‘ปาร์ตี้ลิสต์กก.’ สอย ‘นเรศวรนิพนธ์ฯ’ อยากโละภาพจำเก่า เชื่อเด็กรุ่นใหม่เก่งกว่า อ่าน-คุยแต่เนื้อหาหนัก

‘ฆนัท’ ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกล สอย ‘นเรศวรนิพนธ์ฯ’ อยากโละภาพจำเก่า เชื่อเด็กรุ่นใหม่เก่งกว่าอดีต อ่าน-คุยแต่เนื้อหาหนัก สพน.มติชนเชี่ยวชาญ ขยายฐานรองรับ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนนี้

โดยมีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 905 บูธสำนักพิมพ์ แบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ โซนหนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือทั่วไป, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น, หนังสือนิยายและวรรณกรรม และหนังสือวาย

สำหรับสำนักพิมพ์มติชน ประจำที่บูธมติชน M49 ดึงศิลปินชื่อดัง “ไข่แมว” ผู้วาดการ์ตูนน้องตาใส ผสมอารมณ์ขันยั่วล้อการเมือง มาร่วมออกแบบบูธและของพรีเมียม เตรียมเสิร์ฟนักอ่านแบบจุใจ ในธีม “BOOKSELECTION” โดยถ่ายทอดเส้นสีแสบสันยั่วล้อไปกับโมงยามของการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

Advertisement

ภายในบูธอัดแน่นด้วยหนังสือ ครอบคลุมทุกความสนใจ อาทิ แนวการเมือง ประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหนังสือสุขภาพ โดยหนังสือใหม่ที่เปิดตัวในงานนี้ ทั้ง 26 ปก ลด 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนังสือขายดีลดพิเศษถึง 20 เปอร์เซ็นต์เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีของพรีเมียม และสิทธิหมุนไข่กาชาปอง สำหรับผู้ที่ซื้อครบ 500 บาทขึ้นไป อีกด้วย

เวลา 17.30 น. นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ หรือ ไปป์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน พร้อมแนะนำ “นเรศวรนิพนธ์ การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง” ของ ปิยวัฒน์ สีแตงสุก คำนำโดย ไชยยันต์ รัชชกูล ซึ่งลดพิเศษจากราคา 350 บาท เหลือ 298 บาท

และอีกเล่มคือ “Capitalism Magic Thailand: Modernity with Enchantment เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม” โดย Peter A. Jackson (เขียน) วิราวรรณ นฤปิติ (แปล) ปรีดี หงษ์สต้น (บรรณาธิการ) ซึ่ลดจากราคา 525 บาท เหลือเพียง 447 บาท

Advertisement

นายฆนัทเปิดเผยถึงเหตุผลที่สนใจหนังสือ “นเรศวรนิพนธ์ฯ” ว่า เนื่องจาก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือกษัตริย์อยุธยา ที่เราได้ยินบ่อยมาก ตั้งแต่เกิดมาก็ได้ยินชื่อพระนเรศวรมาโดยตลอด จนกระทั่งได้เรียนโบราณคดี จึงได้รู้ว่าตำนาน หรือเรื่องเล่าของพระนเรศวร อย่างการคาบดาบ ปีนค่าย ลงไปในเรือจีน ปืนแตก เป็นเรื่องที่ถูกเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง ได้รู้ว่าเรื่องเล่าถูกนำมาชำระใหม่  อย่างน้อยก็ในสมัยรัชกาลที่ 1

“เพียงแต่เล่มนี้เป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจมาก พูดถึงหลังจากช่วงรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา จนถึงสงครามเย็น ที่ฝ่ายอนุรักษนิยม ต่อสู้กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ เล่ามาจนถึงการสร้างเป็นหนัง 6 ภาค ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) มันมีไอเดียที่น่าจะได้อะไรจากในนี้เยอะพอสมควร และนำไปใช้มองประวัติศาสตร์การเมืองในปัจจุบันได้ด้วย” นายฆนัทกล่าว


เมื่อถามว่า การเมืองกับการเลือกอ่าน มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง ?

นายฆนัทกล่าวว่า มีแน่นอน การอ่านเป็นการเชฟ ความคิด ตบความคิดของเราให้ไปในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงมีการเผาหนังสือในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ เพราะไม่อยากให้ประชาชนได้อ่านหนังสือเล่มนั้นในวงกว้าง จนมาถึงประวัติศาสตร์ไทยในระยะใกล้นี้ ก็ยังมีหนังสือหลายเล่มที่ถูกริบ ถูกเก็บไม่ให้จำหน่ายหรือห้ามอ่าน จนอาจจะผิดกฎหมาย

“แต่ยิ่งห้ามเท่าไหร่ กลายเป็นว่าหนังสือเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน การเข้าหนังสือที่ถูกห้าม มีแบบ PDF ในโลกออนไลน์ ถูกปล่อยเต็มไปหมด เรียกได้ว่าความพยายามที่จะเชฟความคิดผู้คนโดยผู้มีอำนาจและความคิดทางการเมืองมีมาโดยตลอด ผ่านการริบและเผาหนังสือ แต่ปัจจุบันไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จขนาดนั้น แน่นอนว่าการเลือกอ่านหนังสือสักเล่มจะนำพาเราไปสู่โลกที่ผู้เขียนเขาคิดขึ้นมา ไกด์เราให้คิดเหมือนเขาในแง่มุมต่างๆ

การอ่านหนังสือที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ในการเห็นประเด็นเดียวกัน เปรียบเทียบผู้เขียนในแต่ละแนวคิดมุมมอง” นายฆนัทกล่าว

เมื่อถามว่า เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือน้อยลงจริงไหม ?

นายฆนัทกล่าวว่า เราเห็นช่วงเวลาที่มีความคิดแบบนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ว่าโลกหนังสือแบบจับต้องได้จะหายไป แต่ถึงที่สุดวันนี้ก็ยังไม่หายไป

“ช่วงแรกที่มีการอ่านหนังสือแบบ PDF แบบ kindle อ่านแบบดิจิทัล เราก็ตกใจ ว่าโลกหนังสือจะสลายหายไป แต่พอถึงทุกวันนี้ แม้แต่กระแสทั่วโลกก็ไม่ได้หายไป ต่างรอดพ้นวิกฤตการณ์นั้นมาได้ เพียงแค่ต้องปรับตัวใหม่” นายฆนัทกล่าว

นายฆนัทกล่าวต่อว่า เราจะเห็นสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือหลายแห่งที่เหมือนจะแย่ แต่ก็กลับมาได้ ตนคิดว่าในอนาคต หนังสือจะกลายเป็นกลุ่มที่เล็กมากขึ้น มีลูกค้าของตัวเองเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

“ผมว่าสำนักพิมพ์มติชนชัดเจนในกลุ่มลูกค้า ว่าเป็นแนวประวัติศาสตร์ การเมือง มติชนพิมพ์หนังสือหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่ผมติดตามมติชนมา 20 กว่าปี รู้สึกว่าหนังสือมติชนหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทางเลือกหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อก่อนจะโดดเด่นเรื่องศิลปวัฒนธรรม ตอนนี้มีการเมืองเพิ่มเข้ามา ทำให้มติชนขยายฐานลูกค้าในแง่หนึ่ง จากความเชี่ยวชาญเมื่อมาผนวกกันทำให้เห็นหนังสือที่หลากหลาย นี่คือคำตอบของโลกปัจจุบันว่าหนังสือเล่มจับต้องได้ ไม่น่าจะหายไป เพียงแต่มันปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของสังคม และประวัติศาสตร์” นายฆนัทกล่าว

ในฐานะคนเคยทำร้านหนังสือ มองทิศทางคนรุ่นใหม่ อ่านอะไรมากขึ้น ?

นายฆนัทกล่าวว่า หนังสือมีหลากหลายกลุ่ม วัยรุ่นจะนิยมอ่านนิยาย ซึ่งเราเห็นว่าโลกของนิยายกลายเป็นตลาดที่ใหญ่มาก อาจจะมีบางท่านอยากให้คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือที่หนักมากขึ้น

“แต่ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงการอ่าน อ่านอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวิชาการหนักๆ เพียงแต่หนังสือทางเลือกที่เป็นวิชาการหนักๆ ก็ยังคงต้องมี

“ผมคิดว่าในปัจจุบันมีกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นด้วยซ้ำเพราะโลกโอเพ่นมากๆ แล้ว ข้อมูลต่างๆ ถูกใส่เข้าไปในอินเตอร์เน็ตมาก เราคิดว่าเนื้อหาวิชาการจะทำให้คนเลิกอ่านหนังสือ แต่เปล่า เขาอยากกลับมาซื้อเป็นเล่มมากกว่า เหมือนอ่านแล้วรู้สึกไม่อิ่ม ไม่ถึงใจ อยากได้เป็นเล่ม

วัยรุ่นที่อ่าน มีหลากหลายกลุ่มมาก ส่วนตัวคุ้นเคยกับการเมือง เวลาไปนั่งคุยเขาพูดถึงเนื้อหาในหนังสือหนักๆ ทั้งนั้นเลย ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย คงไม่อ่านหนังสือเลเวลนี้ เพราะตอนนั้นหนังสือในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองหนักๆ ก็น้อย แล้วเราไม่สามารถรับข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในโลก ได้เท่ากับเด็กรุ่นปัจจุบัน เรียกว่าเขาเก่งกว่าคนในอดีตแน่นอน เขาต้องการข้อมูลที่หนักแน่น อ้างอิงได้ ซึ่งการมีหนังสือที่มี reference อย่างจริงจัง มันสำคัญในแง่นี้ เวลาเราจะถกเถียงประเด็นสาธารณะ เราจะไกด์สังคมไปในทิศทางไหน ข้อมูล หนังสือ หรือข้อเขียนที่อ้างอิงหนักแน่น มั่นคง เป็นงานวิจัยรองรับ แน่นอนว่ามีความสำคัญในการนำไปใช้อ้างอิง ไกด์ทิศทาของสังคมไปด้วยนั่นเอง

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบายด้านการอ่าน หรือการศึกษาอย่างไรบ้าง ?

นายฆนัทเผยว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกล มีกว่า 300 นโยบาย จริงๆ ตอนนี้มีเว็บไซต์ที่อยากให้เข้าไปดูทิศทางนโยบายด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การปฏิรูปสังคมทั้งระบบ เพราะการอ่านเป็นสิ่งที่เราเน้นอยู่แล้ว จากพรรคออนาคตใหม่ เราก็มีมูลนิธิคณะก้าวหน้า ที่มาเปิดบูธ H51 ในงานสัปดาห์หนังสือฯ นี้ด้วย

“เราเน้นแน่นอน โดยเฉพาะในด้านการเป็นผู้นำความคิด อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ออกหนังสือมาหลายเล่ม รวมถึง คุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ออกหนังสือต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เราเน้นอยู่แล้วเรื่องสังคมการอ่าน เรามีห้องสมุดให้คนมายืมหนังสือได้ที่คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เป็นหนี้ในสิ่งที่เราอยากไกด์สังคมไปสู่สังคมการอ่าน ไม่ว่าอ่านแบบไหน ก็ได้ทั้งหมดเลย” นายฆนัทกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image