อ่าน ‘จีน’ เห็น ‘(ความเป็น) ไทย หลาก(อรรถ)รส บนหน้ากระดาษ

‘บุคคลต่างชาติกันจะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวยิ่งกว่าไทยกับจีนนี้

เห็นจะไม่มี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน

เคยแต่ไปมาค้าขายแลกผลประโยชน์กันมาได้หลายร้อยปี

ความรู้สึกทั้งสองชาติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งควรจะหวังว่าจะเป็นอย่างเดียวกันต่อไปในวันข้างหน้าž’

Advertisement

-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ-

นับเป็นถ้อยคำสุดอมตะที่ฉายภาพสัมพันธ์จีน-ไทยได้อย่างชัดเจนยิ่ง

ท่ามกลางเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษนับไม่ถ้วน สำนักพิมพ์มติชนž สร้างสรรค์ผลงานมากมายอันเกี่ยวเนื่องกับ จีนž ในมิติหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วรรณกรรม รวมถึงการทูต และอื่นๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ขาดสาย อาทิ บันทึกการทูตจีน 10 เรื่องž โดย เฉียนฉีเชิน แปลจาก Ten Episodes in Chinažs Diplomacy โดย รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร, สี จิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศž รวมวาทะสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาทิ สุนทรพจน์ โอวาท และภารกิจต่างๆ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2012 ถึงมิถุนายน ค.ศ.2014 รวม 79 บท รวมถึง ร้อยเรื่องราววังต้องห้ามž ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนได้รับสิทธิในการแปลเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยได้รับความสนใจอย่างมากกระทั่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือเล่มคุณภาพอีกมากมายที่เชื่อมร้อยสายใยไปถึงแดนมังกรตั้งแต่ครั้งอดีตกาล จวบจนห้วงเวลาร่วมสมัย ทยอยออกสู่สายตาผู้อ่านแล้ววันนี้

หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ž
บันทึกเรื่องจริงราชวงศ์หมิง-ชิง ตอน ว่าด้วยสยามž

จากเอกสารประวัติศาสตร์สู่หนังสือล้ำค่า ที่มีชื่อเต็มบนปกว่า หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยามŽ และ หนังสือระยะทาง ราชทูตไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งแต่ ณ เดือน 8 ปีกุญตรีศกและปีชวดจัตวาศกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอินทรมนตรีแย้ม ได้เรียบเรียงไว้ในรัชกาลที่ 5Ž

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ซึ่งตรงกับการครบรอบ 40 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับจีนด้วย

หนังสือเล่มนี้คือผลงานการศึกษาของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง และคณะ นำเสนอหลักฐานเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนตั้งแต่สมัยศรีอโยธยาต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงของสยามกับจีนในห้วงเวลาดังกล่าว เป็นเรื่องราวชวนอ่านและตีความจากเอกสารต้นฉบับที่ชวนให้เดินทางย้อนเส้นเวลาแห่งอดีตกาล

หมิงสือลู่-ชิงสือลู่
บันทึกเรื่องจริงราชวงศ์หมิง-ชิง ตอน ว่าด้วยสยาม จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

 

ดื่มด่ำศิลปกรรม สแกนความเชื่อ ผ่าน เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯž

ทุกครั้งที่ไปไหว้เจ้า เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เทพเจ้าที่ประดิษฐานในศาลมีลักษณะอย่างไร ชื่อของศาลเจ้าหมายถึงใคร หรือสงสัยหรือไม่ว่าใครเป็นผู้สร้าง?

ผลงานจากวิจัยเชิงวิชาการทรงคุณค่าของ ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อาสาพาผู้อ่านสำรวจร่องรอยความเชื่อชาวจีน อ่านรูปแบบประติมากรรมเทพเจ้าจีนจากศาลเจ้าทั่วกรุงเทพฯ เพื่อไขข้อสงสัย หรือเพิ่มมุมมองความเข้าใจต่อชาวจีนในประเทศไทยให้หลากด้านยิ่งขึ้น เนื่องด้วยการอพยพตั้งหลักปักฐานของคนจีนในกรุงเทพฯ ได้นำพาวัฒนธรรมและความเชื่อจากบ้านเกิดตนมาด้วย โดยเฉพาะลัทธิขงจื่อ ศาสนาเต้า และพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากเทพเจ้าจีนที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีรูปแบบศิลปกรรมและประติมากรรมประธานแตกต่างไปตามวัฒนธรรมของ 5 กลุ่มภาษา คือ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ และกวางตุ้ง

กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อของคนจีนก็ได้หลอมรวมกับความเชื่อไทย จนกลายเป็นการผสมผสานระหว่างไทย-จีน กลายเป็นรูปแบบประติมากรรมเทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณž เมื่อจีนหนุนยึดอยุธยา

อีกเล่มที่ต้องฉายสปอตไลต์ คือ เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม หนังสือรวมบทความของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผลงานบรรณาธิการโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ จะมาพาไปไขข้อข้องใจว่าด้วยเรื่องราวของเจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช ที่เคยละเลยจากประวัติศาสตร์แห่งชาติในหลากหลายแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรับรู้มาก่อน โดยเฉพาะประเด็นที่กษัตริย์พระองค์นี้ได้รับการสนับสนุนโดย จักรพรรดิจีนž ให้ยึดกรุงศรีอยุธยา ส่งผลให้อยุธยาเป็นปึกแผ่น มั่นคง และมั่งคั่งจากการค้าทางทะเล เนื่องด้วยมีความสัมพันธ์ชิดใกล้กับจีนซึ่งชำนาญการค้าสำเภา อีกทั้งสานสัมพันธ์ใต้อำนาจกับราชสำนักจีนด้วยการ จิ้มก้องž สร้างกรุงศรีอยุธยาให้กลายเป็นเมืองท่าการค้าเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการค้านานาชาติ
ร่วมตามหาเรื่องเล่าของกษัตริย์พระองค์นี้ ผ่านการวิเคราะห์ ตีความ และค้นคว้าเอกสาร รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์ที่หายไปของประวัติศาสตร์อยุธยาพร้อมกันในเล่มนี้

 

ล้านนาสวามิภักดิ์ž
ส่องระบบบรรณาการจีน-ล้านนา

หนังสือแปลที่แน่นหนักแต่อ่านสนุกในประเด็นความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับล้านนา ผลงานที่ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ของ โจวปี้เฝิงž เรื่อง ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนและล้านนาสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13-16ž ตรงกับสมัยพญามังรายแห่งล้านนา

ชวนสำรวจความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับล้านนา ซึ่งได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์จีนครั้งแรกสมัยราชวงศ์หยวน ร่วมย้อนมองจุดเริ่มต้นและกลไกระบบบรรณาการของจีนในฐานะรัฐยิ่งใหญ่ผู้รับบรรณาการ และแนวทางการปฏิบัติของล้านนาในฐานะผู้ถวายบรรณาการ ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อยได้อย่างออกรสออกชาติ

เล่มนี้ สมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ชี้ถึงอีกความน่าสนใจว่า เนื้อหาในเล่มอ้างถึงเอกสารจีนที่ระบุไว้ว่า ราชวงศ์หยวนตีล้านนาไม่แตก ขนาดเกณฑ์ทัพมา 3 หมื่นนาย ชวนให้ฉุกคิดว่า เหตุการณ์ใหญ่ถึงเพียงนี้ เหตุใดเอกสารล้านนาจึงไม่กล่าวถึงเลย

ล้านนาถึงขนาดต้านหยวนได้ โอ้โห! มันต้องเล่า ต้องเขียน แต่ไม่มี…แปลกมาก!

แม่ทัพก็ถูกประหารเพราะตีล้านนาไม่แตก แต่เรื่องทั้งหมดไม่อยู่ในเอกสารล้านนา การเปิดเอกสารทำให้เห็นว่าล้านนาไม่ได้มีแค่น้ำกวง น้ำปิง ไปไกลหน่อยก็เชียงตุง แต่มันมีเรื่องใหญ่มาก คือการสู้รบกับราชวงศ์หยวนที่ยิ่งใหญ่มากŽ สมฤทธิ์กล่าวด้วยความตื่นเต้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริงแท้แน่นอน จึงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันต่อไปว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ก่อร่างเป็นบางกอกž
จากจีนเป็นไทยในวันที่ เปลี่ยนผ่านž

เสน่ห์อันล้ำค่าของบางกอก ไม่ได้อยู่ที่เอกลักษณ์แบบไทยๆ แต่คือดินแดนที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือ วัฒนธรรมจีนž ที่เดินทางมาถึงแผ่นดินสยามและกรุงเทพมหานครพร้อมชาวจีนโพ้นทะเล ผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย เช่นเดียวกับชุมชนชาวจีนที่ร่วมเป็นส่วนสำคัญของการก่อร่างเป็นบางกอก ดินแดนที่พบกับความแปลกใหม่ภายใต้พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ครั้นเปิดไปยังบทที่ 6 จะพบกับเรื่องราวของชาวจีนในหลากแง่มุม ตั้งแต่การเดินทางรอนแรม จากเมืองจีนสู่แดนสยาม, สําเพ็ง ที่ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาจากความทุกข์ยาก, ยุคแห่งการเพิกเฉยยอมตาม, การเปลี่ยนผ่านไปสู่การแทรกแซงอย่างแข็งขัน และความเป็นชาติพันธุ์สู่อุดมการณ์

ผลงานเล่มสำคัญยิ่งของ Edward Van Roy ซึ่ง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรจงแปลจาก Siamese Melting Potž

“กรุงเทพฯมีความซับซ้อนมาก ชี้ให้เห็นความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม ผู้คนในสังคมบางกอก ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว หนังสือเล่มนี้ในแต่ละบทมีการแบ่งกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีที่มาหลากหลาย ที่ประทับใจคือหนังสือเล่มนี้
รวมความรู้เกี่ยวกับคนในบางกอกจากมุมมองของคนหลายกลุ่ม ที่ผ่านมามีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับคนจีน คนมอญ คนลาว คนโปรตุเกส และอื่นๆ แต่ไม่เคยถูกนำมารวมในเล่มเดียวให้เห็นภาพรวมของปฏิสัมพันธ์ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย มีคนมากมายช่วยสร้างกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้นว่าไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ บรรพบุรุษของเราคือคนร้อยพ่อพันแม่ เราเป็นสาแหรกความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนเต็มไปหมด มันเป็นรากฝอยที่เชื่อมโยงถึงกัน”Ž รศ.ดร.ยุกติกล่าว

สังคมจีนในประเทศไทยž จากจีน (กลืน) เป็นไทย
อดีตไกลโพ้นสู่ยุคร่วมสมัย

เข้มข้นเกินบรรยาย ทั้งยังพ่วงท้ายอีกประโยคบนปกว่า ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ž เพราะไม่ใช่เพียงการให้ข้อมูลดิบ แต่เป็นการขบคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ จากมุมมองของนักวิชาการชื่อดังอย่าง จี. วิลเลียม สกินเนอร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ

การันตีความแน่นทุกมิติด้วยข้อมูลที่ผู้เขียนเข้ามาทำการวิจัยเกี่ยวกับคนจีนในประเทศไทยระหว่างทศวรรษ 2490 และรวบรวมเรื่องราวคนจีนตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น จนถึงประเทศไทยในยุคต้นสงครามเย็น (พ.ศ.2500) มาจำแนก แจกแจง และให้คำอธิบายอย่างลุ่มลึก โดยเฉพาะประเด็นที่
คนจีนกลมกลืนตัวเองกลายเป็นคนไทย (เชื้อสายจีน) ผ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นสถิติตัวเลขคนจีนในไทย ข่าวหนังสือพิมพ์จีนในไทย การกระจายตัวและชุมชนคนจีนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ฯลฯ ฉายภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อย่างรอบด้าน

ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกรž
พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี

เป็น 2 เล่มที่นำมาอ่านคู่กันอย่างได้อรรถรส นั่นคือ ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร ผลงาน นิธิพันธ์ วิประวิทย์ ซึ่งรวบรวมสถาปัตยกรรมอันงามสง่าบนแผ่นดินจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาบอกเล่าภาพกว้าง พร้อมชวนให้โฟกัสจุดต่างๆ ผ่านแว่นขยายทางวิชาการควบคู่สุนทรียศาสตร์ นำเสนอทั้งประวัติความเป็นมา สื่อสัญญะ อีกทั้งความหมายที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาตะวันออก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและมุมอื่นๆ ของโลกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง เนื่องด้วยผู้เขียนเป็นสถาปนิกผู้สนใจในประวัติศาสตร์จีน

อีกเล่ม คือ พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี การันตีความมันส์ด้วยชื่อผู้แต่งนาม สมชาย จิวž ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างมีอรรถรส จน 11 บทผ่านไปอย่างว่องไวราวสายลมพัด เผยให้เห็นความสำคัญของสุสานทหารตุ๊กตาดินเผาโบราณอายุกว่า 2,000 ปี พร้อมสืบย้อนไปเมื่อครั้งแผ่นดินจีนยังไม่ได้เป็นปึกแผ่น ทว่า แบ่งเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ที่คุกรุ่นด้วยการรบพุ่ง ประหัตประหารชิงอำนาจเหนือดินแดน ผู้คน และทรัพยากร ก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้จะสถาปนาจักรวรรดิได้อย่างมั่นคง กลายเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน

งามเพราะแต่งž ประทินโฉมตำรับจีน
ปรัชญา การเมือง เรื่อง ความงามž

ผลงาน หลี่หยา แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร นำเสนอข้อมูลว่าด้วยการประทินโฉมและเครื่องสำอางในตำรับตำราโบราณของจีนจากยุคต่างๆ อีกทั้งสูตรยา ตลอดจนตำนานของบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตาที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือต้นกำเนิดของค่านิยมความงามทั้งตามขนบจารีตไปถึงความงามอย่างแตกต่างหลากหลาย สะท้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของราชวงศ์ และสงคราม ทว่า ยังมีเรื่องราวของ ความงามž ที่มีแนวคิดเบื้องหลังอันลึกซึ้งอย่าง
เหลือเชื่อ บ่งบอกวิธีคิด ทัศนคติ และค่านิยม ข้อมูลความรู้และวิทยาการด้านการประทินโฉมและบำรุงร่างกายสอดแทรกอยู่ในตำราแพทย์ ตำราเกษตร และตำราช่าง เผยให้ทราบว่าสังคมจีนให้ความสำคัญต่อการดูแลรูปลักษณ์เรือนกายอย่างยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคำกล่าวที่ว่า การแต่งหน้า แต่งความงาม เปรียบเหมือนการปกครองประเทศ การปกครองประเทศเหมือนการเขียนคิ้ว การวาดหน้า ต้องมีหลักการกฎหมายที่ดี ใช้การลงโทษ การให้รางวัลที่สวยงาม อันเป็นคำกล่าวของ หาน เฟยจื่อ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่

เกิดใหม่ในกองเพลิงž
เรื่องสั้นจีนสมัยใหม่ 1 ศตวรรษ 1919

รวมเรื่องสั้นผลงาน 9 นักเขียนเบอร์ใหญ่ในวงวรรณกรรมจีนสมัยใหม่ ได้แก่ เสิ่นฉงเหวิน เยี่ยเซิ่งเถา เหลาเส่อ ปิงซิน อวี้ต๋าฟู ปาจิน เหมาตุ้น อู๋จู่เซียง และติงหลิง ในวาระครบรอบ 100 ปี ขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เหล่านักศึกษาจีนกว่า 3,000 คน จาก 13 มหาวิทยาลัย รวมตัวที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อต่อต้านมติของที่ประชุมสันติภาพ

รัชกฤช วงษ์วิลาศ และคณะ แปลอย่างสุดฝีมือ

เสิร์ฟให้ลองลิ้มชิมรสชนิดวางช้อนไม่ลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image