‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ จากประสบการณ์ สู่ ตำนาน 20 ปี โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่โรงเบียร์เยอมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ โรงเบียร์ตะวันแดง จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” โดยมี นายสุพจน์ ธีรวัฒนชัย เจ้าของอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้เขียน และ  อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ แขกรับเชิญพิเศษ ร่วมเสวนา โดยมี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ดำเนินรายการ

นายสุพจน์กล่าวว่า กว่าจะมาเป็นโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ตนต้องผ่านภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตจากการเริ่มค้าขายตั้งแต่ ป.3 ประกอบกับประสบการณ์ทำกิจกรรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และยุคนั้นเป็นสังคมที่พ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษาสูง และ ครอบครัวนิยมมีลูกมาก ไม่ได้ร่ำรวย จึงต้องขวนขวายด้วยตัวเอง

“เราไม่ได้กอดเงินถุงเงินถัง พ่อทำงานปั๊มโลหะ แม่ทำขนมขาย แต่แม่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก อะไรทำเงินได้อย่างสุจริตแม่จะทำ ด้วยความเป็นลูกชายคนโตก็ทนไม่ได้ ถ้าไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ อย่างที่เขียนในหนังสือ ผมเริ่มจากตั้งแผงขายขนมหน้าบ้าน ความจริงเริ่มจากน้ำอัดแก๊สเป็นขวด ตราสิงห์เกาะลูกโลก จากนั้นและขยายตัวไปเรื่อยๆ อาศัยตลาดสดที่มีแม่ค้า เพื่อนบ้าน อุดหนุน ลองผิดลองถูก ตั้งแต่ 10 ขวบ เพราะความยากจนเฆี่ยนตีเราตลอดเวลา”

Advertisement

“ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ 2542 หลังใช้หนี้เสร็จ จุดตัดสินใจคือได้ที่ดินที่พระราม 3 แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ก็ลิสต์รายชื่อว่าจะยืมใครได้บ้าง ร่วมกับหุ้นส่วนอีกหนึ่งคน คนละ 20 ล้าน เปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง”

นายสุพจน์ ธีรวัฒนชัย เจ้าของอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

นายสุพจน์เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเป็นหนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” ช่วง 3 ปีแรกของการเปิดโรงเบียร์ มีหลายสำนักพิมพ์มาขอสัมภาษณ์เพื่อทำพ็อกเก็ตบุก แต่ตนปฏิเสธเนื่องจากยังไม่มีองค์ความรู้มากพอ หลังจากงานครบรอบ 19 ปีของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง มีการประชุมสตาฟและถอดบทเรียน ก็เห็นว่าในวาระครบรอบ 20 ปีนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเขียนหนังสือ ด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และตระหนักดีว่าหนังสือจะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน จึงติดต่อไปยัง วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รุ่นพี่ชุมนุมศิลปการแสดง ของ ม.ธรรมศาสตร์

Advertisement

นายสุพจน์กล่าวอีกว่า เดินมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่คิดว่าชีวิตจะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ตีพิมพ์เป็นเล่มและขายได้ แต่เมื่อมาถึงวันนี้สิ่งที่ตนอยากทำ ได้ทำและตั้งใจทำอย่างดียิ่ง สำหรับคนที่จะทำร้านอาหาร อยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะสมัยนี้คนคิดอะไรไม่ออกก็เปิดร้านอาหาร ซึ่งไม่ง่าย แม้จะ 6-10 ที่นั่งก็ตาม ต้องคิดให้ดีก่อน แต่ถ้าคิดดีแล้ว หนังสือเล่มนี้จะทำให้น้ำที่ตกตะกอน นองก้น แยกสารออก โดยตนยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ว่าจุดอ่อนที่สุดอยู่ตรงไหน หนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” แม้จะเป็นแค่ผงธุลีเดียว แต่เชื่อว่าจะทิ้งอะไรไว้ให้สังคมไทย

 

ด้านนายวันชัยกล่าวว่า สุพจน์มีนิสัยพ่อค้าตั้งแต่เด็ก เป็นคนมีรายละเอียดเยอะ ช่างสังเกต และคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เมื่อโตขึ้นสุพจน์อยากเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง โดยมีคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดี

“คุณแม่ของสุพจน์ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีข้าวกิน ช่วงหนึ่งเขาต้องพับถุงกระดาษขาย อะไรที่ได้ตังค์เอาหมด สุพจน์ได้จากแม่มามาก

 

นายวันชัยกล่าวว่า ปกติโรงเบียร์ขนาดใหญ่จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ที่นี่ 20 ปี และขยายเป็น 3 สาขา เขา มีหัวใจสำคัญ คือ 1.เบียร์สด ราคาไม่แพง 2.อาหารอร่อยและออกเร็ว คือให้ความสำคัญกับงานบริหารสูงมาก และ 3.การแสดง

 

“เริ่มแรกเป็นการโชว์ธรรมดา แต่สุดท้ายสุพจน์มีแนวคิดต้องการให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส อยากให้ลูกค้ามาพักผ่อนดูอะไรที่แปลก ความแตกต่างคือสิ่งที่สุพจน์กล้าลงทุน

แม้จะเป็นคนละเอียด แต่สุดท้ายเป็นเรื่องของ เซนส์ ที่มีความเชื่อว่ามันจะค่อยๆ ดีขึ้น คนที่เจ็บหนักเยอะจะรู้ช่องว่างบางอย่าง”

นายวันชัยเปิดเผยว่า ตอนแรกสุพจน์จะเขียนเรื่องโรงเบียร์ ตนจึงถามว่าเป็น ฮาวทู หรือเป็นเรื่องชีวิต และจะขาย หรือ แจก เพราะทุกวันนี้มีคนเขียนหนังสือ ฮาวทูมาก อัตชีวประวัติก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่เอาไว้แจก จึงไม่แนะนำฮาวทูเพราะไม่มีรสชาติ เปิดกูเกิลก็มี แต่ชีวิตของสุพจน์โชกเลือดและน่าสนใจ ถ้าเอาชีวิตมารวมกับการบริหารธุรกิจ ก็น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์

 

“ความจนเหมือนแส้บางๆ ที่คอยเฆี่ยนตีผม ส่วนตัวชอบชื่อนี้ ต้องชื่อนี้ คนจะได้เข้าใจตัวตนของสุพจน์ หนังสือที่ดีควรขาย ไม่ควรแจก คนที่เกษียณ อยากมีหนังสือฝากลูกหลาน แต่ชีวิตสุพจน์มีคุณค่ากว่านั้น หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วจะรู้จักวิธีการบริหาร และอะไรอีกมาก เพราะสุพจน์ผ่านมาหมด รวมทั้งเคล็ดวิชาที่ไม่เคยบอกใคร แต่อยู่ในหนังสือเล่มนี้

อ.วิโรจน์กล่าวว่าเสน่ห์ของสุพจน์คือ เขาเอาอยู่ ของแบบนี้สอนกันไม่ได้ แต่มีอยู่ในดีเอ็นเอของเขา

“เมื่อได้รับคำเชิญให้เขียนคำนำ ก็ค้านในใจ สุพจน์ไม่ต้องการเซเล็บมาการ์รันตี เพราะตัวเขาคือดาวฤกษ์ที่ไม่ต้องการพระจันทร์หรือพระอาทิตย์มาส่อง”

“การก่อตั้งธุรกิจยากแสนยาก แต่การคงไว้ยากยิ่งกว่า ไม่มีใครอวยพรให้ใครได้ เหมือนความสุขที่เซเว่นไม่มีขาย อยู่ที่เราทำออกมาเอง เบื้องหลัง คือ สุพจน์เป็นลูกผู้ชาย และเป็นคนที่มี Human right ปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงมนุษย์ จึงเป็นเหตุผลที่พนักงาน 1,000 คนอยู่กับเขาได้ถึง 20 ปี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image