เรื่องเล่าจากร่างกาย มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น

เรื่องเล่าจากร่างกาย มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น

 

เรื่องเล่าจากร่างกาย

มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น

Advertisement

เมื่อผู้คนรู้จักป้องกันตนเองจากโรคระบาดเป็นปกติ เมื่อโรงพยาบาลค่อยๆ ปิดแผนกรับเฉพาะผู้ป่วยโรคระบาดลง ร้านอาหารเริ่มมีลูกค้าหนาแน่น ที่ชุมนุมชนกลับมาชุมนุมชน ความไม่ปกติกลายเป็นเรื่องปกติ คนยังคาดหน้ากากอนามัยไปไหนมาไหนแทบทุกแห่ง แต่เมืองเริ่มคืนชีวิตกลับมา การดิ้นรนทำมาหากินเริ่มขยายช่องทาง (ขึ้นอีกนิด) เพื่อหาเงินจ่ายค่าข้าวแกงก๋วยเตี๋ยวที่ราคาไม่ปกติชามละ 60-70 บาท จนถึง 100 ร้อยกว่า ซึ่งกำลังกลายเป็นราคาปกติไป

ฝนก็เทลงมา ล้างเมืองที่คลุ้งฝุ่นอันตรายให้เบาลงได้บ้าง

หนังสือก็ชวนกันเดินขึ้นหิ้งมาเป็นแถวๆ รอมิตรรักนักอ่านไม่ขาดระยะ

Advertisement

⦁ ยุคนี้อาหารไทยก็ขึ้นหิ้งตามหนังสือมาเช่นกัน ร้านถูกปากชาวบ้านย่อมมีคนอุดหนุนจนกว่าของหมด ร้านที่ฝรั่งมาช่วยประทับตราประกันรสชาติ ยิ่งมีคนต่อแถวยาว แม้บางร้านจะมีไอดอลสาวเกาหลีบอกว่ารสชาติก็งั้นๆ กับราคาที่ตั้งไว้ ก็ยังมีคนไปต่อแถว ถ่ายวิดีโอ ทำคลิปกันอยู่ดี ยิ่งบอกว่า “แกงส้มไทย” อยู่ในเมนูยอดแย่ ยิ่งช่วยให้คนกลับมากินแกงส้มกันอีก คนไทยไม่โกรธฝรั่งง่ายๆ อยู่แล้ว

แค่อย่าว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งโสเภณี” อย่างหลายปีก่อน หรือคิดจะว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งคอร์รัปชั่น” วันนี้ก็แล้วกัน

ยามนี้จึงต้องหาอ่าน รสไทย(ไม่)แท้ : ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม ค้นคว้ามาเขียนให้รู้โดยนักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา ธรรมศาสตร์ อาสา คำภา ที่สำรวจไปตามเส้นทางยาวนานของอาหารการกินเพื่อถอด “รูปทิพย์” ความเป็นไทยออกมาดู ออกมาตรวจตรานิยามใหม่ๆ ของอาหารไทย ซึ่งถูกกำหนดมาอย่างซับซ้อนหลากหลาย โดยรัฐ โดยทุน โดยสื่อ เข้าไปหาเบื้องหลังของการเปลี่ยนร่างแปลงกายอย่างไม่หยุดของอาหารไทย จากอดีตจนปัจจุบัน ถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัย

เพื่อจะได้เข้าใจว่า อาหารดีเป็นแบบไหน, รสชาติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร, อาหารไทยแท้ๆ มีอยู่จริงหรือไม่ จึงขอเชิญบรรดานักอ่านเป็นผู้ “ชิม” ก่อน จากหนังสือเล่มนี้

ประการแรกคือ ต้องรู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในอาหาร เพื่อทำความเข้าใจอาหารไทยผ่านมุมมองการเมืองวัฒนธรรม ประการต่อมาคือ อ่านกระแสช่วงชิงนิยามอาหารไทยในบริบทร่วมสมัย จาก “แม่ครัวหัวป่าก์” ถึง “รสไทยแท้”

ประการที่สาม อ่านเส้นทางและตัวแสดงผู้กำหนดนิยามอาหารไทย ภายใต้สนามแห่งการช่วงชิงนิยาม

ประการสุดท้ายคือการถอดรูปทิพย์ อาหารไทยร่วมสมัยกับการผสานรวม เปลี่ยนร่างแปลงกาย และการแสดงตัวตน

แต่ละประการมีรายละเอียดที่ชวนติดตาม ชวนรู้เพื่อเข้าใจสิ่งที่กินเข้าไป

⦁ และเพื่อความเข้าใจให้กระจ่างเพิ่มขึ้น การต่อภาพเต็มที่จะขยายทรรศนะจากเรื่องอาหารไปสู่ขอบเขตของสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่จะทำให้เรื่องต่างๆ อื่นๆ ของผู้คนร่วมสังคมชัดเจนขึ้นด้วย ก็ตามมาโดยจานที่เปี่ยมรสชาติอีกเล่ม

ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติอาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475 ของอาจารย์ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ ชาติชาย มุกสง ให้เห็นการต่อสู้และการต่อรองความหมายทางการเมืองด้านรสชาติ ที่หากกลุ่มใดในสังคมสามารถครองอำนาจนำที่ปลายลิ้นได้ ก็ย่อมสามารถครองอำนาจการเมืองวัฒนธรรมในระดับมวลชนได้เช่นกัน – เห็นไหม, อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยนะ

หลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้นำแนวคิดโภชนาการใหม่ เข้ามาปะทะประสานกับการเมืองใหม่ ผลักดันให้ประชาชนใส่ใจการกินอาหารคุณภาพเพื่อดีกับสุขภาพยิ่งขึ้น ทั้งส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมด้านอาหาร ซึ่งความสำเร็จของการปฏิวัติที่ปลายลิ้น ยังนำไปสู่การช่วงชิงความหมายและสร้างนิยามมาตรฐานด้านรสชาติอาหารใหม่อีกครั้ง ของบรรดาชนชั้นสูงในเวลาต่อมา

อย่างไรคือการปรับรสปรุงแต่งสู่การกินแบบประชาธิปไตย – ต้องอ่าน

⦁ หนังสือที่พิมพ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปรุงแต่งให้แผงหนังสือประวัติศาสตร์กับคนชอบเรียนรู้ได้ฟังมากยิ่งขึ้น พระนเรศวรมหาราช หลากมุมมอง ยุทธหัตถีเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยสามเรื่องสำคัญอันจะเป็นประสบการณ์ความคิดและทัศนวิถีกว้างขวางขึ้นในการศึกษาประวัติศาสตร์

ตั้งแต่เรื่อง “สงครามครั้งที่ 10” คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ.2135 พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อด้วยเรื่อง “เกิดอะไรขึ้นที่หนองสาหร่าย” เปรียบเทียบหลักฐานท้องถิ่นและหลักฐานยุโรป ซึ่งกล่าวถึงช่วงศตวรรษที่ 16 ในสยามโดย บาเรนด์ ยาน แทร์วิล แปลโดย ณัฐนพ พลาหาญ ตามด้วยเรื่อง “ความเข้าใจในเรื่องของอดีต” กรณีพระนเรศวรโดย ส.ศิวรักษ์ รวมเป็นงานประวัติศาสตร์ซึ่งไม่มีในแบบเรียน ที่จะเพิ่มมุมมองมากขึ้นอีก

ให้เห็นว่าเราสามารถคิด สามารถพิจารณาหลักฐาน สามารถวิเคราะห์การตีความของนักประวัติศาสตร์ด้วยได้ เพราะการเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้เรียนเพื่อ “เชื่อ” หรือเพื่อ “ลากเข้าหา” อคติใดอคติหนึ่งในอคติ 4 ที่ตั้งธงไว้ก่อน

⦁ หนังสือซึ่งวางแผงเมื่อ 2554 แต่จากนั้นพิมพ์ซ้ำมาแล้วกว่า 10 ครั้ง เผยแพร่ไปแล้วกว่า 80,000 เล่ม คืองานของคุณหมอ ชัชพล เกียรติขจรธาดา ที่มักนำเรื่องใกล้ตัวซึ่งเห็นจนชินกระทั่งไม่เคยนึกถามเรื่องควรถามหลายๆ เรื่อง คราวนี้มากับเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องของเราเองคือ เรื่องเล่าจากร่างกาย 2 เล่ม

เพื่อให้เห็นว่า เรารู้จักตัวเองน้อยขนาดไหน เช่น ทำไมเราเดินสองขา, ทำไมผู้หญิงมีนมและสะโพก, ทำไมผู้ชายชอบสาวๆ ที่มีส่วนโค้งส่วนเว้า, ทำไมคนหล่อถึงหล่อ คนสวยถึงสวย ฯลฯ นี่เหมือนกับคำถามกำปั้นทุบดิน – ก็เกิดมาเป็นอย่างนั้น แต่นั่นนะสิ, ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้นล่ะ จึงต้องอ่านหาคำตอบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวเนื่องที่น่าสนใจ เรื่องพันธุกรรมสัตว์ในร่างของคน, การคัดเลือกตามธรรมชาติ, ครีบปลากับที่มาของแขนขา – โห, เกี่ยวกันได้ไง ยังมีเรื่องแบบแผนที่ซ่อนในความแตกต่าง (ที่คนศึกษาหาเจอจนได้) ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ไปถึงชาร์ลส ดาร์วิน กับทฤษฎีวิวัฒนาการ ฯลฯ

นั่นคือพื้นฐานเล่มแรก เล่ม 2 จับความตั้งแต่คนยุคหินถึงปัจจุบัน เรื่องของหนูทดลอง, สมองสามชั้น, สมองคุยกับร่างกายอย่างไร, ระบบประสาทอัตโนมัติ, ความเครียดทำให้ร่างกายป่วยได้อย่างไร, ความเครียดกับความอ้วน, ความเครียดกับนกเขาไม่ขัน (แหะๆ) กับนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ (แหะๆๆ), ความเครียดกับการแท้ง

กับอีกหลายเรื่องน่ารู้เหลือล้น เช่น ธรรมชาติคุมกำเนิดกันอย่างไร ฯลฯ

⦁ เราคงนึกไม่ถึงและไม่เคยคิดว่า เทพีเสรีภาพไม่ได้เป็นสีเขียว, หอไอเฟลเคยเป็นสิ่งรกตา, ไชน่าทาวน์เกิดขึ้นเพื่อชาวอเมริกัน, ป้ายบิลบอร์ดในบราซิลคือฉากกำบังความเหลื่อมล้ำ, ฝาท่อญี่ปุ่นแสนน่ารักซุกซ่อนความลับที่ช่วยปกป้องชาวเมือง นี่คือสิ่งนอกเหนือส่วนของเมืองที่เราเห็นและรู้จักแค่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์

มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น : The 99% Invisible City ช่วยกันเขียนโดย โรมัน มาร์ส กับ เคิร์ท โคลสเตดท์ แปลโดย มิ่งขวัญ รัตนคช ซึ่งจะนำสำรวจเมืองส่วนที่เราไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ใจว่าจะมีรายละเอียดสำคัญอันใด ซึ่งจะทำให้ประหลาดใจ ว่ามีอีกถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ของเมืองที่เราอยู่แต่ไม่เคยรู้จัก

จึงน่าทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของที่มาเหล่านั้น ด้วยเกร็ดน่ารู้สนุกๆ ของเบื้องหลังการออกแบบเมืองต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เรื่องใหญ่มหึมาเช่นการประชันความสูงของตึกระฟ้า จนถึงที่พักแขนม้านั่งที่ไม่เอื้อให้ใช้ พร้อมข้อมูลลึกกับเรื่องน่าทึ่งของการออกแบบเมืองซึ่งเกี่ยวพัน
กับประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม นโยบายสาธารณะ จนถึงเรื่องสุขเศร้าเคล้าน้ำตาของผู้คนเลยทีเดียว

หนังสือที่จะเปิดตาให้เห็นเมืองธรรมดากลายเป็นโลกมหัศจรรย์ไปเลย

⦁ หนังสือแห่งความหวังจาก หนุ่มเมืองจันท์ เพื่อให้เรากลายเป็นโคลัมบัสที่ท่องมหาสมุทรเพื่อค้นหาโลกใหม่โดยไม่ยอมหันหลังกลับ ด้วยคาถา จะข้ามมหาสมุทรอย่าหันกลับไปมองชายฝั่ง อันเป็นฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มพิเศษ

มหาสมุทรของแต่ละคนแม้ขนาดจะต่างกัน แต่การข้ามสมุทรก็เป็นเช่นเดียวกัน คือมุ่งไปจึงจะข้ามพ้น บ้างกำลังเปลี่ยนแปลงชีวิต บ้างเปลี่ยนงาน บ้างอกหักต้องการ “มูฟออน” คนเหล่านั้น
ต้องการความกล้าและกำลังใจขนาดไหน

ที่สำคัญคือ ต้องการกำลังใจจากใคร หนังสือเล่มนี้คือ “ใครคนนั้น”

⦁ หนังสืออีกเล่มที่เห็นชื่อแล้วทั้งกวนโทโสทั้งชวนอมยิ้ม แต่แม่ซึ่งระอากับลูกขี้เกียจเห็นแล้วต้องตาคว่ำคือ ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งว่ากันว่า เป็นคู่มือการอืดอาด ยืดยาด และผัดผ่อนอันทรงประสิทธิภาพ เพราะสามารถทำอะไรสำเร็จได้มากมายทั้งที่เป็นนักผัดวันประกันพรุ่งนี่แหละ

จอห์น เพอร์รี่ ผู้เขียนบอกว่า เลิกผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ใช่ไหม ก็ใช้ประโยชน์จากมันเสียสิ ศาสตราจารย์ปรัชญา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้นี้ ชี้ให้เห็นว่า นักผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่คนไม่ทำอะไรเลย แถมยังทำสำเร็จไปไม่น้อยด้วยซ้ำ เพียงแต่สิ่งที่ทำไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่สุดเท่านั้นเอง

เพอร์รี่เรียกนิสัยแบบนี้ว่า “ผัดวันประกันพรุ่งแบบมีโครงสร้าง” เลยใช้ข้อบกพร่องนี้ให้นักผัดวันประกันพรุ่งทำสิ่งที่สำคัญได้ โดยใช้กลยุทธ์ที่เข้าใจหัวอกคนชอบผัดวันประกันพรุ่งที่สุด ทั้งการจัดการแนวนอน การคัดกรองงาน การสร้างรายการสิ่งต้องทำที่เพิ่มแรงจูงใจได้ดีกว่า จนถึงการทำงานที่ไม่สมบูรณ์แบบนักก็ได้ แต่ดีพอ

หนังสือเล่มนี้ไม่ช่วยให้ใครเลิกเป็นนักผัดวันประกันพรุ่งได้ แต่ช่วยให้ทำอะไรสำเร็จได้มากทั้งๆ ที่คอยผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยๆ นั่นแหละ – แฮ่

จินดารัตน์ ธรรมรงวุทย์ แปลให้อ่านโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

⦁ วรรณกรรมเยาวชนที่ผู้ใหญ่ควรอ่าน ซึ่งได้รับรางวัลมากมาย เช่น 2019 Newbery Honor Award Winner, Walter Dean Myers for Human Rights in Childrens Literature, Jane Addams Childrens Book Award Honor Selection, South Asia Book Award Honor Selection, Junior Library Guild Selection, Texas Lone Star Reading List Selection, Nerdy Book Club Winner

เล่มนั้นคือ ถ้าแม่ฟังอยู่โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง (The Night Diary) เขียนโดย วีรา หิรานันดานิ (Veera Hiranandani) แปลโดย แพน พงศ์พนรัตน์

วันเกิดปีที่สิบสอง ณิชาได้รับของขวัญเป็นสมุดบันทึกประจำวัน ที่ตัวเองไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นสมุดบันทึกเหตุการณ์ของโลกอันแสนอบอุ่นและปลอดภัยของเธอ ซึ่งหายวับไปทันทีที่อินเดียแบ่งแยกดินแดนกับปากีสถาน

“…รถไฟเริ่มเคลื่อนออก พวกผู้ชายชาวฮินดูที่ยังรอดชีวิตกระโดดกลับขึ้นมา หนูมองผู้ชายซึ่งกำลังจะตายที่พื้น เพื่ออะไรกันคะ หนูไม่รู้… หนูตัวสั่นไปทั้งร่าง หนูไม่เคยเห็นใครถูกฆ่าตายมาก่อน ทำให้หนูเปลี่ยนไป หนูเคยคิดว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ตอนนี้หนูสงสัยว่า ใครๆ ก็เป็นฆาตกรได้… ใครเป็นคนแรกคะแม่ คนแรกที่ฆ่า ตอนที่พวกเขาตัดสินใจจะแยกอินเดียออกจากกัน…”

นึกถึงหนัง คานธี (2526) ของ เบน คิงสลีย์ ฝีมือกำกับ 8 ตุ๊กตาทองออสการ์ของ บารอน
ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอร์ ผู้ล่วงลับในวัย 90 ปี (2557) ขึ้นทันทีทันใด

⦁ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วย “โอลด์ โหวตเตอร์” The ส.ว. ปิดสวิตช์
แพทองธาร อ่าน ส.ว.แต่งตั้ง รับใช้เผด็จการ ฝ่ายค้านต้องชนะให้ขาด จึงมีโอกาสฟื้นประเทศ อ่าน กกต.ใส่เกียร์ถอย พึ่งศาล รธน. ตีความปม “จำนวนราษฎร” เลือกตั้งยืดเยื้อ

ซักฟอกครั้งสุดท้าย กระชากหน้ากากคนดี ปิดสวิตช์ 3 ป. ให้ประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง แล้วอ่านดาวสภา “จิราพร สินธุไพร” เพื่อไทยสู้ไปกราบไปจริงหรือ

แล้วอ่าน ไทย พม่า อาเซียน ในสายตา “อันวาร์ อิบราฮิม” ก่อนจะติดตามฤทธิ์ทิ้งบอมบ์ ดิว อริสรา – ชูวิทย์ ขุดรากถอนโคนพนันออนไลน์ ผู้กองกระเด็น ส.ว.กระดอน พ้นตำรวจ ในเมืองไทยยุคชาวบ้านต้องทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่

อ่านควันหลงวาเลนไทน์ คอลัมน์ฝนไม่ถึงดิน “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” ชี้สังคมที่เหลื่อมล้ำ ทำให้เรารักกันไม่เป็น ส่วนคอลัมน์ “มัลติเวิร์ส” บัญชา ธนบุญสมบัติ เปิดวิทยาศาสตร์เบื้องหลัง “แม่น้ำบนฟ้า” ต้องอ่านทั้งสองเรื่อง

วิถี “ตั๊กแตน ชลดา” น้ำตาไหลก็ยกมือปาด แล้วลุกขึ้นมายิ้มต่อ

บทสรุปของลีกอเมริกันฟุตบอล จากเบรดี้สู่มาโฮมส์ การเปลี่ยนยุคของลีกคนชนคน

⦁ เมืองไทยมาถึงวันที่ “ชูวิทย์” คิดตั้งหน่วยปราบคอร์รัปชั่นภาคประชาชน เมื่อถึงยุคระบบราชการล้มเหลว ข้าราชการพิการ โครงสร้างบริหารเอื้อให้พิทักษ์คนพาล อภิบาลคนชั่ว เป็นยุคเลวร้ายของการที่ประชาชนไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจบุคลากรรัฐ ซึ่งไม่ทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ แต่อาศัยอำนาจตามหน้าที่รับผิดชอบแสวงประโยชน์อามิสนานัปการ จนประชาชนต้องลุกขึ้นสะสาง

การเลือกตั้งเป็นหนทางหนึ่งซึ่งชาวบ้านพลเมืองมิอาจละเลย เมื่อมีโอกาสน้อยนิดหลุดลอด
โครงสร้างเผด็จการออกมา ต้องรีบคว้าไว้ – อย่าเฉื่อย เฉย ชิน ชากับการถูกอำนาจข่มเหง เหยียบหยาม

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image