ขุดเบื้องหลัง ‘เลิกทาส’ นักปวศ. ชวนมองมุมใหม่ในทาสไท (ย) กระแสรอง

ขุดเบื้องหลัง ‘เลิกทาส’ นักปวศ. ชวนมองมุมใหม่ในทาสไท (ย) กระแสรอง

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ทที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 ซึ่งโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนนี้

สำหรับสำนักพิมพ์มติชน ประจำที่บูธมติชน M49 ดึงศิลปินชื่อดัง “ไข่แมว” ผู้วาดการ์ตูนน้องตาใส ผสมอารมณ์ขันยั่วล้อการเมือง มาร่วมออกแบบบูธและของพรีเมียม เตรียมเสิร์ฟนักอ่านแบบจุใจ ในธีม “BOOKSELECTION” โดยถ่ายทอดเส้นสีแสบสันยั่วล้อไปกับโมงยามของการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ภายในบูธอัดแน่นด้วยหนังสือ ครอบคลุมทุกความสนใจ อาทิ แนวการเมือง ประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหนังสือสุขภาพ โดยหนังสือใหม่ที่เปิดตัวในงานนี้ ทั้ง 26 ปก ลด 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนังสือขายดีลดพิเศษถึง 20 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

บรรยากาศเวลา 12.00 น. ที่เวทีกลาง ดร.ญาณินี ไพทยวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เขียน ‘ทาสไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ’ ที่เพิ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชนสดๆ ร้อนๆ ร่วมเสวนาในประเด็น “ภาพจริง-ภาพจำ เบื้องหลังอำนาจ เลิกทาสไท(ย)” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ดร.ญาณินีกล่าวว่า วันที่ 1 เมษายน คือวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศ พ.ร.บ.เลิกทาส ร.ศ.124 ตั้งแต่เด็กเราดูภาพผ่านละคร พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่มีในหลวงรัชกาลที่ 5 อยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยทาสผิวดำ ซึ่งภาพนั้นนักเขียนชาวอิตาลีเป็นคนวาด เป็นภาพจำว่าคือผู้ปลดเปลื้องความทุกข์ยากให้กับราษฎร

จากนั้น ดร.ญาณินีเท้าความถึงที่มาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท กว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ตนได้ค้นข้อมูลเรื่อง ‘ทาสไทย’ ซึ่งมีงานบางส่วนที่พูดถึงทาสไทย แต่ ‘การเลิกทาส’ จะถูกพูดถึงเยอะในประเด็นเทอดพระเกียรติเสียมากกว่า โดยอธิบายลักษณะทาส หรือระบบทาส เป็นงานทั้งจากนักเขียนสารคดี บทละคร มีรูปปั้นที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง เราจึงรู้สึกว่าการเลิกทาสเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย ประกอบกับช่วงเวลานั้น เทรนด์ทางประวัติศาสตร์วิชาการ จะพูดเรื่อง Post Modern พูดเรื่องวาทกรรมเยอะ เราจึงจับแนวคิดวาทกรรมกับการเลิกทาส ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่ง เรื่องการเลิกทาส ก็มักจะถูกพูดถึงในวันปิยมหาราช 23ตุลาคม และพูดถึงมากกว่า ‘การเลิกไพร่’ ด้วยซ้ำ

Advertisement

“ความจริงไพร่ เป็นแรงงานที่สำคัญในสังคม ทาสเหมือนแรงงานในบ้าน แต่เลิกทาสการเป็นเรื่องใหญ่ เลิกไพร่พูดถึงน้อยกว่า” ดร.ญาณินีระบุ

ก่อนขยายความว่า ‘วาทกรรม’ คือคำพูด หรืองานเขียนที่เขียนโดยคนกลุ่มนึง และงานเขียนเหล่านั้นมีอำนาจ เป็นมาตรกำหนดความคิดคนในสังคม อย่างวาทกรรมพระราชกรณียกิจเลิกทาส ก็ค่อนข้างอธิบายว่า เป็นการปลดความทุกข์ยากของประชาชน เพื่อความเจริญของประเทศ แนวการเขียนจะคล้ายกัน คือ การเป็นทาส อยู่ในสถานะภาพที่น่าสงสาร ถูกทารุณ โหดร้าย ซึ่งเป็นวาทกรรมหลักของสังคม บางช่วงเวลาเน้นประเด็นนี้ แต่น่าสนใจว่า ทำไมประเด็นอื่นๆ จึงไม่มีความพยายามที่จะเขียนถึง

“มันคือเรื่องอำนาจ ของการสร้างกรอบความคิดให้กับคนที่มีพลัง อาจจะมีทั้งวาทกรรมโต้ และวาทกรรมหลัก ไม่ได้สนใจเรื่องพระราชกรณีเลิกทาส แต่ไปสนใจระบบการเกณฑ์แรงงานในสังคมที่เริ่มล่มสลาย แต่กลุ่มคนเขียนมีจำนวนน้อย ไม่ค่อยมีพลัง วาทกรรมหลักจึงครองอำนาจและถูกเลือกหยิบมาผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 สมัยรัชการที่ 6 ก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่หลังอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 พระราชกรณียกิจเลิกทาสอาจจะถูกพูดถึงน้อยลง ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป มีเรื่องราษฎร สิทธิเสรีภาพ ทาสถูกพูดในเชิงขาดสิทธิเสรีภาพ แล้วกลับมาพูดเยอะมากขึ้น หลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา” ดร.ญาณินีกล่าว

เมื่อถามว่า สิ่งเหล่านี้เริ่มปรากฏชัดอย่างไร ถูกผลิตซ้ำโดยใคร และในรูปแบบใดบ้าง ?

ดร.ญาณินีเผยว่า เรื่องเลิกทาส ถูกพูดช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เสด็จฯ กลับหลังจากนิวัติต่างประเทศ มีการแห่ต้อนรับหลายขบวนมาก แต่หนึ่งในขบวนแห่ที่น่าสนใจ คือขบวนแห่ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในตอนนั้น ท่านก็คิดถึงเรื่องเลิกทาส มี ‘ขบวนอภัยทาน’ แต่จากเอกสารไม่มีรูปในหอจดหมายเหตุ มีเพียงบันทึกไว้ว่าเป็นขบวนอภัยทาน ซึ่งในหมู่ราชวงศ์ก็ให้ความสำคัญกับการเลิกทาส เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม

“เพราะอย่าลืมว่า การมีทาส ในสังคมตะวันตกเขารับไม่ได้ การเป็นทาสขาดสิทธิเสรีภาพ และเป็นการบ่งบอกความไม่เจริญของประเทศ คงเห็นความสำคัญตรงนี้ ถ้าดูในหนังสือจะมีรายละเอียดเพิ่มอีกว่า ทำไมรัชกาลที่ 6 ถึงเลือกเรื่องเลิกทาสขึ้นมา เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต รัชกาลที่ 6 ทรงครองราช มีการวาดภาพโดยให้ศิลปินชาวอิตาเลียน 2 ท่านคือ คาร์โล ริโกลี กับ กาลิเลโอ คินี เลือกภาพมาวาดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของราชวงศ์จักรีทั้ง 6 พระองค์ (ร.1-6) ภาพที่เลือกมาของรัชกาลที่ 5 เราจะเห็นในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดมท้องพระโรงกลาง ทิศใต้ ซึ่งเป็นอะไรที่แปลก เพราะความจริงแล้วรัชกาลที่ 5 ทำอะไรมากมาย ทั้งการรอดพ้นจากอาณานิคม ไม่ต้องถูกปกครองโดยต่างชาติ นั่นน่าจะเป็นประเด็นที่เอามาวาดได้ แต่ไม่วาด เลือกเรื่องเลิกทาสมาวาดที่ท้องพระโรง เป็นอะไรที่แปลกมาก” ดร.ญาณินีกล่าว

ก่อนสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นผู้ดำริให้วาดภาพการเลิกทาส ซึ่งไม่ได้มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงสั่งให้ 2 ศิลปินวาด แต่กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เป็นคนกำกับศิลปิน ซึ่งภาพเห็นได้ชัดว่าเป็นทาสแบบแอฟริกัน เพราะทาสไทยไม่ได้สีผิวดำขนาดในภาพ รัชกาลที่ 5 อยู่ตรงกลางและมีโซ่ตรวน สัญญะมามากจากรูป และภาพนี้มีพลัง ในยุคหลังมีการฉลอง 10 การเลิกทาส ภาพนี้ก็จะถูกนำมาผลิตซ้ำ หรือแม้แต่ธนบัตร 100 บาท ก็จะมีภาพในพระที่นั่งอนันตสมาคม

เมื่อถามว่า การเลิกทาสในไทย เชื่อมโยงกับตะวันตก หรือเป็นเทรนด์ของทั่วโลกในเวลานั้นหรือไม่ ?

ดร.ญาณินีชี้ว่า อาจจะใช่ เพราะเรื่องเลิกทาส เป็นเรื่องใหญ่ของตะวันตก ในแง่ของความเป็นประเทศที่ทันสมัย วิธีคิดกำลังจะเปลี่ยนไป ในช่วงนั้นเราต้องการความเป็นสมัยใหม่อย่างเต็มขั้น เป็นการโชว์ว่าเราศิวิไลซ์แล้วจากการเลิกทาส และเป็นประเด็นที่เลือกเพื่อสร้างภาพจำให้กับคนไทยและประวัติศาสตร์ไทย

ส่วนการผลิตซ้ำ จะเป็นไปตามยุคสมัยและมีหลายรูปแบบ ทั้งข้อเขียน ทั้งปัญญาชนที่พูดถึง อย่างรัชกาลที่ 6 เองก็พูดเรื่องเลิกทาส ใน ‘โคลนติดล้อ’ เป็นเหมือนการเปรีบเทียบว่าทาสคือแรงงานที่ไร้ฝีมือ การมองทาสจะเป็นไปในเชิงลบ น่าสงสาร ควรจะได้รับการปลดแอก และหาเหตุผลที่จำเป็นต้องเลิก แม้แต่เปลี่ยนแปลงการปครอง 2475 เรื่องการเลิกทาสก็ถูกเขียนในแบบเรียน แต่แบบเรียนยุคหลัง 2475 ไม่ได้กย่องในกระแสเทอดพระเกียรติมากนัก กล่าวคือ เน้นน้ำหนักน้อยลง

ดร.ญาณินีกล่าวต่อว่า แต่พอมาในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในหนังสือเล่มนี้พูดถึงอยู่ เป็นการเปรียบเปรยว่าคนไทยโชคดีที่ได้รับการเลิกทาส ไม่ต้องขึ้นกับอยู่กับใคร ได้มีอิสระ แต่จะไม่พูดเรื่องการเลิกทาสเท่าไหร่ เป็นในเชิงสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่หลัง 2475 – ช่วง จอมพล ป. เพราะต้องการให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชน เมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยน ทาสก็ถูกหยิบยก และให้คำอธิบายใหม่ แต่เมื่อถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2501 แนวการเมืองเปลี่ยนอีกครั้ง กลับมาผลิตซ้ำเหมือนเดิม

“แบบเรียนเป็นตัวบอกชัด เมื่อเปลี่ยนบริบทการเมือง นักวิชาการก็จะเขียนเป็นรูปธรรม พูดถึงเรื่องทาสว่าขาดสิทธิเสรีภาพ เหมือนผสมกันระหว่าง 2 คอนเซ็ปต์ แต่สิ่งที่ค้นพบคือมีการยกหลักฐานชั้นต้น เช่น พ.ร.บ.เลิกทาส มีความเห็นของนักเขียนเพิ่มเข้าไป คือลักษณะแบบเรียนหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา จะค่อนข้างผลิตซ้ำคำอธิบายเดิมๆ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2530 ช่วงที่มีการปรับรุงหลักสูตร แต่วิธีการเขียนก็ยังเหมือนเดิม ความเข้นข้นคือ บางแบบเรียนเล่าเป็นบทละคร เหมือนลูกทาส บรรยายการปลดแอก ให้เด็กประถมและมัธยมต้นอ่าน เป็นเหมือนซีนในละคร หลัง 2530 เป็นต้นมา มีกลุ่มนักเขียนวรรณกรรม พูดถึงประเด็นเรื่องทาส และลูกทาสเยอะ เอาทาสมาเป็นตัวละครเอก ช่อง 3, 7 ก็เคยทำเป็นละคร

ดู ‘นางทาส’ เราก็รู้สึกว่า ‘นางทาส’ เป็นตัวอย่างของการสร้างวาทกรรมทาสที่มีพลัง ความน่าสงสารของอีเย็น และวันที่ได้เป็นไท กลุ่มทาสมีความสุขมาก ในช่วงนั้น (2530) สื่อหลากหลายขึ้น ละครมีอิทธิพลเยอะเหมือนกัน” ดร.ญาณินีชี้

พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ต้องการตำหนิ เพียงศึกษาในเชิงทฤษฎีวาทกรรม ว่ามีพลัง คนมีอารมณ์ร่วมและจดจำว่าทาสต้องเป็นแบบ ‘นางเย็น’

เมื่อถามว่ามีการอธิบายเรื่องทาส ด้วยวาทกรรมอีกแบบหรือไม่ ?

ดร.ญาณินีเผยว่า มี แต่จะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ไปเรียนต่างประเทศ แล้วได้แนวคิดใหม่ๆ ที่จะมาอธิบายประวัติศาสตร์ทาสไทย ซึ่งได้รับให้เขียนแบบเรียนช่วงปรับหลักสูตร 2534 โดยเขียนในเชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ อธิบายทาสในแนวใหม่ เน้นเนื้อหาระบบทาส คนหนึ่งที่จำได้คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เขียนแบบเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เป็นเพียงช่วงเดียว ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ก็กลับไปเขียนแบบเดิมอีก ล่าสุดหลักสูตรปี 2550 ก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนคำอธิบาย

“เหมือนพูดปะทะกัน แต่พลังของกระแสหลักมากกว่า ในหนังสือเล่มนี้ก็จะบอกว่า ‘นางทาส’ ผลิตซ้ำตั้งหลายรอบ เอามาทำหลายเวอร์ชั่นมาก ลูกทาสก็หลายเวอร์ชั่น เพราะรัฐต้องการนำเสนอ แต่ในโลกวิชาการก็พยายามที่จะเสนอค้าน มีวิทยานิพนธ์ไม่เยอะมาก และอาจจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวงกว้าง ต้องไปอ่านที่ห้องสมุด หรือรอมติชนตีพิมพ์หนังสือ” ดร.ญาณินีกล่าว และว่า

นอกจากนี้ ยังมีนักหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์ พบว่า หนึ่งในความทรงจำของคนที่ระลึกถึงรัชกาลที่ 5 จะพูดเรื่อง ‘เลิกทาส’ มาก่อนเลย

“แทนที่จะพูดเรื่องการเสียดินแดน กลับพูดเรื่องเลิกทาส แสดงว่าภาพจำนี้มีพลัง ติดตาโดยที่เราไม่รู้ตัว จะมีรูปในแบบเรียน รูปหุ่นขี้ผึ้งทาสคุกเข่า ก็ใส่เข้ามา เป็นสัญญะทำให้ภาพจำเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก” ดร.ญาณินีชี้

ดร.ญาณินีกล่าวต่อว่า ทาสไทย มีลักษณะเฉพาะตัวที่เข้ากับระบบเศรษฐกิจ และการเกณฑ์แรงงานของไทย คำว่า ‘กดขี่ข่มเหง’ เป็นแนวคิดสมัยใหม่มาก ถ้าย้อนกลับไป ประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลานั้น คนที่เป็นทาสเขาจะรู้สึกถึงการถูกกดขี่อยู่หรือไม่ หรือเขาก็ต้องจำยอม เพราะระบบเศรษฐกิจ การควบคุมคนสมัยนั้น ด้วยชาติกำเนิดที่ต้องพึ่งพาคนที่มีศักดิ์สูงกว่า

เมื่อถามว่า ในช่วงรอยต่อสมัยรัชกาลที่ 4 -5 บีบให้ต้องเลิกทาสอยู่แล้ว คำอธิบายเช่นนี้มีการถกถียงกันอย่างไรบ้าง ?

ดร.ญาณินีกล่าวว่า คำอธิบายเหล่านี้พูดกันตั้งแต่สมัย ร.4 ว่าสยามควรเลิกไหม และรัชกาลที่ 5 ช่วงที่พระองค์ออก พ.ร.บ.พิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ในปี พ.ศ.2417 ก็มีข้อดีเบต ถกเถียงกันในหนังสือพิมพ์อยู่ เป็นกลุ่มทาสที่บอกเองว่า พอโดน พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ขายลูกไม่ได้

“แสดงว่าการขายลูกไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายนักในสังคมยุคนั้น เพราะเขาลำบาก ลูกคือทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่น่าจะขายเป็นเงินได้ ซึ่งนักวิชาการรุ่นหลัง 2540 เป็นต้นมาก็พยายามเขียน แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดในแบบเรียน แค่เขียนอ่านกันเองในกลุ่ม

ถ้ามองในเชิงแรงงาน ทาส ไม่มีแพชชั่น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทาสเป็นเครื่องบอกสถานะทางสังคม แต่พอวันหนึ่งสังคมเปลี่ยน ระบบทุนนิยมเปลี่ยน ก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีทาสเดินตามขุนนาง เพื่อเป็นเครื่องบ่งบอกสถานทางสังคม ไม่จำเป็นต้องมีคนเดินตามมากมาย ถกเถียงกันเยอะอยู่ระดับหนึ่ง กระบวนการเลิกทาสไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว การเลิกทาส ทำไมต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป? ไม่ค่อยมีคนอธิบายต่อ” ดร.ญาณินีระบุ

เมื่อถามว่า ในปัจจุบัน การอธิบายบริบทเกี่ยวกับทาส ปัจจุบันอยู่ในระดับใด?

ดร.ญาณินีชี้ว่า คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทาส คือคนที่เขียนคำนิยมในเล่มนี้

อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทาสไทยมาก อาจารย์เขียนบทความ แต่ยังไม่มีคนรุ่นหลังที่อยากเขียนเรื่องนี้ อาจจะไปสอดแทรกอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ยังไม่มีแนวคิดใหม่ๆ” ดร.ญาณินีกล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่า คาดหวังหรือไม่ ว่าอยากจะเห็นอะไรในการศึกษาเรื่องทาส ?

ดร.ญาณินีชี้ว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะเปิดประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับทาสไทย ให้คนที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยอยากค้นเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อทำให้กรอบการศึกษาเรื่องทาสเปลี่ยนไปบ้าง มีการต่อยอดเสริมไปอีก

“ก็อยากให้เปิดใจ ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ดี แค่ต้องการให้เราเป็นคนอ่านอย่างระมัดระวัง เพราะคำอธิบายบางอย่างมีพลัง มันครอบงำความคิดเราหรือเปล่า? และอาจจะทำให้คำอธิบายบางอย่างถูกลดทอนความสำคัญลง เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ มันมีข้อเท็จจริงอยู่ แต่ก็จะมีกลุ่มที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ความจริงบางอย่างก็จะเป็นความจริงที่ถูกเลือกให้จำ แต่ความจริงบางอย่างก็เหมือนถูกเก็บงำ ให้ความสำคัญน้อยลง การอ่านหนังสือเหมือนการเปิดโลกทัศน์ทางความคิด หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างในสังคม เพราะความจริงไม่ได้มีชุดเดียว มีชุดที่มีอำนาจ กับชุดที่มีพลังน้อยกว่าก็ได้” ดร.ญาณินีกล่าว

โดยหลังจบการเสวนา เวลา 13.30 – 14.30 น. ดร.ญาณินี ยังไปร่วมแจกลายเซ็นที่บูธมติชน M49 อีกด้วย

สำหรับหนังสือ ทาสไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ โดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ (เขียน) คำนิยมโดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทั้งประวัติศาสตร์ทาสของไทยและสหรัฐอเมริกา จำนวน 288 หน้า ราคา 260 บาท พิเศษลด 15 % เพียง 221 บาท เฉพาะในงานนี้เท่านั้น

ห้ามพลาด! ที่บูธมติชน M49 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายนี้ โดย 1 เมษายน เปิดเวลา 10.00 – 24.00 น. และ 2-9 เมษายน เวลา 10.00-21.00 น.

หรือช้อปออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://www.matichonbook.com/ สามารถดูรายละเอียดหนังสือแต่ละเล่มได้ที่ https://bit.ly/40oM45I สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามสำนักพิมพ์มติชนได้ที่ ไลน์ : @matichonbook ยูทูบ: Matichon Book ติ๊กต็อก : @matichonbook ทวิตเตอร์ : matichonbooks อินสตาแกรม : matichonbook

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image