ “อำนาจ‘ไม่’นิยม” ของจุลจักร จักรพงษ์ “เมืองนอก เมืองใน” ของธนชัย อุชชิน “นักรบทางวัฒนธรรม” พิเชษฐ์ กลั่นชื่น “ความรักของนักเขียน” อนุสรณ์ ติปยานนท์ “ปักกลดคุยวรรณกรรม ธรรมะ เซ็กซ์” กับแดนอรัญ แสงทอง ฯลฯ เป็นตัวอย่าง

คนใจกว้างอ่านเพลิน คนใจแคบยิ่งอ่านยิ่งเพลิน เออ, ทำไมคนถึงคิดไปได้ถึงขนาดนั้น ดีที่เราไม่คิด (ฮ่าฮ่า)

● เมื่อก่อน (เอาว่าสักครึ่งศตวรรษก็แล้วกัน) นักเรียนไทยไม่ตั้งคำถาม ไม่แสดงความคิด ฟังครู จดตามคำครูอย่างเดียว จนเมื่อประเด็นดังกล่าวนี้ถูกพูดถึงกว้างขึ้น โรงเรียนประเภทสาธิตจึงเกิดขึ้นมา อย่างน้อยเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักแสดงออก (แต่มาถึงวันนี้ การแสดงออกของนักเรียนนักศึกษากลับไม่เป็นที่พึงใจของบรรดาคนสูงวัย ผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจ แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ติดเก้าอี้ไม่น้อยจำนวนหนึ่ง)

กลายเป็นสังคมประหลาดพันลึก ทั้งๆ ที่บ้านเมืองอารยะผ่านช่วงเวลานี้มาแล้วตั้งแต่สมัยกลาง หรือครั้งล่าแม่มด ห้ามพูดเรื่องโลกกลม ฯลฯ แต่สังคมนี้พอใจจะกลับย้อนไปอยู่ช่วงเวลานั้น ช่วงเวลาที่ห้ามตั้งคำถามที่เชื่อกันมา คำถามที่คนจำนวนหนึ่งฟังแล้วกินอยู่ไม่สบายอกไม่สบายใจ คำถามที่สะเทือนสถานะคนได้เปรียบ คนเอาเปรียบ ฯลฯ

อ่านหนังสือเล่มนี้แก้อารมณ์บูดเสียทางกรรมพันธุ์บ้านเมือง น่าจะดี

 

คิดแล้ว คิดอีก Think Again พลังการตั้งคำถามกับสิ่งที่คิดว่าถูกต้องของ อดัม แกรนท์ แปลโดย วิโรจน์ ภัทรทีปกร ว่าด้วยคุณสมบัติสำคัญที่สุดของมนุษย์ – การคิด (คุณสมบัติที่มนุษย์จำนวนไม่น้อย ไม่เคยใช้ในทางสร้างสรรค์) จากพื้นฐานถ้อยคำของยอดนักเขียนอมตะชาวอังกฤษ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ที่ว่า “ความก้าวหน้าเกิดขึ้นไม่ได้เมื่อปราศจากความเปลี่ยนแปลง และคนที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดของตน ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้”

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงกล่าวว่า “การคิดใหม่ (think again) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะทำให้ตัวเรา สังคม และประเทศ สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงที่กำลังถาโถมเข้ามาในทุกด้าน” เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้

อ่าน 1.คิดทบทวนรายบุคคล ปรับเปลี่ยนมุมมองให้เท่าทันปัจจุบัน-นักเทศน์ อัยการ นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ ก้าวสู่ความคิดของเรา, คนที่คิดว่าตัวเก่ง กับคิดว่าตัวไม่เก่ง หาจุดของความมั่นใจ, ความสุขจากการคิดผิด ความเร้าใจจากการไม่เชื่อทุกสิ่งที่คิด, ชมรมทะเลาะเชิงสร้างสรรค์ จิตวิทยาความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์

2.คิดทบทวนระหว่างบุคคล เปิดความคิดคนอื่น – เต้นรำกับศัตรู เอาชนะการถกเถียงและโน้มน้าวผู้อื่น, เรื่องบาดหมางในสนามเบสบอล ลดอคติด้วยการทำลายทัศนคติเหมารวม, ผู้หยั่งรู้เรื่องวัคซีน กับนักสอบปากคำผู้ละมุนละม่อม การรับฟังที่ถูกต้อง จูงใจให้คเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

3.คิดทบทวนเป็นกลุ่ม สร้างชุมชนของนักเรียนรู้ตลอดชีวิต-สนทนาแบบกระตุ้นอารมณ์ จำกัดการแบ่งขั้วโต้แย้งที่ก่อความแตกแยก, เขียนหนังสือเรียนใหม่ สอนให้นักเรียนตั้งคำถามกับความรู้, นั่นไม่ใช่แนวทางที่เราทำมาตลอด สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในที่ทำงาน

4.สรุป หนีจากมุมมองแบบอุโมงค์ ทบทวนแผนชีวิตและอาชีพการงานที่วางไว้อย่างดี – ก่อนจะถึงบทส่งท้าย ที่ทำความเข้าใจอีกครั้งกับทุกสิ่งซึ่งเรียนรู้มา

ดูแต่ละหัวข้อเรื่องแล้ว อย่างกับกำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนานในสังคมนี้ ซึ่งที่จริงล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นหนังสือที่น่าอ่าน และสมควรอ่านทบทวนแล้วทบทวนอีก

● เมื่อเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความคิดมาตั้งแต่การสัมภาษณ์สนทนา การชวนให้ช่างคิดแล้วคิดอีก จึงอยากเสนอหนังสืออีกเล่มที่ยิ่งเกี่ยวกับการใช้ความคิดและความรู้โดยตรง นั่นคือ ภาษาจักรวาล ประวัติย่อของคณิตศาสตร์ โดย อาจวรงค์ จันทมาศ นักเรียนวิทยาศาสตร์ เอกฟิสิกส์ มหิดล และจบโทจากวิชาและสาขาเดียวกันนั้น ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ – เห็นไหม เราไม่ได้มีแต่คนรักจะเต้นติ๊กต็อกให้ใครๆ ได้ดูกัน แต่ยังมีคนรักวิทยาศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาความรู้ที่จะนำพาสังคมก้าวไปข้างหน้า เช่นเดียวกับบรรดาประเทศอารยะทั้งหลายด้วย

ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยความคิดที่ว่า “คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่หลายคนอาจไม่ชอบ เวลาเรียนอาจง่วง พอใกล้สอบอาจรู้สึกเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งเพราะไม่เข้าใจที่มาที่ไปของวิชานี้ ว่ามีประโยชน์อย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร จึงตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ให้คนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หรือบุคคลที่สนใจอ่านแล้วเห็นภาพรวมของวิชานี้มากขึ้นแบบเข้าใจง่ายๆ

“เพราะไม่ว่าจะชอบคณิตศาสตร์หรือไม่ มันก็แทรกซึมอยู่รอบตัวเรา กับวิธีคิดของเราอย่างแยกไม่ออก ลองนึกถึงสังคมมนุษย์ที่นับจำนวนไม่ได้ หรือบวกลบคูณหารไม่ได้ดู อารยธรรมและกิจกรรมต่างๆ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในเมื่อทฤษฎีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้บรรยายธรรมชาติ ก็เขียนในรูปคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยจึงเชื่อว่าคณิตศาสตร์อาจเป็นภาษาที่มีความสากลที่สุดในเอกภพ อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้”

ทำไมเราต้องเรียนแคลคูลัส, ใครเป็นคนคิดการวาดกราฟ, ทำไมมุมในวงกลมมีมุม 360 องศา, กฎพื้นฐานที่ใช้สร้างเอกภพคืออะไร ฯลฯ อ่านดูให้รู้เถอะ

● พูดเรื่องความคิด เรื่องการไม่รู้จักคิด เรื่องอคติ เรื่องการต้องคิดแล้วคิดอีก การใช้ความคิดทางคณิตศาสตร์มาหลายเล่ม คราวนี้มาถึงเรื่องโรคของความคิดบ้าง โรคที่แสดงออกจนเป็นพฤติกรรมที่จำแนกเป็นลักษณะเฉพาะได้

เราอาจเคยได้ยินมาบ้างเรื่องการ “ย้ำคิดย้ำทำ” หรือที่เรียกเป็นโรคว่า “โรคย้ำคิดย้ำทำ” หรือโรค OCD (Obsessive-Compulsive Disorder อ๊อบเซสสีฟ คอมพัลสีฟ ดิสออร์เดอร์) คนเคยได้ยินแต่มักยังสับสนเกี่ยวกับอาการ โดยมองแต่ว่าเป็นนิสัยแปลกๆ การตรวจนั่นตรวจนี่ซ้ำๆ ล้างมือบ่อยๆ เดี๋ยวๆ ก็จัดข้าวของในบ้าน แต่หมอจิตเวชเห็นเป็นความเจ็บป่วยที่ส่งผลเสีย เป็นความเจ็บป่วยซึ่งพบมากที่สุดอันดับ 4 ของโรคจิตเวช อาจส่งผลยาวนานชั่วชีวิต และไม่จำแนกเชื้อชาติ ผิวพรรณ พรมแดนภูมิศาสตร์ เล่นงานผู้ป่วยจำนวนมหาศาลเป็นทุกข์มานานนับหลายศตวรรษ

อ่าน คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ของ เดวิด อดัม แปลโดย วรางคณา เหมศุกล ให้อ่านอย่างสนุกสนาน ยอดเยี่ยม เพราะผู้เขียนวิเคราะห์อย่างเฉียบแหลม มีอารมณ์ขัน (บนความทุกข์ของผู้ป่วย? ฮ่าฮ่า ล้อเล่น) เพราะเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ จากกรณีศึกษาทั้งคนดังและคนธรรมดา จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่กล่าวขวัญ และนิยมกันในหมู่ผู้อยากรู้และสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้

(นี่ไม่ใช่ตัวอย่างในหนังสือ) ถ้าเป็นแฟนเทนนิส ทุกคนคงเห็น ราฟาเอล นาดาล ที่กำลังเตรียมเสิร์ฟลูก ทุกครั้ง จะใช้มือขวาลูบจมูก แล้วทำเหมือนแหวกผมผ่านคิ้วข้างขมับขวา แล้วจับจมูกอีกที เอื้อมไปทำท่าแหวกผมผ่านคิ้วตรงขมับด้านซ้าย ทั้งๆ ไม่มีผมปรกลงมา – ย้ำคิดย้ำทำไหม

● ให้หนังสือคนชอบญี่ปุ่น รักญี่ปุ่น หรืออยากรู้เรื่องญี่ปุ่นสักเล่ม นอกเหนือจากหลายๆ แง่มุมที่คนเขียนเกี่ยวกับประเทศหมู่เกาะนี้มาแล้ว

The Ghosts of Tokyo ความฝัน แฟนตาซี และเงาของโตเกียว ให้ภาพโดย รติพร ชัยปิยะพร ที่ซอกแซกมองไปตามหลืบมุมลึกเร้นของเมืองนี้

เหตุใดเมืองนี้จึงมีเสน่ห์นัก ดึงดูดให้ผู้คนกลับไป หรืออยากกลับไปไม่รู้จบ หลายคนอาจนึกถึงความสงบท่ามกลางความวุ่นวาย นึกถึงเสน่ห์อดีตในโลกปัจจุบันที่เห็นอนาคต นึกถึง “แก่น” ของผู้คนที่เคร่งขรึม เรียบร้อย สุภาพ นึกถึงธรรมชาติ อาหาร ระบบระเบียบสังคม แต่ในบรรดาทุกสิ่งเหล่านั้น ความหลากหลายนานาประการกลับปรากฏชัดเจน หลากหลายจนคาดไปไม่ถึง

กลายเป็นสังคมซึ่งเต็มไปด้วยวัฒนธรรมย่อยท่ามกลางวัฒนธรรมเดิมวัฒนธรรมใหญ่ที่เข้มแข็ง วัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ สร้างกลุ่มคน สร้างวิถีชีวิต ที่สามารถขยายตัวไปตามความรับรู้ทั่วโลกได้อย่างพิสดารชวนพิศวง

ผู้เขียนให้ภาพวัฒนธรรมย่อยที่เหมือนภาพเร้น (อันเดอร์กราวนด์ ซีน underground scene) ไม่ว่าเพลง ดนตรี รูปแบบชีวิต คลับเพื่อนคุย ฯลฯ ที่หลายคนอาจเคยรู้เคยได้ยินมาบ้าง อย่างกระจ่างชัด เพื่อเข้าใจญี่ปุ่นในโตเกียวมากยิ่งขึ้น

● วางแผงแล้ว ผู้อยากรู้ และสงสัยเรื่องสามกษัตริย์ช่วยกันสร้างศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หานิตยสารรายเดือนทรงคุณค่า ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน อ่านการค้นคว้าหาหลักฐานของอาจารย์ สมฤทธิ์ ลือชัย ที่นำมาแย้งประวัติศาสตร์ตอนนี้ ชนิดชวนคิดชวนพิจารณาใคร่ครวญ เรานักเรียนประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สนุกกับการเปิดใจฟังการตีความหลักฐานในแง่มุมที่นอกเหนือไปจากความเชื่อที่แล้วๆ มา เพื่อแสวงความคิดเห็นที่ใกล้เคียงความเป็นไปได้ในข้อสันนิษฐานต่างๆ ให้มากที่สุด วิชาประวัติศาสตร์จึงเปิดโลกอดีตให้เรืองรองได้ก็ด้วยเหตุผลตรงนี้เอง – สาธุ

● ฝนฟ้าการเมืองยังตกคะนอง ปฏิกูลความคิดยังรอระบาย ขยะอำนาจยังท่วมเมืองสูบไม่หมด เชื้อโรคระบาดยังผสมพันธุ์แพร่ไวรัสใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ท้าทายสติปัญญาของประติมากรรมล้าหลังที่ผุกร่อน ชาวบ้านยังนอนก่ายหน้าผาก

ฮัลเล้วังกา… กฎหมายไม่มา นักกฎหมายไม่มี

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image