บิ๊กดาต้ามหาประลัย ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นภัยต่อสังคม

เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิทัลที่คนเราเชื่อมโยงกันด้วยโซเชียลมีเดีย เป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้รับการกล่าวขานถึงไม่เว้นวัน เป็นยุคที่ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ และข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล พูดได้ว่าเฟซบุ๊กรู้จักเรามากกว่าเพื่อนสนิทเราด้วยซ้ำ ดูจากโฆษณายิงตรงที่เราได้รับอยู่ทุกวันก็ได้ มันรับรู้ความคาดหวังและความวิตกกังวลของเรา ขอเพียงแค่คุณค้นข้อมูลในกูเกิล และเพราะอย่างนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างถึงรากถึงโคน

หนังสือที่น่าอ่านและชวนให้เราตั้งคำถามเรื่องนี้คือ บิ๊กดาต้ามหาประลัย แปลมาจาก Weapons of Math Destruction (เรียกย่อๆ ว่า WMD) ของ Cathy O’Neil ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ผลงานแปลของทีปกร วุฒิพิทยามงคล ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ SALT หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเห็นว่า คณิตศาสตร์ถูกนำมาใช้ในสถิติในเศรษฐกิจบิ๊กดาต้า ส่งผลกระทบในทางที่เป็นภัยต่อคนเรามากกว่าที่คิด ครอบคลุมทุกปริมณฑลของชีวิต ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน

ในเรื่องการศึกษา ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การประเมินครูผู้สอนโดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านระบบประเมินที่ใช้อัลกอริทึมส่งผลเสียต่อการศึกษาอย่างไร ทำให้ครูดีๆ ต้องระเห็จออกจากโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ผลักดันตัวเองให้ได้รับการจัดอันดับสูงๆ เพื่อดึงดูดผู้เรียนอย่างไร นอกจากเรื่องคุณภาพการศึกษาแล้วยังก่อให้เกิดความไม่เทียมกันในสังคมอย่างไร แม้ตัวอย่างเกือบทั้งหมดมาจากสังคมอเมริกัน แต่เป็นสิ่งที่เราพึงรับฟังและระวังไว้ให้มาก

ตัวอย่างที่ชวนวิตกในเรื่องการใช้บิ๊กดาต้าในการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาก็คือ การพยายามโกงคะแนนให้สูงขึ้น การพยายามทำให้นักศึกษาจบใหม่มีอัตราการได้งานที่สูง จนกระทั่งเล่นเอาเถิดเจ้าล่อด้วยการจ้างนักศึกษาใหม่เป็นรายชั่วโมง เพื่อให้ได้ชื่อว่าได้งาน หรือกระทั่งการเหมาเอาว่าคนที่ไม่ส่งแบบสอบถามกลับมาเป็นผู้ที่ได้งานแล้ว ส่วนเรื่องรายได้ของนักศึกษาที่ได้งานก็แก้ได้ “วิทยาลัยเพียงต้องลดขนาดสาขาวิชาศิลปศาสตร์ลง จากนั้นก็กำจัดคณะศึกษาศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ เพราะครูและนักสังคมสงเคราะห์ทำรายได้น้อยกว่าวิศวกร นักเคมี หรือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์…” (หน้า 87) ทั้งๆ ที่จริงแล้วสาขาวิชาเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่าน้อยกว่าสาขาที่ทำเงินแต่อย่างใด

Advertisement

ที่จริง Cathy O’Neil บอกว่า วิธีหนึ่งที่จะลดค่าใช้จ่ายอย่างได้ผลก็คือการลดจำนวนผู้บริหารที่มีมากเกินความจำเป็น แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยม

WMD ถูกนำมาใช้ในธุรกิจการศึกษาที่มีเม็ดเงินมหาศาล โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเพื่อผลกำไร (for-profit university) ในอเมริกาที่ใช้กลยุทธ์โฆษณาล่าเหยื่อ (predatory ad) เป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ก็ด้วยการใช้ความต้องการ บวกกับความไม่รู้ของคน ถ้าเรากังวลเรื่องรถยนต์ที่ใช้เสียและซ่อมบ่อย เมื่อค้นในเสิร์ชเอนจิน ก็จะมีโฆษณารถยนต์โผล่มาให้เราเห็น ในธุรกิจการศึกษาก็อาศัยความกังวลของคนจนเป็นเครื่องมือ นั่นคือ คนเราเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยเลื่อนชั้นทางสังคม แต่คนที่มีรายได้น้อย ก็มีโอกาสที่จะแข่งเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำน้อยเช่นกัน

นี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเพื่อผลกำไรกันดาษดื่น เพื่อหวังกอบโกยผลกำไรจากนักศึกษาจากครอบครัวรายได้น้อยที่มีสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา แต่ใบปริญญาที่ได้กลับมีความหมายน้อยมากเวลาสมัครงาน

Advertisement

ธุรกิจแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ค้าข้อมูลหรือ data broker และผู้สร้างความต้องการผู้บริโภค ยุคสมัยที่สินค้าไม่ได้ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคน แต่สามารถสร้างความต้องการขึ้นมาได้เลยทีเดียว และคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็ลวงโลกเสียด้วย

ใช่แต่เพียงเรื่องการศึกษาเท่านั้น บิ๊กดาต้ายังส่งผลมหาประลัยมาถึงตอนที่เราสมัครงานด้วย การหางานในยุคบิ๊กดาต้าจึงมีความเสี่ยง แม้แต่งานที่มีผลตอบแทนต่ำก็ใช่ว่าจะสมัครและได้งานง่ายๆ ตัวอย่างชายหนุ่มที่ชื่อ ไคล์ เบห์ม (Klye Behm) ในบทที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เขาเป็นไบโพลาร์และต้องรักษาตัว จนกระทั่งกลับไปเรียนอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยอีกแห่ง ช่วงนั้นเขาไปสมัครงานพาร์ตไทม์ในร้านค้าปลีก

แต่ไคล์ถูก “กำจัด” ด้วยแบบทดสอบบุคลิกภาพตอนสมัครงาน และส่งผลให้เขาสมัครงานที่อื่นๆ อีกเจ็ดแห่งก็ไม่ได้งาน เพราะแต่ละแห่งก็ใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพทำนองเดียวกันนี้ ไคล์จึงยื่นฟ้องบริษัททั้งเจ็ดแห่งนั้น โดยอ้างว่าการใช้แบบทดสอบดังกล่าวในการคัดเลือกคนเข้าทำงานนั้นผิดกฎหมาย

ที่สำคัญ การใช้ WMD ยังส่งผลกระทบต่อเราในฐานะพลเมืองอีกด้วย เช่น การใช้ระบบประมวลผลในบางรัฐของสหรัฐ เพื่อประเมินพื้นที่ที่น่าจะเกิดอาชญากรรมมากที่สุด ทั้งนี้จะได้ไม่ต้องใช้ตำรวจจำนวนมาก

ผลก็คือการจับได้แต่คนป่วนเมือง ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และยิ่งเพิ่มข้อมูลเหล่านี้ลงไป ตำรวจก็ยิ่งพุ่งเป้าไปที่การตรวจตราบริเวณดังกล่าวมากขึ้น และก็จับได้แต่คดีเล็กๆ น้อยๆ ในย่านคนจน

เรื่องนี้จึงสัมพันธ์กับความยุติธรรมอย่างแยกไม่ออก

เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น สังคมอื่นได้ หนังสือ บิ๊กดาต้ามหาประลัย ตั้งคำถามและวิพากษ์การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการยกกรณีตัวอย่างที่สนใจหลายกรณี โดยเฉพาะในสังคมอเมริกัน

ถึงที่สุดแล้วจะทำอะไรในโซเชียลมีเดีย คงต้องระวังการทิ้งรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ไว้ให้มากที่สุด

เพื่อป้องกันบิ๊กดาต้า ให้มามหาประลัยใส่เราได้น้อยที่สุดนั่นละ

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image