จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

 

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

จะปีใหม่แล้ว

ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

Advertisement

นักเรียนไทยยังต้องเรียนชีวิตนอกตำรานอกห้องเรียนอีกมาก ซึ่งหลายวิชาจำเป็นแต่ไม่ได้สอน เช่น ที่ให้เหมาะกับหน้ามรสุมและฤดูน้ำหลากนี้ก็คือ “วิชาทางน้ำ” ข่าวพี่กระโจนลงน้ำช่วยน้องได้แต่ตัวเองเสียชีวิต พ่อแม่กระโดดลงช่วยลูกได้แต่ตายแทนทั้งสองคน เด็กชายปั๊มหัวใจช่วยเด็กตกน้ำสำเร็จ ฯลฯ

วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ทุกวันนี้พอกับสถานการณ์รอบตัวไหม ถ้ายังว่ายน้ำไม่เป็นพอจะประคองตัวให้รอด โรงเรียนที่ชุมนุมใกล้น้ำจะสอนเด็กให้ระวังอย่างไร เหมือนเด็กที่ทำซีพีอาร์ (ปั๊มหัวใจ) เป็น หรือพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวหมูที่เคยดูคลิปจากยูทูบ ช่วยรัดตัวเด็กหญิงที่หมูติดหลอดลมหายใจไม่ออก กระทุ้งเอาหมูที่เคี้ยวไม่ละเอียดกระเด็นออกมาได้ ฯลฯ มีความรู้ก็ไม่ต้องอาศัยโชคหรือเคราะห์

หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องวิธีช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การเคลื่อนไหวผู้บาดเจ็บ ที่ต้องอาศัยความรู้จากผู้ชำนาญจากรถพยาบาล หากคิดว่าไม่ทันการณ์ก็ต้องระมัดระวังรอบด้าน มิใช่ความหวังดีที่อาจทำให้ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย กลายเป็นคนอัมพาตพิการไปได้โดยรู้ไม่เท่าในการยกเคลื่อนร่าง

Advertisement

หรือสถานการณ์ความเห็นต่างที่ยอมรับกันไม่ได้ เพราะหลายเรื่องอารมณ์เป็นเหตุผล ศรัทธาเป็นเหตุผล ความยึดมั่นถือมั่นเป็นเหตุผล ฯลฯ เด็กตั้งแต่ประถมปลายต่อมัธยมต่ออุดมศึกษา ควรต้องเริ่มเรียนรู้ปรัชญา ตรรกะไหม เรียนรู้วิธีการคิดเป็นเหตุและผลที่อยู่บนฐานความรู้ บนตรรกะที่ถูกต้อง เหมาะสมไหม

หากจะคิดค้านความเห็นใด ก็รู้จักละอายใจได้บ้างว่า ที่ค้านไปนั้นมีเหตุผลเป็นเรื่องเป็นราว หรือสักแต่ตะแบงค้านไปไม่เป็นโล้เป็นพาย หาแก่นคิดไม่ได้

และแน่นอน ควรรู้เรื่องจิตวิทยาแต่ต้น เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น นั่นคือการกลับไปสู่การเรียนรู้พุทธธรรมที่สำคัญ เพราะพุทธธรรมคือคู่มือมนุษย์ (มิใช่เพียงชาวพุทธ) ที่ทำให้รู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างดียิ่ง รวมถึงวัตรปฏิบัติของปัจเจกชนที่สามารถทำให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างผาสุก แม้จะคิดไม่เหมือนกัน

เรื่องเหล่านี้ มีหนังสือให้อ่านมากมายอยู่แล้วบนแผง เสาะหาได้ไม่ยาก

● ใกล้ถึงวันปีใหม่อีกแล้ว นับจากปลายปี 2562 เป็นต้นมา ก็ร่วม 3 ปีกว่า ที่ชาวโลกเผชิญกับภัยโรคระบาดร้ายแรงถึงชีวิต ที่จนวันนี้ก็ยังไม่สร่างไปจนวางใจได้ พาให้เศรษฐกิจและชีวิตทรุดเซ กระทั่งสูญเสียไปมากมาย

ปฏิทินชุดใหม่ก็ทยอยออกมาให้เลือกหากันแล้ว ปฏิทินบ้านอื่นไม่สามารถรู้ได้ว่านอกจากบอกวันเดือนแล้ว ยังบอกอะไรกับผู้ใช้ในสังคมของตัวไว้อีก แต่ปฏิทินไทยบ้านเรา บอกนัยที่แฝงไว้มากมายที่คนส่วนมากไม่รู้-ไม่เคยรู้

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

ความทรงจำใต้อำนาจ : รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน เรื่องน่ารู้ง่ายๆ ที่ยากจะคิดออก เพราะความเคยชินทำให้ไม่สนใจไปว่า ปฏิทินตรงหน้านั้นบอกอะไรเรา บอกอะไรสังคมมานานเกือบจะร้อยปี ที่เราไม่เคยสังเกตสนใจได้ จนเมื่อ ชนาวุธ บริรักษ์ ค้นคว้ามาบอกให้รู้-ไอ้หยา…

เราจึงได้รู้เรื่องการเมืองเบื้องหลังวันสำคัญๆ ของไทย ตั้งแต่ยุคสิ้นสุดสงครามเย็นจนยุครัฐธรรมนูญ 2540 ได้รู้เรื่องที่ไม่เคยตั้งคำถามว่า วันสำคัญเหล่านั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร และอำนาจใดจึงสามารถกำหนดว่า วันนั้นสำคัญ หรือวันไหนไม่สำคัญ และใช้กลไกวิธีการสร้างวันสำคัญๆ ขึ้นมาอย่างไร

เราจะได้เห็นกลไกเบื้องหลังเหล่านั้นที่เกิดมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนช่วงเปลี่ยนผ่านแนวคิดเรื่องเวลาจากจันทรคติสู่สุริยคติ จนทศวรรษ 2520-2540 ช่วงเวลาเพิ่มขึ้นของวันสำคัญ และการเกิดสำนึกความทรงจำแบบมวลชน เข้าไปท้าทายสำนึกความทรงจำที่ยึดโยงสถาบันหลักของชาติ

วันสำคัญจึงไม่ใช่เพียงวาระการรำลึกถึงอดีต หรือมีไว้เพื่อเฉลิมฉลองเท่านั้น ทว่ายังสัมพันธ์กับสำนึกความทรงจำของพลเมือง ให้สยบยอมและเชื่องเชื่ออยู่ใต้อำนาจที่คอยบงการชีวิตผู้คนอยู่ตลอดเวลา-ฟังแล้วอย่าเฉยเมยไป

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

อ่านรัฐแห่งวันสำคัญ, อุบัติการณ์เรื่องวันสำคัญแห่งชาติ, ความทรงจำบนหน้าที่ปฏิทิน ในสังคมยุคหลังสงครามเย็น, สำนึกความทรงจำแห่งชาติที่เปลี่ยน(ไม่)ผ่าน, การเมืองบนหน้าปฏิทิน : การเกิด ความสืบเนื่อง และการเปลี่ยนแปลง

อ่านเพื่อเข้าใจตนเองและสังคม ว่าเกิดมาก็ถูกร้อยรัดอยู่ด้วยอะไรบ้าง

 

● นักศึกษาหนุ่มที่เกิดมาเหมือนคนอื่น ดำเนินชีวิต เล่าเรียนเหมือนคนอื่น แต่ทันทีทันใดที่คิดต่างไปจากอำนาจรัฐ “เพนกวิน” ก็ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุก แต่ในคุกก็อ่านหนังสือได้ หนังสือ 9 เล่มที่เพนกวินขอให้กัลยาณมิตรหาให้อ่านมีงานของ นรินทรธิเบศร์ กับ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ อัศนีย์ พลจันทร์ กับ อังคาร กัลยาณพงศ์ กับ วินัย พงศ์ศรีเพียร และลิลิตโบราณ ยวนพ่าย, ตะเลงพ่าย, พระลอ กับศัพท์วรรณกรรมท้องถิ่นไทยภาคเหนือ โคลงมังธรารบเชียงใหม่ ฉบับราชบัณฑิต ล้วนเป็นวรรณคดีคลาสสิกกับงานกวีร่วมสมัยทั้งสิ้น

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ยังอ่าน หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง ค้นคว้าโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ขณะอยู่ในเรือนจำ บอกว่าได้รู้มิติเรื่องครอบครัว ชีวิต เพศ ยังช่วยให้เห็นการประนีประนอม มิติการเจรจาหลังฉากการเมืองสมัย 2475 ทั้งระหว่างปฏิวัติและหลังการปฏิวัติอีกด้วย “หนังสือเล่มนี้เป็นการเอาหลังบ้านมาฉายให้เห็น”

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

และเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ยังพูดถึงหนังสืออีกเล่มที่ได้อ่าน ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ทั้งยังพูดถึงโคลงของ อาจารย์ช้าง กับบทกวีของอาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่อ่านมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น และเริ่มอ่านนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม แล้วรู้สึกว่า “เป็นประจักษ์พยานของยุคสมัย”

(ดังตัวอย่าง ข้างขึ้นข้างแรม เป็นต้น)

คำถามคือ ทำไมหนอนหนังสือระดับนี้ จึงถูกจับกุมคุมขัง แทนที่จะได้รับการอุ้มชูสนับสนุนเป็นอนาคตของชาติ

● หนังสือเล่มโตที่นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจใคร่รู้น่าอ่าน เพราะเป็นเรื่องที่เราได้ยินมาแต่เล็กแต่น้อยในห้องเรียนจากมิติประวัติศาสตร์ จนปัจจุบันในมิติการเมืองเรื่องภูมิยุทธศาสตร์ แต่ไม่เคยได้เข้าใจกระจ่างอย่างจริงจัง นั่นคือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ค้นคว้ามาเขียนโดยอาจารย์ ธิดา สาระยา

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

แสดงประวัติศาสตร์ของน่านน้ำซึ่งเชื่อมโลกตะวันออกกับตะวันตก ผู้คนหลากกลุ่มหลายชาติพันธุ์ทั้งในหมู่เกาะและผืนแผ่นดิน ที่ติดต่อการค้ามายาวนานหลายพันปี โดยเฉพาะช่วงต้นคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เกิดชุมชน รัฐใหญ่น้อยต่างๆ รวมถึงชุมชนและรัฐในประวัติศาสตร์ไทยด้วย

อ่าน 3 บทใหญ่กับอีกหลายสิบบทย่อยของมหาสมุทรอินเดีย, ทมิฬ พ่อค้าแห่งมหาสมุทรอินเดีย, มิติกว้างของมหาสมุทรอินเดีย กับน่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้เรื่องการค้าชายฝั่งถึงการค้าข้ามอารยธรรม, การเปลี่ยนแปลงและเครือข่ายของเมืองการค้าชายฝั่ง, ทมิฬกัม, การขยายอำนาจจักรวรรดิทมิฬในน่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ศรีวิชัย เอกสารจีนและอาหรับ, การค้าจีนและการขยายตัวของพ่อค้าเอกชน, การเคลื่อนไหวของพ่อค้ามุสลิม ฯลฯ

น่าอ่านอย่างยิ่งสำหรับหนังสือที่หนักเกือบ 2 กิโลเล่มนี้ ความรู้จุกๆ

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

 

● เมื่อรู้ว่าทมิฬเป็นตัวละครสำคัญเรื่องมหาสมุทรอินเดีย ก็น่าที่จะรู้จักทมิฬให้ดีขึ้น โดยเฉพาะความคุ้นเคยกับคำๆ นี้ในภาษาไทย ด้วยความหมายอันโหดร้ายรุนแรง เพราะนอกจากดินแดนทางเหนือที่รู้จักกันจากพุทธประวัติแล้ว ดินแดนทางใต้ที่สัมพันธ์ลึกซึ้งกับสุวรรณภูมิ จนลึกไปถึงต้นรากภาษาไทยจากอินเดียภาคใต้นั้น เราไม่ได้รู้จักกันสักเท่าไหร่เลย ไปเที่ยวและไปรู้จักพร้อมกันไหม

อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู ช่วยกันเขียนโดย ศรัณย์ ทองปาน กับ วิชญดา ทองแดง ชมแหล่งโบราณสถานมรดกโลก รู้จักผู้คนในดินแดนที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างชื่อ โดยรู้จักทมิฬนาฑูตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน วิถีชีวิต เทวสถานและเทพเจ้า ท่องเจนไน(มัทราส) กาญจีปุรัม มามัลละปุรัม ชนิดเห็นๆ จริงๆ

อาจถือเป็นหนังสือตั้งต้นในการรู้จักและท่องเที่ยวอินเดียเส้นทางใหม่ได้

 

● ต่อมาเป็นหนังสืออ่านเอาเรื่องของนักอ่านที่อ่านเอาเรื่อง สยามเขตร : หลากหลายมิติเขตแดนสยาม มีบรรณาธิการคือ ฐนพงศ์ ลือจรชัย เพราะเป็นหนังสือรวมบทความในประเด็นเรื่องชายแดน (border) ดินแดน (territory) เขตแดน (boundary) เรื่องระบบเขตแดนรัฐจารีตกับการเปลี่ยนผ่านในสยาม

อ่าน “เวียดนามที่ ‘พรมแดนเขมร’ การเมืองเรื่องเขตแดน ค.ศ.1802-1847” แปลจากบทความของ “หวูดึ๊กเหลี่ยม” โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ “การขยับเขยื้อนชายแดนบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน : สยามกับฝรั่งเศสทศวรรษ 1890” แปลจากงานของ “แอนดรู วอล์คเกอร์” โดย ธนเชษฐ วิสัยจร ทั้งสองเรื่องของทั้งสองคนเป็นงานเขียนด้านประวัติศาสตร์

“ความเปลี่ยนแปลงต่อการรับรู้เรื่องพรมแดนของผู้คนในเขตปราสาทพระวิหาร” โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นงานวิจัยมานุษยวิทยาการศึกษามุมมองของผู้อาศัยบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา

หนังสือเล่มนี้ขยายการศึกษาเรื่องชายแดนไทยในอดีตให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

● หนังสือน่าอ่านอีกเล่มขณะนี้ ในยามที่กล่าวกันว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการถดถอยของประชาธิปไตย คือ มรณกรรมของประชาธิปไตย หรือ “ฮาว เดมอคเครซีส์ ดาย How Democracies Die” ช่วยกันเขียนโดยศาสตราจารย์ฮาวาร์ด สตีเวน เลวิทสกี้ กับ แดเนียล ซิบลาทท์ มือระดับรางวัลมากมาย ทั้งนี้จากการแปลให้อ่านโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ซึ่งเขียนคำนำเองด้วย

อ่านพันธมิตรแห่งหายนะ, การควบคุมประตูในอเมริกา, การสละความรับผิดชอบครั้งใหญ่ของพรรครีพับลิกัน, การล้มล้างประชาธิปไตย, แนวป้องกันของประชาธิปไตย, กติกาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของการเมืองอเมริกัน, ระบบที่กำลังล้มเหลว, ทรัมป์ต่อสู้กับแนวป้องกัน, การรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย

เป็นหนังสือทันยุคทันเหตุการณ์ดีแท้

● หนังสือปกแข็งสำหรับนักดูหนังและนักท่องจินตนาการ The World of Avatar การสำรวจด้วยภาพ มีคำนิยมของ โซอี ซัลดานา กำกับไว้ด้วย

เป็นหนังสือเฉลิมฉลองอวตารของ เจมส์ คาเมรอน เพื่อค้นพบโลกเหลือเชื่อให้กว้างกว่าที่เคยเห็น ดูรายละเอียดมากมายของแพนดอรา ตั้งแต่ธรณีวิทยา พรรณพฤกษา พรรณสัตว์อันอุดมบนน่านนภาและท้องทะเล

เข้าใจวิถีชาวนาวีกับนานาชนเผ่าหลากหลายในภูมิภาคพิศดารต่างๆ ที่ไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน ก่อนไปพบบรรดามนุษย์โลกที่บุกรุกแสวงหาประโยชน์จากโลกน่าทึ่งใบนี้

ร่วมกันสำรวจเรื่องราวที่เล่าขานกันมานานกว่าหนึ่งทศวรรษกันเถอะ

จะปีใหม่แล้ว ดูการเมืองบนปฏิทินกัน

● นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ครื้นเครงกับการเมืองไทยที่ไปไหนไม่รอดเพราะกองทัพกำกับกติกา เป็นจำอวดหน้าม่านที่ชิงแสดงจนวันนี้ชาวบ้านก็ยังเปิดม่านแสดงไม่ได้ ฉบับนี้ว่าด้วย “ล็อกธนาธร Lock ก้าวไกล”

อ่านปล่อยงู ตบคนแก่ ป่วนงานหนังสือ กับพฤติกรรมภัยสังคมในงานหนังสือ ที่โซเชียลจี้รัฐจัดการขั้นเด็ดขาด, อ่านท่าที 2 ป. สูตรอำนาจ 2+2 ดูขุมกำลังพี่ใหญ่ แคนดิเดตนายกฯ และส่องอาณาจักรป่ารอยต่อ กับคลังสมองนายพล “บิ๊กณัฐ” กับ 4 ขุนพลน้ำ 4 ทิศ

อ่านเรื่องสำคัญของ “วงศ์ ตาวัน” มองความเหมือน ความต่าง 85 ศพตากใบ 99 ศพกลางกรุง ตามไปลอยน้ำโขงกับ “โตโน่” อ่าน คำ ผกา ชวนส่องปัญหาโครงสร้างสาธารณสุข “จนแล้วอย่าทำตัวเป็นภาระ” ก่อนจะไปเรื่องฉาวซ้ำ สีกากีลักปืนหลวง “บิ๊กเด่น” ขันน็อตผู้บังคับบัญชา ยกเครื่องระบบตรวจสอบคลังปืน

อ่านสุทธิชัย หยุ่น ส่องการเมืองจีน, สีจิ้นผิงกับทีมใหม่เฉพาะคนวงใน, หลี่เค่อเฉียงไป หลี่เฉียงก็มา และอ่าน อังกฤษใต้นายกฯเชื้อสายอินเดียสู่อนาคต

ตามคนมองหนังไปดูการแสดงดนตรีสดสองงานติด “โซล อัฟเตอร์ ซิกส์ – โมเดิร์น ด๊อก” ในยุคหลังโควิด แล้วไปดูความสำเร็จของโปรจีน ใกล้อีกก้าวเพื่อขึ้นเป็นมือหนึ่งกอล์ฟโลก โดยไม่ต้องอาศัยบารมีลูกครึ่งอ้างความเก่งของเชื้อไทยเช่น “ไทเกอร์ วู้ด” อย่างแต่ก่อน

● น้ำยังรอระบายอยู่ทั่วไป นอกกรุงในกรุงยังไม่พ้นภัยน้ำภัยโรคระบาด แถมตอนนี้มีเหลน B.5 โผล่หน้ามาอีก ก็แล้วแต่โรคเขาจะสะดวกมาสะดวกไป

ชาวบ้านมีทางเลือกแค่จ่ายเงินให้บริษัทยาเท่านั้นเอง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image