เดินไปในเงาฝัน : แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่พ่ายแพ้ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ฟ้าแลบแปล๊บเดียวก็ถึงวันสุดท้ายของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกในการมาจัดงานสถานที่แห่งใหม่บริเวณอิมแพค ชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี

แต่เชื่อแน่ว่าหลายสำนักพิมพ์คงยังไม่ถอดใจนะครับ

แม้ผู้คนจะไม่มากมายดั่งที่หลายคนคาดเดา

แต่กระนั้น ในมุมมองของ “คนอ่าน” ก็ต้องชมเชยทุกๆ สำนักพิมพ์ที่อุตส่าห์พิมพ์งานดีๆ ออกมาให้เหล่าบรรดาหนอนหนังสือกินแทะกันอย่างสนุกสนาน

Advertisement

โดยเฉพาะกับบางเล่ม บางสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานดีๆ ออกสู่สาธารณะ

สำหรับสำนักพิมพ์มติชน ปีนี้ต้องถือเป็นอีกหนึ่งปีที่พิมพ์งานดีๆ ออกมาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งผมแนะนำไปบ้างแล้วใน 2 สัปดาห์ผ่านมา แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ผมอยากแนะนำหนังสือที่เหลืออีกสัก 3-4 เล่ม อาทิ

พระเสด็จโดยแดนชล : เรือพระราชพิธี และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ เป็นผู้เขียน ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของสำนักพิมพ์มติชน เพราะทีมงานตั้งใจจัดทำอย่างประณีต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา การออกแบบรูปเล่ม ไปจนถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของขบวนเรือพระราชพิธีบรรพโบราณ

Advertisement

“รศ.ดร.ศานติ” กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ในคำนำบอกว่า…เรือพระราชพิธีเป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยใช้สำหรับการเสด็จฯชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น การพระราชสงคราม การเสด็จพระราชดำเนิน และการประกอบพระราชพิธีในสมัยโบราณ

“ส่วนขบวนพยุหยาตราชลมารค หรือที่เอกสารโบราณเรียกว่ากระบวนพยุหยาตราชลมารค อันหมายถึงขบวนแห่เสด็จฯทางน้ำด้วยเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของการยาตรากระบวนทัพเรือในสมัยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หรือในบันทึกของชาวตะวันตก รวมทั้งสมุดภาพจิตรกรรมขบวนพยุหยาตราเพชรพวงชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

กล่าวกันว่า รูปแบบขบวนเรือแบบนี้ต่อมากลายเป็นต้นแบบที่ใช้สืบเนื่องกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการตามความเหมาะสมของแต่ละยุคสมัยก็ตาม

แต่ยังมีการสืบสานพระราชพิธีมาจนถึงปัจจุบัน

ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น

สำหรับเล่มถัดมาคือ “รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์สยาม-เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ” ซึ่งมี สุเจน กรรพฤทธิ์ เป็นผู้เขียน

หนังสือเล่มนี้ต้องการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามในช่วงธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ อันเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามอานามสยามยุทธ

ดังนั้น ผู้อ่านไม่เพียงจะเห็นบริบทความสัมพันธ์ และที่มาที่ไปของสงครามระหว่างสยามและเวียดนาม หากยังใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นที่ทำให้เรามองเวียดนามเพื่อเปิดมุมมองประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ด้วย

สำคัญไปกว่านั้น ยังทำให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ มองเห็นการแก้เกมของสยามประเทศ ด้วยการหันไปหากลุ่มประเทศทางด้านตะวันออกอย่างกัมพูชา และลาวแทน

ทั้งนั้นเพื่อต้องการถ่วงดุลอำนาจกับเวียดนาม

โดยมีตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และองเชียงสือ

ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีก 1 เล่มที่มิควรพลาดอย่างยิ่ง

ส่วนเล่มต่อมาคือ “โลกสามศูนย์” หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ “A World of Three Zeros” ซึ่งมีผู้เขียนคือ มูฮัมหมัด ยูนุส ส่วนผู้แปลคือ ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

หนังสือเล่มนี้ต้องการอธิบายถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และมลภาวะ อันเป็นโจทย์สำคัญต่อความท้าทายของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 บางทีอาจเป็นศตวรรษสุดท้ายของทุกคน หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

ดังนั้น การใช้กำลังเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาระบบนิเวศอาจไม่ใช่ทางออก ขณะที่การรอคอยให้ระบบทุนนิยมเปลี่ยนแปลงตัวเองก็อาจจะช้าเกินไป

“มูฮัมหมัด ยูนุส” บอกว่า ทางออกสำคัญของเรื่องนี้ จึงต้องผ่านการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่ได้เน้นการสั่งสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล หรือการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด

แต่เขากลับบอกให้หันมามอง “ธุรกิจเชิงสังคม” เพราะธุรกิจประเภทนี้จะไม่เน้นความร่ำรวย และความโลภจนเกินขอบเขต แต่จะเน้นการสร้างโลกของคนยากจนให้กลายเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะจะต้องเป็นศูนย์ด้วย

ผมไม่รู้ว่าผู้นำโลกใบนี้สักกี่ประเทศจะฟังสิ่งที่เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพพูดบ้าง

แต่เท่าที่เห็นสภาพของโลกปัจจุบัน ผมว่าสิ่งที่“มูฮัมหมัด ยูนุส” พูดออกมา ผู้นำประเทศต่างๆ ควรจะเงี่ยหูฟังบ้าง

ดังนั้น ถ้าใครสนใจในสิ่งที่ “มูฮัมหมัด ยูนุส” พูด ควรต้องหามาอ่านอย่างยิ่ง
ขณะที่เล่มสุดท้ายเป็นชุดซีรีส์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ อันดับที่ 31 มีชื่อเรื่องว่า “แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่พ่ายแพ้” ซึ่งมี หนุ่มเมืองจันท์ เป็นผู้เขียน
หนังสือเล่มนี้ “หนุ่มเมืองจันท์” ต้องการอธิบายถึงการเดินทางของชีวิต ที่ไม่ว่าจะพ่ายแพ้ หรือผิดหวังใดๆ ก็ตาม ก็สามารถเริ่มต้นได้เสมอ

คล้ายกับพระอาทิตย์

ที่มีขึ้นและตก

“หนุ่ม” บอกว่าชีวิตคือการวิ่งมาราธอนที่ไม่มีเส้นชัย
ไม่มีชนะ
ไม่มีพ่ายแพ้

มีแต่การเปลี่ยนแปลง และเริ่มต้นใหม่
ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเราชนะ หรือพ่ายแพ้

เพราะเขากำหนดเส้นชัยให้กับชีวิต และชอบมองย้อนกลับไปในอดีต

อกหักคือพ่ายแพ้
ถูกเลิกจ้างคือพ่ายแพ้
ธุรกิจเจ๊งคือพ่ายแพ้

แต่ถ้าเปลี่ยนมุมคิดใหม่…อกหัก, ถูกเลิกจ้าง, เจ๊ง ก็แค่ความเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ดังนั้น “แค่เริ่มต้นใหม่ จึงไม่ใช่ความพ่ายแพ้” อันเป็นคำกล่าวของ “หนุ่มเมืองจันท์”

ฉะนั้น ใครที่ชื่นชอบหนังสือสไตล์นี้ และชอบนักเขียนคนนี้ ลองแวะไปที่บูธสำนักพิมพ์มติชน T 06 โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ 13.00-14.30 น.

“หนุ่มเมืองจันท์” รอแจกลายเซ็นอยู่ที่นี่

อย่าลืมแวะไปนะครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image