‘ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ’ งานชิ้นล่าสุดของภาณุ ตรัยเวช ในฐานะหัวขโมยใจอ่อน

ภาณุ ตรัยเวช เป็นนักเขียนที่ทำงานหลายแบบ เขียนทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ไลท์โนเวล แต่เดิมยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม ไม่ว่าจะในฐานะอะไรเขาก็แฟนานุแนติดตามหนาแน่น “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของเขา แว่วว่าน่าจะเป็นผลงานวรรณกรรมเล่มสุดท้ายที่เขาตั้งใจจะเขียน เพราะฉะนั้นต้องมีอะไรพิเศษแน่ ๆ

ปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวว่า “ศิลปินที่ดีลอกแบบ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย” ในเรื่องสั้นชุดนี้ ภาณุ ตรัยเวช ทั้งลอกแบบทั้งขโมย เขาหยิบยืมวิธีการเล่าเรื่อง สำนวนภาษา กระทั่งตัวละครจากวรรณกรรมของนักเขียนคนอื่นมาผูกร้อยเรื่องราว ที่จริง ลิงหิน ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 11 เรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนชื่อว่า “ลิงหิน” เพราะ “ลิงหิน” คือเสมือนคำนำ ดูเหมือนความขี้เล่นของผู้เขียนจะปรากฏตั้งแต่คำนำเลยทีเดียว

ในเสมือนคำนำ ภาณุ ตรัยเวช เล่าความทรงจำสมัยเรียนอัสสัมชัญ ที่เขาได้ติดตามอ่านเรื่อง “ลิงหิน” ซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติในจุลสารโรงเรียน “ลิงหิน” ทิ้งปริศนาลี้ลับเอาไว้ในตอนจบ คือตัวละครนึกถึงคำพูดเจ้าชายแฮมเลต องก์ 1 ฉาก 5 วรรคที่ 167 แล้วข้อความที่ว่านี้คืออะไรกัน เกี่ยวข้องอย่างไรกับรวมเรื่องสั้นชุดนี้ของภาณุ

เรื่องสั้นเรื่องแรก “บูเครแองเกลส” เป็นเรื่องสั้นออกแนวสืบสวน ลีลาภาษาคลาสสิกชวนนึกถึงสำนวนแปลของ อ. สายสุวรรณ บรรยายแบบย้อนยุค ตัวละครคือหลวงสรรพสิทธิต้องขอความช่วยเหลือจากเด็กสาวที่ชื่อเพียงออ การคลี่คลายคดีที่ต้องอาศัยนักดนตรีตาพิการที่เป็นฝรั่งตาน้ำข้าวช่วยอนุมานหาตัวคนร้ายที่มาในคราบนักดนตรี ว่าแอบเข้าไปจารกรรมเอกสารชิ้นสำคัญของชาติได้อย่างไร ตอนจบทิ้งปริศนาเอาไว้ว่าจารชนคนไทยที่สามารถเป่าขลุ่ยผลงานคีตนิพนธ์ของ บาค (Bach) ซึ่งเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันได้ย่อมไม่ใช่คนธรรมดา

Advertisement

เรื่อง “นาวาคนเขลา” เล่าเรื่องแบบนิยายแฟนตาซี และน่าจะเป็นเรื่องที่มีนำตัวละครจากวรรณกรรมเอกของโลกมายำใหญ่ใส่สารพัดมากที่สุด แม้กระทั่งพระคัมภีร์ไบเบิล อย่างเช่น มิรันดา จากงานของ เชกสเปียร์ เมมฟิสโตเลีย จากงานของ เกอเธ่ นักมายากลจากงานของ โทมัส มันน์ บางทีพรรณนาด้วยภาษาแปลแบบนิยายแฟนตาซีตะวันตกแล้วสลับกับกระสวนความแบบนิยายจีน แต่เรื่องที่คิดคือในนครของผู้มีปัญญา จะต้องมีกลุ่มคนที่ด้อยปัญญากว่าคอยรับใช้ ของบางอย่างมีไว้เฉพาะคนชั้นสูง เรื่องนี้ทิ้งท้ายให้คิดว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว คนมีปัญญามักจะขาดความกล้าหาญใช่หรือเปล่า

เรื่องที่สาม “คาลวิโนในรัตติกาล” ผู้เขียนอัญเชิญวิญญาณของ อิตาโล คัลวิโน มาเล่นได้อย่างบันเทิงมาก ขณะเดียวกันก็ล้อเลียนวงวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาของไทยได้แสบดี ถึงที่สุดแล้ว “ความหมาย” ของตัวบทคืออะไรกันแน่ ใครเป็นคนกำหนด ใช่ผู้เขียนหรือไม่ ถึงแม้อัญเชิญดวงวิญญาณนักเขียนมา ก็ใช่ว่าจะกำหนดความหมายแน่ชัดลงไปได้ ภาณุเล่นกับแนวคิด “มรณกรรมของผู้แต่ง” ของ โรลองด์ บาร์ต นักสัญญวิทยาชาวฝรั่งเศสที่พูดกันมากในวงวรรณกรรมไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว แต่เป็นผู้แต่งที่ตายไปแล้วในความหมายตามตัวอักษร

Advertisement

เรื่องสั้นชื่อ “เรื่องที่ ๑๑”  นำเสนอในรูปของนิทานแบบ นิทานเวตาล ปริศนาของเวตาลที่ว่าใครสังหารราชบุตรกันแน่ ก็ทำให้พระวิกรมาทิตย์จนปัญญาอีกครั้ง นิทานเวตาลฉบับภาณุ ตรัยเวช เหมือนจะสะท้อนเสียงของเฟมินิสต์ไม่น้อย

เรื่องสั้น “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” เป็นเรื่องลำดับถัดมา บรรยากาศเหมือนงานแบบกอธิค แต่เรื่องที่น่าสนใจคือการล้อ “ท่านเจ้าบ้าน” จากเรื่องอำนาจของผู้เขียนในฐานะคนที่มีอำนาจกำหนดความหมายของตัวบทวรรณกรรม ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ภาณุ ตรัยเวช เล่นกับนักเขียนที่มีอำนาจ ซึ่งผู้เขียนก็ดูจะล้อท่านแต่พอหอมปากหอมคอ

ต่อมาเรื่อง “คำสาปอันหอมหวนของแม่ทองอิ่ม” ถ้าพลิกไปดูท้ายเรื่องจะพบว่าตีพิมพ์ใน รวมเรื่องสั้นต่อต้านการทุจริต จุดเด่นของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การเป็นวรรณกรรมสั่งสอน (didactic) ทางเลือกทางศีลธรรมย่อมอยู่ที่มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ใช่หรือไม่

ส่วนเรื่อง “เกมกลคนอัจฉริยะ” นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกม คนที่อายุสัก 40 ก็น่าจะจำบรรยากาศที่ปรากฏในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้ ชนชั้นกลางที่พยายามมุ่งหาความสำเร็จชีวิต แต่เจอกับมรสุมเศรษฐกิจช่วงปี 40 และเรื่อง “ตั้งแต่คอลงมา” ออกแนวเร้นลับสยองขวัญ แต่ก็แสดงถึงชีวิตชนชั้นกลางวัยทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ได้อย่างน่าตื่นเต้น

เรื่องสั้นที่น่าสนใจที่สุด 2 เรื่องเรื่องถูกจัดวางไว้ท้ายเล่ม นั่นคือเรื่องสั้นชื่อ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของเด็กหนุ่มอาชีพขายกระเป๋าที่ปลอมตัวเองเป็นเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ถ้าใครเป็นคอวรรณกรรมก็คงพอจะนึกออกว่านักเขียนที่มีอาชีพขายกระเป๋าในวัยหนุ่มคือ ชาติ กอบจิตติ เป็นอีกครั้งภาณุ ตรัยเวช เล่นกับประเด็นเรื่องผู้แต่ง กวีหรือนักเขียนคือคนที่เลียนแบบสไตล์ของตัวเอง จนคนอื่นเลียนแบบได้ แล้วความแท้จริงของตัวตนผู้แต่งอยู่ที่ไหนกันแน่ ตอนจบของเรื่องดูจะเป็นการหักมุมที่น่าคิด

มาถึงเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย “น้ำพุแห่งวัยเยาว์” ซึ่งดูจะอ้างถึงปรัชญามากที่สุด ข้าราชการหนุ่มชื่อ “ถนอมนวล” ที่ต้องตอบคำถามของพรายน้ำว่า อะไรคือการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ ถ้าตอบไม่ได้จะต้องสังเวยด้วยชีวิต ถนอมนวลมีโอกาสได้ไปเรียนยุโรป เขาได้มีโอกาสพบกับนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมัน นักเรียนปรัชญาคงเดาได้ว่าคือ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ แต่คำตอบที่ได้จากนักปรัชญาเยอรมันก็ยังไม่จุใจพรายน้ำ ต่อมาเขามีโอกาสเดินทางไปฝรั่งเศส ได้เจอกับ นักปรัชญาฝรั่งเศส เดาได้ไม่ยากว่าคือ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ ซึ่งเห็นว่า “การไม่เป็นอะไร” (Nothingness) แสดงถึงเสรีภาพของมนุษย์ มีแต่มนุษย์ที่จะเห็น “การไม่เป็นอะไร” ที่ว่านี้ การปฏิเสธว่าสิ่งๆนั้นไม่ใช่อะไร จึงเป็นการเลือกของมนุษย์เอง แต่กระนั้นคำตอบที่ได้ก็ไม่ตรงใจพรายน้ำอีก จนกระทั่งถนอมนวลไปหาชายชราที่อาศัยอยู่บ้านริมน้ำในบ้านเกิดของเขา เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นการวิจารณ์วิธีคิดแบบไทย ๆ เกี่ยวกับคำถามเรื่องตัวตนที่แท้จริง แม้จะเดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์ถึงต่างประเทศ สุดท้ายก็กลับมาหา “บ้านเกิด” แต่การทำเช่นนั้นก็ทำให้เวลาทวนถอยหลังไปอีก 10 ปี! วิธีคิดเช่นนี้เป็นต้นเค้าของปัญหาสังคมการเมืองของไทยมาตั้งแต่ต้น

ถ้าดูเรื่องสั้นทั้งหมด รวมทั้งคำนำและคำตาม ดูเหมือนภาณุ ตรัยเวช จะกระทำการเลียนแบบและขโมย อย่างที่ปิกัสโซบอกว่าเป็นวิสัยของศิลปิน เขาเลียนแบบสไตล์การเขียน ท่วงทำนองการเล่าเรื่องจากวรรณกรรมแปล และวรรณกรรมโลก ผู้อ่านจะจับเค้าได้ว่าเขาเลียนแบบและขโมยมาจากแหล่งไหนบ้าง โดยอ้างอิงจากความทรงจำของคนอ่านเอง แต่กระนั้นภาณุก็ดูจะเป็นหัวขโมยใจอ่อนอยู่สักหน่อย ที่มา “คืน” ตัวละครในตอนท้าย ดังที่ปรากฏใน “คำตาม” นักเขียนของเราอาจจะต้องกลับไปหาคำพูดเจ้าชายแฮมเลต องก์ 1 ฉาก 5 วรรคที่ 167 ที่เขียนไว้ใน “ลิงหิน (เสมือนคำนำ)” ที่เขายกมาอ้างเอาไว้เอง

“ในโลก ใต้ฟ้าคราม มีสรรพสิ่งมากมายอันสรรพปรัชญาของเจ้าไม่อาจนำมาใช้อธิบายได้”

นี่คือเหตุผลของการเขียนเรื่องสั้นชุดนี้ขึ้นมา ใช่หรือไม่ ไม่มีใครรู้นอกจากเจ้าตัว

 แต่ที่แน่ๆ เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ ที่เราอยากแนะนำให้อ่านมากที่สุดในห้วงเวลานี้

…………………

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image