จะ ‘ไทย’ ก็ไทย ทำไมต้อง ‘แลนด์’ ด้วย

จะ ‘ไทย’ ก็ไทย ทำไมต้อง ‘แลนด์’ ด้วย

 

จะ ‘ไทย’ ก็ไทย

ทำไมต้อง ‘แลนด์’ ด้วย

“ไทย” ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น แต่เอา “แลนด์” มาใช้ประกาศตัวเป็นอาณานิคมภาษาและวัฒนธรรมให้รู้กันทั่วโลกได้ ใช่หรือไม่?

Advertisement

การใช้ภาษาต่างประเทศปะปนสนทนา เขียน พากย์ ฯลฯ ในภาษาตน เป็นการแลกเปลี่ยนถ่ายเททางวัฒนธรรมทั่วไปเป็นสากล แต่การใช้ภาษาต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อประเทศนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาในโลกด้วยหรือเปล่า?

ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศหนึ่งในเอเชียที่มิได้ตกเป็นอาณานิคมจากการพ่ายแพ้กองทัพตะวันตก ในยุคล่าเมืองขึ้น ปล้นทรัพยากร แต่เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก พ.ศ.2482 ก็เปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ไทย” โดยมีเสียงคัดค้านว่า จะทำให้คน
เชื้อชาติอื่นไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวด้วยนั้น

ต่อมาก็มีประกาศสำนักนายกฯฉบับวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2488 สมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีว่าด้วย “รัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ วันที่ 24 มิถุนายน 2483 ภาษาอังกฤษให้ใช้ชื่อเรียกประเทศไทยว่า Thailand ชื่อประชาชนและสัญชาติว่า Thai นั้น…

Advertisement

“รัฐบาลได้พิจารณาว่า ชื่อประเทศเราเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า Siam จนรู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านาน ฉะนั้น จึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า Siam กับชื่อประชาชนและสัญชาติว่า Siamese ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า ‘ไทย’ ไปตามเดิม”

ถึงรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนี้ยังคงเรียกชื่อประเทศในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสว่า Siam ต่อไป จนจอมพล ป.พิบูลสงคราม รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายควง เดือนเมษายน พ.ศ.2491 จึงเปลี่ยนกลับมาใช้ Thailand กับ Thailande อีก กระทั่งถึงทุกวันนี้

ครั้งประเทศเกาะอันเก่าแก่ในมหาสมุทรอินเดีย เปลี่ยนชื่อรัฐในเครือจักรภพอังกฤษจากซีลอน Ceylon หรือบริติช ซีลอน British Ceylon มาเป็น “ศรีลังกา” นั้น เป็นการกลับสู่รากเหง้า เพื่อให้พ้นกลิ่นอายโซ่ตรวนทั้งการเมืองและวัฒนธรรมหรือเปล่า แม้จะอยู่ในเครือจักรภพก็ตาม

หากผิดพลาด ผู้รู้กรุณาขยายความที่ถูกต้องให้ชัดเจนแก่ผู้อ่านก็จะเป็นพระคุณ

ส่วนพม่าที่สลัดชื่อ Burma มาใช้ชื่อชนชาติโดยเจตนาข่มชาติพันธุ์อื่นอยู่ดีว่า เมียนมา Myanma ก็ด้วยนัยสำคัญทางการเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์เอง มิใช่ของนอก

ฟังชื่อกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน,
ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน ก็ยังมีน้ำเสียงเรียกผสมบาลีสันสกฤตที่คุ้นเคย

แม้ไปไกลถึงแอฟริกา รัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศเดียวในทวีปคือ “สวาซีแลนด์ Swaziland” ก็ยังเปลี่ยนชื่อเป็น “เอสวาตินี Eswatini” ซึ่งแปลว่า “แผ่นดินแห่งชาวสวาซี” ในความหมายเดียวกัน

ดังนั้น ไทยที่ไม่ได้เป็นประเทศกลุ่มวัฒนธรรม “แอกซอน” ต้นรากภาษาอังกฤษเดิม เช่น อิงแลนด์,
สกอตแลนด์ หรือประเทศยุโรปอื่นซึ่งกำกับด้วยแลนด์ต่อท้าย เช่น เนเธอร์แลนด์, ฟินแลนด์,
สวิตเซอร์แลนด์ แล้ว

ทำไม “ไทย” จึง “จำเป็น” ต้องมี “แลนด์” ต่อท้ายด้วย

หรือเพียงเหตุผลในคราวถกกันเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศว่า ที่ใส่ “แลนด์” เข้าไปเพื่อให้ชาวโลกจะได้รู้จักกันว่า นี่คือดินแดนแห่งผู้คนอิสระเสรี (ชื่อบ้านเมืองเลยต้องกลายเป็นหัวมังกุท้ายมังกรไป) ทั้งๆ ดินแดนนี้มีอิสระเสรีจริงหรือไม่ คนไทยๆ ย่อมรู้กันดีอยู่

ในขณะที่ชาวสวาซียังทิ้ง “แลนด์” เป็นเอสวาตินี ก็ได้ความเหมือนกัน

ถ้าอยากจะ “แลนด์” ให้ได้ ทำไมไม่เป็น “ไทยสถาน” ไปด้วยเลย เพราะ “สถาน” คือที่ตั้ง อนุโลมเป็น “แลนด์” ได้ตรงตัว (นี่พูดทีเล่น แต่ตรรกะเป็นทีจริงก็ได้)

ฝรั่งรู้จัก “สยาม” มาก็ไม่เคยเห็น ชาวสยามเองก็ไม่เคยเห็น ลักษณะที่ไทยพิพาทไทยกันอย่างตอนเป็น “ไทยแลนด์” มากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านไปนี้

เราคนไทย รักเมืองไทย รักภาษาไทย (มีวันภาษาไทยยืนยัน-จนแม้แต่ท่านทูต เจ้าหน้าที่ทูตประเทศต่างๆ ถึงวันนั้น ยังทำคลิปพูดภาษาไทยอย่างชัดเจนไพเราะ ท่องอาขยานให้ฟังกันน่าทึ่ง ฯลฯ) มิใช่หรือ

⦁ ก็พอดี อาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ พูดถึง 99 สาธารณรัฐทูร์เคีย ที่เปลี่ยนชื่อมาจากตุรกีเดิม หลังจากเล่าเรื่องสงครามรัสเซียยูเครน ย่ำแดนคอเคซัสท่องอาร์เมเนียมาให้ความรู้มากมาย เรื่อง
ทูร์เคียนี้ย่อมน่าอ่านเช่นเดียวกัน

เช่นเรื่องอื่นๆ ในมติชนออนไลน์ อังคารที่ผ่านมา ยังมีเรื่องสุราก้าวหน้า ก้าวคนละก้าว ชนคนละแก้ว
ของ กล้า สมุทวณิช ให้หูตากระจ่าง ไม่มีเมา แล้วยังมีเรื่องมรดกกองทัพแห่งชาติอินเดียอิสระ เปิดภารกิจลับ “เนทาจี” ประวัติศาสตร์ร่วมอินเดียไทยที่ไม่ถูกเล่า โดย ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย เผยความสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบเพื่อนร่วมทุกข์สมัยสงครามโลกนี้ ให้ฟังเต็มๆ

⦁ ชื่อที่เป็นนามย่อมเป็นมายาได้ประเภทหนึ่ง ยิ่งยุคดิจิทัลที่ใช้สื่อสาธารณะเป็นเครื่องมือสร้างมายาให้ผู้คนหลงผิดได้ง่าย ยิ่งเป็นยุคที่ชาวบ้านเหนื่อยเหน็ดสาหัส กว่าจะแหวกม่านมายาออกมาได้ หรือแหวกอย่างไรก็เผยไม่พ้นจนตายก็มี

อย่างการเมืองเรื่องมดเท็จสารพัด หากไม่สนใจหาความรู้ค้นความจริง ก็ยิ่งตกหลุมคนเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายๆ ระบอบลวงตา Behind the Illusion ค้นคว้าพิเคราะห์มาเขียนให้รู้โดย สฤณี อาชวานันทกุล ที่ยังขายดีขายได้เรื่อยๆ

ต้องอ่านเพราะผู้เขียนเจาะให้มองทะลุที่ภาพพร่าเลือน พลิกพลิ้ว ล่อหลอกให้คนไทยจำนวนไม่น้อย เห็นประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ เห็นเผด็จการเป็นประชาธิปไตย ด้วยการเปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านประเด็นการเมือง เหลื่อมล้ำ อยุติธรรม และฉ้อฉลเชิงอำนาจของระบอบที่กำลังปกครองเราทั้งหลายอยู่ ด้วยวาทกรรมความคิดครอบงำที่ว่า รัฐประหารเป็นประชาธิปไตย กฎหมายคือความยุติธรรม ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่เป็นโซ่ตรวน ซึ่งหากมองไม่เห็นก็งมงายตามไป

อ่านให้เข้าใจภาวะไร้หลักนิติรัฐ, มองให้เห็นแรงจูงใจของตุลาการ, เข้าใจสิทธิเสรีภาพการแสดงออก กับเฮทสปีช/จาบจ้วง/บูลลี่/บังคับ, มองให้เห็นว่า ความมั่นคงแห่งชาตินั้น สูญเสียอะไรไปเท่าไหร่, และราคาที่จ่ายไปกับการเซ็นเซอร์นั้น ไม่ใช่แค่เสรีภาพอย่างเดียว เช่นเดียวกับที่ต้องจ่ายกับทุจริตคอร์รัปชั่น

กับอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่ต้องอ่านเพื่อมองให้ทะลุระบอบลวงตา

⦁ ต่อด้วยหนังสือ การเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม เขียนโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เพราะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และศิลปะ เป็นผลึกที่มีพลวัตและสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตคนทุกชั้น ไม่ว่าจะพูดถึงรูปธรรม นามธรรมและปฏิบัติการทางศิลปะใดๆ ไม่ว่าคนสามัญหรือชนชั้นนำ ย่อมเห็นเงาร่างตัวตนกับอำนาจบางลักษณะแนบแน่นกับงานชิ้นนั้นๆ เสมอ

หนังสือเล่มนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับนิสิต นักศึกษา สาขารัฐศาสตร์ ทัศนศิลป์ สื่อศิลปะ วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบุคคลสนใจใคร่รู้ทั่วไป จากความเข้าใจวิธีวัฒนธรรมทัศนา, ระบบภาพตัวแทนและความหมาย, เวลาในการเมืองทัศนาผ่านศิลปะ, การเมืองทัศนากับศิลปะร่วมสมัย,

คืนความเป็นการเมืองให้กับศิลปะ, ชะตากรรมของภาพเขียนและโปสเตอร์การเมือง ศึกษาจากบทเรียนของจีนสู่สังคมไทย, จริยธรรมของการพบศิลปะร่วมสมัย, สู่การเมืองทัศนา เพื่อเห็นและเข้าใจทัศนียภาพของการต่อต้าน นี่เป็นหนังสือศิลปะที่แสดงภาพการเมืองอย่างชัดเจนในแง่มุมที่ต้องเห็นกันบ่อยๆ

⦁ หลายคนคิดว่า หมากการเมืองโลกวันนี้ มีหลายอย่างที่คล้ายพงศาวดาร สามก๊ก ไม่น่าเชื่อ อย่างน้อยก็ อาร์ม ตั้งนิรันดร คนหนึ่ง จึงเขียน China Endgame อ่านเกมสามก๊ก จีน สหรัฐฯ รัสเซีย เพราะจากการเดินหมากรุกช่วงท้ายๆ เกมที่เรียกว่า endgame นั้น ต้องระมัดระวังยิ่งยวดทั้งสองฝ่าย

ชวนให้ชมฉากหลังของมหาอำนาจจีน ว่าจะปิดวิกฤตที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ระหว่างตนกับสหรัฐและรัสเซียลงอย่างไร ในช่วงเดินหมากตอนท้ายๆ

จีนจะหาทางลงจากการจับมือปูตินก่อนสงครามยูเครนอย่างไร จะหลุดจากนโยบาย “ซีโร่ โควิด” อันแสนเคร่งครัดแบบใด จะเดินหมากตาไหนในภาวะเงินเฟ้อจนโลกป่วยพังพาบเช่นนี้ จะประคองตัวเองไม่ให้ล้มลงด้วยปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ และเห็นทางแก้กรณีไต้หวันหรือเปล่า ปัญหาที่รุมสุมกันนี้ ทำให้มีผู้สันทัดกรณีคิดว่า นี่เป็นจีนขาลงหรือไม่

ในสามก๊กนั้น ผู้ชนะมิได้แข็งแกร่งที่สุดอย่างโจโฉ ไม่ใช่ตัวแทนคุณธรรมอย่างเล่าปี่ ไม่ใช่ผู้ได้ชัยภูมิดีอย่างซุนกวน และไม่ใช่คนฉลาดที่สุดอย่างขงเบ้ง ดังนั้น จึงน่าหาอ่านดูว่า สามก๊กร่วมสมัยยุคนี้ ผู้ชนะจะเป็นใครในตอนท้าย

⦁ ต้องยอมรับกันอย่างเห็นได้ชัดแล้วว่า สองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ประเทศเอเชียที่มิใช่เป็นมหาอำนาจเดิม ซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นที่รู้จักของโลก ด้วยการขายวัฒนธรรมป๊อปจนรู้จักกันไปทั่ว ขณะเดียวกับ เศรษฐกิจและเทคโนโลยีก็รุ่งเจริญติดตามมา คือเกาหลีใต้ ดังนั้น หากบรรดาขาหนังชุดและคนสนใจโลกจะได้อ่าน มหัศจรรย์เกาหลี : จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ฉบับปรับปรุงเนื้อหาใหม่ของ แดเนียล ทิวดอร์ แปลโดย ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ก็อาจยิ่งสร้างความซาบซึ้งเข้าใจขึ้นมากต่อผู้คนที่กำลังประทับใจ

เพราะในอดีตทั้งใกล้และไกลนั้น เกาหลีตกทุกข์บอบช้ำจากการล่าอาณานิคมและสงครามยาวนาน จะหาผู้ใดจินตนาการออกได้ยากว่า ดินแดนที่ถูกแบ่งเป็นสองและขาดแคลนทรัพยากรอย่างยิ่งนี้ จะก้าวพ้นความขัดแค้นแสนสาหัสต่างๆ นานามาได้ แค่เพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น เกาหลีกลับผงาดขึ้นมา

ลุกขึ้นยืนหยัดอย่างงดงามได้ด้วยการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่นำพาบ้านเมืองไปอยู่แถวหน้าเวทีโลกได้อย่างสง่างาม ทั้งๆ ที่ช่วงต่อสู้กับเผด็จการทหารนั้น บรรดานักศึกษาและประชาชนที่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลยังพร้อมใจกันตะโกน “ไทยแลนด์ๆๆๆ…” ด้วยแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่ปีอยู่เลย

แต่วันนี้ เกาหลีอยู่ตรงไหน ไทย (แลนด์แดนอิสระเสรี) อยู่ตรงไหน

ประเทศเรือเกลือ เรือขนทราย มีมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ มีรถไฟขบวนหวานเย็น ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ไม่แคร์ชาวบ้านประชาชน ก็คงจะอย่างที่เห็นนี้กระมัง

ปล่อยให้เอกชนดิ้นรน ให้เครือข่ายชาวบ้านเอาตัวรอดกับยุคเข็ญ

หนังสือเล่มนี้ฉายภาพหลายมุมของเกาหลีชนิดเจาะลึกและครอบคลุม ตั้งแต่รากฐานประวัติศาสตร์และประเพณี สู่การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ปลุกปลอบจิตวิญญาณแบบ “ฮัน” และ “ฮึง” ซึ่งบอกความเศร้าลึกและสุขล้ำ อันเป็นแก่นวัฒนธรรมให้กระตุ้นพลังกายพลังใจผู้คนร่วมมือกันสร้างชาติได้

รู้จักบรรดาตัวละครสำคัญเช่นกลุ่มธุรกิจ “แชโบล” ผู้ขับเคลื่อนและฉุดรั้งประเทศไปพร้อมกัน พบลัทธิคนทรงเจ้าที่แฝงในวิถีชีวิตคนเกาหลีทุกชนชั้นมาทุกยุคสมัย ตามดูอุตสาหกรรมป๊อปและภาพยนตร์ในฐานะทูตพลังนุ่ม (ซอฟต์เพาเวอร์) ที่ส่งไปทั่วโลก รวมถึงตัวละครหมาดใหม่อื้อฉาวเช่นอดีตประธานาธิบดี พักกินเฮ

เหล่านี้คือความมหัศจรรย์ของเกาหลีที่ลุกจากกองเถ้าถ่าน ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามรกเรื้อตลอดเส้นทาง จนรุ่งโรจน์เป็นแม่แบบของการเกิดใหม่ที่ทั่วโลกจับตามอง

⦁ จริงหรือที่คนต้องเห็นแก่ตัว กระทั่งช่วงหนึ่งมักเห็นตัวอักษรที่เขียนให้อยู่ในรูปทรงของพระพุทธรูปอ่านได้ว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” แปะติดอยู่หน้ารถหลังรถทั่วไปหมด นิยายจีนกำลังภายในก็มักอ้างสำนวนคนโฉดว่า “ไม่เห็นแก่ตัว ฟ้าพิโรธ”

จริงหรือที่โลกต้องเป็นของผู้แข็งแกร่งเท่านั้น ทำนองปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาวสาวได้สาวเอา
หรือเงินต่อเงิน หนังสือเล่มนี้จะชวนหาคำตอบสำคัญสองข้อให้ได้จากตัวเอง จากความคิดและจิตใจตัวเอง

1.ทำไมเราจึงใจดี และ 2.ทำไมเราไม่ใจดีให้มากกว่านี้อีก

เฮนรี เจมส์ แกแรทส์ นักคิด นักเขียน และนักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษเขียน คู่มือฝึกฝนให้เป็นคนใจดี จากพากย์ฝรั่งว่า “ดีส บุ๊ก วิล เมก ยู ไคน์เดอร์ This Book Will Make You Kinder” จากพื้นฐานสังคมปัจจุบันที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ จึงเปลี่ยนปรัชญาจริยศาสตร์เชิงวิชาการเป็นเรื่องของเส้นทางสู่ความใจดี ที่เริ่มจากตัวผู้อ่านเอง โดยใช้ลายเส้นรูปสัตว์และบรรดาสิ่งของน่ารัก สะกิดต่อมอารมณ์ขันกับถ้อยคำชวนคิด ให้นึกถึงจิตใจผู้อื่นมากขึ้น

เราเองก็มีสำนวน “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” อยู่แท้ๆ

จน แมทท์ เฮก ผู้เขียนหนังสือแสนซึ้ง มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน อ่านแล้วถึงกับกล่าวว่า “นี่เป็นการสำรวจอันยิ่งใหญ่ถึงความหมายของความเมตตาในยุคปัจจุบัน ทั้งอ่านง่าย และทำได้จริง”

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มิใช่พรหมวิหาร 4 ของเราชาวพุทธหรือ

⦁ นี่เป็นหนังสือซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ในเล่มเรียกว่าเป็นมหาสมุทรแห่งปัญญาได้ เมื่อนักสัมภาษณ์ กวีวุฒิ
เต็มภูวภัทร ที่ชอบคุยกับผู้คนเป็นคนถาม และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล นักเรียบเรียงมืออาชีพ บีบอัดนวดคลึง (แป้ง) ให้ยิ่งน่าอ่าน

Leaders Wisdom หนังสือไทยชื่อฝรั่งที่รวมบทสัมภาษณ์ชั้นยอดเล่มนี้ จึงคุ้มค่ากับการใช้เวลาอย่างยิ่งด้วยสามภาคจาก 1.Senior Wisdom – ธนา เธียรอัจฉริยะ CMO SCB, สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ CEO AIS, ปฐมา จันทรักษ์ อดีต CEO IBM ไทย ฯลฯ

2.Mid-Life Management Crisis – รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์, เรืองโรจน์ พูนผล CEO KBTG, มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO Sea ไทย ฯลฯ 3.Leaders of the Future – นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บก.บห. The Standard, พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee, เฟื่องลดา-สรานี สงวนเรือง CEO LDA ฯลฯ

ยกตัวอย่างให้ 9 คน ที่แค่เห็นก็รู้ว่าต้องเคี้ยวย่อยเป็นเดือนๆ แล้ว

⦁ หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งอ่านสนุกกับการถูกเฆี่ยนตีความคิด เพลิดเพลินกับโวหารตรรกะด้วยเหตุผลแวดล้อมกินใจ และหรรษากับสิ่งที่ได้รับซึ่งงอกงามเบ่งบานขึ้นทันทีที่สามารถรับรู้ ถือได้ว่าเป็นหนังสือเล่มดีเยี่ยมของ โอโช คุรุชาวอินเดีย ผู้ที่ ทอม รอบบินส์ นักเขียนอเมริกัน 1 ใน 100 นักเขียนยอดเยี่ยมศตวรรษที่ 20 กล่าวว่าเป็น “บุรุษซึ่งอันตรายที่สุดนับตั้งแต่พระเยซู” ขณะที่ ทะไลลามะ กล่าวว่า “โอโชคือครูผู้รู้ตื่น ผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้มนุษยชาติก้าวข้ามอุปสรรคในการพัฒนาสติ” ฟังดูเหมือนสุดโต่งไปคนละด้าน

 

คุรุวิพากษ์คุรุ ฉบับปรับปรุงใหม่เล่มนี้ น่าอ่านสาหัส น่าอ่านจริงแท้แน่นอน ด้วยการแสดงความเห็นจากความคิดที่ลุ่มลึก ตรงไปตรงมา ซึ่งบันดาลใจได้ไม่น่าเชื่อ ต่อการวิพากษ์พระพุทธเจ้า, โพธิธรรม, จวงจื่อ, เล่าจื่อ, พระเยซู, พระกฤษณะ, คาลิล ยิบราน, กฤษณะมูรติ, กาบีร์, ปีธากอรัส, โสกราตีส, ไดโอนิซิอุส, เฮราคลิตุส, ฟรีดิช นิทเช่, จอร์จ เกอร์จิยา, ชิโยโนะ, มีรา, ราบิยา อัล อดาบียา, ญะลาลุดดิน รูมี, ฮาคิม ซานาย – ผู้ใดเลยจะหาญวิพากษ์ศาสดา คุรุ นักปรัชญา ฯลฯ ได้เช่นโอโช

เป็นหนังสือที่อ่านแล้วอ่านอีก แล้วอ่านอีกกี่ครั้งก็ได้เหมือนอ่านใหม่ ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก เห็นผู้เขียนซึ่งถือเป็นคุรุผู้หนึ่ง วิพากษ์พระพุทธเจ้า พระเยซู คาลิล ยิบราน ก็ตื่นเต้นตะครั่นตะครอเสียแล้ว รีบคว้าไปจ่ายเงินทันที

เป็นนักอ่าน นักคิด นักศึกษา ต้องไม่พลาด โตมร ศุขปรีชา แปล

⦁ แล้วก็ถึงนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย 3 ป. คือไปเลย ไปไหน ก็ไป แล้วติดตามวาทะเดือดกัญชาเสรี ภท. กับ ปชป. ซัดกันนัว นายกฯต้องปราบศึกพรรคร่วม นักวิชาการว่า สงครามแตกหัก ชิงพื้นที่

อ่านถอยสุดซอย ถอนกฎหมายขายที่ดินต่างชาติ ลดกระแสขายชาติ ประคองรัฐบาลครบวาระ แล้วอ่าน “ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง” เขียนโดยประกิต กอบกิจวัฒนา แล้วดูแบรนด์ประยุทธ์ในสายตาครีเอทีฟ ยัง
ทำงานๆๆๆๆๆ อยู่มั้ย

ฟัง “พวงทอง ภวัครพันธุ์” ตั้งคำถามชวนคิด ณ ปี 2565 กอ.รมน. ขยายการจัดตั้งมวลชนเพื่ออะไร อ่าน “กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์” เขียน ดราม่าที่น่างงงวย จากการประกาศให้นาคเป็นเอกลักษณ์ของชาติ (ก็นาคถูกครุฑยุดอยู่มิใช่หรือ – นี่ว่าเอง กฤตภาศไม่ได้ว่า)

อ่านรายงานพิเศษ มูเตลูกับสังคมไทย ทำไมคนมีอำนาจยันราษฎรถึงชอบดูดวง เชื่อไสยศาสตร์ มองผ่านสายตาเอโด้ นักวิชาการอิตาเลียน สุดท้ายตามไปดูศึกทุนจีนที่เห็นสีเทาบานทะโร่ สันธนะฉะชูวิทย์ (แต่ชูวิทย์ท้าฉะสันธนะ ว่าถ้ายกเดียวไม่จอดจะกราบ) ด่ากันแรง ฟ้องกันนัว

ดูว่าจะสางผับศูนย์เหรียญต่อได้หมดจดไหม

เมืองไทยใหญ่อุดมก็อย่างนี้ จระเข้นอนอ้าปากรอหมูวิ่งลงท้องเป็นเทือกไปหมด หันทางไหนก็เจอ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image