แผ่นดินถล่มหรือสู้พรรค ส.ว. ชีวิตดิ้นรนของ ‘แขก’ ทุ่งรังสิต

แผ่นดินถล่มหรือสู้พรรค ส.ว. ชีวิตดิ้นรนของ ‘แขก’ ทุ่งรังสิต

 

แผ่นดินถล่มหรือสู้พรรค ส.ว.

ชีวิตดิ้นรนของ ‘แขก’ ทุ่งรังสิต

Advertisement

คนไทยช่างอดทนหรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวกันแน่ คนไทยเชื่อง ด้านชา หรือไม่รู้สึกรู้สา คนไทยถูกกำราบจนโงหัวไม่ขึ้นหรือพอใจจะอยู่ดิ้นรนไปวันๆ ฯลฯ ต้องถามคนไทย ว่าทั้งๆ ที่เห็นกติกาหาพวกมากมายกมือให้อยู่ โดยไม่ให้ชาวบ้านเป็นผู้เลือก เห็นผู้นำไม่ต้องชี้แจงทรัพย์สิน เห็นเงินหลายล้านซุกในห้องอธิบดี เห็นข้าราชการจำนวนมากสมยอมรับสินบนคนจีนต่างด้าวเข้ามาทำผิดกฎหมาย เห็นข้าราชการด่าทอผู้ใต้บังคับบัญชาโง่เป็นวัวเป็นควาย เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดแล้วผิดอีก ทั้งคุกคามสังหารผู้ต้องหา ทั้งจ้างวานฆ่า เห็นเรือหลวงล่มกำลังพลล้มตายหายสูญอย่างไม่สมควร ฯลฯ คนไทยยังเฉยชา หรืออย่างมากทำได้แค่ย้อนถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร – อย่างนั้นหรือ

⦁ เลิกเรียกเหล่าพวกนักการเมืองว่า ลุง ป้า น้า อา เถอะ – ไร้สาระ

ขนบ ธรรมเนียม ควรใช้กับเรื่องสร้างสรรค์ ลุง ป้า น้า อา เป็นญาติผู้ใหญ่ มีอาวุโส ที่ต้องรัก เมตตา บรรดาลูกหลาน จะดุ จะว่า สั่งสอน ก็ด้วยรักและเมตตาเป็นพื้น มีขอบเขต ไม่ใช่นักการเมืองที่ยิ่งไม่ใช่ญาติโกโหติกาจริงๆ คนให้เกียรติ แต่กลับไม่ให้เกียรติคน ซึ่งมีอำนาจแต่ไม่รับผิดชอบอำนาจตามหน้าที่ เอาอำนาจจากยศ ศักดิ์ ตำแหน่ง แสดงอารมณ์กับผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวบ้านร้านตลาดตามอำเภอใจ ชนิดไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้นำประเทศไหนทำกัน เพราะทำไม่ได้ แต่บ้านเมืองนี้ทำได้ – ทำไม

Advertisement

เพราะคนไทยปล่อยให้ทำอย่างนั้นใช่ไหม

⦁ การที่จีนแสดงท่าทีจะตอบโต้ประเทศซึ่งเข้มงวดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน หากคิดถึงใจเขาใจเราแล้ว ก็น่าจะตระหนักความจำเป็นของประเทศนั้นๆ บ้าง จีนมีสถิติติดเชื้อระยะหลังสูงขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้น หากเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวออกมา ประเทศที่ต้องการต้อนรับ – ถึงอย่างไร – ก็ต้องระมัดระวังตัว จะปฏิบัติอย่างให้เกียรติ เสมอภาคนั้น ทำได้ แต่ขณะดียวกัน ก็ต้องป้องกันสวัสดิภาพผู้คนในประเทศด้วย ไม่ได้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสจนเกินความเข้าใจ

⦁ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ที่ต้องหาอ่านเพื่อรู้เท่าทันการเมือง และการบ้านรอบตัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วยแผ่นดินถล่มหรือจะสู้พรรค ส.ว. อ่านรายงานวิเคราะห์เข้มข้นในฉบับ

ฉบับแรกของปี ฉลองด้วยของขวัญศักราชใหม่สุด “เอ็กซ์คลูซีฟ” กับซีรีส์เรื่องชุด “คนลี้ภัย” 33 ปีชีวิตสีกากี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้รู้เห็นกับอีกเรื่องสำคัญ ว่าเราคนไทยอยู่ในบังคับบัญชาของข้าราชการแบบไหนกันแน่ จนคนทำหน้าที่ต้องลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ – ตถตา เป็นเช่นนั้นเอง – หรือ

อ่าน 9 มกรา ประยุทธ์ดีเดย์เข้าพรรค รสทช. จัด “ซูเปอร์บอร์ด” รับ แล้วเร่งเฟ้นว่าที่ ส.ส. ผนึก ส.ว. เพื่อกลับมานั่งเก้าอี้เดิม แล้วอ่านอาจารย์นักพูด “นันทนา” จัดอันดับการสื่อสารปี 2565 ชัชชาติยอดเยี่ยม ประยุทธ์ยอดแย่ แถมพิเศษปากทองคำให้ “โน้ส อุดม” ติดตามกันได้แบบขันๆ ขื่นๆ สมกับเป็นไทยๆ

คอลัมน์ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง “ประกิต กอบกิจวัฒนา” มองผ่านสายตาครีเอทีฟ รีแบรนดิ้งพรรคเพื่อไทย จะทำ “แผ่นดินถล่ม” ไหวแน่นะ แล้วกลับไปอ่านแวดวงกองทัพ แกะรอยร้าว 3 ทหารเสือรุ่นพี่ ตู่ ป้อม ชิงดำวัดพลังกับปฏิบัติ ทหารเสือ ตท. 14 แป๊ะ โด่ง ในสมรภูมิรบเงียบ ว่าคลื่นกระเพื่อมระดับไหน

วงศ์ ตาวัน ส่องเรื่องอื้อฉาว 2 คน 2 คดีดัง ในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แล้วอ่านคอลัมน์โลกทรรศน์ มองการเมืองเพื่อนบ้าน พลวัตในลาว เปลี่ยนนายกฯใหม่กู้วิกฤตประเทศ สอนไซ สีพันดอน

คอลัมน์ไพโอเนียริ่ง ไมน์ดของ บัญชา ธนบุญสมบัติ พาไปรู้จัก ดักลาส อิงเจลบาร์ต ผู้ให้กำเนิดเมาส์คอมพิวเตอร์ แล้วตามไปผ่าดวงเศรษฐกิจไทยปีนี้ เมื่อดาวพลูโตก้มมองดูโลก

จากนั้น อ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ เปิดตำราเรียนกระทรวงศึกษาฯ ยัง “คลั่งชาติ” ด้วยประวัติศาสตร์หลงยุค ชนชาติไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า เอ้า, ฮา-หุยฮา, มาซิมาเรามาปล่อยไก่… เลี้ยงไก่กันไป ชาติไทยเจริญ โย้โย้

⦁ เปิดศักราชใหม่ด้วยเช่นกัน นิตยสารรายเดือนของคนรักข้อเท็จจริง รักการเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคมว่าด้วย จากเชลยสงครามสู่เจ้าของที่ดิน ชีวิตและการดิ้นรนของ “แขก” ทุ่งรังสิต

แล้วอ่านนางข้าหลวงชาวกะเหรี่ยงในราชสำนักสยาม อ่านหนองโสน บึงพระราม กำเนิดกรุงศรีอยุธยากลางหนองบึง ติดตามเมื่อแมวเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ของสยามยุคโคโลเนียล และ “ไซอิ๋ว” กับคุณค่าจิตรกรรมจีนในโรงเจเก่า วัดพระพุทธบาท – อ่านกันเนื้อๆ เพิ่มพูนความรอบรู้เพื่อนวดคลึงสติปัญญาทุกเดือน

⦁ ประวัติศาสตร์เรือรบไทยมีอาถรรพณ์ พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธการทหารเรือ เล่าให้ฟังเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยลำดับเหตุการณ์ว่า

1.เรือหลวง “ธนบุรี” ถูกโจมตีในยุทธนาวีเกาะช้างกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2484 เสียหายหนัก ไม่จมก็เหมือนจม จนต้องปลดระวาง

2.เรือหลวง “ศรีอยุธยา” จมกลางเจ้าพระยา หน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ด้วยไทยกันเองในกบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2494

3.เรือหลวง “สุโขทัย” จมในอ่าวไทยที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 จากสภาพคลื่นลมแรง

4.เรือหลวง “รัตนโกสินทร์” ยังประจำการอยู่ในราชนาวีไทย

ผู้เขียนยังเปรียบเทียบระยะเวลาย้อนจากล่างขึ้นบน จากกรุงหนึ่งกลับไปถึงอีกกรุง พร้อมตั้งข้อสังเกตให้เห็น ว่าเรือหลวงนามเมืองสำคัญของสยาม เกิดเหตุให้ใคร่ครวญอย่างไรได้บ้าง แม้อาถรรพ์จะไม่ใช่ “ทาง” ของตนในการเขียนเรื่องนี้ – หารายละเอียดอ่านได้โดยใส่นามผู้เขียนและเรื่องเข้าไปฐานค้น “กูเกิล”

เรือหลวงสุโขทัยล่มทั้งลำ กำลังพลล้มตาย สูญหาย หากสังคมสนใจจริงจัง นักการเมืองสนใจจริงจัง (นักเลือกตั้งคงไม่) เรื่องก็อาจต่อยาวไปเป็นมหากาพย์ ตอนนี้ย้อนขึ้นไปดูเหตุการณ์เรือหลวงศรีอยุธยาล่มอีกครั้งใน ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” เมื่อคณะกู้ชาตินำโดยนายทหารเรือหนุ่มก่อการ จี้จอมพล ป.พิบูลสงครามไปเป็นตัวประกัน เพื่อลงจากอำนาจ แต่ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้อย่างรุนแรงจนเกิดการปะทะนองเลือด กระทั่งฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ เป็นเหตุให้ถูกลดบทบาทมาแต่นั้น

นิยม สุขรองแพ่ง จ่าทหารเรือผู้ร่วมกบฏ บันทึกเหตุการณ์คราวนั้นไว้ละเอียด การต่อสู้ชนิดเห็นเลือดเนื้อ ซากร่าง ซากเรือ น้ำมันที่ลอยในแม่น้ำ โดยเฉพาะเหตุที่ต้องเลื่อนปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 5 ครั้ง ก่อนลงมือ ให้เห็นภาพกระจ่าง อ่านกบฏแมนฮัตตันเริ่มแล้ว, 29 มิถุนายน 2494, สงครามน้ำลาย, สองฝั่งเจ้าพระยา, ยุทธภูมิด้านตะวันออก, วาระสุดท้าย, ความเปลี่ยนแปลงในกองทัพเรือ, ผลสะท้อนภายหลังกบฏ จนบทส่งท้าย
เพื่อเข้าใจการล่มของเรือหลวงอีกลำด้วยเหตุที่ต่างออกไป

⦁ หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งคนสนใจประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมือง น่าจะต้องอ่านคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกาและฝรั่งเศส คนไทยควรเรียนรู้อะไร เขียนโดยอาจารย์ วิทยากร เชียงกูล

การปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกาและฝรั่งเศส เกิดจากสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์หลายปัจจัยประกอบกัน ที่สำคัญคือพัฒนาการด้านเศรษฐกิจซึ่งมีการค้าทางไกลเพิ่มขึ้น การแสวงเส้นทางเดินเรือและการล่าอาณานิคมเป็นผลตามมา การค้นคว้าและพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การปฏิรูปความเชื่อทางศาสนา การปฏิวัติทุนนิยมอุตสาหกรรม ฯลฯ ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิด เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ส่งผลสำคัญต่อสังคมโลกยุคนั้นและยุคต่อๆ มาถึงปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง กว้างขวางยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานก่อนหน้านั้นหลายแสนหลายพันปี

หนังสือเล่มนี้จะช่วยวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคม โดยวิธีศึกษาวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และสังคมวิทยาการเมือง ที่เลือกเฉพาะประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรป แล้วขมวดเนื้อหาที่สังคมไทยย่อยเป็นประสบการณ์ได้

⦁ ไม่กี่สัปดาห์ก่อน แนะนำหนังสือประวัติศาสตร์แมวจากนักเขียนจีนไปอย่างละเอียดแล้ว สัปดาห์นี้มี ประวัติศาสตร์แมว ของนักเขียนไทย ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล บ้าง เรื่องเล่าเกี่ยวกับแมวที่ยังน่าสนใจอีกมาก แมวคนดังซึ่งไม่ได้สบายอย่างที่คิด แมวที่ได้รับการเคารพอย่างเทพ แมวที่เป็นเครื่องรางของขลัง แมวที่สร้างความเชื่อทั้งดีและร้าย ทั้งอยู่เหย้าเฝ้าเรือน และเป็นนายคนเต็มตัว

อ่านแมว, แมวเทพ เทพแมว, แมว ความเชื่อ โชคลาง ไสยศาสตร์, บทบาทแมวในการต่อสู้และสงครามของมนุษย์, แมวผู้สร้างประวัติศาสตร์, แมวผู้อยู่เหย้าเฝ้าเรือน, หมู่แมวของคนดัง, ตัวละครแมวในวรรณกรรมและการ์ตูน, ธุรกิจเกี่ยวกับแมว, ภาษิต คำพังเพย แมวมงคลในตำราแมวโบราณของไทย, สุภาษิตแมวๆ – อ่านเพลิน ไม่ว่าทาสแมว หรือคนอยากรู้เรื่องแมว

⦁ หนังสืออีกเล่มที่เกิดขึ้นเพราะผู้เขียนสนใจคำบางคำ ที่เคยได้ยิน เคยผ่านตา แต่พอฉุกนึกถึงที่มาก็ไม่รู้ว่ามาไงไปไง เป็นคำเก่า คำแปลก หรือคำสแลงที่คนเก่าเคยใช้กันเข้าใจแต่คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้ เช่น พ่อรักแม่รัก โชห่วย ลูกอ๊อด ตูดหมึก ทั้งด้วยความสนใจหนังสือเก่าที่มีเรื่องแปลกๆ หน้าตางดงาม ข้างในพิมพ์สี จนถึงหนังสืองานศพที่เป็นเหมือนขุมทรัพย์การเรียนรู้ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การค้า การเมือง ฯลฯ ตามแต่บุคคลผู้ล่วงลับเกี่ยวข้อง

ศัพท์เก่า หนังสือเก่า โดย เอนก นาวิกมูล จึงเกิดขึ้น อ่านร้านโชห่วย, ลักษณะไทย ศาลายา บางลำพู, ขำขันสมัย ร.5, จ่าหลอ, ลูกอ๊อด ลูกอ๊อดฝรั่ง, เต่าเห่ เต่ากินผักบุ้ง เต่ากินอะไร, ตูดหมึก พ่อรัก แม่รัก, บัตรรายการศัพท์แปลก, แล้วยังพูดถึงหนังสืองานศพอย่างเจาะจงอีกถึง 8 ตอนเน้นๆ – อ่านเพลินอีกเล่ม

⦁ หนังสืออีกเล่มที่บอกได้ว่าจำเป็นสำหรับคนไม่น้อย คือวิธีบริหารเวลาสำหรับมนุษย์ทุกคน เพราะเราไม่ได้ “มี” เวลา แต่เรา “คือ” เวลา มาปลดแอกตัวเองจากคำสาปยุคนี้ ที่เรียกร้องให้เราอัดทุกอย่างลงในเวลาที่มีกันเถอะ

เลิกหมกมุ่นกับการตรวจอีเมล์ ไล่ตามสิ่งของต้องทำจนตัวขวิด ที่สำคัญที่สุดคือ เลิกหลอกตัวเองว่า ยิ่งทำมากก็ยิ่ง “โปรดัคถีฟ” มาก – เลิกคิดไปเลย

โอลิเวอร์ เบิร์กแมน คอลัมนิสต์เลื่องชื่อของ “เดอะ การ์เดียน” จะนำสำรวจปรัชญาน่าทึ่งเกี่ยวกับเวลา และการบริหารเวลา ที่จะช่วยให้มองเวลาในชีวิตที่มีอยู่ราวๆ สี่พันสัปดาห์อย่างเปลี่ยนไปจากเดิมสิ้นเชิง ให้เห็นว่าเรามีความคิดผิดๆ เกี่ยวกับเวลาอย่างไร ซึ่งนั่นคือต้นตอหายนะที่แท้จริงที่ทำให้การบริหารเวลาล้มเหลวไม่เป็นท่า

อ่านกันเนื้อๆ ตั้งแต่บทนำที่ว่า ในระยะยาวเราทุกคนก็ตายอยู่ดี, 1.เลือกที่จะเลือก – ชีวิตที่ยอมรับการมีขีดจำกัด, กับดักของการมีประสิทธิภาพ, เผชิญหน้ากับการมีจุดสิ้นสุด, เป็นผู้ผัดวันประกันพรุ่งที่ดีกว่าเดิม, ปัญหาเรื่องแตงโม, ผู้รบกวนที่ใกล้ชิด

จากนั้น 2.เหนือการควบคุม – เราไม่เคยมีเวลาจริงๆ หรอก, คุณอยู่ตรงนี้, ค้นพบการพักผ่อนอีกครั้ง, วังวนของความใจร้อน, อยู่บนรถบัสต่อไป ฯลฯ กระทั่งถึงบทส่งท้ายคือ เหนือไปกว่าความคาดหวัง

ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ ของเบิร์กแมนที่ลึกซึ้งแต่ชวนหัวเล่มนี้ จึงแปลไปแล้วถึง 23 ภาษาขายใน 23 ประเทศ โดยคำนิยมชนิดเอกอุที่ อดัม แกรนท์ นักจิตวิทยาผู้เขียน Think Again ซึ่งเคยแนะนำไปแล้วกล่าวว่า นี่คือหนังสือเกี่ยวกับการบริหารเวลาซึ่งสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา

วาดฝัน คุณาวงศ์ แปลให้อ่านอย่างเข้าใจและราบรื่นเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาอย่างไม่เหมาะสมในการใช้เวลากันอีก

⦁ ต้นปีผ่านไปรวดเร็ว สัปดาห์แรกผ่านไปรวดเร็ว และชีวิตก็ปลิดปลงผ่านไปรวดเร็วเช่นกัน ทั้งที่รู้ว่าเทศกาลปีใหม่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ผู้เสียชีวิตทั้งหลายก็คงไม่คิดว่าจะเกิดกับตัว ทั้งที่ไม่ประมาทแล้ว ก็ยังเกิดขึ้นได้ จะเป็นเพราะมีผู้ไม่ประมาท แต่ยังมีผู้ประมาทร่วมสมการอยู่ใช่ไหม หรือแม้แต่ว่า ทุกคนไม่ประมาทอยู่แล้ว แต่ “อุบัติเหตุ” ก็ยังเกิดขึ้นได้ การนับจำนวนผู้เสียชีวิตจึงยังดำเนินไป – เป็นประจำทุกปี

นี่เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือ

นี่เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างด้วยพุทธศาสนสุภาษิตว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” ได้หรือ – เป็นเรื่องที่ไม่มีหนทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วหรือ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image