เดินไปในเงาฝัน : ลือแพร่พิทยาสุทธิสารปิดตัว : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

วันนี้หน้าเฟซบุ๊กของเพื่อนหลายคนโพสต์ไปในทำนองว่าร้านหนังสือแพร่พิทยา สาขาสุทธิสารกำลังลดราคาหนังสือมากกว่า 50% นัยว่าต่อจากนี้ไม่นานคงจะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ
ทั้งยังมีคนเข้ามาคอมเมนต์มากมายว่าน่าเสียดาย เพราะร้านหนังสือแพร่พิทยาเป็นร้านหนังสือเก่าแก่ สาขาแรกอยู่ที่วังบูรพา ก่อนจะมาเปิดสาขาต่างๆ ตามมา อาทิ สาขาสุทธิสาร ตั้งอยู่ในซอยถนอมจิต, สาขาพหลโยธิน ชั้น 2 ตึกพหลโยธินเพลส, สาขาเมืองไทยภัทร ตึกเมืองไทยภัทร รัชดาภิเษก, สาขาเดอะมอลล์ โคราช

สาขามิดทาวน์ ตึกมิดทาวน์อโศก, สาขาจรัญสนิทวงศ์ 35, สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว และสาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

กล่าวกันว่าทุกๆ สาขาที่เปิด ส่วนใหญ่ปิดตัวลงเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่เพียงสาขาสุทธิสารที่ยังเปิดกิจการอยู่ (ถ้าผิดต้องขออภัยด้วย) แต่มาวันนี้หน้าเฟซบุ๊กของใครหลายคนในแวดวงวรรณกรรมต่างแสดงความไว้อาลัยต่อการปิดสาขาสุทธิสาร

จึงทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะโทรไปสอบถามกับทางร้าน จนได้ความว่ายังไม่ได้ปิดตัว เราเพียงแต่ทยอยลดราคาหนังสือในโกดังตั้งแต่ 20% ขึ้นไปจนถึงมากกว่า 50%

Advertisement

เพื่อระบายสต๊อก

ซึ่งผมพยายามถามย้ำกับพนักงานคนนั้นในสายโทรศัพท์อีกครั้งว่า…ผู้บริหารบอกหรือยังว่าจะปิดสาขาสุทธิสารเมื่อไหร่

เขาตอบกลับมาว่า…ยัง

Advertisement

แต่ตอนนี้เริ่มส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้จัดการ, บริษัท, สำนักพิมพ์, ศูนย์หนังสือ และผู้จัดจำหน่ายในชื่อเรื่องว่า…แจ้งปิดรับวางบิล

พร้อมกับระบุรายละเอียดในจดหมายบอกว่าขอให้นำบัญชีคงค้างทั้งหมดที่มีกับร้านหนังสือแพร่พิทยา ทำการวางบิล เพื่อเคลียร์ และปิดบัญชี ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่สำนักงานสุทธิสาร หลังจากนี้ ทางร้านหนังสือแพร่พิทยาจะถือว่าไม่มีหนี้คงค้างกับท่าน

พูดภาษาเราๆ ก็คือมาช่วยกันเคลียร์หนี้สิน หลังจากนี้ถือว่าไม่มีหนี้ต่อกันแล้วนะ

ซึ่งเป็นคำพูดที่แมนมากๆ

และเป็นคำพูดที่จริงใจมากสำหรับคนที่ทำธุรกิจหนังสือด้วยกัน

ดังนั้น จะด้วยเหตุผลนี้หรือเปล่าไม่ทราบ จึงทำให้ผู้คนคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าร้านหนังสือแพร่พิทยา สาขาสุทธิสารจะปิดตัวลง เพราะก่อนหน้าตอนสาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าวปิดตัวลงเมื่อปี 2559 ก็ต่างทำให้แฟนานุแฟนร้านหนังสือแห่งนี้ต่างหลั่งน้ำตา

โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียนหอวัง

แต่กระนั้น เมื่อย้อนดูประวัติของร้านหนังสือแพร่พิทยาจะพบว่าผู้ก่อตั้งร้านหนังสือแพร่พิทยา สาขาแรกที่วังบูรพาคือ “จิตต์ แพร่พานิช” ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2496

หรือเกือบ 66 ปีมาแล้ว

วันแรกของการเปิดร้าน “อาษา ขอจิตต์เมตต์” นักเขียน นักแปล ซึ่งสนิทสนมกับ “จิตต์” ได้เชิญ “ดร.เดล คาร์เนกี” นักเขียนแนวฮาวทูที่โด่งดังของสหรัฐอเมริกามาเป็นเกียรติ และตัดริบบิ้น

ต่อจากนั้นร้านหนังสือแพร่พิทยาก็ดำเนินธุรกิจเรื่อยมา ซึ่งไม่เพียงจะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกหัว หากยังจำหน่ายนวนิยายอีกหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นแนวบู๊อย่างเสือใบ, อินทรีแดง หรือแนวตลกขบขันอย่างชุดพล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต

ทั้งยังเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือเองด้วย อาทิ งานของดอกไม้สด, งานของ ว.ณ.ประมวญมารค ผู้เขียนนวนิยายอันโด่งดังอย่างปริศนา, รัตนาวดี, เจ้าสาวของอานนท์ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ที่น่าสนใจคือกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์หนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านติดตาม และอยากซื้อ ด้วยการเล่าผ่านละครวิทยุ ซึ่งเรื่องนี้ “เพลินพิศ แพร่พานิช” ทายาทรุ่นที่ 2 เคยเล่าไว้ใน www.happeningandfriends.com บอกว่า…เราจ้างให้คณะละครวิทยุเอาหนังสือนิยายที่มีอยู่ไปทำละครวิทยุ แล้วเราก็จะเปิดที่ร้าน เพื่อให้คนเข้ามาฟัง

“บางคนติดถึงขั้นว่าทุก 4 โมงเย็นเป๊ะจะมารอฟัง จนจะครบเดือนอยู่แล้ว เราถึงบอกว่าที่ร้านมีหนังสือเรื่องนี้ ซื้อไปอ่านที่บ้านดีไหม เป็นการจ้างโปรแกรมละครวิทยุโฆษณาให้คนซื้อหนังสือนิยายเข้าใจว่าเรื่องในหนังสือเกี่ยวกับอะไร แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์”

ผมอ่านบทสัมภาษณ์แล้วเข้าใจทันที

เพราะตอนเด็กๆ ผมเคยเห็นพวกพี่ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดติดละครวิทยุกันมาก ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นคณะเกศทิพย์ ซึ่งผมเองแม้จะเป็นเด็กผู้ชาย แต่เมื่อทดลองฟังดูก็เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงติดละครวิทยุกันงอมแงม

แต่ปัจจุบันโลกของการอ่านหนังสือเปลี่ยนไปมาก

และคงต้องยอมรับความจริงว่าความรุ่งเรืองในอดีตของร้านหนังสือแพร่พิทยา ไม่เพียงจะเป็นสถานที่ประเทืองปัญญาสำหรับหนอนหนังสือทุกเพศ ทุกวัย หากแพร่พิทยายังเป็นร้านหนังสือที่มีความผูกพันกับเหล่าบรรดานักเรียนที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ด้วย

เรามักจะเห็นเด็กๆ ตามหาหนังสือที่หาร้านอื่นไม่ได้

แต่แพร่พิทยาพร้อมจะยินดีหาให้

ทั้งบางทียังให้พนักงานขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งให้เด็กๆ เหล่านั้นด้วย ผมว่าร้านหนังสือแพร่พิทยาไม่เพียงเป็นร้านหนังสือในดวงใจของใครหลายคน หากยังเป็นร้านหนังสือที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน

น่าเสียดายถ้าจะปิดตัวลงอีกหนึ่งสาขา

แต่กระนั้น ยังแอบหวังลึกๆ ว่าเมื่อเขาระบายหนังสือในโกดังออกไปบางส่วน คงน่าจะทำให้เขามีทุนรอนมากขึ้น เพื่อให้ร้านหนังสือแพร่พิทยาดำรงอยู่คงอยู่กับสังคมการอ่านของคนไทยต่อไป

แม้จะเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ตรงมุมถนนที่ไหนสักแห่งก็ตาม

ผมหวังเช่นนั้นจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image