ตู้หนังสือ : เดือนแห่งการปฏิวัติ เดือนยืนยันการปฏิวัติ

ตู้หนังสือ : เดือนแห่งการปฏิวัติ เดือนยืนยันการปฏิวัติ

เดือนแห่งการปฏิวัติ เดือนยืนยันการปฏิวัติ

สาธุ – ชอบแล้ว หากมิได้เป็นข่าวอีกครั้ง หลายคนก็คงลืมไป และอีกหลายคนคงไม่รู้ว่า เมื่อปี 2538 สถาบัน “นวนาลันทา” แห่งอินเดีย อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการสอนภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ และพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสงฆ์และชาวพุทธทั่วโลก เดินทางไปศึกษาเล่าเรียน มีมติถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎกอาจารย์” แด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ป.ธ.9 วัดญาณเวศกวัน นครปฐม – เป็นองค์ที่ 2 ของโลก

องค์ที่ 2 เชียวนะ ในพระพุทธศักราชอันยืนยาวมา 2566 ปีนี้

ที่สำคัญ – องค์แรกคือผู้ใด คือ “พระถังซำจั๋ง” หรือพระภิกษุเสวียนจ้าง ซึ่งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียสมัยราชวงศ์ถัง จนเป็นที่มาของเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมานานช้านั่นเอง
น่าตื่นเต้นไหม – น่าร่วมอนุโมทนา สาธุ (จะสักกี่ครั้งก็ตาม) ไหม

Advertisement

ตรีปิฎกอาจารย์คือผู้ใด คือผู้รู้ และแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี

⦁ ต่อมาคือข้อเขียนซึ่งต้องอ่านยิ่งยวดสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าใจได้ถ่องแท้ถึงการเป็น “อนุรักษนิยมที่แท้” กับ “เสรีนิยมที่แท้” ก็คือเรื่อง “ศักดิ์ศรีอย่าง “อนุรักษนิยม” ที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อ “ประชาธิปไตย” ของ กล้า สมุทวณิช ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งอธิบายรูปธรรมความหมายของพฤติกรรมสองลักษณะดังกล่าวไว้ให้ฟังอย่างหมดจดชัดเจน

เพื่อไม่ให้เข้าใจปนเปกันสับสนวุ่นวาย ต่อการแสดงความคิดอ่าน ที่ลักลั่นกันจนแยกแยะไม่ได้ว่าพฤติกรรมที่เราเชื่อถือ และเป็นอยู่นั้น คือรูปธรรมใดแน่ จะได้ใช้สื่อสาธารณะแสดงความเห็น ไม่เลเพลาดพาดกันจนผู้คนเวียนหัว

Advertisement

⦁ จากนั้น ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าตัวหนังสือต้องตามให้ทันพฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่กฎหมายที่อยู่มา 100 ปี แต่ต้องเป็นกฎหมายที่สามารถแก้ไขได้ทุกวัน เพื่อไล่ตามความคิดและการแสดงออกของคนในสังคมนั้นๆ ให้ทัน

จากเรื่อง “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าเป็นความผิด” ของอาจารย์ โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์ ที่พูดถึงการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะถูกฟ้องร้องนับสิบกระทง ในมติชน ออนไลน์ วันเดียวกัน

กฎหมายมีไว้โดยเจตนาให้คนอยู่ร่วมสังคมกันอย่างเข้าใจมติร่วม และหลายคราว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน การหาทางเลี่ยงกฎหมายเป็นวิธีหนึ่งของการศึกษากฎหมาย ซึ่งน่าจะมีวิชาเรียนเฉพาะ เพื่อแสวงประโยชน์จากการนั้นได้

⦁ “มิถุนายน” เป็นเดือนแห่งการปฏิวัติ และเดือนยืนยันการปฏิวัติ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ส่วนวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เป็นการยืนยันการปฏิวัติดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลอนุรักษนิยม และเป็นการรัฐประหารครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย – ที่ทหารทำรัฐประหารเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ

หลายคนรู้ แต่อีกหลายๆ คนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ศิลปวัฒนธรรม นิตยสารรายเดือนเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และปัจจุบัน ด้วยการมองย้อนอดีต ฉบับเดือนมิถุนายน ว่าด้วย “90 ปี 20 มิถุนายน 2476” ให้รู้จักรัฐประหารครั้งแรก ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งหลังๆ มากมายเพียงไร

อ่านปณิธานพระนั่งเกล้าฯจาก “เพลงยาวพระราชปรารภ”, รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านเมล็ดข้าวตรงไหนในทุ่งบางเขน, เมื่อความเป็นบุคคลไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ แต่เป็นส่วนขยายของความเป็นทาส : สิ่งที่ตกทอดจากโรมันสู่กำเนิดสภาวะสมัยใหม่, “อโหสิ” โลหิตหยดแรกประชาธิปไตยไทย,

อ่านกาพย์สยามใหม่ ของเจ้าคณะหมวดทองคำ วัดรังษีโสภณ “ระบอบใหม่” ในวรรณกรรมวัด, วิกฤตการณ์วังหน้าตามหลักฐานฝรั่ง, คุยกับตาแนบ ป้าสำอาง เพลงขอทาน, เพลงจากละครเวทีเรื่องบางไพร, พะแนง แกงแขกเทษ ฯลฯ

พร้อมบทกวีของ ขรรค์ชัย บุนปาน, พนม นันทพฤกษ์

⦁ การเมืองไทยจะไปทางไหนกันแน่ เมื่อกระบวนวิชามารรุมกันแสดงอิทธิฤทธิ์ อ่านนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย “ก้าว” เข้าสภา แต่ “ไกล” จากทำเนียบ, ส่องปราการด่านทหาร – 3 ป. ส.ว. ผบ.เหล่าทัพ, ธรรมนัส ทักษิณ, สายเลือด ตท. กับ 5 เสือ ทบ. รับร้อน

ดูมุมมองนักวิชาการ อดีตทูต รัฐบาลที่กำลังเก็บของกลับบ้าน ดอดตั้งวงถกปัญหา “เมียนมา” ผิดกาลเทศะ ผิดมรรยาท, อ่าน “กาแฟดำ” ขยายความเหตุร้อนๆ กรณี “สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ” ที่กระทรวงบัวแก้ว
แล้วติดตามหนังโรงใหญ่ “โปลิศจับตำรวจ” ตบทรัพย์บ่อนออนไลน์ 140 ล้าน ชูวิทย์กระหน่ำ “ลิ่ม” เด็ดผู้การเมืองชล สะเทือนชิง ผบ.ตร. ก่อนไปผ่าพฤติกรรมเด็กไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ทำไมถึง “เก็บกด ก้าวร้าว รุนแรง”, คำ ผกา ตั้งคำถามกรณี “หยก” ถ้าโรงเรียนไม่ดูแลเด็กแล้วใครจะดูแล

อ่านการปฏิวัติ 2475 บนเส้นทางวิบาก 91 ปี ยังสู้กับอำนาจเก่าเหมือนเดิม, อ่าน “มาย คันทรี่ ไทยแลนด์” ของ ณัฐพล ใจจริง พาไป “พักผ่อน” สร้างชาติ “บางปู” สถานตากอากาศสมัยประชาธิปไตย, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ฟื้นประวัติศาสตร์ “รำวง” มาจาก “รำโทน” เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เพื่อมาตรฐานความเป็นไทยสมัยจอมพล ป.

และเรื่องเด่นต้องไม่พลาด อาจารย์ “เกษียร เตชะพีระ” วิพากษ์ทฤษฎีสมคบคิด : บุคลิกลักษณะและมนต์สะกด – เริ่มด้วยอะไร, ใครได้ประโยชน์, ตัดแต่งหลักฐานให้รับกับทฤษฎี, ลุกลาม ยากจะปฏิเสธ ฯลฯ (ฮ่าฮ่า อย่างที่ว่า – น่าจะมีวิชาเรียน มอบปริญญาให้ด้วย ไม่ต้องคอยเป็น “เนติเสี่ยวเอ้อ”)

แล้วตามคนมองหนังไปอ่าน “เกลนดา แจ๊กสัน” ผู้ล่วงลับ วิพากษ์ “ลัทธิแทตเชอร์” ในวันไว้อาลัย “นายกฯหญิงเหล็ก”, ส่วนบัญชา ธนบุญสมบัติ จับตา “นาซา” ศึกษาปรากฏการณ์ลึกลับอย่างเป็นระบบ

อ่านอิ่ม อ่านอร่อย ย่อยง่าย ท้องไม่อืดไม่เฟ้อ

⦁ ระหว่างที่การเมืองไทยยังลากถูลู่ถูกังกันไป ขณะที่เพื่อนนานาอารยประเทศพุ่งขึ้นสูงลงต่ำกันแล้วไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ในยามที่โลกหมุนไวไปท่ามกลางยุคดิจิทัล เรื่องที่ผู้คนต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัยเปลี่ยนผ่านตอนแรกๆ ยังไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรที่เราจะเป็น “พลเมืองดิจิทัล” เพื่อรับมือเทคโนโลยีนานาลักษณะทั้งหลายได้อย่างมีสติ

สิ่งซึ่งกระทบอย่างรุนแรงจากการเสพสื่อสาธารณะประจำวันประการหนึ่งก็คือ “วัฒนธรรมการเปรียบเทียบ” อันเป็นแรงกดดันทางสังคมที่ทำให้คนคอยเปรียบเทียบ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา สถานะความสัมพันธ์ รูปแบบการใช้ชีวิต กินอยู่หลับนอน ตลอดจนความสำเร็จในการหาเงินได้มั่งคั่งอย่างรวดเร็ว

ล้วนพุ่งเข้ากระทบคนส่วนมากที่ล้วนเสพสื่อสาธารณะประทังชีวิต

ผลลบซึ่งกระแทกเข้าหาโดยตรงก็คือ การพิจารณาคุณค่าของตัวเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ที่แย่คือ คิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอหรือยังขาดอะไรไป

ถึงกระนั้น ก็ยังมีวิธีใคร่ครวญเพื่อดำเนินชีวิตอยู่กับโลกดิจิทัลใบนี้ได้

My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล ของ ทาเนีย กูดิน แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา กับอีกเล่มคือ Digital Minimalism ดิจิทัลมินิมัลลิสม์ ของ คาร์ล นิวพอร์ต แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น ที่จะเสนอวิธีดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเร็วของเทคโนโลยีให้พิจารณา

เช่น พยายามจำกัดเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบหรือพักการใช้งานเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าระยะสั้น ระยะยาว หรืออย่างถาวร

เมื่อพักการใช้เทคโนโลยีแล้ว ก็ควรหากิจกรรมที่พอใจ หรือมีความหมายต่อตัวเองทำ หรือแม้ยังจำเป็นต้องใช้สื่อสาธารณะ ก็ควรคัดเลือกเนื้อหาที่เป็นสาระและประโยชน์ต่อตน ต่อการดำเนินชีวิต ติดตามเรื่องราวผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ลดการเปรียบเทียบอันไม่จำเป็นของการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือสถานะทั้งเงินตรา ยศศักดิ์ ระหว่างคนต่อคนลง

เรียนรู้และเข้าใจแก่นของเทคโนโลยีแต่ละลักษณะ เพื่อการใช้สอยที่ยังประโยชน์ที่แท้มากกว่าการสนองอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตประจำวันราบเรียบและสงบลงอย่างนึกไม่ถึง แค่เพียงเลิกติดตามว่าใครจะแต่งกับใคร ใครเลิกกับใคร ใครใส่ชุดว่ายน้ำน้อยชิ้นขนาดไหน หรือใครกินอะไรเข้าไปเกินอิ่ม

หนังสือ 2 เล่มนี้รายละเอียดหลายประการเรียนรู้แล้วจะนึกไม่ถึง

⦁ เรื่องไทย ความเป็นไทย ยังต้องกรุ่นอยู่ยาวนานในบ้านเมืองนี้ ที่พยายามให้ไทยเป็นชาติพันธุ์เอกลักษณ์ มาตั้งแต่ยุคคลั่งชาตินิยม ที่เขียนประวัติศาสตร์ให้ไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตจากจีนเหนือผ่านจีนใต้ลงมาถึงแหลมทอง โดยไม่คิดว่าต่อให้เป็นความจริง การอพยพเผ่าพันธุ์ผ่านกาลเวลากว่าพันปี ไหนเลยผู้คนจะไม่ผสมผเสปนเปเชื้อชาติกันไปแล้วเท่าไหร่

กระทั่งทุกวันนี้ มีนายกรัฐมนตรีกี่คนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่มีเชื้อจีน หรือแม้แต่เจ้าขุนมูลนายบรรดาท่านทั้งหลายแต่ก่อนก็ยังสมรสกันหลากเชื้อหลายพันธุ์ ยิ่งรู้กันแล้วว่าเป็นประวัติศาสตร์ยัดเยียด ก็ยิ่งต้องศึกษาให้ถูกแนวทาง

หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งควรอ่านก็คือ ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม ค้นคว้าศึกษามาให้อ่านโดยอาจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งสามารถใช้ประกอบความคิดอ่านจากหนังสือน่าตื่นใจของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ได้เป็นอย่างดี

หนังสือซึ่งเขียนโดยวิธีวิทยามานุษยวิทยา แนวอัตถปริวรรตกรรมเล่มนี้ เกิดขึ้นก็ด้วยอาจารย์ผู้เขียนเองต้องการวิจัยประเด็นท้าทายนี้ เพราะเป็นปัญหาคาใจไม่เพียงแต่กับผู้เขียนเอง แต่กับผู้คนอีกมาก ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา ที่ยังขาดตำราด้านนี้ เพื่อจะมีหนังสือสักเล่มที่พอจะให้แสงสว่างส่องให้รู้ได้ว่าคนไทยแต่เดิมนั้นอยู่ที่ไหน หรือมาจากที่ใดกันแน่

ดังนั้น ต้องอ่าน ผีซ้ำด้ำพลอย, สืบด้ำแถน, ด้ำโคตรเงือก และด้ำโคตรกบ ใน “ซิ่นนางหาญ”, เจ็บชั่วโคตร, โคตรวงศ์ด้ำในจารึก “ปู่สบถหลาน”, สาวด้ำปางบรรพ์ “ด้ำนาย ด้ำปู่”, ความหลากเลื่อนของภาษากับความหมายของคำ “ใหญ่ ยาย นาย”, ปางด้ำนายในระบบนิเวศ “ซำนกเอี้ยง-ซำตะเว็น-ซำน้ำบ่อ” ของสังคมไทดั้งเดิม, ลวงตกน้ำเย่าฮู้จม แอ่นตกหนองตกนาเบ่าฮู้เส่า, จาก “สิบหกเจาไท” สู่ “สิบสองจุไท” ฯลฯ

เป็นหนังสือสาระความรู้ที่ต้องอ่านจริงๆ – นะไทยนะ

⦁ จากอดีตพันปี จนถึงปัจจุบันวันนี้ โดยอาจารย์ผู้เขียนคนเดียวกัน มีหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่านเพื่อเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของคนร่วมยุคสมัย ไม่ว่าที่เห็นจะเป็นเด็กน้อยหรือหนุ่มสาวซึ่งผู้ใหญ่ถือตนว่าตัวอาบน้ำร้อนมาก่อนก็ตาม

มหากาพย์ นาฏลีลา มวลมหาประชาชน ซึ่งอาจารย์ ชล ศึกษาวิเคราะห์การขับเคลื่อนของกลุ่มประชาชนแล้วเห็นว่า “เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทย” จากแรงกระตุ้นให้เกิดการต่อสู้ที่ไม่เคยปรากฏ

อ่าน 10 บทของเรื่อง “มหัศจรรย์” ในสังคมไทยวันนี้ตั้งแต่ ฉันนั้นก็บ้าเสมอ ที่ยังบ้ารักเธอ รักประเทศไทย, กลุ่มหน้ากากขาว พลังแห่งความดี, สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่, สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย แม้เป็นคนสุดท้าย ก็ลองดู, ข้าขอประณตน้อมครูอาจารย์… ช่วยไล่รัฐบาล ผู้ก่อเหตุอาเพศหนักหนา,

จะมีหนึ่งนารีขี่ม้าขาว ควงคทามุ่งสู่ดาวสร้างความหวัง, ศรัทธากับสำนึกผิดชอบชั่วดีของ “โนอาห์”, ถอดรหัส “ความเป็นมนุษย์”, ความเป็นพลวัตแห่งสังคม, ใส่ใจในตนเอง ยึดมั่นสัจธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกทั้งโลก

อ่านดูว่าพบตัวเองในหนังสือเล่มนี้ไหม แล้วใช้โยนิโสมนสิการตรองดูว่า ทำไมจึงพบ หรือทำไมจึงไม่พบ

⦁ แม้จะคิดเอาเองว่าซา ซึ่งความจริงมิได้ซา แต่โควิดก็ยังแพร่เชื้ออยู่ทั่วไป ทั้งมีคนเจ็บและยังมีคนตาย ดังนั้น การระมัดระวังของคนในสังคมก็ยังต้องไม่ประมาทเผอเรอ โดยเฉพาะที่มีเด็กเล็กในบ้านซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือแม้แต่ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม เพราะเชื้อโรคใหม่เช่นนี้ ยังไม่รู้ได้ว่าในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้าง

ถือความปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า มาวันนี้แล้ว ที่พระบอกว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั้น” แม้แต่มหาเศรษฐีแสนล้านก็ไม่มีใครคิดจะโต้แย้ง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image