คุยถึง ‘สิรินนารี’ โรแมนติกแฟนตาซีเรื่องแรกและพล็อตสลับร่างที่ไม่ซ้ำใครของ ‘จุฬามณี’

คุยถึง ‘สิรินนารี’ โรแมนติกแฟนตาซีเรื่องแรกและพล็อตสลับร่างที่ไม่ซ้ำใครของ ‘จุฬามณี’

เอ่ยชื่อของ ‘จุฬามณี’ คงแทบจะไม่มีคอนิยายคนไหนที่จะไม่รู้จัก รวมถึงแฟนๆ ละครด้วย

‘ชิงชัง’ , ‘กรงกรรม’ , ‘สุดแค้นแสนรัก’ , ‘ทุ่งเสน่หา’ , ‘ระบำบุญ’ และอีกหลายๆ เล่ม เป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ของจุฬามณี เป็นลายเซ็นต์ที่ชัดเจนขนาดที่ว่า เปิดอ่านไม่กี่หน้าก็รู้เลยว่าเป็นผลงานของใคร แม้จะปิดชื่อไว้ก็ตาม

แต่สำหรับผลงานล่าสุดอย่าง ‘สิรินนารี’ ที่เพิ่งเผยโฉมสู่บรรณพิภพเพียงไม่นาน กลับแหวกแนวจากทุกเล่มดังที่เคยเขียนโดยแทบจะสิ้นเชิง และมีจุดเด่นหลายอย่างที่น่าสนใจมาก ท่ามกลางพล็อตแบบสลับร่างที่ไม่เหมือนเดิม

จุฬามณีคุยถึงผลงานใหม่ของเขา ที่ตีพิมพ์กับสนพ.แสงดาว เช่นเดิม และช่อง 3 ก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครเรียบร้อยแล้วอีกเช่นกันว่า “จริงๆ เรื่องสิรินนารี เขียนก่อน ‘กรงกรรม’ อีกนะครับ แต่ว่าพักไว้ก่อน พอกรงกรรมเป็นละครแล้วถึงได้กลับมาเขียนต่อ เราค้างคาใจกับเรื่องนี้มาก คิดว่ายังไงก็ต้องเขียนให้จบ” จุฬามณีเอ่ยด้วยรอยยิ้มสดใส

Advertisement

ก่อนอธิบายว่า ที่ค้างคายาวนานขนาดนั้น ก็เพราะเป็นนิยายที่ฉีกแนวจากที่ตัวเองเขียนไปเลยอย่างแทบจะสิ้นเชิง

“ผลงานเรื่องอื่นจะมาแบบพีเรียด ดราม่าร้อนแรง แต่เรื่องนี้จะเป็นแนวโรแมนติกแฟนตาซีเลย เราอ่านงานเขียนของ แก้วเก้า มาเยอะ ก็มีแรงบันดาลใจอยากทำงานแนวนี้ดูบ้าง แล้วส่วนหนึ่งที่ยากมากเพราะมีพาร์ทประวัติศาสตร์ในหลายภพชาติด้วย เราไม่เก่งตรงนี้ ยิ่งต้องพยายาม ไม่เหมือนตอนเขียนงานแนวดราม่า”

จุฬามณีเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการแหวกแนวครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการไปทวงหนี้ แล้วรู้สึกโกรธมาก

Advertisement

“โกรธ ก็เลยบอกว่าถ้าไม่ยอมใช้หนี้ ก็ตามไปใช้ชาติหน้าแล้วกัน เลยจุดประกายขึ้นมาว่าแล้วถ้าเราสลับร่างกันแล้ว ของเดิม สิทธิเดิมที่เป็นของเรา ใครจะได้ไปล่ะ ก็ตั้งสมมติฐานขึ้นมาเยอะมาก อะไรได้ อะไรไม่ได้ คนรับกรรมคือร่าง หรือว่าวิญญาณ คือถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกอีกแบบหนึ่ง แต่ไปถามคนที่เข้าวัดด้วยกัน จะตีความว่ากรรมจะไปตกอยู่ที่จิตวิญญาณ ต่อให้ร่างเปลี่ยนกันแล้วก็ตาม เหมือนกับลายมือใช่ไหมครับ พอวิญญาณเปลี่ยน ลายมือก็ต้องเปลี่ยนหรือเปล่า เป็นการตั้งคำถาม หาคำตอบ ที่ทำให้นิยายกลายเป็นแนวแฟนตาซีไปเลย”

ในงานเรื่องนี้ พาร์ทที่สำคัญและท้าทายนักเขียนมากอีกอย่างคือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการวางประวัติศาสตร์ให้เป็นชนชาติมอญ ซึ่งหาข้อมูลไม่ได้ง่ายๆ และที่ปรึกษาคนสำคัญก็คือ องค์ บรรจุน นักวิชาการด้านนี้

“การศึกษาเรื่องมอญไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การทำงานโดยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องและรองรับยากจริงๆ เขียนเสร็จแล้วบอกคุณ รอมแพง (ผู้เขียน ‘บุพเพสันนิวาส’) เลยว่าไม่เอาแล้วจ้า

ประวัติศาสตร์ที่เราค้นคว้าเกี่ยวกับมอญ เป็นประวัติศาสตร์สามัญชนด้วย ซึ่งแทบไม่ค่อบปรากฏการบันทึกหลักฐาน บางทีใช้เวลาค้นเยอะมากเลย แต่เขียนนิดเดียว เพราะมีหลายภพชาติ เราก็อยากเขียนให้คนติดใจว่า เอ๊ะ! ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเป็นยังไงเหรอ แล้วไปสืบค้นต่อ จะต่างกับการเขียนประเด็นทางศาสนาในเรื่อง เพราะเราศึกษาด้านนี้อยู่แล้ว

ซึ่งสุดท้ายแล้วเทวะไม่ใช่คนกำหนดชีวิตเรา แต่อยู่ที่เราจะเลือกอะไร”

พล็อตสลับร่างก็จริง แต่บอกได้เลยว่าแตกต่างจากที่เคยอ่าน เคยดูมาอย่างแน่นอน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เป็นเพราะรู้ความซ้ำอยู่แล้ว และตั้งใจว่าจะหนีให้ได้ ไม่ทำให้เหมือนนิยายเดิมๆ ที่เคยอ่านเด็ดขาด

สำหรับงานเรื่องใหม่ที่กำลังเขียนอยู่คือ ‘บุษบาตาคลี’ ที่เป็นหนึ่งในเซ็ทจักรวาลนครสวรรค์

ยังจำ ‘หวาน’ หนึ่งในกลุ่มนางฟ้าตาคลี กลุ่มเดียวกับ ‘เรณู’ ได้ไหม  นั่นล่ะ รุ่นลูกของหวานอย่าง ‘บุษบา’ จะมาโลดแล่นแซ่บซ่าในเมืองแห่งสีสันอย่างตาคลี โดยมีตัวละครแสบๆ รุ่นเดียวกับป้าย้อยป้าแย้ม ที่เป็นลายเส้นความถนัดของจุฬามณีอย่าง ป้าแหวน แม่ของหวาน ที่เจ้าตัวตั้งใจเขียนเพื่อลบล้างคำว่า ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ดูให้แน่ต้องดูที่ยาย เพราะ “ชาติกำเนิด มิอาจลิขิตชีวิตเรา”

“เราชอบตัวละครเถียงกัน มันได้ลับสมองคนเขียนด้วย ได้เล่นเกมส์กับตัวละคร ตัวละครที่รู้ทางกัน ไม่ยอมกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สนุกมากนะ นี่ก็พยายามเขียนให้สั้นอยู่นะ” จุฬามณีหัวเราะเบาๆ

“สงสารคนอ่านอายุเยอะๆ ไม่อยากให้หนามาก พอหนามากแล้วตัวอักษรจะเล็ก ต้นทุนจะแพง ก็ต้องกลับมาที่ต้นฉบับเราเอง” ซึ่งสำหรับเรื่องนี้เขาบอกว่าอยู่ระหว่างการเขียนเขียน

ส่วน ‘วาสนารัก’ ที่เขาเขียนก็กลายเป็นละครให้ติดตามทางช่อง 3 HD โดยออกอากาศทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลส 20.20 น. เรียบร้อยแล้ว

………..

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image