ตู้หนังสือ: กบฏบวรเดช 2476 ประวัติย่อของความเหลื่อมล้ำ

ตู้หนังสือ: กบฏบวรเดช 2476 ประวัติย่อของความเหลื่อมล้ำ

กบฏบวรเดช 2476 ประวัติย่อของความเหลื่อมล้ำ

ติดตามข่าวสาร เนื้อหาหนังสือทุกเล่ม หนังสือใหม่ สั่งจองหนังสือล่วงหน้า ฯลฯ และกิจกรรมนานาของ สำนักพิมพ์มติชน ได้ทุกช่องทางสื่อสาธารณะ ไม่ว่า เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์, ทวิตเตอร์ ฯลฯ เพื่อได้เลือกสรรความรู้รอบ สาระ ความบันเทิง ได้ต้องตามรสนิยมและความสนใจ ตั้งแต่ matichonbook ถึง matichonbooks ตลอดเวลา ที่พร้อมบริการอย่างไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย

• หนังสือซึ่งยังต้องอ่านเพื่อสำรวจ ตรวจสอบ และทบทวนความคิดตัวเองกับสังคม ซึ่งผู้เขียนอาศัยเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ ทั้งงานของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจริงของกลุ่มชนที่หลากหลาย มาอ้างอิงในการตรวจสอบ ทบทวน ความคิดจากเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น โมงยามไม่ผันแปร ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เล่มนี้ แบ่งเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ “เผด็จการกับประชาธิปไตย” เป็นการมองสถานการณ์ที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ทำให้สิ้นหวังเสียทีเดียว แม้มวลชน กระฎุมพี และบรรดาที่ยังไม่ถูกนิยาม ถูกมองเป็นเรื่องรองในสังคมเสมอมา ทั้งสงครามชนชั้นก็ยังไม่มีทางออก

Advertisement

แต่ขณะนี้ “สังคมอุปถัมภ์” อาจมิใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไปแล้ว

“วัฒนธรรมและการเมือง” มักเป็นฐานงานเขียนและงานวิชาการของอาจารย์ผู้เขียน ถึงมิใช่สิ่งเดียวกันแต่ก็แยกจากกันไม่ได้ กลับอยู่ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลถึงกันและกัน เช่น เรื่องชนบทนิยม ชาตินิยม คอร์รัปชั่น ฯลฯ ที่เห็นชัดๆ

ยังมีอีก 2 บทความพิเศษที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ครบรสครบเรื่องสมบูรณ์ คือปาฐกถาจากงานเสวนา “นิธิกับ 20 ปีให้หลัง” ว่าด้วยนาฬิกากับวัฒนธรรมไทย และ “ทัศนะวิพากษ์-นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กระฎุมพี การเมืองมวลชน และชุดพระราชทาน” อันเป็นงานจากหน้ากระดานประชาไทกับนิตยสารฟ้าเดียวกัน

Advertisement

หนังสือที่อ่านแล้วสะท้อนถอนใจ ทั้งต้องคิด คิด และคิดแล้วคิดอีก ฯลฯ

โธมัส พิเกตตี ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเขียนหนังสือสะเทือนโลกความคิดผู้คนมาแล้วจาก ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 (2556) ซึ่งอธิบายการสะสมและการเปลี่ยนแปลงของทุน กับ ทุนนิยมและอุดมการณ์ (2562) อธิบายบทบาทของอุดมการณ์ซึ่งผลิตจากสังคมที่แตกต่าง จะส่งผลต่อการก่อร่างสร้างการสะสมทุนในสังคมอย่างไร

กระนั้น งานดังกล่าวเพียงเสนอเกริ่นนำเล็กน้อยต่อการหาทางออกจากความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ประวัติย่อของความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นส่วนต่อของการขยายเพิ่มเติมจากงานดังกล่าวข้างต้น โดยพูดเกี่ยวกับความสำคัญของแนวคิดอุดมการณ์ ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำ อุดมการณ์ซึ่งในแต่ละสังคมแตกต่างกันตามค่านิยมสังคม ประวัติศาสตร์สังคม อุดมการณ์ที่เป็นตัวครอบงำความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมว่าลักษณะใดเป็นเรื่องยุติธรรมหรืออยุติธรรม อุดมการณ์ซึ่งแปรผันไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม และสร้างมายาคติว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งธรรมชาติ-และถูกต้องแล้ว

รวมทั้งทลายมายาคติที่ว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์” เพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว ความเหลื่อมล้ำเป็น “ผลผลิตร่วมของประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคม” ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

เหล่านั้นคือสิ่งที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ จากหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งในยามที่ความเหลื่อมล้ำในโลกแผ่ขยายกว้างออกไปไกล หนังสือซึ่งแปลให้อ่านโดย นรินทร์ องค์อินทรี

• และเพื่อความสมบูรณ์ของการเรียนรู้ ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแปลโดยผู้แปลคนเดียวกัน ที่สร้างความตื่นตะลึงกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักคิดทางวิชาการทั่วโลกมาแล้ว สมควรได้นำมาอ่านก่อน

เนื่องจากงานชิ้นนี้เป็นผลผลิตจากการเก็บข้อมูลยาวนานแบบลงไปอยู่กับปัญหาชนิดถึงลูกถึงคน มีทั้งข้อมูลภาษี เงินเดือน รายได้ประชาชาติ ความมั่งคั่ง ผลตอบแทนรายปีของทุน ที่ครอบคลุมเวลาถึง 3 ศตวรรษ (ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 21) จากพื้นที่รวบรวมกว่า 20 ประเทศ ที่เมื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นได้แล้ว จึงวิเคราะห์ค้นหาแบบแผนทางประวัติศาสตร์ เพื่อหาภาพรวมที่แท้จริงว่า

“เกิดอะไรขึ้นกันแน่” และ “ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อนาคตจะเป็นอย่างไร”

เพราะปัจจุบัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ รุกคืบ คอยกัดกร่อน บั่นทอน ทำลายความก้าวหน้าของการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

ความสำเร็จในการพัฒนาของทุกๆ ประเทศโดย “ทุน” มีบทบาทสำคัญ เป็นหัวใจของกลไกซึ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมกว้างขึ้น กลายเป็นชนวนขัดแย้งเผชิญหน้าระหว่างชนชั้น ความไม่พอใจระหว่างคนรวย คนจน ระหว่างคนชนบท คนเมือง ระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง ท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของระบบทุนนิยม

ซึ่งหากไม่ระวัง ก็สามารถปะทุลุกลามกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย และระบอบการปกครองในวงกว้างไปได้อีก

สำหรับชาวบ้านทั่วไปหรือนักอ่าน เข้าใจประเด็นของเนื้อหาแล้ว อาจเห็นว่าผู้สมควรได้อ่านและเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ที่สุดก็คือ บรรดานักธุรกิจ พ่อค้า นายทุน ที่หาทางเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจในวงการเมือง เพื่อจะได้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงเหล่านั้น แต่ชาวบ้านทั่วไปหรือนักอ่านเองก็คงคิดได้เช่นกันว่า บุคคลซึ่งเกิดจากวิถี “ทุน” ดังกล่าว ต่อให้เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะอ่าน-ก็คงไม่อ่าน

ดังนั้น เราทั้งหลายเองจึงควรอ่าน อย่างน้อยเพื่อเท่าทันโลก และเท่าทันตัวเอง เท่าทันบรรดาผู้ก่อปัญหา

• หนังสือซึ่งเปิดโลกความกลัวและความบ้าของมนุษย์ 99 อย่าง ไม่ว่ากลัวงู กลัวความสูง กลัวการพูดในที่สาธารณะ กลัวเข็มฉีดยา หรือบ้านักร้อง บ้าแกะเล็บ ฯลฯ ไปจนอาการที่ไม่ค่อยจะรู้กันอย่าง กลัวอ้วก กลัวไข่ กลัวคำยาวๆ หรือบ้าขโมยของ บ้านับเลข กับอีกสารพัดบ้าที่ไปค้นคว้ามาบอกเล่าให้รู้กัน

พจนานุกรมความกลัวและความบ้า รวบรวมเขียนโดย เคท ซัมเมอร์สเกล แปลโดย วาดฝัน คุณาวงศ์ ให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ซึ่งผ่านการวิเคราะห์จากหลายศาสตร์ ทั้งจิตวิทยา สรีรวิทยา วิวัฒนาการ ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านสังคม วัฒนธรรม จิตวิญญาณ เทคโนโลยี ตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ผ่านความกลัวและความบ้านานาของมนุษย์ทั้งหลายมา

เราอาจเป็นคนหนึ่งซึ่งถูกจัดอยู่ประเภทใดประเภทหนึ่งในพจนานุกรมเล่มนี้ก็เป็นได้ ลองหาอ่านตรวจตราดู

• อะไรคือสิ่งขัดขวางจิตมิให้ก้าวหน้าในคุณธรรม อะไรคือสิ่งขัดขวางจิตมิให้บรรลุความดี เราชาวพุทธไม่น้อยคงห่างไกลคำนี้ไปมากแล้วคือ “นิวรณ์” ซึ่งมีอยู่กัน 5 ประการ (อะไรบ้าง ต้องค้นหา) นิวรณ์ ขยะและแก้วมณีในหัวใจคน จากถ้อยคำของ พุทธทาสภิกขุ ซึ่งร่วมกันคัดสรรและเรียบเรียงโดย สมบัติ ทารัก กับ ประชา หุตานุวัตร โดยมีคำนำของ พระไพศาล วิสาโล กำกับ

หนังสือซึ่งเหมาะกับทุกคน ที่ต้องการเรียนรู้เพื่อจะมีจิตสงบอยู่ได้ในโลกอันผันผวนบีบรัดยิ่งขึ้นทุกวันใบนี้ ที่หากไม่เท่าทันโลกเท่าทันตัวเอง ก็อาจเผลอไผลเสียการควบคุมตัวเอง หรือเสียสติไปได้ง่ายๆ

อ่านทำไมต้องสนใจนิวรณ์, นิวรณ์คืออะไร, นิวรณ์มาจากไหน, จิตไร้นิวรณ์เป็นอย่างไร, จัดการกับนิวรณ์อย่างไร, แก้วมณีที่คล้ายนิวรณ์ แต่เป็นฝ่ายกุศลคืออะไร-พระพุทธท่านให้เรียนรู้มานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่เหมือนลิงได้แก้ว ระบบการศึกษาซึ่งทิ้งธรรมะไปไกล ทำให้ปัจจุบันเราต้องไปหาอ่านการดูแล ปรับปรุง สภาพจิต พฤติกรรมตัวเองจากตำรา “ฮาว ทู” ตะวันตก จากญี่ปุ่น จากเกาหลี หรือจากที่ไหนแบบ “ใกล้เกลือกินด่าง”

แต่นั่นแหละ สำหรับธรรมะของพระพุทธองค์แล้ว เรียนเมื่อไหร่ก็ไม่สาย

• นิตยสารความรู้และการสำรวจค้นคว้าที่สำคัญฉบับหนึ่ง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับพากย์ไทย เดือนตุลาคม ว่าด้วย “อวกาศ” สถานที่ลึกลับ เปี่ยมเสน่ห์ ที่มาของแรงบันดาลใจอันหลากหลายรูปแบบ หลายมิติความคิด และหลายระดับจินตนาการ มาพร้อมเนื้อหาและภาพที่ไม่ได้พบเห็นหรือได้ชมกันง่ายๆ

อ่านเรื่องยุคใหม่แห่งการค้นพบ, ชีวิตในมหาสมุทรต่างดาว, ภารกิจหวนคืนสู่ดวงจันทร์ และภาพถ่ายจากกล้องเจมส์ เวบบ์ แต่ละเรื่อง แต่ละภาพ พิสดารพันลึก นิตยสารฉบับนี้นำทางชีวิตลูกหลานหลายคนในทุกมุมโลกมามากมายแล้ว

• นิตยสารรายเดือนฉบับสำคัญประจำครอบครัวและทุกองค์กร ทุกคน ศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม ที่จะค้นคว้า ตรวจสอบ ทบทวน รายงานรากเหง้า ภาพเต็ม ของสังคมไทยสยามเพื่อชาวสยามทุกหมู่เหล่าได้เข้าใจตนเอง และโลกอดีตจนถึงโลกร่วมสมัย โดยไม่ทิ้งผู้ใดให้หลงงมงายอยู่เบื้องหลัง

ฉบับนี้ว่าด้วย ณ บรรณภูมิ “กบฏบวรเดช 2476” นานาบันทึกในสนามรบวรรณกรรม เป็นอีกด้าน อีกแง่มุม อีกภาพที่จะให้เห็นความสมบูรณ์พร้อมของเรื่องราวนอกเหนือรูปธรรมการรบพุ่ง รำลึก 90 ปีเหตุการณ์กบฏ อันเป็นเหตุจลาจลซึ่งยังส่งผลถึงปัจจุบัน จาก “บันทึก” ที่เป็นลายลักษณ์ของทั้งสองฝ่าย

ทั้งบันทึกของสมาชิกกบฏบวรเดช ในรูปหนังสืออนุสรณ์งานศพ, นิยาย กับอีกนานาบันทึกในสนามรบวรรณกรรม อันเป็นสมรภูมิในสวนอักษรโต้อภิวัฒน์ 2475 และบันทึกตำรวจสันติบาลซึ่งได้รับคำสั่งไปปราบกบฏที่สระบุรี ที่ทำให้รู้ว่า ตุลาคม 2476 ใครเป็นผู้บัญชาการ ใครหนี ใครตาย ฯลฯ

มีแต่นิตยสารประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนเช่นนี้ จึงหามาให้เรียนได้

หากให้ครบเครื่องเรื่องดังกล่าว ยังต้องอ่านหนังสือที่สมควรอ่านอีกสองเล่มคือ กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ของ ณัฐพล ใจจริง อันพร้อมด้วยข้อมูลความรู้ เบื้องหลังเรื่องราวนานาของเหตุการณ์อันเป็นจุดพลิกผันสำคัญในช่วงต้นระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งสถาปนา กับการสะท้อนประวัติศาสตร์การรบของกองทัพไทยสมัยใหม่

ที่ล้วนเป็นข้อมูลความรู้ซึ่งให้มุมมองใหม่ต่อเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ซึ่งยังคลุมเครือด้วยมายาคติต่างๆ ได้ดียิ่ง

กับ กำศรวลพระยาศรีฯ ของ ณเพ็ชรภูมิ แม่ทัพฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ก่อการล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎร ผู้จบชีวิตลง ณ สมรภูมิหินลับ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ประกอบให้คับเล่มคับเนื้อหา เช่น 14 ตุลาคม 2516 วันสิ้นสุดระบอบถนอม, บรรยากาศและวิถีผู้คนย่าน “ท่าช้าง”, นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับการทลายกรอบคิด “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” กรอบคิดซึ่งท้าทายอัตตาของมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย และจะไม่สิ้นสูญง่ายๆ-แม้จะเข้าใจประเด็น

ที่สำคัญ ฉบับนี้ยังแถมรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรให้อ่าน ให้พิจารณาเข็มมุ่ง และความตั้งใจปฏิวัติเพื่อราษฎรส่วนรวมให้เห็นเด่นชัดอีกด้วย

• นิตยสารรายสัปดาห์ประจำครอบครัว ประจำองค์กร และทุกคนอีกเล่ม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย “พรหม” ไม่ต้อง “ลิขิต” แพทองธารแม่ทัพ “เพื่อไทย” อ่านกระแส “ซอฟต์เพาเวอร์ไทย” มาแรง ปรากฏการณ์ “สัปเหร่อ” ทะลุ 500 ล้าน ส่วน “พรหมลิขิต” เรตติ้งทะลุจอแก้ว

อ่านเสี่ยโต้ง ภูมิใจไทย เผยความสำเร็จ “สัปเหร่อ” ถ้าหนังฉายก่อนเลือกตั้ง “ผมแพ้เยอะกว่านี้”

ติดตามสถานการณ์แรงงานไทยเผชิญวิบากกรรม “ซ้ำ” นายจ้าง “ยิว” เล่นแง่ ยื้อเวลาจ่ายเงิน นายกฯลั่น กลับเลย ไม่ต้องรอ อยู่ต่อไม่คุ้มเสีย ส่วน “เทศมองไทย” รายงานแรงงานไทยในอิสราเอล “เหยื่อ” ที่ “มองไม่เห็น”

แล้วติดตาม “ปิดฉากเรือดำน้ำ” ยี่ห้อจีน หรือ พท.กับ ทร.งัดกันแก้ “จีทูจี” เพราะหนทางเรือฟริเกตก็ไม่ง่าย

ผ่าแผน “แป้ง นาโหนด” เผ่นหนีลอยนวลจาก รพ. ตำรวจติดตามปฏิบัติการล่ายกแก๊ง ย้ายด่วน ผบ.คุกกับ 3 เจ้าหน้าที่

อ่านเรื่องพิเศษซึ่งยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษ จากคลองไทยกลายเป็น “แลนด์บริดจ์” แล้วร่วมไว้อาลัยกับ “อาศิส พิทักษ์คุมพล” จุฬาราชมนตรี ผู้มีคุณูปการต่อประเทศไทย

ที่ห้ามพลาดก็คือบทความพิเศษของ “สุชาดา จักรพิสุทธิ์” เรื่อง “ในความเป็นนิธิ” ส่วนสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังคงย้ำประวัติศาสตร์กระแสหลักยังสืบทอด “คลั่งเชื้อชาติ” ก่อนไปอีกเรื่องเมื่อ “กาแฟดำ” สำทับว่า นายกฯไม่ใช่แค่ “เซลส์แมน” แต่ต้องเป็น “ซุปเปอร์ดิโพลแมท”

• เมื่อกระบวนการมาถึงขั้นตอนปฏิบัติ ก็เป็นเวลาที่ต้องสนใจติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างเอาใจช่วย ให้แก้ปัญหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไปได้ลุล่วงตามระบอบและตามวิถีทางประชาธิปไตย

มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ก็ถกเถียง เรียกร้อง แสดงความเห็นกันไปตามวิธีปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่รับผิดชอบ รักษาแนวทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขชาวบ้าน กฎ กติกา ที่ยังเห็นว่าไม่งามพร้อมสมบูรณ์ ก็ต้องช่วยกันแก้ไขไป

แม้ไม่อาจคาดหวังความงามพร้อม ก็ต้องให้เด่นชัดว่าอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าอยู่ตรงไหน ต้องแก้ไขตรงจุดใด ฯลฯ

ปรารภมาทั้งหมดนี้ พูดเท่ากับไม่ได้พูดหรือเปล่า-แหะแหะ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image