เดินไปในเงาฝัน : ‘หวังฝูจิ่ง’มากกว่าแค่ร้านหนังสือ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ แล้วการที่มีโอกาสมางานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ถือเป็นประสบการณ์ล้ำค่าไม่น้อย เพราะนอกจากจะได้เห็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ของเหล่าบรรดาสำนักพิมพ์จากทั่วโลก
ยังทำให้เราพลอยอุ่นใจด้วยว่าแม้โลกจะหมุนเร็วขนาดไหนก็ตาม แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยากอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ก

ทั้งๆ ที่โลกแห่งการอ่านอาจหมุนเข้าไปหาอี-บุ๊ก,สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นต่างๆ จนทำให้ ผู้คนที่ทำมาหากินเกี่ยวกับการผลิตตัวหนังสือต่างประหวั่นพรั่นพรึงว่า…ต่อไปใครจะอ่านพ็อคเก็ตบุ๊ก

หนังสือพิมพ์

หรือตำราเรียนกันอีกต่อไป

Advertisement

เพราะจากที่ผมใช้เวลากว่าครึ่งวันเดินสำรวจสำนักพิมพ์ต่างๆ ภายในงานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ผมประจักษ์ชัดว่า…ผู้คนยังสนใจอ่านหนังสือกันอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะคนหนุ่ม-สาวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

และไม่แต่เฉพาะภายในงานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นเนล บุ๊กแฟร์ 2019 เท่านั้น หากมุมถนนสายสำคัญของเมืองปักกิ่ง ยังมีร้านหนังสือต่างๆ ตั้งเรียงรายอยู่หลายร้านด้วยกัน

Advertisement

ที่สำคัญ ทุกๆ ร้านต่างมีเหล่าบรรดาหนอนหนังสือทุกเพศทุกวัยเข้ามาซื้อหาอ่านกันอย่างคับคั่ง ไม่เว้นแม้แต่ถนนหวังฝูจิ่ง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ถนนสายหลักทางด้านเศรษฐกิจของเมืองปักกิ่ง

เพราะที่นี่มีร้านหนังสือใหญ่โตชื่อ “หวังฝูจิ่ง บุ๊กสโตร์” ตั้งตระหง่านอยู่มุมถนนด้วย ตอนแรกผมคิดว่าแค่เป็นร้านหนังสือธรรมดาๆ ที่กว้างขวางเท่านั้น แต่พอเข้าไปสำรวจภายในกลับพบว่าที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือเสียแล้ว แต่น่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหนังสือมากกว่า

เพราะ “หวังฝูจิ่ง บุ๊กสโตร์” เป็นอาคารตึกสูง ภายในประกอบไปด้วยหนังสือที่อัดแน่นทุกประเภทไล่เรียงไปตั้งแต่ชั้น 1 ไปจนถึงชั้นที่ 5

นอกจากนั้น ทุกๆ ชั้นยังแยกประเภทหนังสือแต่ละชนิดออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งยังจัดมุมให้เหล่าบรรดาหนอนหนังสือทุกเพศทุกวัยสามารถนั่งอ่านหนังสือกันอย่างสะดวกสบาย

มีมุมให้ผู้ปกครองนั่งรอลูกๆ อ่านหนังสือเด็ก หรือการ์ตูนอย่างสบายใจ

ทั้งยังมีโซนขายอุปกรณ์การเรียน การศึกษาอยู่ภายในอาคารด้วย สำคัญไปกว่านั้น ยังมีจอคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนขนาดใหญ่เพื่อให้ลูกค้าสืบค้นหนังสือที่ต้องการว่าอยู่ชั้นไหน มุมไหนของอาคารเหล่านี้ เพื่อให้ง่ายต่อการตามหาหนังสือที่ตัวเองต้องการ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “หวังฝูจิ่ง บุ๊กสโตร์” ค่อนข้างได้รับความนิยมจากเหล่าบรรดาหนอนหนังสือชาวจีน และชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผมเห็นแล้วก็ทำให้คิดว่าแม้โลกการอ่านจะพัฒนาไปไกลเช่นไร แต่สำหรับคนหนุ่ม-สาวชาวจีนแล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญต่อการอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กเป็นอย่างมาก

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือร้านหนังสือทุกๆ ร้านในสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลยังให้งบประมาณในการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง เพราะเขาถือว่าการอ่านเป็นการสร้างวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ดังนั้น การที่จะสร้างชาติให้ประสบความสำเร็จ จนก้าวเดินไปสู่ประเทศมหาอำนาจในอนาคต ประชาชนของเขาจะต้องมีองค์ความรู้ก้าวไกลมากพอที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไปภายในภาคหน้า

ผลเช่นนี้ จึงทำให้วงการหนังสือในสาธารณรัฐประชาชนจีนค่อนข้างคึกคัก และไม่แต่เฉพาะในแวดวงคนทำหนังสือของเขาเท่านั้น หากสำนักพิมพ์จากประเทศอื่นๆ ถ้าสนใจที่อยากจะนำหนังสือในประเทศของเขามาแปลเป็นภาษาต่างๆ เขาก็ยินดี

พร้อมยังมีงบประมาณในการสนับสนุนการแปลอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเขาเชื่อว่าโลกแห่งการอ่านจะเป็นสะพานความรู้ที่จะเชื่อมโยงตัวอักษรจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่งอย่างไม่มีกำแพงภาษากั้นกลาง

น่าสนใจไหมล่ะครับ

นอกจากความน่าสนใจของ “หวังฝูจิ่ง บุ๊กสโตร์” แถบบริเวณนี้ยังเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ เพราะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน หรือประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว

แต่มาเรียกขานว่า “หวังฝูจิ้ง” ในสมัยราชวงศ์หมิง หรือเมื่อประมาณ 500 กว่าปีผ่านมา เพราะคำว่า “หวังฝูจิ้ง” แปลว่า “บ่อน้ำของตำหนักท่านอ๋อง”

ทั้งนั้นเพราะครั้งหนึ่งบริเวณเมืองปักกิ่งเคยเกิดภัยแล้งทั่วอาณาบริเวณ จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ จะมีก็แต่บ่อน้ำของตำหนักท่านอ๋องเท่านั้นที่มีน้ำอยู่

แต่ท่านอ๋องคนนี้หวงแหนน้ำของตัวเอง ทั้งยังสั่งยามเฝ้าประตูห้ามมิให้คนแปลกหน้าเข้ามาตักน้ำภายในตำหนักอย่างเด็ดขาด แต่ยามคนนี้ไม่เชื่อ เขากลับให้ชาวบ้านลักลอบเข้ามาตักน้ำภายในตำหนัก

จนเมื่อท่านอ๋องทราบข่าวจึงตำหนิยามคนนี้อย่างสาดเสียเทเสีย แต่ยามคนนี้กลับตอบท่านอ๋องไปว่า…เป็นความจริงที่ข้าพเจ้าได้ให้น้ำในบ่อของเราไป แต่ที่ข้าพเจ้าทำไปก็เพื่อท่านอ๋อง ท่านลองคิดดู เรายังต้องการแรงงานคนมาขนย้ายเสบียงของท่าน ถ้าชาวบ้านเสียชีวิตจากความกระหายไปหมด แล้วใครจะมาทำงานให้กับท่านเล่า

กล่าวกันว่า เมื่อท่านอ๋องทราบความดังนั้น จึงอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาตักน้ำจากบ่อนี้ได้ และที่สุดชาวบ้านในเมืองปักกิ่งก็รอดตายจากภัยแล้งครั้งนั้น

จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานของคำว่า “หวังฝูจิ้ง” หรือ “บ่อน้ำของตำหนักท่านอ๋อง” ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทุกวันที่ “หวังฝูจิ้ง” ไม่เพียงเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ หากยังเป็นถนนคนเดินที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศยังชอบมาเดินเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะตอนกลางคืน

เพราะจะมีแสงไฟจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ สาดสีเข้าหากันจนสว่างไสว

ขณะเดียวกัน ก็จะมีสตรีทฟู้ดหลายร้าน รวมถึงร้านขายอาหารแปลกตาอย่างปลาดาวทอด หรือม้าน้ำ,หอยเม่น,ตะขาบ,แมงป่องเสียบไม้ย่างขายกันอย่างคึกคัก

ซึ่งผมเห็นแล้วรู้สึกขนหัวลุกจนบอกไม่ถูก ไม่รู้เขากินกันไปได้อย่างไร จนต้องเลี่ยงเดินไปทางอื่น ที่มีร้านขายของโบราณต่างๆ แทน อาทิ สมุดพกประธานเหมา,รูปปั้นทหารจิ๋นซี,ร้านขายอุปกรณ์การเขียนพู่กันจีน,ร้านขายหมวก,ร้านขายชา,และร้านขายตะเกียบที่ว่ากันว่าขายกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษทีเดียว

ที่สำคัญ สนนราคาไม่แพงเท่าไหร่นัก

พอซื้อฝากเป็นของที่ระลึกให้แก่พี่น้องเพื่อนฝูงได้

เสียดายแต่ว่าผมอยู่ที่นี่ไม่นานนัก เพราะต้องเดินทางต่อ แต่กระนั้น ก็ทำให้เห็นอย่างหนึ่งว่าทั่วทุกถนนในเมืองปักกิ่งต่างมีความเจริญซ่อนอยู่ทุกอณู

และขณะที่ความเจริญกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

เขากลับโชว์รากเหง้าทางวัฒนธรรม ด้วยการแสดงต่างๆ ให้ประชาชนของเขา รวมถึงนักท่องเที่ยวให้พลอยรับรู้ไปพร้อมๆ กันว่าไม่ว่าความเจริญของประเทศจะก้าวไปไกลสักเพียงใด

แต่ประชาชนของเขากลับภูมิใจในความเป็นชาติ

ภูมิใจในความเป็นเมืองประวัติศาสตร์

และภูมิใจในความเป็นเลือดมังกรอย่างแท้จริง เพราะไม่เช่นนั้นสถานที่ประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะมีประชาชนชาวจีนแห่กันไปดูอย่างเนืองแน่นกระนั้นหรือ

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมเห็น จนอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image