ตู้หนังสือ : เข้าใจไทยร่วมสมัยวันนี้ ต้องเริ่มที่ครึ่งศตวรรษก่อน

ที่จริงจะขีดเส้นเป๊ะๆ ลงไปทีเดียวว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ตรงนัก ต้องพูดว่าเริ่มที่ครึ่งศตวรรษของศตวรรษที่แล้ว คือเริ่มที่ทศวรรษ 1950 (2493) ซึ่งถึงวันนี้ก็ล่วงศตวรรษใหม่เข้ามาอีก 20 ปี

ทำไมต้อง 1950 เพราะ 1950 ถึง 1970 เป็นสองทศวรรษของสงครามเย็น ซึ่งสำคัญไม่เพียงสองอภิมหาอำนาจ รัสเซียกับสหรัฐเผชิญหน้ากัน แต่ส่งผลมาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ และกระทบเต็มที่คือไทยด้วย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระบวนการสร้างระบอบประชาธิปไตยยังไม่จำหลักมั่น การประจันหน้ากันระหว่างทหารกับพลเรือนก็เกิดขึ้น ต่อเนื่องมาจนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลี้ภัย และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นกุมอำนาจ

ตั้งแต่ทศวรรษไทยที่ 2500 การเมืองจึงขาดจากเชื้อสายคณะราษฎร และพรรคทหารเริ่มเถลิงอำนาจปกครอง

Advertisement

สหรัฐอเมริกาที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์เข้ากระดูก ทำสงครามเวียดนามต่อจากฝรั่งเศส ได้ระบาดโรคกลัวคอมมิวนิสต์มาถึงไทย รัฐบาลทหารไทยก็รับเอาโรคนั้นเข้ามา พร้อมกับความช่วยเหลือนานาจากรัฐบาลสหรัฐ จะได้ไม่เป็นคอมมิวนิสต์

ประเทศไทยที่ยังด้อยพัฒนา จึงกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนา “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” ทั้งทางวัตถุและด้านความคิดในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจอมพล สฤษดิ์รับจากสหรัฐมาเต็มๆ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จึงมุ่งชนบทด้วยการพัฒนาแบบให้เปล่า เพราะคิดว่าเมื่อชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือทางวัตถุแล้ว ก็จะไม่ศรัทธาในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ชาวบ้านจึงมิได้มีส่วนร่วมใดๆ ในการพัฒนาเหล่านั้น ที่นำมาโดยหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ กรป.กลาง สังกัดกระทรวงกลาโหม เด็กนักเรียนก็ได้ดูหนังต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จากสำนักงานข่าวสารอเมริกันเป็นระยะๆ

ทั้งนี้ เพราะต้องการแสวงหาความชอบธรรม และสร้างเสถียรภาพให้กับการปกครองเผด็จการของตน โดยสนองความต้องการของประชาชนทางด้านวัตถุในการเร่งรัดพัฒนาประเทศ และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติและความมั่นคงของชาติ

Advertisement

จะเข้าใจสังคมไทยวันนี้ในหลายๆ ส่วน จึงต้องดูจากสังคมไทยในวันนั้น

ตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมโหฬารก็เพราะจากวันนั้นนั่นเอง

รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ยิ่งหยิบยื่นความช่วยเหลือมากขึ้น จนรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คิดโครงการเงินผันเพื่อจ้างงานในฤดูแล้ง แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็ยังเป็นโครงการสร้างคะแนนนิยมเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่นั่นเอง

มิพักว่าไปถึงการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

คนจนจึงยังจนอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะคนยากจนในชนบท แต่คนเมืองมีโอกาสเติบโตร่ำรวยแตกต่างไป

นี่เอง จึงมาถึงกระบวนการศึกษาทางวิชาการอีกแขนงของไทย ที่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างจริงจัง คือการกำเนิดวิชามานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีหนังสือตามมาให้เข้าใจเล่มหนึ่งคือ


เขียนชนบทให้เป็นชาติ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

หนังสือเล่มนี้เป็นงานศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดและลักษณะของมานุษยวิทยาไทย กับสาขาวิชาไทยศึกษา ในยุคแรกเริ่มช่วงสองทศวรรษแรกของสงครามเย็นดังสาธยายมา เพื่อเข้าใจว่า หมู่บ้านชนบทไทยกลายเป็นหน่วยของการวิเคราะห์ และหน่วยของการพัฒนา ในสายตาของรัฐและนักมานุษยวิทยาไทยได้ เมื่อไหร่ และอย่างไร

เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้มิได้ปฏิเสธ หรือผลักไสมรดกทั้งหมดของอาณานิคม หรือจักรวรรดินิยมอเมริกัน แต่มุ่งไปที่การวิพากษ์และเปิดเผยให้เห็นลักษณะของความรู้ทางมานุษยวิทยาของไทยยุคบุกเบิก ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากสงครามเย็น ทั้งในฐานะประวัติศาสตร์และในฐานะโลกทัศน์ทางสังคมการเมือง

เป็นหนังสืออ่านเอาเรื่องที่น่ารู้ทีเดียว สำหรับคนซึ่งผ่านวันเหล่านั้นมา จะได้เข้าใจกระจ่างก่อนลาโลก ฮาฮา

ส่วนคนรุ่นปัจจุบันนั้น จะไม่รู้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเจ้าของเวลาวันนี้ต้องเข้าใจเวลาวันก่อนด้วย เพื่อเดินไปวันข้างหน้า

…อำนาจมีผู้ใดไม่ชอบ ไม่ปรารถนา ไม่ไขว่คว้าถ้ามีโอกาส อำนาจในครอบครัว อำนาจในสำนักงาน อำนาจในบ้านเมือง ต่อให้มีตำแหน่งกำหนดไว้แน่ชัด ก็ยังมีคนที่ใช้อำนาจเกินกว่าตำแหน่งที่มีอยู่บ่อยๆ ใช่หรือไม่

อย่าว่าแค่ในบ้าน สำนักงาน องค์กร หรือหน่วยงาน บ้านเมืองเพียงเท่านี้ ตำราประวัติศาสตร์แสดงการชิงอำนาจราชบัลลังก์มาแล้วเท่าไหร่ ไม่ว่าจีน อินเดีย ฝรั่ง หรือไทย ที่ไหนไม่มีการแย่งชิงอำนาจ แม่ฆ่าลูก พี่ฆ่าน้อง อาฆ่าหลาน ฯลฯ

คังซี จอมจักรพรรดิต้าชิง ของปรมาจารย์นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ลือชื่อของจีน เอ้อเยว่เหอ ที่นักแปลนามขจร เรืองชัย รักศรีอักษร แปลไทยออกมา 4 เล่มโต อ่านเพลิน จบไม่รู้ตัว เข้มข้น เร้าใจ เมื่อจอมจักรพรรดิแมนจูซึ่งรับราชบัลลังก์ต่อจากปฐมกษัตริย์ในวัย 8 ชันษา อยู่ภายใต้อำนาจขุนนางใหญ่ ต้องสร้างอำนาจบารมีขึ้นด้วยพระองค์เอง

ขจัดจอมกังฉิน เอ๋าป้าย ตั้งแต่ไม่ถึง 20 ชันษา สร้างประเทศด้วยพระเดชพระคุณให้ชาวฮั่นยอมรับผู้นำแมนจู จนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น วินัยการคลังบังเกิด ใช้ผู้สามารถบริหารราชการไม่ว่าจะเป็นฮั่นหรือแมนจู

ซึ่งกว่าจะมาถึงวันบ้านเมืองสุขสงบได้ ต้องฆ่าฟัน และใช้กุศโลบายทางการเมืองนานา จนหนังสือสี่เล่มโตจบไม่รู้ตัว

และแน่นอน เมื่อเข้าบั้นปลายชีวิต ไฉนองค์ชายทั้งหลายจะไม่หมายปองบัลลังก์ วัฏจักรโหดร้ายย่อมหมุนวนมาอีก


ยงเจิ้ง ฮ่องเต้พิทักษ์ต้าชิง องค์ชายผู้ฝ่าอุปสรรครัชทายาทและองค์ชายโดดเด่นอื่นๆ ขึ้นนั่งบัลลังก์ต่อจากบิดา ผู้ซึ่งไม่เพียงครองแผ่นดินอย่างยากเข็ญ ตลอดรัชกาลยังต้องเร่งดำเนินตามนโยบายจนเกิดความขัดแย้ง ขณะที่เหล่าอนุชายังปองบัลลังก์ โอรสก็ฆ่าฟันกันล่วงหน้า จนต้องใช้วิธีเฉียบขาดกำจัดปัญหาอย่างแข็งกร้าว

กระทั่งสามารถปฏิรูปการปกครอง สร้างเสถียรภาพการคล้ง จัดวินัยขุนนาง ทำให้บ้านเมืองสงบ ราษฎรมีชีวิตดีขึ้น การคลังมั่นคง เป็นเหตุให้รัชกาล เฉียนหลง ต่อมากลายเป็นยุคทอง จักรพรรดิมีเวลาปลอมพระองค์ลงพบชาวบ้านได้

ทุกวันนี้ ในสายตานักประวัติศาสตร์จึงยังปลงใจไม่ได้แน่ว่า ยงเจิ้งซึ่งเผด็จอำนาจ เฉียบขาด โหดร้าย แต่บริหารประเทศได้สงบราบรื่นจะเป็นทรราชหรือจอมราชัน เมื่ออ่านหนังสือสนุกชุดนี้จบ ผู้อ่านอาจมีความเห็นที่ไม่แน่นอนได้เช่นกัน

เอ้อเยว่เหอเขียนชุดนี้ต่ออย่างไม่ทิ้งฝีมือ รายละเอียดมีชีวิตชีวาจริงจังอย่างกับร่วมอยู่ในราชสำนัก ผู้แปลก็สุดฝีมือ อีกอย่างการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิพระองค์นี้ยังเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์ ลองดูว่าผู้เขียนทิ้งท้ายไว้อย่างไร

…ถ้าเจ็ดแปดสิบปีก่อน หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพ การพูด การสร้างสัมพันธ์ ล้วนเป็นงานของ เดล คาร์เนกี้ (ปัจจุบันก็ยังพิมพ์วางแผงอยู่) ซึ่งนักแปลประจำครึ่งศตวรรษที่แล้ว อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลให้อ่านเสมอ

แต่วันนี้ งานลักษณะดังกล่าว ขยายบุคลากรจากตะวันตกมาเป็นคนเอเชียด้วยกันเอง ไม่จีนก็ญี่ปุ่นหรืออินเดีย

เล่มนี้เป็นงานของนักจิตวิทยาชื่อดังของเกาหลี คิมยุนนา ซึ่งเป็นผู้บรรยายให้คนในองค์กรใหญ่ๆ ฟังบ่อยๆ เช่น ซัมซุง, แอลจี, ลอตเต ฯลฯ วางไมค์มาเขียนหนังสือเพิ่มประสิทธิภาพตัวเองให้อ่าน ศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน

คิมบอกว่า เราทุกคนมี “ชามคำพูด” ชามเล็กก็คำน้อย ใช้คำทำร้ายคน แถมหวั่นไหวคำคนอื่นได้ง่าย แต่ถ้าชามใหญ่ ก็มีคำเยอะให้เลือกใช้ได้เหมาะสม โน้มน้าวคนให้คล้อยตามได้ มิสติรู้จักวิเคราะห์จิตใจผู้ฟัง

คิมให้กุญแจสำคัญดอกหนึ่งว่า การพูดไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นนิสัยที่ต้องสั่งสมทุกวัน-ใช่ไม่ใช่ คิดดู เจ๋งทีเดียวเชียว

กุญแจดอกนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายได้พรวดพราดในเกาหลีมากถึง 3 แสนเล่ม

เพราะคำพูดมีพลังยิ่งใหญ่ ช่วยแก้ปัญหา เยียวยาหัวใจ ประสานสัมพันธ์ แม้จนมีอิทธิพลต่อใครสักคนไปตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องหมั่นขัดเกลาชามคำพูดของตัวเองอยู่สม่ำเสมอ ลองหามาอ่านตรวจสอบตัวเองดูเถอะ

อาสยา อภิชนางกูร แปลให้อ่านเข้าใจราบรื่น


…หากจะถามคนทุกวันนี้ว่า เหียกวงเอี่ยม คือใคร คงหาคนตอบได้ยาก

แต่อาจจะมีความสนใจเพิ่มขึ้น อยากรู้เพิ่มขึ้น หากจะบอกว่า เหียกวงเอี่ยมซึ่งเดินทางมาจากกวางตุ้ง เมื่ออายุ 17 ทำงานในโรงเหล้ากัมพูชาอยู่ 6 ปี ก่อนเดินทางต่อมาหาบผักในเมืองไทยคือ หัวหน้ากรรมการท่าเรือ ประธานหอการค้าไทย จีน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและโรงพยาบาลหัวเฉียว ผู้นำข่าวญี่ปุ่นจะบุกเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทยกลับมาวางแผนรับมือ

ยากที่จะไม่อยากรู้จักให้มากขึ้น

ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนคำนำในหนังสือชีวประวัติ รักชาติยิ่งชีพ ว่า “ชีวิตและการต่อสู้ของเหียกวงเอี่ยม อดีตประธานหอการค้าไทยจีน นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเป็นส่วนที่ขาดหายไป ทั้งๆที่หลายสิ่งหลายอย่างที่เหียกวงเอี่ยมกระทำลงไป เป็นรอยต่อสำคัญยิ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองในภูมิภาคนี้

“ตลอด 36 ปีที่เหียกวงเอี่ยมอยู่ในประเทศไทย เขาได้ใช้ชีวิตที่สมบูรณ์และมีค่าเกินกว่าคนจีนทั้งหลายที่เข้ามาอยู่ในสยามเคยมีมา… ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตและการต่อสู้ของคนคนหนึ่ง ในระยะเวลาไม่ยาวนานนัก จะส่งผลสะเทือนในด้านที่เป็นคุณค่าต่อชาติทั้งสอง ผู้คนมากมาย และองค์กรหลายด้าน อย่างใหญ่หลวงปานนี้”

เหียกวงเอี่ยมถูกยิงตายหน้าโรงหนังเทียนกัวเทียน เยาวราช ปี 2462

หลักฐานทางการบอกว่า เหียกวงเอี่ยมถูกคนจีนด้วยกันฆ่า แต่คนยุคนั้นรู้กันทั่วไปว่า คนยิงเป็นตำรวจยศนายสิบ

เหียกวงเอี่ยม ชีวประวัติชุดภาพ ต้นตระกูลเอี่ยมสุรีย์ เขียนโดย จางตี้เกา หนังสือที่คณะกรรมการดูแลเยาวชนรุ่นหลังแห่งเมืองซัวเถา ประเทศจีน ประทับใจอย่างยิ่ง ถึงชีวิตที่ได้ทำประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากมาย

เหียกวงเอี่ยมกล่าวไว้บนปกหลังหนังสือเล่มนี้ว่า “ผมจากบ้านเกิดมาด้วยสองมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่ผมมีอยู่ทั้งหมดนี้ ได้จากสังคม จึงต้องคืนกลับไปให้สังคม หากไม่มีสังคมแล้วไฉนเลยจะมีทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ หากไม่มีประเทศชาติไฉนเลยจะมีตัวผม”

หาอ่านกันตามสะดวกแก่กาลเทศะและรสนิยม เทอญ

——————————————————-

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image