เดินไปในเงาฝัน : เทศกาลหนังสือเริ่มต้น : โดยสาโรจน์ มณีรัตน์

เดินไปในเงาฝัน : เทศกาลหนังสือเริ่มต้น : โดยสาโรจน์ มณีรัตน์

เดินไปในเงาฝัน : เทศกาลหนังสือเริ่มต้น : โดยสาโรจน์ มณีรัตน์

ตลอดระยะเวลาผ่านมาที่มหันตภัยไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมเห็นภาครัฐของหลายประเทศออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจต่างๆ อย่างจริงจัง ขณะที่บ้านเราเองก็ออกมามาตรการช่วยเหลือเช่นกันทั้งในระดับรากหญ้า, SMEs, กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงพนักงานของบริษัทเอกชนที่ใช้ระบบประกันสังคมในการเยียวยาเมื่อต้องออกจากงานกลางคัน
แต่ทำไปทำมาก็เกิดความโกลาหลอย่างที่เป็นข่าว

เพราะกลุ่มคนเดือดร้อนมีจำนวนมาก

แต่กลุ่มคนที่ได้รับความช่วยเหลือกลับไม่สอดคล้องกับการลงทะเบียน ในที่สุด จึงเกิดกรณี “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” จนทำให้กลุ่มที่ลงทะเบียนบางคนคิดว่าตัวเองน่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับไม่ได้

Advertisement

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรกันบ้าง

เพราะมี “ข่าวใหม่” เข้ามาเปลี่ยน “ข่าวเก่า” จนทำให้พื้นที่ข่าวในเรื่องดังกล่าวค่อยๆ เงียบหายไป แต่ที่ผมสงสัย หรือออกจะประหลาดใจคือ…ทำไมภาครัฐถึงไม่เยียวยากลุ่มคนที่ทำธุรกิจหนังสือบ้าง ?

แม้ใครจะออกมาเถียงว่า…ก็พวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มประเภทดังกล่าวแล้ว เขาอาจลงทะเบียนรับสิทธิเพียงบางคนมั้ง คุณไม่รู้เท่านั้นเอง

Advertisement

ซึ่งผมก็ไม่อยากจะเถียง เพราะเถียงไปก็เท่านั้น แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นจริงๆ คือมาตรการในการช่วยเหลือของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวงการหนังสือโดยตรง

พูดให้ชัดๆ คือสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย

ผมเคยคุยกับ คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เธอบอกว่า…สมาคมมีสมาชิกอยู่ประมาณ 400 กว่าราย

แต่ผมมานั่งคิดต่อเองว่าคงต้องมีสำนักพิมพ์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และสำนักพิมพ์เหล่านั้นคงเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ทำกันเองที่บ้าน และปีหนึ่งๆ คงมีพ็อคเก็ตบุ๊กออกมาเพียงไม่กี่ปก

สำนักพิมพ์เหล่านี้น่าจะเดือดร้อนอย่างหนัก

เพราะขนาดสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ยังแทบเอาตัวไม่รอด ดูตัวอย่างจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนผ่านมา ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานมาเป็นออนไลน์แทน

ผมว่ายอดขายของทุกสำนักพิมพ์คงไม่งามเท่าไหร่นัก

เพราะนอกจากจะอยู่ในช่วงของการระบาดไวรัสโควิด-19 หากยังอยู่ในช่วงของอารมณ์ และบรรยากาศของผู้คนที่ไม่อยากจับจ่ายใช้สอย

ทุกคนไม่มั่นใจในเสถียรภาพของตน ทั้งเรื่องงาน และสุขภาพของคนภายในครอบครัว

ก็เลยขอกำเงินสดไว้ก่อนดีกว่า

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาสักเดือน, สองเดือน บรรยากาศเริ่มดีขึ้น ภาครัฐเริ่มปลดล็อกธุรกิจบางอย่าง ผู้คนจึงออกมานอกบ้านมากขึ้น ดังนั้น เมื่อสำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์ในเครือพันธมิตรร่วมกันจัดงาน “เปิดโกดัง Book Wonder” เมื่อเดือนมิถุนายนผ่านมา ผลปรากฏว่ายอดขายหนังสือดีดกลับขึ้นมาจนเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

แม้จะต้องขายหนังสือในราคาถูกมากๆ ก็ตาม

แต่สำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์ในเครือพันธมิตรคิดว่าอย่างไรเสียก็ดีกว่าปล่อยให้หนังสือเหล่านี้นอนรออยู่ในโกดัง เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน หากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ที่จะจัดขึ้นราวปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2563 บริเวณเมืองทองธานีเกิดมีปัญหาขึ้นมาจากการระบาดซ้ำของโควิด-19 อีก

จะทำอย่างไร ?

ก่อนหน้านั้น “คุณโชนรังสี” ประเมินคร่าวๆ ว่า…งานมหกรรมหนังสือฯน่าจะมีเหล่าบรรดาหนอนหนังสือมาเดินไม่ต่ำกว่า 1.5-1.7 ล้านคน ตลอด 12 วันของการจัดงานก็ตาม

แต่เป็นการประเมินก่อนที่เหตุการณ์โควิดระยองจะเกิดขึ้นหลายเดือน

ดังนั้น ก่อนที่จะถึงวันนั้น จึงทำให้หลายสำนักพิมพ์มารวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อจัดงาน “ABC Book Fest 2020” หรือ “เทศกาลหนังสือเริ่มต้น” ขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 – 2 สิงหาคม 2563 ณ มิตรทาวน์
ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

ซึ่งเป็นศูนย์การค้าใจกลางกรุง

ที่สำคัญ ยังถือเป็นการรวมตัวกันของสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 70 สำนักพิมพ์ อาทิ สำนักพิมพ์มติชน, แสงดาว, สถาพร บุ๊คส์, ยิปซี, สยามอินเตอร์, อมรินทร์ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือตัวเองในการระบายหนังสือเก่า และนำหนังสือใหม่มากำนัลแด่ผู้อ่าน

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนวสารคดี, ประวัติศาสตร์, ความรู้, สังคม, วิทยาศาสตร์, นวนิยาย, วรรณกรรมแปล, วรรณกรรมไทย และอื่นๆ อีกมากมาย

ในราคาพิเศษจริงๆ

ฉะนั้น เหล่าบรรดาหนอนหนังสือจึงมิพลาดด้วยประการใดๆ ทั้งปวง เพราะทราบข่าวว่าไม่เพียงจะมีหนังสือไฮไลต์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 70 สำนักพิมพ์แล้ว

ยังมีเสวนาพิเศษในวาระ 110 ปี ป.อินทรปาลิต กับหัวข้อเสวนาที่ชื่อว่า “ทำไมต้องอ่าน ป.อินทรปาลิต” ซึ่งไม่เพียงจะมี กล้า สมุทวณิช และ บอย โกสิยพงษ์ มาร่วมพูดคุย ทราบข่าวว่าจะมีแฟนานุแฟนตัวจริงของ “ป.อินทรปาลิต” อีก 2 ท่านมาเซอร์ไพรส์บนเวทีด้วย

สำหรับงานเสวนาเรื่องนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 16.00-17.00 น.

นอกจากนั้น ยังมีเสวนาเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ที่สำคัญ ภายในงาน “เทศกาลหนังสือเริ่มต้น” ยังมีมินิคอนเสิร์ตของ “เขียนไขและวานิช” เจ้าของบทเพลง “แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” และอีกหลายบทเพลงที่จะมาแสดงสดในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 17.00-18.00 น. อันเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานด้วย

ใครสะดวกก็มิควรพลาดอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากจะได้ซื้อหนังสือในราคาถูกสุดสุดแล้ว ยังมีโอกาสเจอ “นักเขียน” และเจ้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จะมาคอยต้อนรับผู้อ่านอย่างอบอุ่น

อย่างที่ผมบอกตอนนี้พวกทำธุรกิจหนังสือต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน

ขืนรอภาครัฐ

ขืนรอผู้เมตตาจากกระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสือคงไม่มีประโยชน์เสียแล้ว

เพราะพวกท่านเหล่านั้นก็น่าจะเอาตัวไม่รอดจากการปรับคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

แล้วเจอกันนะครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image