21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 …สำรวจปัจจุบันขณะ ที่ชีวิตไม่ควรไม่รู้

ยุคสมัยแห่งความสับสน น่าจะเป็นนิยามหนึ่งที่เหมาะกับศตวรรษ 21 ที่เราๆ ท่านๆ กำลังใช้ชีวิตกันอยู่

ใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไม่ง่าย แค่เรื่องความจริงแท้ ความลวง ความดี ความเลว นี่ก็เถียงกันไม่จบไม่สิ้น โลกท่วมท้นไปด้วยข้อมูลมากมายมหาศาล มีโจทย์มากมายที่ถูกตั้งคำถามทั้งจากอดีตและอนาคต และหลายๆ โจทย์ก็ไร้คำตอบในปัจจุบัน

“ยูวัล โนอาห์ แฮรารี” นักประวัติศาสตร์หนุ่มที่กำลังมาแรง เจ้าของผลงานดังระดับโลกอย่าง “เซเปียนส์” (Sapiens: A Brief History of Humankind) ก็เป็นอีกคนที่พยายามจะหาคำตอบถอดรหัสการใช้ชีวิต ณ ปัจจุบันขณะ และมองข้ามไปถึงอนาคต ถ้าเซปียนส์คือการค้นหาและสำรวจอดีต “”21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21″” (21 Lessons for the 21st Century) ซึ่งแปลโดย “ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์” และ “ธิดา จงนิรามัยสถิต” ก็คือการสำรวจปัจจุบัน

ยูวัล เล่าถึงการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า เขาพยายามี่จะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่ชวนให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของโลกเรา แต่เขาก็ยอมรับว่ามันคงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่ได้เขียนเล่าในแนวประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นลักษณะของบทเรียนที่เขาคัดมา ซึ่งไม่มีการสรุปคำตอบใดๆ เพราะตั้งเป้าหมายให้พวกมันกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อยอด และทำให้คนอ่านได้มีส่วนร่วมกับบทสนทนาสำคัญๆ ของยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้ เป็นส่วนร่วมที่หยั่งลึกลงไปถึงความหมายของบทสนทนาแห่งยุคสมัย บนพื้นฐานวิธีคิดที่ว่า ความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรขึ้นกันแน่ เรื่องพวกนี้ต้องการจะบอกอะไรเรา?

Advertisement

บทสนทนาอย่าง การผงาดขึ้นของ “โดนัลด์ ทรัมป์” แสดงถึงนัยอะไร เราจะทำอะไรเกี่ยวกับการระบาดของข่าวลวงได้บ้าง ทำไมเสรีประชาธิปไตยถึงตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ยุโรปควรเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยไหม และเราจะทำยังไงกับการก่อการร้าย…หลายเรื่องใกล้ตัวมากๆ

ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกมาเป็น 21 บทเรียน แต่มีบางบทเรียนที่สะกิดใจเรามาก โดยเฉพาะเรื่องของ A.I. และ DATA

ยูวัลบอกว่า เราไม่มีแนวคิดเลยว่าตลาดแรงงานจะมีหน้าตาเป็นยังไงใน ค.ศ.2050 ท่ามกลางการเห็นพ้องกันว่าการเรียนรู้ของเครื่องจักรและวิทยาการหุ่นยนตร์ (roboctics) จะเปลี่ยนแปลงงานในแทบจะทุกรูปแบบ ตั้งแต่ทำโยเกิร์ตยันสอนโยคะ แต่ก็ยังมีมุมมองหลายอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงและอันตรายที่จวนตัวเข้ามา บ้างก็เชื่อว่าภายในเวลาแค่ 1-2 ทศวรรษ คนนับพันล้านจะกลายเป็น “ส่วนเกินทางเศรษฐศาสตร์” แต่อีกหลายคนก็มั่นใจว่า ในระยะยาวแล้ว ระบบพวกนี้สามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ และความมั่งคั่งเพิ่มเติมให้กับทุกคน

Advertisement

เรื่องของ A.I. เป็นความสนใจของทั่วโลกที่แฝงไปด้วยความแอบกลัวอยู่ลึกๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงโลกด้วย A.I.ว่าถึงที่สุดแล้ว มันจะนำพาทั้งชีวิตเราและโลกไปในทิศทางไหนกันแน่ มีการคาดเดาทั้งทางบวกและทางลบมากมาย การปฏิวัติ A.I. ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์โดดๆ แบบเหตุการณ์เดียว แต่จะมีลูกโซ่ดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ยูวัลมองว่าพอถึงปี 2050 ไม่เพียงแต่แนวคิดเรื่อง “งานสักอย่างชั่วชีวิต” จะเก่าจนตกยุคเท่านั้น แม้แต่แนวคิดเรื่อง “อาชีพเพียงอาชีพเดียวชั่วชีวิต” ก็อาจจะเก่าจนตกยุคเช่นกัน

ถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 สร้างสภาวะและปัญหาใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยมีอยู่เดิมในโมเดลทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และนำไปสู่การพัฒนาโมเดลใหม่เอี่ยมที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง อย่างเสรีนิยมประชาธิปไตย เผด็จการคอมมิวนิสต์ และฟาสซิสต์ และโลกใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษในการวุ่นวายทดสอบระบบต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด โลกในศตวรรษที่ 21 ก็คงต้องเตรียมใจกับการดิสรัปต์เป็นลูกโซ่ไว้เลย ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ต้องปรับและเผชิญหน้าขนาดไหน แต่ใครไม่ปรับ ไม่รอดแน่นอน

เรื่องผลกระทบจาก A.I. นี่เป็นประเด็นของโลกมากๆ มันมาพร้อมความตื่นเต้น ความแอ๊กทีฟ แต่ในขณะเดียวกันก็หวาดกลัวกับความเปลี่ยนแปลง และตั้งคำถามถึงระดับความต้องการ A.I. ในชีวิตของมนุษย์ Netflix มีการ์ตูนอยู่เรื่องหนึ่งคือ “Aggretsuko” ที่เล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของเร็ตสึโกะ สาวออฟฟิศแพนด้าแดงสุดน่ารัก ที่ปลดปล่อยชีวิตด้วยการร้องเพลงเฮฟวี่เมทัลในคาราโอเกะ ในภาค 2 มีตัวละครหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ทาดาโนะ เขาเป็นประธานบริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาระบบ A.I. อาทิ การคำนวณหาบริษัทที่น่าลงทุนด้วย การดึง DATA จากโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม การขับรถแทนมนุษย์ ทาดาโนะมีความฝันที่จะปลดแอกมนุษยชาติจากการทำงานแบบใช้แรงงาน นั่นคือสาเหตุที่เขาพัฒนาเอไออัจฉริยะขึ้นมา

การ์ตูนจากญี่ปุ่นเรื่องนี้ปฏิเสธ A.I. อย่างจริงจัง แม้จะยอมรับว่ามีประโยชน์ แต่ก็มองว่าเป็นโทษกับมนุษย์เช่นกัน … เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งคำถาม ความตระหนก และความขัดแย้งอย่างสับสน แม้กระทั่งในการ์ตูน

นี่แค่บทเรียนเดียว ยังมี 20 บทเรียนที่ยูวัลถอดรหัสมาชวนให้คิดกัน

“ในวันที่วิปรัฐบาลไทยไอเดียบรรเจิดมาก แจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ยี่ห้อธานินทร์แบบใส่ถ่าน วางตามจุดบอดสัญญาณในพื้นที่รอบห้องประชุมสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ จะได้ไม่พลาดฟังการประชุมสภา”

 

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image