“ราษฎรธิปไตย” การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร

หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่มักถูกนักเขียนไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หยิบยกขึ้นมาใช้เป็นองค์ประกอบในนวนิยายหรือเรื่องสั้น อาทิ ฉาก พล็อต ตัวละครในการเล่าเรื่อง คือเหตุการณ์ช่วงปฏิวัติ 2475

วรรณกรรมบางเรื่อง เลือกที่จะเล่าแบบย้อนยุคพีเรียดไปเลย ในขณะที่วรรณกรรมบางเรื่องมีฉากเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่เลือกใช้ “ความทรงจำ” ที่สังคมไทยมีต่อการปฏิวัติ 2475 มาอิงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การปฏิวัติ 2475 เป็นอีกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยที่ถูกตีความไปอย่างหลากหลายกันตามอุดมการณ์ที่แตกต่าง ท่ามกลางหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกรื้อค้นขึ้นมานำเสนออยู่เรื่อยๆ เป็นการช่วงชิงความหมายของความทรงจำ เพราะความหมายนั้นคือส่วนหนึ่งของการรักษาอำนาจให้คงอยู่

วรรณกรรมนำข้อมูลมาจากไหน ก็จากนักประวัติศาสตร์นั่นเอง และเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกมา และน่าสนใจมากๆ ในขณะนี้ก็คือ “ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์

Advertisement

น่าสนใจตั้งแต่คำนิยมที่ได้ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง มาเขียนให้ อ.ณัฐพลอธิบายถึงข้อมูลการศึกษาปฏิวัติ 2475 ในประเทศไทยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นหลัง 2519 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสทางภูมิปัญญาในการประเมินคุณค่าของประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมถึงการประเมินการปฏิวัติ 2475 ใหม่ งานวิจัยเกิดขึ้นมากมายช่วงกลางทศวรรษ 2530 ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 และการเมืองของความทรงจำ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจผิดแบบ “ผิดฝาผิดตัว” ในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่สะท้อนความทรงจำต่ออดีตให้เห็นเป็น 2 ค่ายใหญ่ ระหว่างปัญญาชนตามขนบนิยมและฝ่ายไม่ยึดถือตามขนบ

อ.ณัฐพลยังบอกด้วยว่า ท่ามกลางการปกครองแบบเผด็จการทหาร สู่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู สลับกับระบอบเผด็จการจากรัฐประหาร และการสังหารหมู่ประชาชนกลางกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2553 ส่งผลให้ความทรงจำแห่งชาติเดิมที่ถูกปัญญาชนฝ่ายขนบนิยมถักทอขึ้นเพื่อควบคุมสังคมเป็นเวลายาวนานเริ่มด้อยประสิทธิภาพลง ดังนั้นรัฐต้องซ่อมแซมถักทอความทรงจำเก่า พร้อมทำลายความทรงจำที่เป็นฝ่ายตรงข้ามอีกครั้ง เพื่อยึดกุมสำนึกสมาชิกของชุมชนให้มีเอกภาพของความทรงจำ ที่จะสร้างความมั่นคงทางอำนาจให้กับรัฐสืบไป

หนังสือเล่มนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรื้อฟื้นและขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับคณะราษฎรและประวัติศาสตร์หลังการปฏิวัติ 2475 ในแวดวงวิชาการไทยที่สัมพันธ์กับบริบทการเมืองไทยร่วมสมัยหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยต้องการเผยให้เห็นประเด็นและหลักฐานใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยช่วง พ.ศ.2475-2500 ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการปฏิวัติ 2475 ในมิติการเมือง วัฒนธรรม อำนาจ และความทรงจำ

Advertisement

หลักฐานใหม่ที่ว่านั้น ผู้เขียนยืนยันว่ายังไม่เคยมีผู้ใดศึกษามาก่อน เป็นหลักฐานที่เคยถูกละเลยจากนักวิชาการ และเป็นหลักฐานเดิมที่การใช้อย่างแพร่หลายแต่นำมาตีความใหม่เพื่อสร้างคำอธิบายใหม่ โดยบทความที่รวบรวมไว้ในหนังสือมีทั้งหมด 6 ชิ้น และแบ่งออกเป็น 3 ภาค

ภาคแรก คือสำนึกใหม่หลังการปฏิวัติสยาม ที่เปิดเผยหลักฐานใหม่ๆ ซึ่งสะท้อนสำนึกและความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน อันเกี่ยวพันกับการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตามจังหวัดต่างๆ และอภิปรายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมสมัยใหม่ของอีสานผ่านการใช้หลักฐานทางใหม่ทางวรรณกรรม คือ “กลอนลำรัฐธรรมนูญมหาสารคาม พ.ศ. 2477”

ภาคสอง คือ อำนาจและสถาบันอำนาจ ว่าด้วยประเด็น โทษประหารชีวิตหลังการปฏิวัติ 2475 : แนวคิด การเมือง และข้อถกเถียงในการลงทัณฑ์ด้วยความตายของรัฐไทย พ.ศ.2475-2499 และ โรงเรียนฝึกอาชีพ : พื้นที่ควบคุมเด็กในสถาบันราชทัณฑ์ไทย พ.ศ.2479-2501 ที่มุ่งศึกษากำเนิดและพัฒนาการของโรงเรียนฝึกอาชีพ หลังการปฏิวัติ 2475 ภายใต้แนวคิดและกระบวนการต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้เด็กที่กระทำผิดเติบโตเป็นพลเมืองที่มีระเบียบวินัย

ภาคสาม คือ อนุสาวรีย์และความทรงจำ ที่นำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ 2 แห่งคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และพระราชานุสาวรีย์พระปกเกล้า ในส่วนของอนุสาวรีย์ปราบกบฏนี่น่าสนใจมากๆ เพราะศึกษาไปจนถึงการปลุกอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตลอดจนการรื้อถอนและหายไปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลังรัฐประหาร 2557

น่าสนใจขนาดนี้ จึงเป็นอีกเล่มที่อยากชวนให้อ่านกัน

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image