เปิดมุมมองประชาธิปไตย ของไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

เอ่ยชื่อของ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม คงแทบไม่มีใครที่จะไม่รู้จักเขาอีกแล้ว ในฐานะของนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง ที่แม้จะสอบตกในการลงสนามการเมืองสมัยแรก แต่สปอตไลท์ความสนใจของสังคมก็ยังคงฉายชัดไปที่อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนนี้อย่างสม่ำเสมอ

“ประชาธิปไตยมีดีอะไร-Why so democracy” คือผลงานหนังสือเล่มแรกของพริษฐ์ ที่เปิดทุกมุมมองของเขาต่อประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ในวันเปิดตัวหนังสือ หลายมุมคิดของเขาน่าสนใจไม่น้อย จนอยากชวนให้ไปอ่านเล่มนี้กัน เพราะผู้ชายคนนี้ คงไม่หยุดอยู่เพียงแค่สถานะของอดีตผู้สมัครสส.อย่างแน่นอน

พริษฐ์เล่าในงานเสวนาว่า เมื่อเอ่ยถึงประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันแล้วนั้น เขาเปรียบเหมือนกับทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะนอกจากจะอยู่ที่กลางๆ ตารางเมื่อมีการเปรียบเทียบการจัดอันดับจากทั่วโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงมากๆ คือการ “เคยทำได้ดีกว่านี้” และเมื่อต้องพูดถึงระบอบประชาธิปไตย เขาขอแบ่งออกเป็น 2 มิติ คือเรื่องของระบบ และเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งขณะที่สิ่งหนึ่งอยู่ระหว่างการถดถอย อีกสิ่งหนึ่งกลับกำลังตื่นตัว ไม่ต่างกับการเล่มเกมชักเย่อ

“เราเคยทำได้ดีกว่านี้ สมัยก่อนถ้าเทียบกับ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ปรับตัวเข้ามาใช้ระบบประชาธิปไตย แต่ว่าปัจจุบันในการจัดตารางเนี่ย ประเทศไทยผมว่าอันดับอยู่ที่ 5 หรือ 6 ใน 10 ประเทศอาเซียน ปัจจุบันเราถดถอยมาเรื่อยๆ อยู่ที่กลางตาราง

Advertisement

เวลาพูดถึงประชาธิปไตย ผมจะแบ่งออกเป็น 2 มิติ มิติแรกคือเรื่องของระบบ นั่นหมายความว่า กฎกติกาที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน และอีกด้านหนึ่งคือด้านของวัฒนธรรม นั่นหมายความว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกเขียนอย่างไร ประชาชนทั่วไปในแต่ละมิติ เข้าใจประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เคารพความแตกต่าง เชื่อมั่น ศรัทธาในประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

ถ้าพูดถึงในระบบ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันค่อนข้างอยู่ในสภาวะที่ถดถอย เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีหลายๆปัญหาที่ผมคิดว่าสังคมเริ่มตั้งคำถาม ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีระบบบัตรใบเดียว ที่ทำให้คนถูกบังคับว่าต้องเลือก ส.ส.เขต กับพรรคการเมืองที่ชอบจากพรรคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ก็มีคนตั้งคำถามเยอะว่าทำไมได้คะเเนนน้อย แต่กลับมีส.ส.เพิ่มขึ้น แต่ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นรายละเอียดที่มันถกเถียงกันได้ ควรจะเป็นบัตรใบเดียวบัตรสองใบ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดต่อระบบปัจจุบันที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย คือเรื่องของวุฒิสภา

Advertisement

ผมคิดว่าไม่ว่าพวกคุณจะนิยามประชาธิปไตยว่ายังไง ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าระบบประชาธิปไตยคือระบบที่เคารพ 1สิทธิ์ 1 เสียง นั่นหมายความว่าประชาชนทุกคน มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดทิศทางของประเทศ แต่ปัจจุบันในเชิงคณิตศาสตร์ ตรงนั้นมันไม่จริง ผมเชื่อว่าทุกคนในที่นี้ 30-40 ล้านคน ลงไปกาบัตรเลือกตั้งวันที่ 24 มีนา ได้มาซึ่ง 500 ส.ส. 30-40 ล้านเสียง แปรรูปมาเป็น 500 ส.ส. ที่มาเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีอีก 250 ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดย 10 คน คณะกรรมการแค่10 คน ที่เข้ามามีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน อันนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการเมืองที่ชัดเจนมาก ว่าถ้าคุณเป็นประชาชนธรรมดาคนนึง เมือเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในคณะกรรมการคัดสรร ส.ว. สิทธิของคุณไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นในเชิงระบบ ผมคิดว่าเป็นอะไรที่เป็นอุปสรรคมาก แล้วก็เป็นข้อจำกัดในเชิงระบบที่เราไม่เคยมีมาก่อน

แต่ถ้าตัดภาพมาที่วัฒนธรรม ผมกลับรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรากำลังทำได้ดีขึ้นนะครับ สมัยก่อนต้องยอมรับว่า บางทีผมพูดคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันตอนอยู่มหาวิทยาลัย ไม่มีใครอยากคุยการเมืองกับผมเลยครับ แต่ว่าปัจจุบันผมไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยเนี่ย ผมเห็นนักศึกษานั่งล้อมวงกันดูประชุมสภาบ้าง ดูการอภิปรายฟังเรื่องนายกรัฐมนตรีบ้าง เพราะฉะนั้นเราเห็นว่าความตื่นตัวในเรื่องของการเมืองมีมากขึ้น และผมก็รู้สึกว่า เราก็เริ่มเห็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย การเคารพความแตกต่าง การแลกเปลี่ยน การเเสดงความคิดเห็นมันถูกซึมซับไปในหลายๆ มิติของสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตามบริษัทเอกชน ตามโรงเรียน ตามสถานที่ต่างๆ

เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับกำลังเล่นเกมชักเย่อ ที่ระบบพยายามจะดึงเราให้ไปข้างหลัง แต่สังคมวัฒนธรรมพยายามจะดึงเราให้ไปข้างหน้า

ผมแค่กังวล เพราะผมไม่อยากให้ในวันที่เชือกมันขาด แล้วต้องมีการสูญเสีย” พริษฐ์อธิบาย

พริษฐ์ยังเอ่ยอีกด้วยว่า นอกจากการเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งแล้วนั้น เขาจะพูดเสมอว่า ประเทศไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าเราไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และถึงแม้เราจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว ประเทศก็อาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย

“ถ้าคนจากภูมิภาคหนึ่งมีจำนวนประชากรมากว่า 50 ล้านคน เราก็โหวตได้ใช่ไหมว่าจะโอนงบประมาณทุกอย่างกับภูมิภาคนั้น ก็ไม่ได้นะครับ แสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วนอกเหนือจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว มันต้องมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล สิทธิเสรีภาพมีอะไรบ้าง สิทธิในการมีชีวิตที่ปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็น หมายความว่า 99 เปอร์เซ็นต์คนจะโหวตอะไรก็ตาม เขาไม่สามารถเข้ามาคุกคามสิทธิส่วนน้อยตรงนี้ได้ อันนี้ผมคิดว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากของประชาธิปไตย คือเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล”

เมื่อถามถึงหน้าตาของประชาธิปไตยในอนาคต พริษฐ์ก็มองว่ามีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี โดยการใช้แพลตฟอร์มมาขับเคลื่อน ซึ่งมีเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เป็นความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ คือประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy)

“ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร 3 ปี นำไปสู่บางคำถามที่มากกว่าแค่มาโหวตว่า ใช่หรือไม่ใช่ เลยมีความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล เรียกว่า liquid democracy หลักๆ คือเขาเริ่มต้นจากสมมุติฐานก่อนว่าเรามีประชาธิปไตยโดยตรง นั่นหมายความว่าทุกคนมีสิทธิเลือกทุกประเด็นก่อน แต่ว่าถ้ามีประเด็นไหน ที่เราไม่มั่นใจ เราไม่มีเวลาศึกษา เราก็สามารถโอนสิทธิของเราไปให้คนอื่นได้ โดยแยกได้ว่า สิทธิในการโหวตเรื่องเศรษฐกิจ เราโอนให้คนนี้ สิทธิในการโหวตเรื่องสิ่งแวดล้อม เราโอนให้คนนี้ ถ้าผ่านไปสิบวันเขาทำหน้าที่ได้แบบที่เราไม่พอใจ เราดึงสิทธิ์กลับมาได้ อันนี้คือความหมายของคำว่าลื่นไหล การโอนสิทธิ์ในแต่ละเรื่องเปรียบเสมือนกับว่าเรามี ส.ส. เฉพาะประเด็น นี้คือรูปแบบใหม่ของประชาธิปไตย

สมัยก่อนพูดเรื่องนี้คนจะหัวเราะนะครับ เป็นไปได้ไงคุณจะออกแบบระบบแบบนี้ เอาแค่ให้กกต.รับรองผลเลือกตั้งยังใช้เวลาหลายเดือนเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นไปได้ปัจจุบัน คือเรื่องของเทคโนโลยี และเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่สามารถให้คนโอนสิทธิ์ไปมาได้ เกิดขึ้นแล้วนะครับ เข้าใจว่ามีในหลายประเทศในยุโรปแล้ว ที่เริ่มทดลองนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมา”

สำหรับพริษฐ์แล้ว เขามองว่าในศตวรรษนี้ สังคมที่จะก้าวหน้า ประธิปไตยต้องเป็นเหมือนออกซิเจนที่ขาดไม่ได้ และควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอื่นๆ ด้วย

“ควรจะซึมซับทุกมิติของสังคม ผมคิดว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่พยายามจะแก้ นอกจากประชาธิปไตยหรือความเหลื่อมล้ำ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การลดมลพิษ ลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์

การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ต้องควบคู่กับการหาคำตอบด้านอื่นของสังคมด้วย”

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image