คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : อ่านแล้วบอกต่อ

อีกสักเล่มเถอะนะ

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอยากแนะนำ หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตจาก “ศิลปวัฒนธรรม” เช่นเคย

หนังสือชื่อว่า “Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ”

หนังสือเล่มนี้มี พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นบรรณาธิการ

Advertisement

มีบทความจากผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาอยุธยาเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีอยู่ในเล่มหลายเรื่อง

อาทิ เรื่อง “ชีวประวัติของพระราชวังหลวงจากหลักฐานโบราณคดี” โดย นรุตม์ โล้กูลประกิจ

บทความเรื่อง “ร่องรอยพระราชวังหลวงสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ความก้าวหน้าของงานโบราณคดีวัดพระศรีสรรเพชรญ์”

Advertisement

เขียนโดย ศุทธิภพ จันทราภาขจี

เรื่อง “เครื่องปั้นดินเผาในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา” มี “ปริวรรต ธรรมาปรีชากร” เป็นผู้เขียน

มีเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราธิราช ความขัดแย้งทางอำนาจและความคลาดเคลื่อนของหลักฐาน” โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

เรื่อง “โบราณคดีสงคราม:สร้างป้อมแปลงเมือง ปริมณฑลแห่งอำนาจในสมัยสมเด็จพระนารายณ์”

มี พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เป็นผู้เขียน

เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่นิยมประวัติศาสตร์ไทย และชื่นชอบกับพระนครศรีอยุธยาโดยเฉพาะ

อาณาจักรอยุธยาที่มีพระเจ้าอู่ทองตั้งราชธานีตั้งแต่ พ.ศ.1893 ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอยู่ยืนยาวมาถึง พ.ศ.2310

บนพื้นแผ่นดินแห่งนี้ ณ เวลานั้นมีเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องของคน สิ่งประดิษฐ์ของคน รวมไปถึงการปกครอง

เรื่องราวมากมายดังกล่าวสะท้อนออกมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

บ้างก็เป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการเขียน บ้างก็เป็นหลักฐานที่ฝังอยู่ใต้ดิน

บ้างเป็นถ้วยชาม บ้างเป็นอิฐและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ท่อส่งน้ำ วัด รวมไปถึงวัง

บ้างก็เป็นชั้นดิน!

ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือการนำเสนอหลักฐานที่แย้งกับหลักฐานเดิม

ที่ฮือฮากัน เมื่อสัปดาห์ก่อนก็คือข้อมูลที่ระบุว่าไม่พบชั้นดินยืนยันการเผาพระราชวังในห้วงเวลากรุงแตก

ย้อนอ่าน : ใครเผาอยุธยา ถ้า ‘พม่า’ ไม่ใช่คำตอบ? เปิดข้อมูลขุดค้น ไม่พบชั้นดิน ‘ไฟไหม้’ คราวกรุงแตก!

กลายเป็นข้อถกเถียงว่า แล้วพระราชวังอาณาจักรอยุธยาหายไปได้ยังไง

นอกจากนี้ ยังมีบทความเกี่ยวกับพระราชประวัติของ “เจ้านครอินทร์” ซึ่งไม่พบพระราชประวัติเมื่อครั้งทรงพระเยาว์

แม้กระทั่งว่า เจ้านครอินทร์ทรงเป็นพระราชนัดดาหรือเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว ก็น่าสนใจ

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่า เป็นพระราชนัดดา

แต่ภายหลังมีหลักฐานแย้งว่า พระองค์ไม่ได้เป็นหลานแต่เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เป็นการบ้านของผู้รู้ต้องค้นคว้าต่อไป

รวมไปถึงข้อมูลที่ว่า เจ้านครอินทร์ได้ขึ้นครองอยุธยาเมื่อไหร่

ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยาตอนพระชนมายุ 70 พรรษา จริงหรือไม่

สำหรับพระราชประวัติของเจ้านครอินทร์นั้น จำได้ว่า เจ้านครอินทร์ตอนหนุ่ม เคยไปเมืองจีนมาแล้ว

เรื่องราวเจ้านครอินทร์น่าสนใจ น่าศึกษาหามาเพิ่มเติม

การที่หนังสือเล่มนี้เสนอพระราชประวัติ และนำข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านครอินทร์มาเปิดเผยจึงน่าอ่าน

บทความที่หนังสือเล่มนี้คัดมา ล้วนมาจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถเรียงร้อยอธิบายความอาณาจักรอยุธยาในมิติที่มีสีสัน

เริ่มตั้งแต่การตั้งราชธานี การสร้างพระราชวัง การเปลี่ยนพระราชวังไปเป็นวัด

กระทั่งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเผากรุงศรีอยุธยาเหมือนดั่งที่เกริ่นไปข้างต้น

หรือแม้แต่การนำเสนอผลการศึกษาชุมชนที่ไม่ได้อยู่บนเกาะอยุธยา

มีการศึกษาชุมชนย่านแม่น้ำอ้อมนนทบุรี และบางกอก ซึ่งก็คือกรุงเทพฯปัจจุบัน

แต่เป็นกรุงเทพฯในสมัยอยุธยาโน้น

การรวมเอาบทความต่างๆ ที่บ่งบอกความสำคัญแต่ละด้านของอยุธยามาไว้ในเล่มเดียวกัน

ทำให้การอ่านได้รับอรรถรสของอยุธยาในมิติที่แตกต่าง

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ “อ่านแล้วอยากบอกต่อ”

อยากแนะนำให้อ่านกัน

เผื่อใครที่มีโอกาสได้อ่านแล้วชอบ จะได้ติดตามหนังสือและนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” เล่มต่อๆ ไป

เพราะเมืองไทยมีสิ่งที่น่ารู้อีกมากมาย แต่น่าแปลกที่คนไทยยังไม่ทราบอีกมาก

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ศึกษา มีโอกาสได้รับรู้ว่ามีหนังสือที่น่าเก็บไว้ในบ้านหรือเก็บไว้ในห้องสมุด

จึงต้องบอกต่อๆ กันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image