อดีตนายกฯผู้จัดพิมพ์ ลั่น ในงานมีเป็นล้านเล่ม! ตรงดิ่งบูธมติชน คว้า ‘พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’

จรัญ อดีตนายกฯผู้จัดพิมพ์ ลั่น ‘ในงานมีเป็นล้านเล่ม!’ ตรงดิ่งบูธมติชน คว้า ‘พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ เผยจ้องไว้แล้ว

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

บรรยากาศภายในงานตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีประชาชนหลากหลายช่วงวัยหลั่งไหลเดินทางมาต่อแถวเพื่อเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยพุ่งตรงไปยังบูธสำนักพิมพ์ที่ตนชื่นชอบ ซึ่งส่วนมากเป็นนักอ่านกลุ่มวัยรุ่น ที่นิยมแนวการ์ตูนและนวนิยายแฟนตาซี

ซึ่งงานครั้งนี้จัดภายใน 3 ฮอลล์ใหญ่ พื้นที่กว่า 20,000 ตร.ม. เต็มไปด้วยเพื่อนจากเพื่อนสำนักพิมพ์มากถึง 322 สำนักพิมพ์ 914 บูธ พร้อมทัพหนังสือกว่า 1 ล้านเล่ม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม เวทีอบรม สัมมนา มากกว่า 100 รายการ, 5 นิทรรศการต้องไปชม และ 3 กิจกรรมใหญ่ให้นักอ่านมีส่วนร่วม จัดเต็มต่อเนื่องยาวนานถึง 12 วัน โดยภายในงานแบ่งออกเป็น 7 โซน ตอบโจทย์ทุกรสนิยมการอ่านทั้ง 1.โซนหนังสือนิยายและวรรณกรรม 2.โซนหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น 3.โซนหนังสือเด็กและการศึกษา 4.โซนหนังสือต่างประเทศ 5.โซนหนังสือทั่วไป 6.โซนหนังสือเก่า และ 7.โซน Non–Book

Advertisement

บรรยากาศเวลา 12.00 น. ที่ บูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักอ่านแวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อหนังสือภายในชั้นอย่างล้นหลาม โดยส่วนมากให้ความสนใจกับหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 20% ไปจนถึงของพรีเมียม หากช้อปหนังสือชุด หรือครบตามยอดที่กำหนด

นอกจากนี้ สำนักพิมพ์มติชน ยังมีการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ พร้อมด้วยเวทีเสวนาไฮไลต์ และรายการพบปะนักเขียนชื่อดังอย่างต่อเนื่องทุกวัน

Advertisement

โดยวันนี้ เวลา 18.00-18.40 น. พบกับ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา มาร่วมเวที Book Talk ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ พูดถึงจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยในประวัติศาสตร์อยู่ตรงช่วงเวลาใด เพราะเหตุใด ประเทศไทยถึงดำเนินมาถึงจุดนี้

บรรยากาศเวลา 12.30 น. นายจรัญ หอมเทียนทอง กรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาหนังสือ, อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว เดินทางมาแวะเวียนเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน


โดยเมื่อถามว่า สนใจหนังสือเล่มไหนภายในบูธเป็นพิเศษ?

นายจรัญเผยว่า ตนเล็งมาตั้งแต่ก่อนเปิดงานแล้ว คือเล่ม ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ เขียนโดย อดัม คูเปอร์ แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง

เห็นตั้งแต่ตอนที่โฆษณาแล้วว่าน่าสนใจ เกี่ยวกับมิวเซียม ก็เลยจะมาดูที่บูธ

“เดินดิ่งมาหาเล่มนี้เลย แล้วก็ดูเล่มอื่นๆ ด้วย” นายจรัญกล่าว

เมื่อถามว่าในปีนี้สำนักพิมพ์มติชนมาในธีม ‘อ่านเอาฤกษ์’ ที่ผ่านมามีหนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยไหม?

นายจรัญกล่าวว่า อยากบอกทุกคนว่า คุณอ่านหนังสืออะไรก็ได้มันเปลี่ยนชีวิตคุณอยู่แล้ว

“อย่างน้อยๆ หนังสืออาจจะไม่ได้เปลี่ยนชีวิตคุณเลยในทันที แต่ว่ามันเปลี่ยนความคิดคุณได้
เปลี่ยนความเชื่อ ความคิด ให้ไปในวิธีที่ถูกต้องได้ ดังนั้นการอ่านมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง เป็นได้ทุกสิ่ง” นายจรัญกล่าว

นายจรัญยังแนะนำหนังสือภายในงานด้วยว่า มีหลากหลายมาก ลองหยิบมาสัก 1 เล่ม แล้วลองอ่าน มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณได้อย่างแน่นอน

“ถ้าจะให้แนะนำในทรรศนะของผม ในฐานะคนสูงอายุ สำหรับผู้อ่านทั่วไปผมอยากจะบอกว่า ภายในงานหนังสือ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีเป็นล้านเล่ม หนึ่งในล้านจะเปลี่ยนชีวิตคุณได้ ถ้าคุณอ่าน ขอแค่อ่าน” นายจรัญกล่าว

สำหรับบูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ เดินออกจากทางเชื่อม MRT มายังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าประตูฮอลล์ซ้ายมือ เดินตรงมาโซนตรงกลางแล้วเลี้ยวซ้าย เดินมาสุดทาง

โดยในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคมนี้ เวลา 13.30-15.30 น. ที่ห้องอบรมสัมมนาชั้น 2 (MR 207) สำนักพิมพ์มติชนมีเวที ‘Museum Talk: พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ กิจกรรมเสวนาที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของสำนักพิมพ์มติชน ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ เขียนโดย อดัม คูเปอร์ แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง

โดยภายในเวทีนี้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ได้แก่

สมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน เจ้าของเพจ “เกร็ดก็เก่าเกย์ที่เล่าก็แก่”, วรรณพร เรียนแจ้ง อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้แปลหนังสือ ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ และคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักประวัติศาสตร์-อารยธรรมโบราณ อาจารย์พิเศษ และอดีตภัณฑารักษ์

ซึ่งจะมาร่วมถกหลากประเด็นเกี่ยวกับหลายแง่มุมของ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ สถาบันที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1830-1840 และเข้าสู่ยุคทองในช่วงเวลาเดียวกันกับระลอกของลัทธิอาณานิคมยุโรปในทวีปแอฟริกาและโอเชียเนียในช่วงทศวรรษ 1880

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image