คนไม่ไปหาหนังสือ หนังสือก็ต้องไปหาคน

จากความทรงจำของเด็กต่างจังหวัดครั้งประถม 2 สมัยไม่มีโรงเรียนอนุบาลเมื่อ 65 ปีก่อน การอ่านหนังสือเรียน “หน้าที่พลเมืองและประวัติศาสตร์” แล้วพบว่า เรื่องการศึกในอดีตนั้นน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งจนต้องกลับไปอ่านต่อที่บ้านหลังโรงเรียนเลิก และเมื่อแม่ให้อ่านการ์ตูนฝรั่งแปลไทยยุคหนูน้อยผมลอนลูลู่, ทาร์ซาน, หน้ากากดำโลน เรนเจอร์, เสือพรานเดวี่ คร็อคเกต ฯลฯ หรือทอม ทัมป์มนุษย์หนึ่งนิ้วในนิตยสาร “สกุลไทย” การอ่านก็ซึมซาบเข้าสู่สายเลือด

ครั้นเรียนมัธยมต้น ห้องสมุดโรงเรียนเป็นสถานที่ขรึมขลังอลังการ เป็นเรือนชั้นเดียวที่ปลูกอยู่เอกเทศใกล้แถวห้องเรียนโล่งๆ ที่ไม่กั้นฝาด้านข้าง มีเพียงหลังคากับผนังหน้าหลังกั้นชั้นต่างๆ ทุกครั้งที่ผ่านห้องสมุดจะมองด้วยความอยากรู้อยากเห็น เพราะห้องสมุดหลังนั้นไม่เคยเปิด ไม่เคยเปิดแม้แต่หน้าต่างประตู แต่ทำความสะอาดเอี่ยมด้านนอกทั้งหลังอยู่ตลอดเวลา

ไม่ได้รู้สึกขัดข้องว่าทำไมไม่เปิด อาจเปิดให้นักเรียนมัธยมปลายเข้าไปแต่ไม่ค่อยได้เห็น เด็กมัธยมต้นอาจเด็กเกินกว่าจะให้เข้าห้องสมุดหรือเปล่า ไม่ได้คิดมากกว่าหนังสือเป็นสิ่งต้องดูแลรักษา ช่วงนั้นห้องสมุดประจำจังหวัดเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ใหม่เอี่ยม แต่ไม่มีหนังสือ

เด็กชอบอ่านไม่กี่คนจึงมักใช้วันเสาร์อาทิตย์ปั่นจักรยานไปตามวัดต่างๆ วัดซึ่งบางกุฏิมีตู้เก็บหนังสือไม่น้อย สภาพเรียบร้อยหมดจด เป่าปัดปราศจากฝุ่นละออง หลวงพ่อหลวงพี่ชอบที่มีเด็กๆ ไปขอเปิดตู้หยิบอ่าน ส่วนมากเป็นนิยายของ “ป.อินทรปาลิต” หรือ “จ.ไตรปิ่น” ชุดเสือใบเสือดำ, นักเรียนนายร้อย, พลนิกรกิมหงวน กับชุดลูกคนยาก, ลูกอนาถา, น้ำตาแม่ค้า ฯลฯ วัดหลายแห่งจึงกลายเป็นห้องสมุดแรกที่รู้จัก

Advertisement

ก่อนที่ “จุก เบี้ยวสกุล” กับ “ราช เลอสรวงึ จะปรากฏตัวขึ้นด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ในโลกการ์ตูนไทย

แน่นอน ย่อมมาหลัง “ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต” (เปล่ง ไตรปิ่น บิดา จิตต์ ไตรปิ่น) นักเขียนภาพปกภาพประกอบสมัย ร.6 หรือ “เหม เวชกร” ซึ่งมาก่อนหน้า ต่างกันก็ตรงลักษณะวิชาชีพทำมาหากิน

การ์ตูนกับหนังสือฉบับกระเป๋าเล่มละบาท หกสลึง เพื่อนสองคนพอจะรวมค่าขนมกันซื้ออ่านได้ จากนั้นก็เป็นนิยายเล่มละสามบาท

Advertisement

ห้องสมุดทางการที่ได้ใช้งานจริงจึงเป็นห้องสมุดในสถาบันครั้งเรียนอุดมศึกษา จากนั้นจึงเป็นหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี, ห้องสมุดบริติช เคาน์ซิลเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าซึ่งเดินทางไปแทบทุกสัปดาห์ กับห้องสมุดยูซิส สยามสแควร์

นอกเหนือร้านหนังสือเก่าที่อาจอนุโลมเป็นห้องสมุดกลางแจ้ง คือร้านขายหนังสือเก่าสนามหลวง บริเวณอนุสาวรีย์แม่พระธรณีบีบมวยผม ซึ่งหนาแน่นด้วยนักอ่าน และพิสดารด้วยหนังสือลับเฉพาะที่แม้วัยรุ่นอยากรู้ก็ไม่กล้าเดินเข้าไปหาคนร้องขายง่ายๆ เพราะสายตาคนไม่รู้จักรอบข้าง

แต่ห้องสมุดสาธารณะ เช่น หอสมุดแห่งชาติ เป็นอาทิ ก็มักมีปัญหาคล้ายๆ กัน (เล็กหรือใหญ่ไม่รู้) อย่างหนึ่งคือ หนังสืออันตรธานไปทั้งที่มีชื่ออยู่ในบัญชี กับบางทีหนังสือที่อ่านถูกฉีกออกไปเป็นหน้าๆ เป็นเรื่องที่นักเรียนที่เป็นนักเข้าห้องสมุดจะพบเสมอ

วันนี้ ห้องสมุดยังอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่น่าจะต้องทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราว แต่คนไม่อ่านหนังสือหรืออ่านหนังสือน้อยนั้นเป็นเรื่องที่รู้กัน ดังนั้น จึงอาจอนุมานเอาก่อนได้ว่า เมื่อเทียบปริมาณจำนวนนักเรียนนักศึกษาและประชาชนมหาศาลแล้ว คนเข้าห้องสมุดน่าจะยังน้อยอยู่นั่นเอง

แต่ในสังคมที่สนับสนุนการอ่านและหมั่นบริการประชาชนของเขาอย่างมาก เช่น สวีเดนนั้น ห้องสมุดของเขาเดินทางไปหาคนอ่าน โครงการเรือห้องสมุดของเขาดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2496 ไม่ว่าเกาะแก่งที่ไหนที่มีคนอยู่เรือห้องสมุดจะบรรทุกหนังสือไปหา นักอ่านก็นำหนังสือที่ยืมไว้ครั้งก่อนมาคืนแล้วยืมหนังสือใหม่ไป ทั้งอยากจะอ่านหนังสือเล่มไหนประเภทใด ก็เสนอบรรณารักษ์ประจำเรือได้อีกต่างหาก-เยี่ยมมม

ส่วนที่ชิคาโก สหรัฐนั้น ห้องสมุดปรับตัวไปตามสภาพพฤติกรรมผู้คน ซึ่งเดี๋ยวนี้หาอ่านอะไรได้ง่ายจากมือถือเครื่องเดียว กระทั่งหนังสือเล่มจากอี-บุ๊ก ที่มีให้เลือกมากเป็นร้อยเป็นพัน หรืออาจจะเป็นหมื่นเล่มโดยไม่ต้องเดินทางไปหา

บรรดาคุณแม่ส่วนมากมักต้องไปใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่วางเรียงติดกันจำนวนไม่น้อย ซึ่งกว่าจะรอซัก อบ ปั่นแห้ง แม่บ้านเหล่านั้นต้องปล่อยเวลาผ่านไปไม่น้อย ยิ่งต้องนำลูกเต้าติดสอยห้อยตามไปจะมีกิจกรรมอะไรทำระหว่างรอนำผ้าออกจากเครื่องกลับบ้านดี นอกจากคุยกันไปคุยกันมาสารพัดเรื่อง

เพราะปกติส่วนมากจะมีคนนำหนังสือไปอ่าน ผู้อำนวยการห้องสมุดสาธารณะชิคาโก แผนกหนังสือเด็กและเยาวชน “เอลิซาเบธ แมคเชสนีย์” จึงเกิดความคิดหอบหนังสือใส่รถลากไปยังร้านที่มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญทันที และจากการริเริ่มนั้นเอง ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญจึงกลายเป็นห้องสมุดสาธารณะจำเป็นไปอย่างเข้าท่าเข้าที จนเด็กหลายคนที่ตามแม่เอาผ้าไปซักถึงกับบอกว่ามาที่นี่ทุกวันเลยได้ไหม เพราะมีหนังสือถูกใจให้เด็กๆ อ่านได้เพลิดเพลินด้วย

ห้องสมุดวันนี้จึงกลายสภาพไปแล้ว ไม่ใช่สถานที่ขรึมขลังอย่างที่เข้าใจเอาเองแต่ก่อน แม้แต่ร้านอาหารใน กทม.บางแห่งก็เกิดความคิดเปิดร้านโดยมีหนังสือบริการผู้ดื่มกินด้วย นอกเหนือจากความคิดที่จะเปิดร้านดึกดื่นให้คนกลางคืนหรือคนขี้เหงาไปหาหนังสือเป็นเพื่อน

“ได้เลย คุณไม่ไปหาฉัน ฉันจะไปหาคุณเอง”

คนเกิดมาชอบอ่านหนังสือก็เพราะอาจมีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกสังคมจะมีเพียงคนเช่นที่ว่า สังคมอารยะจึงคิดฝึกสร้างผู้คนของเขา กล่อมเกลาผู้คนของเขาด้วยบริการที่ให้ความสะดวกแก่ผู้คนของเขาเติบโตขึ้นได้อย่างเปี่ยมสติปัญญาอยู่ตลอด

เป็นเรื่องที่คนคิดจะทำเพื่อคน ทำเพื่อบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะคนอื่นๆ ที่เป็นบุคลากรในสังคม ไม่ใช่แค่ว่าอยากมีหรือ เอาเลย สร้างให้แล้ว นี่ไง ไปสิ เท่านั้นก็พอแล้ว พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปตลอดเวลา เรามีงานที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสริมสร้างคุณภาพผู้คนซึ่งพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปใช่ไหม-แล้วทำไมจะไม่คิดทำล่ะ

เมืองในยุโรปหลายเมืองแทบจะมีห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์โน่นนี่เกือบทุกมุมถนน อยากจะสร้างกาสิโนหรือ สร้างเลย แต่ต้องสร้างสิ่งดีๆ ที่เมืองอารยะซึ่งมีกาสิโนทั้งหลายเขามีด้วย

“ทำได้ไหม”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image