ตู้หนังสือ : เปิดโฉมหนังสือน่าอ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” วางแผงแล้ว

นามของนักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียน มาคิอาเวลลี เป็นที่รู้จักกันไม่เพียงแต่นักเรียนรัฐศาสตร์ แต่ผู้สนใจเรียนรู้เรื่องการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ย่อมคุ้นเคยกับชื่อนี้พร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะจากหนังสือลือนาม เดอะ พรินซ์ ซึ่งอาจารย์ สมบัติ จันทรวงศ์ แปลไทยออกเผยแพร่ในปี 2538 ซึ่งทำให้ผู้เขียนเป็นที่รู้จักกว้างขวางออกไปอีก ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของความคิดเผด็จการหรือรู้เท่าทันเผด็จการ เพื่อจะเป็นผู้ปกครองที่ดี

หนังสือเกี่ยวกับ มาคิอาเวลลี ในสังคมไทยจึงปรากฏขึ้นหลากหลาย ทั้งชีวิต ประวัติ ความเป็นมา และสถานะของหนังสือเดอะ พรินซ์ในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่น้อยเป็นงานแปลจากภาษาต่างประเทศ เช่น มาคิอาเวลลี เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ ซึ่ง ศิริรัตน์ ณ ระนอง แปลจากงานของ ไมล์ส เจ. อุงเงอร์ เรื่อง มาคิอาเวลลี อะ ไบโอกราฟี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมองกันเผินๆ อาจเข้าใจว่านามของนักปรัชญาการเมืองผู้นี้ เพิ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาร่วมสมัยเมื่อเริ่มวิชาเรียนรัฐศาสตร์การเมืองในมหาวิทยาลัยหลังปี 2500 มานี้เอง แต่ที่จริงแล้ว สังคมไทยรู้จักมาคิอาเวลลีมาก่อนหน้านั้นนานนัก

เผลอๆ อาจรู้จักกันตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่มีชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

ก่อนจะปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นครั้งรัชกาลที่ 5 ผ่านนายทหารชาวอิตาเลียนซึ่งเข้ามารับราชการในไทย ทำให้แนวความคิดทางการเมืองของมาคิอาเวลลีส่งต่อมาถึงกลุ่มชนชั้นนำอย่าง เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เรื่อยมาจนถึงพระยาอนุมานราชธน จากการกล่าวถึงนามนี้ และมีการแสดงออกบางประการซึ่งคล้ายคลึงกับแนวทางความคิดของเดอะ พรินซ์อีกด้วย

ดังนั้น ผลงานและความคิดของมาคิอาเวลลีที่กล่าวขานกันอยู่ในสังคม จึงมิใช่เรื่องที่เพิ่งเรียนรู้ แต่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมานานอาจจะนับเป็นศตวรรษ มาคิอาเวลลี การเมืองไทยของเจ้าผู้ปกครอง โดย กานต์ บุญยะกาญจน รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตจากจุฬาฯ จึงเป็นหนังสือแนวคิดการเมืองการปกครองที่ใกล้ตัว อ่านสนุกและเข้าใจเส้นทางความคิดทางรัฐศาสตร์ต่อเนื่องจากตะวันตกมาตะวันออกชนิดเห็นภาพ มิใช่การรู้จักเจ้าของนามอย่างไกลตัวเช่นแต่ก่อน

ไม่อยากรู้หรือว่า การอ้างถึงมาคิอาเวลลีอย่างเป็นหลักฐานครั้งแรกในสยามของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางปรัชญาส่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทรงแสดงพระดำริไว้อย่างไรบ้าง

Advertisement

เป็นหนังสือมาคิอาเวลลีที่ค้นคว้าและเขียนโดยคนไทย จึงยิ่งน่าอ่านเพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมของความคิดทางการเมืองของตัวเราเองด้วย – แฮ่มมม

…หนังสือสำคัญอีกเล่มที่น่าอ่านสัปดาห์นี้ก็คือ จิตสำนึกแห่งพระเจ้า หรือ เดอะ ไมน์ด ออฟ ก้อด (The Mind of God) ของ เจย์ ลอมบาร์ด แปลโดย สิรพัฒน์ ประโทนเทพ เห็นชื่อหนังสือแล้วไม่น้อยคนคงรู้สึกเลื่อนลอยหรือเวิ้งว้างเกินกว่าจะจับต้องได้ จึงไม่สนใจ

ที่จริง งานเขียนชิ้นนี้พูดถึงความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์และศรัทธา ซึ่งมีมาแต่เดิมกระทั่งปัจจุบันก็ไม่แล้ว ต้นตอประการหนึ่งของปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากการมองสมองมนุษย์เป็นเพียงอวัยวะของความคิดและสติปัญญา หรือเหมือนเครื่องประมวลผลทางชีวภาพ โดยตัดจิตสำนึกหรือเรื่องจิตใจออกไป ซึ่งเท่ากับลดทอนคุณค่าด้านนามธรรมของมนุษย์ ให้เหลือเพียงคุณค่าด้านชีวภาพ

แต่ผู้เขียนเห็นว่า มุมมองนี้สร้างปัญหาในการทำความเข้าใจเนื้อหาสารัตถะของมนุษย์ เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจกันและกัน จึงได้ใช้ประสบการณ์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ เชื่อมรอยแยกนั้นเข้าด้วยกัน ให้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ตัวเลข และความเชื่อไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงระบบชีวภาพที่เปล่าเปลือย

การเชื่อมมุมมองนี้เข้าด้วยกัน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในโลกทุกวันนี้ได้ จึงอยากให้อ่านดู

สารคดี ฉบับล่า โมเดิร์น ไชน่า สู่มหาอำนาจโลก อ่านก่อนเรื่องอื่นเลยคือ ปัญหาของนักเรียนอุษาคเนย์คือการคิดเชิงวิพากษ์ อาจารย์ฝรั่งวิจารณ์ให้เราพิจารณาตัวเอง จากนั้นจึงอ่านเรื่องการก้าวสู่มหาอำนาจโลกของจีน ตั้งแต่สงครามฝิ่นจนถึงการล้มของราชวงศ์ชิง แต่ละตอนประกอบภาพหาชมยากน่าตื่นตา จนมาถึงจีนยุคไอทีและปัญญาประดิษฐ์อันน่าทึ่ง น่าคิดว่าโลกไม่กี่วันข้างหน้าจะหมุนไปทางไหน

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับมหาบรมราชาภิเษก อ่านเรื่องที่แม้แต่วงการแพทย์เองยังหนักใจ สังคมยิ่งไม่ได้รับรู้ นั่นคือวิกฤตพยาธิแพทย์ที่ขาดแคลนมานาน วิชาชีพที่จะไขปริศนาน้องน้ำตาลได้ทันท่วงที ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทำไมจึงได้มีปัญหา เพราะคำตอบง่ายๆ ก็คือ ค่าตอบแทนของพยาธิแพทย์ต่ำมากจนอาจไม่มีใครนอกวงการแพทย์ที่ไหนจะเชื่อ ต่ำจนไม่มีใครอยากเรียนมาตรากตรำลำบาก หามรุ่งหามค่ำทำงานในแล็บหรือห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจชิ้นเนื้อต่อกรณีเพียง 60-90 บาท

โอ๊ย วิปริตไปแล้วหรือระบบ พยาธิแพทย์ที่สำคัญอย่างสูงในวงการแพทย์ กลับเป็นสาขาที่ขาดแคลน – แป่วววว.


 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image