ตู้หนังสือ : จีนกำลังกุมไทยกุมโลก ไทยรู้จักจีนมากน้อยแค่ไหน

หลังทศวรรษ 50 (2493) เป็นต้นมา เมื่อก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนสำเร็จ ด้วยการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ปณิธานประการหนึ่งซึ่งก่อรูปอยู่ในคณะบริหารและผู้นำจีน ซึ่งส่งถ่ายซึมซาบกันต่อมาอย่างเงียบๆ ทุกยุคทุกสมัยก็คือ การกลับมาเป็นศูนย์กลางโลกให้ได้เช่นอดีต

ทีละขั้น แม้ความเข้มงวดในระบอบจะอ่อนแก่ต่างกัน ความคิดที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่างกัน แต่ความมุ่งหมายดังกล่าวมิเคยคลอนแคลน ผู้สันทัดกรณีทั่วโลกอาจเห็นไม่ได้ชัดแต่เดิม แม้ เติ้ง เสี่ยวผิง จะใช้วิธีก้าวกระโดด แต่เมื่อมาถึงมือ สี จิ้นผิง ปณิธานดังกล่าวก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ด้วยระบอบการเมืองอันมั่นคง เหมือนก้าวเดินถูกกำหนดรวมศูนย์ในมือฮ่องเต้และราชสำนัก อำนาจในมือประธานพรรค และคณะบริหารพรรคก็ดำเนินไปเช่นเดียวกัน หากเป็นไปด้วยกุศโลบายและปัญญาที่ทันโลก การยืดหยุ่นวิธีการ หนึ่งปกครองสองระบบ ทำให้จีนวันนี้ห่างจากคนป่วยแห่งเอเชียอันสร้างความอับอายลึกล้ำในความทรงจำ มาไกลแสนไกล

ฝูงเมืองแล้วฝูงเมืองเล่า ผุดขึ้นรองรับประชาชนจีน 1,400 ล้านคน (สำรวจสองปีก่อน) ขณะการค้าขยายไปทั่วโลก

Advertisement

ทั้งการเมืองและการค้า ไม่ยอมสยบอภิมหาอำนาจใดอีกต่อไปแล้ว

วันนี้ หากใครไม่ได้แวะไปแถวห้วยขวางมานานสักสองสามปี อาจประหลาดใจกับสภาพที่เห็น ที่หลายคนเผลออุทานได้ว่า นี่ไม่ใช่ไชน่าทาวน์หรอกหรือ ห้องเช่าจีน ร้านค้าจีน ร้านอาหารของจีน ร้านขายยาของจีน ฯลฯ คนจีนเดินกันขวักไขว่

ไยมิใช่เยาวราช 2 ไปแล้ว

Advertisement

จีนเข้าไทยมาซื้อคอนโด มากว้านซื้อที่พักอาศัย มาซื้อสถาบันการศึกษา จัดเส้นทางรับคนจีนเข้ามา บริการคนจีน เงินไทยที่แปรกลับไปเป็นเงินจีนไม่รั่วไหล มิหนำโครงการอภิมหาโอฬารของรัฐ ยังทำสัญญากับจีนอีกเต็มๆ

ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ นักเลือกตั้งผู้บริหารภาษีประชาชน ตามคนจีนวันนี้ทันไหม หรือจะให้เมืองไทยกลายเป็นจีน

ที่จริง พูดกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ว่าไทยจีนมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางการเมืองการค้า ก็สามารถถอยย้อนกลับไปไกล จนแม้สายเลือดจีนอพยพวันนี้ก็กลายเป็นไทย ทุ่มเทชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิดกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ความสัมพันธ์จีนไทยปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเหล่าผู้บริหารบ้านเมือง แต่สำหรับประชาชนคนเดินถนนแล้ว จีนไทยล้วนมีประวัติศาสตร์ร่วมเส้นทางเดียวกันมายาวนาน เส้นทางอันควรศึกษา ทำความรู้จัก เข้าใจพื้นเพชีวิตกันและกัน

วันนี้ มีหนังสือเกี่ยวกับไทยกับจีน ที่ร่วมวัฒนธรรมหลายรูปด้วยกันมา แต่อาจไม่เข้าใจกระจ่างนัก เป็นแต่ร่วมๆกันไป ทำนองเกิดมาก็เห็นวัด ยกมือไหว้พระ ตักบาตรทำบุญ เวียนเทียน เข้าพรรษางดเหล้า ออกพรรษาเมาแประ คือชาวพุทธนั่นเอง

ที่จะสนใจ ใฝ่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนชาวพุทธในประเทศ มีสักเท่าไหร่

ตอนพูดอาจพูดกันเจ็บๆ แต่ตอนชวนอ่านหนังสือ ต้องชวนกันละมุนละม่อม ถือว่ามีโยนิโสมนสิการ เป็นกัลยาณมิตรกัน

๐ เริ่มด้วย ‘ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ ก่อนเลย ปกแดงแจ๊ดต้อนรับตรุษจีน ของอาจารย์ อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ศึกษาสถาปัตยกรรมศาลเจ้าตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อจับภาพสะท้อนจีนโพ้นทะเลที่ปรากฏออกมา ให้อ่านกัน

จีนโพ้นทะเลคือคนจีนที่อพยพจากบ้านเกิดเพื่อไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่ ไม่ว่าจะด้วยความแห้งแล้ง อดอยาก หรือสภาวะสงคราม ชาวจีนเหล่านี้แผ่ขยายสาขาไปทั่วโลก ทั่วแผ่นดินอุษาคเนย์ ไปจนถึงสหรัฐยุครุกรานฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ สิ่งที่ติดตามผู้คนเหล่านี้ไปก็คือ รากเหง้าทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตที่มิอาจลืมเลือน ไม่ว่าภาษา อาหาร ความเชื่อ ประเพณี ตลอดจนศาลเจ้าที่ปรากฏก็เนื่องมาจากรากเหง้าดังกล่าว ดังนั้น จีงเป็นสิ่งสะท้อนตัวตนคนจีนได้เป็นอย่างดี

ผู้อ่านจะได้รู้จักศาลเจ้าจีนแคะ ศาลเจ้าจีนไหหลำ ศาลเจ้าจีนกวางตุ้ง ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยน คนจีนจากทางใต้ของประเทศ 5 ภาษาถิ่นหลักๆ ที่อยู่ในไทย ว่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันตรงไหน ทั้งได้ความรู้ ที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์ของคนจีนในไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มพูนขึ้น

๐ เล่มถัดมา เนื่องจากเดี๋ยวนี้ความสนใจเรียนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้นตามกระแสโลก จึงอยากแนะนำ ‘เปิดตำนานผ่านอักษรจีน’ เขียนโดยคนจีน โจว เซี่ยวเทียน แปลโดย เขมณัฎฐ์ ทรัพย์เกษมชัย

เพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาจีนอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจุดเด่นของอักษรจีน การออกเสียง ไวยากรณ์จีน คำลักษณะนาม ตลอดจนสุภาษิต สำนวน คำทายปริศนา จนถึง ๑๐ คำนามจีนที่ทรงอิทธิพล บทสนทนาในชีวิตประจำวัน ศิลปะ เพลง ละครโบราณ กระทั่งข้อเขียนอันงดงามของยอดนักประพันธ์จีน

ไปถึงภาษาจีนในอินเตอร์เน็ต และความท้าทายที่ชาวต่างชาติต้องเผชิญเมื่อเรียนภาษาจีน รวมถึงเรื่องขำขันของชาวต่างชาติเหล่านั้นที่เรียนภาษาจีน เป็นของแถมแบบเอาจริง

ที่น่าสนุกและชวนให้กระตือรือร้นอยากเรียนอยากอ่านก็คือ หนังสือเล่มนี้ถอดเสียงภาษาจีนเป็นคำไทยเสียงไทย มิได้ใช้อักษรโรมันกับเครื่องกำกับเสียงโรมันที่ต้องใช้ความรู้อีกชุด จึงอ่านออกเสียงมาได้ ทำให้หมดความอยากรู้ไปแต่แรก

ดังนั้น คนที่ไม่ได้เรียนภาษาจีนก็อ่านออกเสียงตามได้ และสนใจภาษาจีนเพิ่มขึ้น เห็นภาพรวมของภาษาได้ชัดเจนขึ้น ส่วนคนที่เรียนภาษาจีนอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าใจความเป็นจีนมากขึ้นอีก

แถมอีกประเด็นคือ นักเลงนิยายจีนกำลังภายใน อ่านหนังสือเล่มนี้จะยิ่งสนุก อ่านกำลังภายในเพลิดเพลินขึ้นอีกมาก

๐ ขณะเดียวกัน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่ชอบไปเมืองจีน ย่อมพลาดไม่ได้กับ ‘ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม’ เป็นหนังสือสำคัญของประเทศจีน เพราะเป็นหนังสือภาพยอดเยี่ยมที่พิมพ์ฉลอง 90 ปีที่พระราชวังแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลงานของหน่วยวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมพระราชวังต้องห้าม สังกัดพิพิธภัณฑ์กู้กง จัดพิมพ์ในรูปเล่มขนาดใหญ่ สี่สี งดงามตลอด 320 หน้า เป็นหนังสือที่ต้องอ่าน ต้องดู ต้องเก็บ ชี้ชวนให้รำลึกว่า ที่นี่ไปมาแล้ว ตรงนั้นได้เห็นมาแล้ว ดังนี้

การเล่าถึงสถาปัตยกรรม วิถีชาววัง รวมถึงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ จากบันทึกสำรวจของคณะผู้ผลิต เกิดเป็นลักษณะพิเศษของหนังสือเล่มนี้ ด้วยการใช้ภาพประกอบเป็นแนวตัดขวางและมองมุมสูง ทั้งใช้เส้นกราฟิกสมัยใหม่ ผสมผสานการออกแบบสมัยโบราณ มาอธิบายสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีน ผ่านตำหนักต่างๆ ในวังให้เข้าใจได้ลึกซึ้ง

จบ 9 บทหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถเดินชมวังต้องห้ามได้กระจ่างตากระจ่างใจ ชวนตื่นเต้นไปได้ทุกอาณาบริเวณ

๐ อ่านเรื่องจีนมาสามเล่ม ควรต้องพูดถึงคนจีนสักคน และหากมีคนจีนสักคนที่มิใช่ เหมา เจ๋อตุง ซึ่งคนจีนและโลกทั้งโลกรู้จักแล้ว เห็นจะมีเพียงนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน โจว เอินไหล เท่านั้นที่เหมาะสมจะรู้จักที่สุด

โจว เอินไหล เป็นคนเดียวที่ เจียง ไคเช็ค แห่งก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ที่แพ้สงครามจนต้องข้ามไปเกาะไต้หวัน กล่าวถึงว่า เป็นคอมมิวนิสต์คนเดียวที่พูดรู้เรื่องที่สุด นอกเหนือจากที่นักการทูตทั่วโลกยกย่องว่า เป็นผู้ใฝ่สันติภาพอย่างยิ่ง

ในประเทศจีนเอง โจวได้รับความเคารพรัก เคียงคู่มากับเหมา ในความสุภาพ อ่อนน้อม สมถะ เปี่ยมสติปัญญา ที่ต่อสู้สร้างประเทศเคียงข้างร่วมกันมากับผู้นำทางการเมืองและทางทหารคนอื่นๆ ในวันเช็งเม้งที่ 4 เมษายน 2519 ขณะที่แก๊งสี่คนซึ่งนำโดยนาง เจียง ชิง ภรรยาเหมายังเรืองอำนาจ พยายามขัดขวางมิให้ประชาชนจัดกิจกรรมไว้อาลัย เพราะไม่ต้องการให้ความสำคัญกับการจากไปของโจว แต่ประชาชนถึงสองล้านกลับมุ่งมาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อวางหรีด กระเช้าดอกไม้ กางผืนข้อความ ติดใบปลิว ท่องกลอน แสดงปาฐกถาไว้อาลัยโจว และกล่าวโทษแก๊งสี่คน

เบื้องบนพวงหรีดกองสูงเป็นภูเขา คือคำขวัญที่คนนับล้านประกาศว่า ผู้ใดคัดค้านโจว เอินไหล เราโค่นล้มคนผู้นั้น

‘โจว เอินไหล รัฐบุรุษจีน’ โดย เชาวน์ พงษ์พิชิต เล่าประวัตินายกรัฐมนตรีผู้นี้ ด้วยการใช้เอกสารจีนเป็นหลัก ตั้งแต่ถือกำเนิดจนสิ้นชีวิต ให้เห็นวิธีทำงาน ความคิดและขั้นตอนการสร้างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศนั้น โจว เอินไหล ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก ด้วยเหตุใด สมควรหาอ่านเพื่อเห็นว่า นักการเมืองทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างไร

๐ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ยิ่งอ่านก็ยิ่งรักกันแน่นแฟ้น มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับจบที่ไม่จบ เอ๊ะ, ยังไง อยากรู้ไปดูจุดต่ำสุดของชีวิตกรรมกรข่าวสรยุทธ ที่ยิ่งสู้ก็ยิ่งแพ้แต่ต้องสู้ ว่าเริ่มต้นจนมาลงเอยเช่นนี้ได้อย่างไร

กฎหมายงบประมาณสะดุด ปมเสียบบัตรแทน เริ่มที่ประชาธิปัตย์ จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วอ่านวิกฤตซ้ำซากเกี่ยวกับตัวเอง เรื่องฝุ่นพิษทั่วเมือง ทำไมจึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่เคยตรงจุด เพราะอะไร ถามใครดี

อ่าน อนาคตใหม่ จะฝ่าด่านที่ 2 อย่างไร กับอีกเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับก่อสร้างและที่ดิน ซึ่งร้องไห้ไม่ออก หัวเราะไม่ได้

“เออหนอ, ประเทศไทย.”


 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image