เปิดชีวิต ‘สุพจน์’ เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เคยช่วยแม่พับถุง ขายเสื้อยืด จ่ายดอกเดือนละ 4 แสน ก่อนสร้างอาณาจักรหลังยุคฟองสบู่

หนึ่งในร้านอาหารในตำนานของเมืองไทย ต้องมี ‘โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง’ อยู่ในลิสต์ลำดับต้นๆ ยืนหยัดในสถานการณ์หลังยุคภาวะเศรษฐกิจ ‘ฟองสบู่แตก’ ด้วยเงินลงทุน 40 ล้านบาทในการเปิดโรงเบียร์จนประสบความสำเร็จจากการปลุกปั้นอย่างทุ่มเทของ ‘สุพจน์ ธีระวัฒนชัย’ จากก้าวแรกเมื่อ พ.ศ.2542 มาถึงวันนี้ ครบ 20 ปีพอดี

แต่ใครจะรู้ว่า ชีวิตของผู้ชายคนนี้ฝ่าฟันมรสุมสารพัด ตั้งแต่วัยเด็ก โดยช่วยแม่เปิดแผงลอยหน้าบ้าน และช่วยทำกิจการเสื้อยืด และบาดเจ็บจากการทำธุรกิจเสื้อผ้าของตัวเอง ก่อนจะเดิมพันหมดหน้าตักกับอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

ย้อนกลับไปในอดีต ราว 40 กว่าปีก่อน สุพจน์ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในตลาดสดศรีวรจักร ในยุคที่ทองคำบาทละ 400 กว่าๆ เป็นลูกชายคนโต มีพี่น้องรวม 5 คน พ่อมีอาชีพปั๊มโลหะ แม่ค้าขายขนมหวาน

“ผมจำได้ว่าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเลิศปัญญา ความจนมันเหมือนแส้ที่คอยเฆี่ยนตีหลังเราตลอดเวลา ทำให้ผมตั้งหัดค้าขายตั้งแต่เด็กๆ เพื่อหาเงิน พอเลิกเรียนเสร็จก้มาช่วยแม่ขายขนม แม่ตั้งโต๊ะขายหน้าบ้าน ขนมถ้วยละ 1 สลึง”

Advertisement

“เราจะใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้ กลางคืนหลังอาหารมื้อเย็น ถ้าจะกินก๋วยเตี๋ยวห่อละ 2 บาทต้องคิดหนัก อาหารแถวนั้นอร่อยมาก ราดหน้าหรือผัดไทยห่อด้วยใบตองห่อละ 6 สลึง ต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆถึงจะได้กิน”

คือถ้อยความจากปากของสุพจน์ ปรากฏในหนังสือ ‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ เขียนโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

Advertisement

หนังสือเล่มดังกล่าว ยังเปิดเผยชีวิตอันน่าทึ่งของสุพจน์ผู้ต่อสู้กับความยากจนทุกวิถีทาง และการต่อสู้นี้เองทำให้เขามีความเป็น ‘ผู้นำ’ ตั้งแต่ยังเด็ก

เมื่อเรียนชั้น ป.5 ก็ช่วยแม่พับถุงกระดาษขายแม่ค้าในตลาด ช่วยแม่หิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาด เลือกซื้ออาหารสด โดยไม่รู้ตัวเลยว่า วันหนึ่งจะได้เป็นเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารใหญ่

พ.ศ.2518 พ่อแม่แยกทาง สุพจน์อยู่กับแม่ซึ่งเริ่มทำกิจการเสื้อยืด กระทั่งต่อมาสามารถขายส่งที่ตลาดโบ๊เบ๊

ครั้นเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเด็กกิจกรรม สังกัดคณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าทำให้เขาฝึกการบริหารจัดการ และเข้าใจการทำงานแบบกลุ่ม เรียนรู้ในการไม่ยอมจำนนต่อความไม่ถูกต้อง เมื่อเรียนจบ สร้างแบรนด์เสื้อยืดที่ฮิตมากเมื่อ 30 ก่อนคือ ‘แยมแอนด์ยิม’ หลังประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจึงขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร สุดท้ายถึงทางตัน มีอายุได้ 2 ปีก็ต้องปิดตัว วันที่ปิดโรงงาน เป็นหนี้มูลค่า 29.8 ล้าน

นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของชีวิต

สุพจน์ใช้เวลา 3 ปีเคลียร์หนี้ด้วยการขายทรัพย์สิน และที่ดิน เขาบอกว่าสิ่งที่จะจำจนวันตายคือ ‘ดอกเบี้ย’ ซึ่งเป็นความทุกข์สาหัส

“ตอนนั้นผู้กู้ธนาคารจะถูกคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากเป็นตลาดมืดร้อยละ 2 ต่อเดือน หาเงินมามากขนาดไหนก็จ่ายแค่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบจะไม่ลด ตอนนั้นผมต้องหาเงินมาจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 4 แสนกว่าบาท ต้องเรียนรู้ที่จะหยุดดอกเบี้ยให้ได้ และโชคดีที่มีญาติคนหนึ่งยินดีให้ยืมเงินก้อนมาโปะเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูงๆก่อน จนสามารถเคลียร์หนี้สินได้หมดภายใน 3 ปี”

ตัดฉากมาที่ความคิดจะสร้างโรงเบียร์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้ดื่มเบียร์สด แล้วลงมือค้นคว้าข้อมูลด้านต่างๆอย่างทุ่มเท กระทั่งตัดสินใจลงทุนโดยเริ่มต้นต้องหาทุน 40 ล้าน ในยุคที่ธนาคารแทบไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะเพิ่งผ่านยุคฟองสบู่แตก สุดท้ายใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี 3 ล้าน เงินสด 1 ล้านที่มีอยู่ หยิบยืมเพื่อน แม้กระทั่งเงินที่ตัวเองกับภรรยาสะสมไว้ออกมาใช้

วัดใจ สร้างร้านอาหาร 1,000 ที่นั่ง

“ในตอนแรกก็คิดกันง่ายๆว่า ผมกับพี่เสถียร (เสถียร เศรษฐสิทธิ์) หากันมาคนละครึ่ง ปัญหาทางด้านผมคือจะเอาเงิน 20 ล้านบาทมาจากไหน ผมเริ่มจากทำรายชื่อเพื่อนๆที่คิดว่าพอจะหยิบยืมเงินมาได้….”

“…เราเชื่อเสมอว่าในวิกฤตมีโอกาส ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกอย่างย่ำแย่ไปหมด แต่ผมเชื่อว่าคนไทยเป็นชนชาติที่กินข้าวนอกบ้านเยอะที่สุด ผมเชื่อด้วยว่าถ้าผมตั้งใจ จะทำได้ดี ผมจะทำเบียร์ที่อร่อยให้ทุกคนดื่ม ผมจะปรุงอาหารที่อร่อยให้ทุกคนกิน ผมเชื่อว่าพวกผมมีเนื้อแท้”

วันนี้ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ยืนยงมาถึง 20 ปี ทั้ง 3 สาขา มีพื้นที่ให้บริการลูกค้ากว่า 5,000 ที่นั่ง มีพนักงานเกือบ 1,000 คน เคยต้องผลิตและให้บริการอาหารสูงสุดถึง 3,327 จานต่อวัน (ข้อมูลปี 2561) ในวันที่ลูกค้ามากที่สุด

อ่านเนื้อหาสุดเข้มข้นทั้งหมดได้ในหนังสือ ‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ เขียนโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

เปิดเส้นทางชีวิต สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เจาะกลยุทธ์สร้างสรรค์อาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จากก้าวแรกถึงความสำเร็จ 2 ทศวรรษ พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2562 โดย สำนักพิมพ์มติชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image