ความในใจของสาวกรุ๊ป Y … ในวันที่ Yaoi ยึดครอง (บาง) โลกการอ่าน

มีหนังสือประเภทเดียวในไทยตอนนี้ ที่สามารถจัดบุ๊คแฟร์ของตัวเองได้แบบสบายๆ และงานหนังสือใหญ่ๆ ที่สนพ.ทั้งหลายต่างรอคอยและคาดหวังว่าจะช่วยนำเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่องให้สนพ. ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจเท่านั้น

คือหนังสือแนว Yaoi (ยาโออิ) หรือ นิยายวาย ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของชายรักชาย ส่วนใหญ่สร้างโดยผู้หญิงเพื่อกลุ่มผู้หญิง ซึ่งในบริบทของสังคมไทย ยาโออิเน้นความสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่น ยาโออิยังเป็นที่มาของคำว่า “วาย” (y) ที่มักใช้เรียกงานเขียนกลุ่มนี้ และแฟนๆ ที่เหนียวแน่นของงานเขียนกลุ่มนี้ก็คือ “สาววาย”(yaoi-chan)

ตอนนี้งานหนังสือที่ว่าด้วยนิยาย Y  มีตลอดทั้งปี ทั้งจากนักเขียนรวมตัวกันเอง และสนพ.ใหญ่มาเป็นโต้โผจัด ทั้ง Y BOOK FAIR กำลังจะจัดครั้งที่ 3 วันที่ 7 ก.ค.นี้, Gen Y Trade Area ที่กำลังจะจัดครั้งที่ 9 เดือนกันยายน, น้องใหม่ที่เพิ่งจัดไปอย่างงาน Y aholic by Mareads นี่คืออมรินทร์เล่นเอง และกำลังจะจัดครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายนนี้ และน้องใหม่สุดๆ คืองานที่กำลังจะจัดโดยเจ้าใหญ่อีบุ๊คอย่าง Meb

ทุกงานเก็บค่าเข้า หลักสิบปลายๆถึงหลักร้อยต้นๆ

Advertisement

ความนิยมวายในบ้านเราตอนนี้ ขยายไปสู่สื่ออื่นมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ประเทศจีน เบอร์ต้นๆของดาราไทยยอดนิยมมาจากซีรีส์ละครวาย แอพพลิเคชั่นการ์ตูนต่างๆ ตอนนี้แยกงานวายออกมา เป็นเซ็คชั่นต่างหาก ไม่ต้องพูดถึงแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์เลย เพราะนั่นคือส่วนสำคัญสุดๆที่ทำให้งานวายในบ้านเราโตแบบพุ่งพรวด

เพราะฉะนั้นจะเขียนทั้งที สกู๊ปเดียวคงไม่พอ เราเลยจะพาไปเจาะลึกถึงความนิยม ณ เวลานี้ทั้งในมุมของนักอ่าน นักเขียน และสำนักพิมพ์ ในรูปแบบซีรีส์

โดยเริ่มจากตัวแทนนักอ่าน เพื่อความเข้าใจถึงสาวกรุ๊ป Y ทั้งหลาย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้นิยายวายเติบโต อย่างที่เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะโตได้ถึงขนาดไหน

Advertisement

Ichiyo (นามแฝง) หญิงสาวน่ารักที่ชื่นชอบงานวายแบบสุดๆ เอ่ยเสียงหวานว่า เธอเริ่มต้นชอบงานแนวนี้ ตั้งแต่ที่งานวายยังอยู่ใต้ดิน เริ่มด้วยความจิ้นสวนตัว เพราะอ่านตั้งแต่ยังเป็นคู่จิ้นนักร้องเกาหลียุคแรกๆ หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านงานวายญี่ปุ่น ซึ่งตอนแรกมักจะเป็นในรูปแบบมังงะ แล้วค่อยๆ ไล่มาอ่านงานวายจีน และอื่นๆ ตามมา

Ichiyo บอกว่าถ้าถามถึงเสน่ห์ของงานวาย เธอตอบยากมาก แต่สำหรับเธอแล้ว การอ่านนิยายวายให้อารมณ์คนละแบบกับการอ่านนิยายทั่วไป หรือที่เธอเรียกว่านิยายนอร์มอล (Normal) และหวังว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทย เข้าใจใน LGBT มากขึ้น

“มีบางจุดที่นิยายนอร์มอลไม่สามารถดึงออกมาได้เท่ากับนิยายวาย ด้วยแนวความคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อดีตเกี่ยวกับบทบาทของหญิงชาย จะเห็นได้ว่านิยายนอร์มอลส่วนมาก จะมีเส้นบางๆ ขีดกั้นบทบาทของหญิงชายไว้ ซึ่งนิยายวายสามารถตีกำแพงบางๆ ที่กั้นไว้นี้ออกได้ค่ะ

ตอนนี้มีนักเขียนนิยายรุ่นใหม่เขียนงานวายจำนวนมาก สิ่งที่อยากเห็นคือการเขียนโดยการไม่เอาแนวความคิดของผู้หญิงไปใส่ในตัวนายเอก อยากให้นิยายวายเขียนในแง่มุมของผู้ชายสองคนที่รักกันโดยไม่มีกำแพงของเพศเป็นตัวขวางกั้น อย่างน้อยให้นิยายวายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะส่งเสียงให้ชาวไทยหลายๆ คนเข้าใจใน LGBT มากยิ่งขึ้น และอยากให้นิยายวายน้ำดีในบ้านเราสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้เช่นเดียวกันกับนิยายวายจากประเทศอื่นๆ ที่ไหลเข้ามาในบ้านเราค่ะ”

ส่วนสาวสวยอย่าง Gloomy Alpaca (นามแฝง) เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มสดใสว่า จุดเริ่มของเธอมาตั้งแต่ช่วงเรียนม.ต้น และเสน่ห์ในนิยายวายที่เธอสัมผัสได้นั้น คือการวางลักษณะตัวละคร

“ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจหรอก เพราะรู้สึกว่าจะเพศไหนก็เป็นนิยาย การ์ตูนรักเหมือนกัน แต่พอลองอ่านแฟนฟิคนิยาย การ์ตูนที่เพื่อนเอามาให้แล้วรู้สึกว่าใช่ นี่ล่ะ สิ่งที่ตามหา

เราคิดว่าผู้หญิงที่ไม่มีเหตุผล งอน ไร้สาระ ง้องแง้ง ในนิยายทั่วไปน่ารำคาญมาก เลยชอบอ่านวาย เพราะตัวละครชายจะเป็นเหตุเป็นผลกว่า แต่ถ้าเจอเคะ (ฝ่ายรับ) ที่นิสัยเหมือนตัวละครหญิงอย่างที่กล่าวไปก็อ่านไม่ไหวเหมือนกัน ส่วนแนวนอร์มอลที่ตัวละครหญิงไม่น่ารำคาญก็ชอบ

เรียกว่าชอบเพราะตัวละครเป็นเหตุเป็นผลไม่น่ารำคาญดีกว่า ก็เหมือนชีวิตจริงที่ผู้ชายจะไม่เรื่องมากเท่าผู้หญิง อีกประเด็นสำคัญที่ชอบและเป็นเสน่ห์ของวายคือ เวลาเห็นผู้ชายที่มีความอ่อนโยน เข้าอกเข้าใจเพศอื่นๆ มันดีต่อใจ เพราะเบื่อผู้ชายเหยียดเพศอื่นๆ ในชีวิตจริงมาก เจอแล้วได้แต่เบะปากมองบน”

Gloomy Alpaca มองภาพรวมงานวายในตอนนี้ว่า เหมือนนิยายอื่นๆ ที่แบ่งเป็นหลายแนว หลายแบบ ทั้งรักวัยรุ่น แฟนตาซี ฯลฯ แต่ช่วงนี้กระแสจีนโบราณมาแรง วายแนวจีนโบราณ ยุทธภพ กำลังภายในก็เลยดังเป็นพิเศษ

“นักเขียนวายส่วนใหญ่เป็นรุ่นใหม่ เขาจะมาพร้อมไอเดียและแนวการเขียนที่สดใหม่ ตอบสนองผู้อ่านได้หลากหลายแนว อย่างเราเองจะเบื่อพระเอกที่ต้องหล่อต้องเพอร์เฟคต์ตลอดเวลาในนิยายรักชายหญิง วายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราได้เติมเต็มจินตนาการ ได้เห็นด้านทั้งดีทั้งร้ายของตัวละคร”

ในมุมของนักอ่าน Gloomy Alpaca คิดว่างานวายไทยมีหลากหลายแนวมาก แต่บางประเภทยังไม่ค่อยดังและมีน้อย เช่น แฟนตาซี, แนวลูกผู้ชาย, โทนเรื่องตะวันตกในยุคสมัยรอคโคโค รีเจนซี่ วิคตอเรียน ซึ่งเธอก็อยากเห็นงานเหล่านั้นมีมากขึ้น

“อีกอย่างคืออยากเห็นการพัฒนาของพล็อตเรื่องมากขึ้น ไม่ใช่แค่เหมือนบางเรื่องที่มาแต่รัก และเน้น nc อยากให้คนนอกเข้าใจว่า วายไม่ได้ขายแต่ nc นะ” (nc คือ Non Children Under – อายุ คือ ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า…)

สำหรับ เดือนหนาว (นามแฝง) สาวน้อยวัยมหาวิทยาลัย ที่อ่านเรื่องแรกคือ “พันหนึ่งราตรี” มังงะแปลเกาหลี เมื่อ 9 ปีที่แล้วตั้งแต่งาน Yaoi ยังไม่เป็นที่นิยม และมักจะซ่อนอยู่ตามมุมอับของร้านหนังสือ ก็เล่าว่าพันหนึ่งราตรี ทำให้เธอรู้สึกว่าความรักคือความรัก ไม่ใช่เรื่องของเพศใดๆ

“มันไม่สำคัญว่าคนที่เรารักจะเป็นเพศอะไร หรืออยู่ในฐานะไหน สุดท้ายแล้วการได้พยายามทำอะไรเพื่อใครสักคนนั้นเป็นเรื่องงดงาม ยิ่งความรักของคนที่เป็นเพศทางเลือก ยิ่งมีอุปสรรคมาก และต้องใช้ความพยายามมากกว่าคู่ชายหญิงปกติ ยิ่งทำให้เราเอาใจช่วยตัวละครและมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น อาจเพราะเราเชื่อว่าอะไรที่ได้มายากๆ มันก็ยิ่งมีค่า เราเลยสนใจ Yaoi ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

เราชอบที่กว่าตัวละครจะรักกันได้ มันมีอุปสรรคเรื่องต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องชู้สาว การแย่งชิง แต่ยังมีปัญหาทางบ้าน สายตาของคนในสังคม มันเป็นความรักที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้คนอื่นยอมรับ”

เพราะเชื่อว่าความรักย่อมมีทั้งผิดหวังและสมหวัง ดาวเหนือเลยบอกว่าอยากเห็นพล็อตแนวไม่สมหวังบ้าง ในงานวายไทย

“อยากเห็นตอนจบที่ไม่สมหวัง ไม่ใช่ว่ามันไม่เคยมี แต่มีน้อย สำหรับเราไม่จำเป็นว่าทุกเรื่องต้องจบลงด้วยดี สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่ตัวละครได้เรียนรู้และได้พยายามระหว่างเรื่อง อยากให้มีเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอ่านก้าวข้ามผ่านอดีตหรือปัญหาของตัวเองไปพร้อมๆ กับตัวละคร”

เป็นความในใจจากสาวกรุ๊ป Y บางส่วน ที่คอยรดน้ำในต้นวายผลิใบ และหวังจะเห็นต้นไม้นี้เติบโตอย่างงดงาม

…………

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image