‘ชาตรี’ ชวนส่องสถาปัตย์ โฟกัส ‘อีกด้านที่ซ่อนอยู่’ แจกลายเซ็นเล่มใหม่ท็อป 5 บูธมติชน

ศ.ดร.ชาตรี ชวนส่องสถาปัตย์ โฟกัส ‘อีกด้านที่ซ่อนอยู่’ แจกลายเซ็นเล่มใหม่ท็อป 5 บูธมติชน

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และพันธมิตร จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 (Book Expo Thailand 2023) ซึ่งปีนี้มาในธีม “Book Dreams: เพราะหนังสือช่วยเติมเต็มความฝันให้สมบูรณ์ขึ้น

เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ช่วงเช้า ประชาชนเดินทางมาเลือกซื้อหนังสือคึกคัก จนเริ่มแน่นพื้นที่ฮอลล์ ด้านบูทสำนักพิมพ์มติชน (J47) ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และวัฒนธรรม เป็นต้น

ต่อมา 13.00 น. เริ่มโปรแกรมพบปะมิตรรักนักอ่านประจำวัน โดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบปะและแจกลายเซ็น ในผลงานล่าสุด “สถาปัตย์-สถาปนา: การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม” ซึ่งติดอันดับขายดี 1 ใน 5 อันดับ

Advertisement

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า หนังสือ “สถาปัตย์-สถาปนา: การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม” เป็นการรวมบทความจากมติชนสุดสัปดาห์

“หลักๆที่รวมมา คือ การที่เราวิเคราะห์นัยยะอีกด้าน ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งปลูกสร้างงานออกแบบรอบตัวเรา

คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา เป็นพื้นที่ใช้สอย เหตุผลของของการสร้างขึ้นมาเป็นเรื่องสามัญ สวนสาธารณะเอาไว้พักผ่อน เมืองสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้มีอีกด้านที่ซ่อนอยู่

Advertisement

บางด้านของเมือง อาจไม่ใช่พื้นที่สำหรับทุกคน กัดกันคนบางคน งานสถาปัตยกรรมบางชิ้นทำให้เรารู้สึกถูกควบคุม หรือ มีการเมืองแฝงอยู่ในการออกแบบต่างๆ” ศ.ดร.ชาตรีเผย

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายาม เปิดให้เห็นถึงนัยยะเหล่านั้น แฝงอยู่ระหว่างบรรทัดของสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการอ่านที่ชี้ให้เห็นนัยยะระหว่างตัวอักษรของมัน

“เหมือนเราอ่านงานสถาปัตยกรรม แล้วค่อยๆชอนไช แซะความหมายที่มันซ่อนอยู่ออกมา ทั้งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และพื้นที่ออกแบบ” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวอีกว่า หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงนโยบายด้านนโยบายทางการเมืองที่เข้มแข็ง เมืองมันควรที่จะรองรับคนได้หลากหลายกลุ่ม ไม่ควรแพงเกินไป มีการแบ่งโซนที่คนรายได้น้อย สามารถที่จะอยู่ได้

“เราต้องมาตระหนักคิดดีๆ นอกจากการพยายามสร้างเมืองที่อะไรก็มีแต่สร้างสรรค์ๆ เราคสรมองให้เห็นคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มคนต่างๆ เช่น คนไร้บ้าน ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารในหนังสือ” ศ.ดร.ชาตรีเผย

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ตนชอบมากที่สุดในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ เมรุเผาศพวีรชน 14 ตุลา ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมาก

“ท้องสนามหลวง เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จำกัดพื้นที่ในการทำพิธีศพ เฉพาะเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งเมรุวีรชน 14 ตุลา เป็นเมรุแห่งที่ 2 ครั้งที่ 2 ที่สามารถเผาศพสามัญชน บนท้องสนามหลวงได้ และเป็นเมรุชิ้นสุดท้ายที่เผาสามัญชนด้วย สะท้อนนัยสำคัญที่สะท้อนว่า ครั้งหนึ่งประชาชนมีสิทธิมีเสียงมาก” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวด้วยว่า หนังสือคือเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ จากการอ่าน การฟัง รวมไปถึงการท่องโลกโซเชียล ที่เปลี่ยนรูปแบบไป ซึ่งเราควรจะมุ่งเป้าส่งเสริม ไปที่การเรียนรู้ของประชาชนในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image