ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’

ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’

ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’

ปีนี้ครบ 100 ปีที่ศิลปินอิตาเลียนจากเมืองฟลอเรนซ์ เมืองศิลปะโลก นายหนึ่งคือ คอร์ราโด เฟโรจี นำครอบครัวเดินทางเข้ามาพำนักในสยามตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2466 ตราบสิ้นชีวิตในปี 2505 หลังจากที่ชาวไทยรู้จักกันในนามอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศ และได้สร้างผลงานถาวรวัตถุ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นอาทิ ไว้เป็นความทรงจำล้ำค่าอย่างอเนกอนันต์ ดังเป็นที่รู้จักกันส่วนมากแล้ว

ยังได้สร้างศิลปะบุคลากร หรือศิษย์ศิลปิน ที่สืบรากฐานศิลปะสมัยใหม่เรืองนามอีกจำนวนไม่น้อยต่อมากระทั่งปัจจุบัน นอกเหนือสถาบันต้นแบบทางศิลปะคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร

กรมศิลปากรได้จัดนิทรรศการ “100 ปีศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านไปแล้ว กันยายนซึ่งเป็นเดือนเกิดของอาจารย์ ย่อมมีบรรดาศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันร่วมใจกันชุมนุมรำลึกสักการะรูปปั้นอาจารย์กันที่มหาวิทยาลัยเช่นทุกปี ใน “วันศิลป์ พีระศรี” 15 กันยายนที่ผ่านมาเช่นกัน ก่อนจะสรวลเสเฮฮาตามวาระที่นานๆ ปีจะได้เจอกัน

Advertisement

• ความทรงจำหนึ่งซึ่งเมื่อรื้อฟื้นคราใด จะเป็นความอบอุ่นประทับใจ เผลอๆ อาจจะน้ำตาซึมแม้จะเป็นผู้มิได้มีส่วนในแวดวงศิลปะใดๆ โดยเฉพาะที่เคยอ่านหนังสือหรือดูหนัง 2 ภาคชื่อเดียวกัน กลิ่นสีและกาวแป้ง ซึ่งเขียนโดยศิลปิน พิษณุ ศุภนิมิตร อาจเกิดความรู้สึกกินใจได้มากกับความทรงจำมากมายเหล่านั้น-นั่นคือ
ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ เขียนและเรียบเรียงโดย นิพนธ์ ขำวิไล (ผู้ล่วงลับในวัย 75 เมื่อปี 2557) ลงแรงบากบั่นรวบรวมจนได้ความทรงจำ ความรัก ความผูกพัน และความใฝ่ฝันในศิลปะของบรรดาศิษย์ถึง 130 คน ที่ร่วมยุคร่วมสมัยในปฏิสัมพันธ์นานา จากการได้เรียนโดยตรงกับอาจารย์ ซึ่งบางเรื่องบางครั้งอาจหัวร่อจนน้ำตาเล็ด (อ่านกี่ครั้งก็ขำ) และหลายครั้งความรู้สึกก็อบอุ่นจนใจฟู

ศิษย์เหล่านั้น ในเวลาต่อมา กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในวิชาชีพต่างๆ ทั้งศิลปิน กวี นักเขียน ครู อาจารย์ นักวิชาการ สถาปนิก นักออกแบบ จนกระทั่งนักโบราณคดี และสาขาอื่นๆ อีกมากมาย

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ 4 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2527 ถึง 2565 ทุกครั้งได้ปรับปรุงทั้งรูปแบบเนื้อหา แต่คงหัวใจของ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ไว้งดงามดังเดิม ลองเข้าห้อง “สำนักวิจัย ศิลป์ พีระศรี” ถามหาหนังสือดู เข้าใจว่าชุดละ 600 บาท หนังสือปกแข็ง 672 หน้า จะมีกล่อง เหรียญที่ติดปก กับเหรียญพิเศษในตลับ และภาพชุด 6 ภาพ มอบให้ด้วย

Advertisement

• ซาลมาน รัชดี นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย อังกฤษ ซึ่งเคยถูกอดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่านผู้นำประชาชนโค่น “พระเจ้าชาห์” จนพ้นบัลลังก์ อะญาตุลเลาะห์ โคไมนี ประกาศ “ฟัตวา” หรือคำวินิจฉัยทางกฎหมายให้ชาวมุสลิมสังหารโทษฐานดูหมิ่นศาสนาอิสลามในปี 2532 หลังจากหนังสือเรื่อง โองการปีศาจ (The Satanic Verses) ซึ่งตีพิมพ์ปีก่อนหน้านั้น ถูกชาวมุสลิมต่อต้านอย่างกว้างขวาง จนต้องหลบซ่อนตัวอยู่นานนับสิบปี ก่อนจะค่อยๆ เผยตัวต่อสาธารณะ

แต่แล้ว ในวัย 75 ปี ขณะที่รับเชิญไปบรรยายที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก็ถูกชายวัย 24 ซึ่งเกิดหลังหนังสือเล่มดังกล่าววางแผงนับสิบปีเช่นกัน “ฮาร์ดี มาตาร์” ผู้มีแนวคิดรุนแรงจากครอบครัวอพยพชาวเลบานอน บุกขึ้นเวทีไปแทงหลายแผล จนเสียตาข้างหนึ่งและมืออีกข้างใช้งานได้ไม่ปกติ

กระทั่งนาย ริชี ซูแน็ก ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมยังกล่าวว่า อังกฤษควรจัดให้หน่วยพิทักษ์สาธารณรัฐอิสลามอยู่ในบัญชีก่อการร้าย

ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’รัชดียังเป็นผู้เขียนนิยายพิศดาร มิดไนท์’ส ชิลเดรน พากย์ไทยโดย สุนันทา วรรณสินธ์ มติชนพิมพ์ 2563 หรือ ทารกเที่ยงคืน ฉบับ นพดล เวชสวัสดิ์ แปล 2553 เพิร์ล พับลิชชิ่งพิมพ์ งานเขียนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) หรือเอาง่ายๆ ว่าแฟนตาซี (fantasy) ซึ่งมีเนื้อหาจริงเป็นฉากหลังเรื่องนี้ ทำให้ผู้เขียนเป็นที่รู้จักไปทันทีทั่วโลก

จากการกำเนิดของทารกนับพันในเวลาเดียวกับที่อินเดียประกาศเอกราช แยกเป็นสองประเทศ ทารกซึ่งมีอำนาจวิเศษแตกต่างกันออกไป เติบโตขึ้นมาพร้อมกับชีพจรบ้านเมืองหลังปลดแอก เผชิญรายละเอียดของปัญหานานา

ทั้งยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ปี 2555 โดยรัชดีเขียนบทเอง และบรรยายในภาพยนตร์เอง กำกับโดย ทีปะ เมธา ซึ่งถ่ายทำอย่างเงียบเชียบในโคลอมโบ ศรีลังกา แทนปากีสถาน หรือแม้แต่ในมุมไบ อินเดีย เพราะกังวลว่าจะเกิดการประท้วงต่อต้านทั้งจากมุสลิมและชาวฮินดู
ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’• งานพากย์ไทยของรัชดียังมี บ้านโกลเดน (The Golden House) ที่เปลี่ยนฉากไปขยาย “ความเป็นอเมริกัน” ด้วยชั้นเชิงเสียดสีหยอกเอินอย่างแสบสุด โดยจับความตั้งแต่วันที่ประธานาธิบดีโอบามาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง พ่อ “โกลเดน” กับลูกชายทั้งสามได้ปรากฏตัวในย่านการ์เดนส์ในแมนฮัตตันอย่างหรูหราฟู่ฟ่า จนเพื่อนบ้านแปลกใจ

ต่างสัมผัสได้ถึงรังสีลึกลับที่แวดล้อมสี่พ่อลูก ซึ่งล้วนไม่เคยเอ่ยหรืออ้างถึงเมือง บ้านเมือง หรือสถานที่ที่ได้จากมา นอกเหนือชื่ออันอลังการ ซึ่งสวมตัวตนบนดินแดนแห่งโอกาส ที่เมื่ออเมริกาเดินหน้าสู่ยุคแห่งความจริงซึ่งผิดเพี้ยน ขณะเดียวกับอดีตที่ไม่เคยเปิดเผยกลับติดตามครอบครัวนี้มาทัน

เรื่องกระทบกระแทกใจจากปริศนาอันตรายอันดำมืดจึงเผยตัวออกมา ท่ามกลางสารพันปัญหา คนชายขอบกับผู้อพยพ กฎหมายอาวุธปืน มาเฟีย สวัสดิการรัฐ การผงาดของขั้วการเมืองฝ่ายขวา การเลื่อนไหลทางเพศ โลกภาพยนตร์ ฯลฯ รัชดีปรุงหม้อจับฉ่ายใบใหญ่นี้ด้วยฝีมือพิศดารอีกเช่นเคย

สุนันทา วรรณสินธ์ แปลอย่างถึงพริกถึงขิงเช่นเคยเหมือนกัน

• อีกเล่มที่พากย์ไทยเรียบร้อย จากการจับคู่กันอีกครั้งของนักเขียนกับนักแปล รัชดี กับ สุนันทา เป็นเรื่องสนุกไม่น่าพลาดสำหรับคอนักอ่านที่ชอบปะติดปะต่อเรื่องราว และคาดเดาความคิดนักเขียน เหมือนเล่นเชื่อมความคิด
ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน ที่หากใครเคยรู้จักการเล่าเรื่องติดต่อกันไม่หยุดยั้งโดยผู้ฟังกระหายจะรู้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบแบบนิทาน พันหนึ่งราตรี ต้องลบภาพนั้นไป เพราะรัชดีจะนำอาเพศมหัศจรรย์ใหม่มาให้รู้จัก

อาเพศซึ่งกินเวลายาวนานถึงสองปี แปดเดือน กับอีกยี่สิบแปดคืน

หลังพายุกำลังมหาศาลถล่มนิวยอร์ก โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นหากผนึกกั้นมนุษย์กับแดนนางฟ้าเทพธิดาพังทลายลง บันดาลเหตุการณ์ไร้เหตุผลสารพัน คนตัวลอยเท้าไม่แตะพื้น รูหนอนข้ามโลกในย่านควีนส์ ทารกที่เปิดโปงทุจริตในใจคน สาวน้อยผู้มีพลังสายฟ้าที่ปลายนิ้ว ฯลฯ กับเจ้าแม่ที่นำชีวิตต่างมิติเข้าโรมรันสร้างสงครามพันหนึ่งราตรี

พันหนึ่งราตรีที่ความจริงกับจินตนาการพัวพันกันยุ่งเหยิงเกินสะสาง

ซึ่งภายใต้ภาพแฟนตาซีที่ผู้เขียนวาดไว้ผสมผสานกับสถานการณ์จริง ผู้เขียนหว่านโปรยอารมณ์ขันงอกงามอยู่ในเนื้อหา อันเพียบพร้อมด้วยข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม คติ ความเชื่อ และชุมชนโลกที่ดึงดูดให้ติดตาม เป็นชั้นเชิงความสามารถในการเล่าเรื่องระดับปรมาจารย์

จึงเป็นหนังสือเล่มที่คอนิยาย ไม่ว่านิยมเรื่องแปลเป็นทุนหรือไม่ ต้องอ่าน
ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’• และบัดนี้ งานพากย์ไทยเล่มล่าสุดของรัชดี จากฝีมือแปลของ วรางคณา เหมศุกล เรื่อง กิช็อต บุรุษบ้าและมายาสมัย ก็วางแผงมาให้ชนิดติดตามกัน

เรื่องของชายชรา นักขาย นักรัก นักฝัน เชื้อสายอินเดีย ที่เดินทางทั่วสหรัฐพร้อมลูกชายซึ่งปรากฏตัวราวปาฏิหาริย์ ในการตามพิชิตใจดาราสาวซึ่งชายชราตกหลุมรักผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เป้าหมายนั้นต้องแลกมาด้วยการฟันฝ่าหุบเขาอุปสรรคนานาทั้งเจ็ด ท่ามกลางเสียงอึงอลและภาพบิดเบี้ยวของสังคมอเมริกันสมัยใหม่ ซึ่งเปี่ยมด้วยความหวังที่ปะปนกับความสิ้นหวัง

ดังนั้น ในยุคที่ทุกสิ่งเป็นไปได้ ความบ้าจึงเกิดขึ้นอย่างตลกร้าย ความฝันอาจกลายเป็นจริง ความจริงอาจเป็นฝัน ความไม่ปกติอาจปกติ และความปกติอาจไม่ปกติ จนทำให้เรื่องแต่งในหนังสือเล่มนี้กลายเป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง (อือออ…)

ไม่หาอ่านไม่ได้แล้วล่ะ

• ไม่เพียงการต่อสู้เรียกร้องวิถีสังคมประชาธิปไตย ในบ้านเมืองซึ่งอำนาจอาวุธอยู่เหนือความคิดและความต้องการของประชาชนเจ้าของประเทศ ขณะเดียวกัน ในโลกอันหลากหลายด้วยผู้คนต่างชาติต่างเชื้อ ย่อมมากด้วยวิธีคิดอันผิดแผกกันไปด้วย จึงควรเรียนรู้ความคิดของกันและกันที่แตกต่างไปเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจตรรกะ มุมมอง วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแนวคิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามที-เพราะนี่คือโลกอันแตกต่าง

ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’ปีเตอร์ โครพอดกิ้น ศาสดาอนาธิปไตย ผู้มีความคิดช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ที่มิใช่การแข่งขันหรือฆ่าฟัน ด้วยความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดถอนรากถอนโคน จากความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องดีขึ้นด้วยวิธีนั้น

วิทยากร เชียงกูล ผู้สุดท้ายแล้ว “ได้กระดาษมาแผ่นเดียว” เล่าเรื่องเจ้าชายรัสเซียที่ชีวิตสุขสบาย ไม่ว่าการเลี้ยงดูหรือการศึกษา “ปีเตอร์ โครพอดกิ้น” ที่สามารถเป็นชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำสังคมอย่างมิพักสงสัย
แต่กลับปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น ด้วยการเดินเข้าสู่เส้นทางปฏิวัติเช่นนักปฏิวัติทั้งหลาย ด้วยแนวคิดดังกล่าวข้างต้นที่เชื่อว่าทุกอย่างต้องดีขึ้นด้วยวิธีถอนรากถอนโคน ไม่ว่าความเท่าเทียม ความชอบธรรม หรือความยากลำบากในสังคม

ไม่เพียงผู้อ่านจะได้ศึกษาแนวคิดสังคมนิยมของโครพอดกิ้น ยังได้เห็นเส้นทางชีวิต การพลิกผันตัวเองสู่เส้นทางปฏิวัติที่น่าสนใจยิ่งของชนชั้นได้เปรียบในสังคม ทั้งยังได้เรียนรู้วิถีสังคมนิยมจากบรรดานักการศึกษา นักปรัชญา นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง นักการปกครอง ที่โลกรู้จักกันเป็นตำนานอีกหลายนามด้วย

น่าเรียนรู้ เพียงได้ฟัง “คมวาทะ” ของโครพอดกิ้น ก็กระตุ้นความคิดแล้ว
ตู้หนังสือ : อ.ศิลป์ อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ ‘นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร’• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัวรับรัฐบาลใหม่ มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วย ตำรวจดีดี มีสิทธิไหมคะ อ่านนาทีกำนันนก “สั่งตาย” และวิสามัญหน่อง ท่าผา มือยิงดับ พ.ต.ต.แบงค์ ตามด้วยเรื่องสลด ผกก.เบิ้ม ฆ่าตัวตาย

27 กันยายน ก.ตร.เคาะ ผบ.ตร.ใหม่ ลุ้นเศรษฐาคัดชื่อ 4 แคนดิเดต ประเดิมกฎเหล็ก “แต่งตั้ง” นายพล ติดตามส่องศึกอภิปรายนโยบาย รบ. เจอถล่มไม่ตรงปก และนายกฯส้มหล่น “เศรษฐา” โชว์ความสามารถเฉพาะตัว “ผ่าน”

ศุภวุฒิ สายเชื้อ กางโจทย์ท้าทาย รัฐบาลเศรษฐาบริหารเศรษฐกิจ แจกเงินต้น “ขาดดุลแฝด” จีดีพี โตไม่ยั่งยืน ส่วนก้าวไกลก้าวไปต่อ กำชัยเลือกตั้งซ่อมระยอง ปชป.ไม่ฟื้น แพ้แล้วแพ้อีก

จับตาบทบาท “ทรงวิทย์-นายกฯ” กับ “สนิธชนก-รมว.กลาโหม” และแผงอำนาจ ตท.24 สุทินเน้นปรองดองกองทัพ รอมชอมขั้วประยุทธ์ ให้ณัฐพลนั่งเลขาฯ สมศักดิ์ “กุนซือ” แล้วอ่าน 17 ปีรัฐประหาร 19 กันยาฯ ความขัดแย้งหวนมา… กลายพันธุ์

จากนั้นตามดูหลุมดำนโยบาย จากกรณีรัฐจ่ายเงินเดือน 2 งวด ต่อด้วยหนังชีวิตซอฟต์เพาเวอร์ ตามนโยบาย OFOS ของพรรคเพื่อไทยกับกระทรวงวัฒนธรรม แล้วฟังสุจิตต์ วงษ์เทศฟันธง สุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรก “อโยธยา” ต้นกำเนิดคนไทย ภาษาไทย ประเทศไทย (เอ้า)

เทศมองไทยไปทางใต้ ธุรกิจ “รัสเซีย โอนลี่” ที่จังหวัดภูเก็ต-อย่ามองข้ามทีเดียวเชียว

• การเมืองไทยก้าวต่อไปอีกบท แต่ไม่ว่าคนรุ่นก่อน รุ่นนี้ และรุ่นหลังที่ตามมา ที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมและการเมืองไทยให้ชัดแจ้ง ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ว่าเรา “มีส่วนสร้าง” อนาคต หรือ “เป็นเหยื่อ” อนาคตของคนเกี่ยวเบ็ด

อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นตัวอย่างอันดีของคนถูกครอบงำมาตั้งแต่ค่อนศตวรรษก่อน อ่านสัมภาษณ์อาจารย์ “เมื่อตั้งคำถาม จึงแสวงหาคำตอบ และการอ่านทำให้กะลาที่ครอบอยู่แตกกระจาย” อาจารย์เล่าประสบการณ์ชีวิตของคนรุ่นนั้นที่ถูกล้างสมองมากว่าห้าสิบปี ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นจนวันนี้

อ่านแล้วเห็นภาพบรรยากาศสังคมไทย คนไทย นักเรียนไทย เห็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่ต้อง “ตื่นเต้นตกใจ” เหมือนอาจารย์ พร้อมรายละเอียดประกอบต่างๆ จนกระจ่างสถานการณ์สังคมยุคนั้น โดยสำทับ “กุญแจสำคัญ” ที่ไขเรื่องราวซึ่งเป็น “คำตอบ” ที่ได้มา ด้วยคำของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีที่ว่า “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร”

เข้าไปอ่านสัมภาษณ์นี้ได้ในห้อง “สถาบันปรีดี พนมยงค์” 8 กรกฎาคม 2564

• หลังจากอ่านสัมภาษณ์นั้นแล้ว ต้องตามด้วย “เบื้องหลังระหว่างบรรทัด ‘ปากและใบเรือ’ ฉบับฟ้าเดียวกัน จากปากคำธนาพล อิ๋วสกุล” ที่พูดถึงชีวิต การทำงาน และเจตจำนงของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงาน “เปิดโกดังหนังสือการเมือง” ที่มติชน อคาเดมี จากข่าวมติชน ออนไลน์ 10 กันยายนที่ผ่านมา

ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับช่วงกาลหนึ่งขณะนี้

เพราะจะได้ภาพการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของนักเรียน นักศึกษาไทย และประชาชนไทยที่ใฝ่รู้ จนกลายเป็นปัญญาชนซึ่งพยายามมีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคม (ไม่ใช่เติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม) ด้วยความมานะในการศึกษาเล่าเรียน

ระวังฟ้า ระวังฝน ระวังคนโทรหลอกหลวง-ขอให้เพลิดเพลินกับการอ่าน แม้จะมีหรือไม่มีวาระการอ่าน “แห่งชาติ” ก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image