ตู้หนังสือ : ไฮเทคทีฟ-ไซเบอร์คริมินอล ตุลา-ตุลา สนธยาประชาธิปไตย

ตู้หนังสือ : ไฮเทคทีฟ-ไซเบอร์คริมินอล ตุลา - ตุลา สนธยาประชาธิปไตย

ไฮเทคทีฟ-ไซเบอร์คริมินอล ตุลา-ตุลา สนธยาประชาธิปไตย

หากไม่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นวาระแห่งอะไรแล้ว เมื่อวิทยาการเทคโนโลยีการสื่อสารมาถึงยุคดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้ทุกอย่างหาได้จากโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าของมิจฉาชีพก็มาพร้อมความก้าวหน้าทางวิทยาการ คนมีคนไม่มีล้วนถูกหลอกลวงเงินเก็บเงินออมกันไปมากมายนับล้านๆ โดยขบวนการเหล่านั้นสามารถตั้งฐานล่อลวงได้จากทุกมุมโลก

ตำรวจไม่ได้ทำเพียงวิ่งไล่จับโจรวิ่งราว หรือไล่จับโจรปล้น ลัก ขโมย ฉก ชิง ซึ่งหน้าหรือลับหลังลักษณะเดียวอีกต่อไป เมื่อคนนอกกฎหมายเหล่านั้นแปลงร่างเป็น “เทคโนทีฟ-ไฮเทคทีฟ” (technothief) โจรไฮเทค หรือ “ไซเบอร์คริมินอล” (cybercriminal) อาชญากรไซเบอร์ ตามทันยุคสมัยไปอีกขั้น มือกฎหมายจะมัวปั่นจักรยานไล่ เป็น “โลเทคลอว์แมน” ทองไม่รู้ร้อนอยู่ได้อย่างไร

• วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เกิดขึ้นหรือมีรากฐานมาอย่างไร น่าสนุกที่นักประวัติศาสตร์ผู้วิพากษ์สังคม จะเป็นผู้ตรวจสอบและพินิจวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีอย่างถึงรากถึงโคน ตั้งแต่อะไรคือพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อใคร (แน่นอน-ตอนนี้มีประโยชน์ต่ออาชญากรอย่างยิ่งยวด) อะไรคืออันตรายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ตอนนี้รู้อย่างหนึ่งแล้วแหละ เมื่อเงินถูกหลอกหมดบัญชี)

Advertisement

ผู้เขียนคือนักประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ผู้ล่วงลับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์ ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์ ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย ให้รู้กันว่า ทำไมวิทยาศาสตร์จึงไม่ก้าวหน้าในสังคมไทย

หลังจากอาจารย์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ให้คำนำเสนอแล้ว ก็อ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์, วัฒนธรรมเทคโนโลยี, สังคมวิทยไสยศาสตร์, ไฮเทค, เทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์เพื่อใคร, ก้าวทันหรือเท่าทันเทคโนโลยีกันแน่, พระเจ้าองค์ใหม่, ความรู้ที่ไร้ความหมาย, สวทช.กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, เทคโนโลยีชีววิบัติ, แมวไร้ภัย – โลกไร้ตน ฯลฯ แต่ละหัวข้อสะดุดใจสะดุดความคิดทั้งสิ้น

Advertisement

• เพิ่งผ่านมาแค่ปีสองปีเอง ที่หนังสือเล่มนี้วางแผงให้เรียนรู้ ลับสมอง ท่องโลกความคิด ว่าอะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตยกันแน่ จากวิวาทะของสองปัญญาชนอาวุโส ส.ศิวรักษ์ กับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมกันซักถามดำเนินเนื้อหาโดย วิวัฒนชัย วินิจจะกูล กับ ประชา หุตานุวัตร กลายเป็นหนังสือ วิวาทะสองปัญญาชนอาวุโส แก่นสารของประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่

ติดตามความกว้าง ไกล และลึก ของมุมมองกับความรู้ที่ต่างฝ่ายต่างสั่งสมและตกผลึกมาในหลายๆ ด้าน ในเรื่องต่อไปเหล่านี้

ภาคหนึ่ง รูปแบบกับเนื้อหาประชาธิปไตยอะไรสำคัญกว่ากัน, อะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตย, อุดมคติกับความเป็นจริง เรื่องเกี้ยเซี้ยทางการเมือง, เสียงของคนเล็กคนน้อยกับประชาธิปไตย, เคลื่อนไหวมวลชนแบบไหนจึงเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ

ภาคสอง อ่านอะไรคือแก่นสารของประชาธิปไตย, กลไกตรวจสอบถ่วงดุลกับประชาธิปไตย, เมื่อเสียงส่วนใหญ่ขัดกับแก่นสารประชาธิปไตย, การเคลื่อนไหวมวลชนกับประชาธิปไตย, เคารพความเห็นที่ต่างจากเรา ทำอย่างไร ฯลฯ

เป็นหนังสือที่คนรักเรียนต้องสนุกกับการใช้ความคิดใคร่ครวญแน่นอน

• เมื่อได้ภาพที่มาที่ไปของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีแล้ว ได้ภาพความคิดเกี่ยวกับแก่นสารประชาธิปไตยบ้างแล้ว ลองย้อนกลับไปอีกหน่อยเพื่อสำรวจตัวเองบ้างกับที่มา ก่อนจะถึงสองบรรยากาศทันสมัยที่เริ่มมาจากข้างต้นด้วย ความไม่ไทยของคนไทย ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ว่าภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต มีอำนาจกลายคนไม่ไทยเป็นคนไทยได้

อ่านรวมบทความชวนคิดชวนรู้ 4 เรื่องสำคัญ ว่าด้วยคนไทยในประวัติศาสตร์ไทยคือ นาน้อยอ้อยหนู, คนไทยมาจากโน่นด้วย และคนไทยอยู่ที่นี่ด้วย, คนไทยหลายเผ่าพันธุ์ 3,000 ปีในสุวรรณภูมิ, ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องแรกนั้น อาจารย์เขียนเกี่ยวกับ “ไท” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ด้วยประเด็นการขยายตัวของพวกไท-ไต ในอุษาคเนย์ ในแนวที่ไม่เคยถูกนำมาพิจารณากัน

อีกสามเรื่องต่อมา ก็ช่วยอธิบายเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น

• หนังสือวิชาการอ่านสนุก เป็นประวัติศาสตร์เปรียบเทียบที่อุดหลายช่องว่างของการทำความเข้าใจกับการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นรูปธรรมเนียมการปกครอง เรื่องอำนาจ และการเข้าถึงทรัพยากร

ว่างแผ่นดิน ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร งานอีกชิ้นของอาจารย์ นิธิ ที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง “ขนบ” ของแผ่นดินซึ่งมีความหมายมากกว่ารูปแบบการปกครอง เพราะที่จริงคือฐานของการแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรในสังคม

ผู้นำของ “ช่วงว่างระเบียบ” คือคนหน้าใหม่ทางการเมือง (ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์และไม่ใช่ขุนนางระดับสูง) ย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่รื้อฟื้นขนบ มากไปกว่าเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ระบอบปกครองของตน ขณะตรงกันข้าม ผู้ต่อต้านผู้นำใน “ช่วงว่างขนบ” ซึ่งสัมพันธ์กับชนชั้นนำเก่ามากกว่า ย่อมพอใจที่ “ขนบ” หรือรากฐานแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรแบบที่ตนได้ประโยชน์จะถูกฟื้นฟูกลับมา

มากกว่า “ช่วงว่างขนบ” ที่ปล่อยให้คนไม่มี “หัวนอนปลายตีน” ขึ้นมากุมอำนาจและทรัพยากรสูงกว่าไปเสียเอง

พญาทะละ, พระเจ้าตากสิน, ไตเซิน ต่างฟื้นฟูแบบธรรมเนียมของเดิม ที่เชื่อว่าเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งสิ้น ในขณะที่ราชวงศ์อลองพญา, ราชวงศ์จักรี และราชวงศ์เหงวียน ต่างปรับเปลี่ยนแบบแผนธรรมเนียมในระเบียบเก่า มากน้อยตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อ่านเรื่องรัฐราชอาณาจักร พัฒนาการสู่รัฐราชอาณาจักร, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตร, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทหาร, พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม, การปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ฯลฯ

จากนั้น อ่านช่วงว่างขนบ ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรอังวะ, ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรอยุธยา, ช่วงว่างขนบในราชอาณาจักรไดเวียด แล้วสุดท้ายเป็นบทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ที่ทำให้เห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนและเข้าใจยิ่งขึ้น

ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง หนังสือซึ่งรวบรวมหนังสือเก่า บทความเก่าใหม่ บทกวีเก่าใหม่ เพื่อรำลึกเหตุการณ์การเมืองสำคัญที่เกิดกลางกรุง 4 ครั้ง ซึ่งเป็น “อาชญากรรมรัฐ” ไว้เป็นการเรียนรู้

ตั้งแต่วันมหาปีติ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 วันพฤษภาเลือด 2535 วันพฤษภาอำมหิต 2553 ที่รัฐใช้อาวุธสงครามกับประชาชน

อ่านการเมืองไทยกับปฏิวัติตุลาคม เสน่ห์ จามริก 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จดหมายของ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี สมัย 6 ตุลาคม 2519 สุรินทร์ มาศดิตถ์ (รมต.) บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน ความทรงจำ ภาพสะท้อน และความเงียบ ในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา ธงชัย วินิจจะกูล

ยังมีผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้อีกมากมาย เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ฉลอง สุนทราวาณิชย์, นฤมล ทับจุมพล, วีระ สมบูรณ์, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ฯลฯ

อ่านความทรงจำและรอยด่างประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถลืมเลือน

สลาวอย ชิเชค ชาวสโลวีเนีย วัย 74 ปี นักปรัชญาและนักวิจัยประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยลูบลิยานา และผู้อำนวยการนานาชาติประจำสถาบันมนุษย์เบิร์คเบค มหาวิทยาลัยลอนดอน

เป็นนักคิดร่วมสมัยซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในแวดวงสังคมศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ภาพยนตร์ และวงการสื่อปัจจุบัน เป็นนักคิดมาร์กซิสต์ที่โด่งดังในโลกภาษาอังกฤษ ผู้ผลิตงานจำนวนมากด้วยประเด็นการเมือง ความรุนแรง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจิตวิเคราะห์ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การให้เห็นตรรกะและความย้อนแย้งของโลกทุนนิยมร่วมสมัย

ในสังคมไทย แม้มีการกล่าวถึงชิเชคในงานเขียนหรืองานเสวนาอยู่ แต่ยังไม่ปรากฏงานเขียนที่ให้ภาพความคิดของชิเชคอย่างเป็นระบบ หรือมุ่งทำความเข้าใจชิเชคอย่างเป็นรูปธรรมโดยตรงแต่อย่างใด

สลาวอย ชิเชค : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย เล่มนี้ของ สรวิศ ชัยนาม เป็นเล่มแรกที่กล่าวถึงชิเชคอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านความรุนแรง การเมือง และทุนนิยม ผู้เขียนใช้ตัวบทของงานเขียนสำคัญเล่มหนึ่งของชิเชคคือ ไวโอเลนซ์ (Violence) เป็นแกนในการอ่านความคิด และฉายภาพความคิดของชิเชค ที่มีความเชื่อมโยงและถกเถียงกับทั้งนักคิดร่วมสมัยและนักคิดในอดีต

ความรุนแรง การเมือง ทุนนิยม – ไยมิใช่สภาพแวดล้อมที่เกิดความรุนแรงในสังคมไทยเช่นเดียวกัน น่าหามาอ่าน

• ใครรู้บ้างว่า หนังสืออะไรคือเล่มโปรดของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2563 ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า เขียนโดยนักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ – เฉลย นั่นคือ สนธยาประชาธิปไตย (Twilight of Democracy ทไวไลท์ ออฟ เดมอคเครซี) ของ แอน แอปเปิลบอม แปลโดย พชร สูงเด่น

ทำไมคนดีๆ ถึงกลายเป็นเผด็จการ สำรวจแรงดึงดูดอันยากจะต้านทานของอำนาจนิยม ที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลกหวั่นไหว แปรพักตร์ และไม่มีวันยอมรับตัวเอง

เกิดอะไรขึ้นกับ “ประชาธิปไตย” ในยุคสมัยนี้ การเมืองปัจจุบันแทบทุกประเทศล้วนวางรากฐานบนประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่ทำไมวันหนึ่ง ผู้คนในสังคมลุกขึ้นมาขัดแย้งกัน กล่าวหากันว่า เอ็งน่ะเป็นเผด็จการ ข้าต่างหากเป็นประชาธิปไตย บรรยากาศกลายเป็นโมงยามของสนธยาประชาธิปไตยไป

ปัญญาชนทั้งหลายก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน เติบโตจากประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เคยกอดคอต่อสู้มาด้วยกัน แต่แล้ววงจรของอำนาจและผลประโยชน์ที่ซึมซาบเข้ามาอย่างแนบเนียน ทำให้เกิดรอยแยกระหว่างกันและกัน หรือหากจะว่าไป แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยก็มีธรรมชาติอย่างนี้เอง – เหอเหอเหอ

อ่านเรื่องคืนข้ามปี, ชัยชนะของนักปลุกระดม, อนาคตแห่งการโหยหาอดีต, โตรกธารความลวง, ไฟลามทุ่ง, ประวัติศาสตร์ไม่รู้จบ

อ่านหนังสือเล่มเดียวกับประธานาธิบดีสหรัฐดู

• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ในวันที่ตำรวจดูจะเละเหมือนโจ๊กสามย่าน แต่ไม่ใช่ กลายเป็น “โจ๊ก สาขาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ติดตามนาทีค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก หมายจับรูด 8 ลูกน้อง เอี่ยวเว็บพนัน บัญชีม้า เจ้าตัวโต้ถูกดิสเครดิต

อ่านสัมผัสใจดีดี กับวันอำลาของ “ดำรงศักดิ์” เรื่องที่สุด “ผบ.ตร.ลักกี้นัมเบอร์” ที่ว่า การได้ทำงานเป็นโอกาสทำบุญ

ชื่นมื่น “นายกฯนิด-บิ๊กอ๊อบ” ฟุตบอลคอนเน็กชั่น ย้อนอดีตพ่อตุ๋ยไอดอล จับตา ทร.ยุคบิ๊กตุง เป๊ะหัวจรดเท้า ส่งซิกทายาท

ก้าวไกล ก้าวแห่งขวากหนาม ก้าวต่อไปของก้าวไกล บนเส้นทางฝ่ายค้าน แล้วดูรัฐบาลกู้ออมสิน แจกเงินดิจิทัล ขยายเพดานยืมเป็น 45% ไม่หวั่นฝ่ายค้านตามบี้ แล้วฟังสุทธิชัย หยุ่น ตั้งคำถามผ่านกาแฟดำ ไฉนคำว่า “ปฏิรูป” จึงกลายเป็น “ของแสลง” ของรัฐบาลนี้

47 ปีคดี 6 ตุลา 19 ทำได้แค่ประจาน คดีสังหาร เมษา-พฤษภา 53 ห้ามฟ้อง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ตอกย้ำ เมืองศรีเทพ มีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัย-ราชธานีแห่งแรก” ส่วนชาตรี ประกิตนนทการ เสนอมุมมอง โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์ ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย

แล้วตามฟัง 3 มุมมอง ผู้สร้าง ผู้กำกับ นักวิชาการ ว่าด้วย “ซีรีส์วาย ซอฟต์ เพาเวอร์แบบไทยๆ”

สุดท้ายไปดูหางโจว 2022 พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หัวใจเธอช่างน่าคารวะ สถานีหน้าป้องกันแชมป์โอลิมปิก

• ลูกเสือจดจำมาเป็นร้อยปี “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โคลงโลกนิติก็จารในหัวใจนานไม่น้อยไปกว่ากันว่า “เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์ / เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้ / เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นา / เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณา” แต่วันนี้ คนสามารถ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กันได้

ทั้งๆ ที่เห็นกันชัดเจนมาหลายกรณีว่า ที่ “เสียสัตย์” กันนั้น เพื่อชาติหรือเพื่อใคร เพื่ออะไร ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนเลย

เรื่องที่จะยอม “สู้ ชีพม้วยมรณา” จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ในยุคที่คำพูดไม่มีความหมาย คำพูดมิใช่สัจจะ คำพูดมิใช่คำสัญญา หรือพันธะต่อสาธารณะโดยแท้ เป็นเพียงเครื่องมือล่อหลอกสนองประโยชน์ผู้คน การฟังคำพูดอย่างเดียวจึงใช้ประกอบการพินิจพิจารณาความน่าเชื่อถือไม่ได้

สังคมซึ่งไร้คนถือสัตย์จะเป็นสังคมแบบไหน ข้อพิสูจน์จะมีมากมายให้ดู

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image