Short Story 2020 โปรเจ็กต์สุดปังจากนักเขียนไทย ทุกบาทจากนักอ่านเพื่อสนับสนุน ‘ประชาชน’

Short Story 2020 โปรเจ็กต์สุดปังจากนักเขียนไทย ทุกบาทจากนักอ่านเพื่อสนับสนุน ‘ประชาชน’

“Short Story 2020” คือโปรเจ็กต์ของนักเขียนไทยกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และเป็นการก่อเกิดท่ามกลางความรู้สึกหลากหลายต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองไทยที่กำลังปะทุมากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละวัน

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งต่างๆ หนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลบางอย่างต่อสังคมอย่าง “นักเขียน” พวกเขาทำอะไร บางคนแสดงคำตอบให้เห็นผ่านงาน บางคนนิ่งเฉย

หนึ่งในรูปธรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น และเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจยิ่ง คือสิ่งที่นักเขียนกลุ่มหนึ่ง นำโดย ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เจ้าของนามปากกา “ปราปต์” ที่มีผลงานชื่อดังหลากหลายแนว ร่วมกันทำงานเขียน แปรเป็นอีบุ๊ก และมอบรายได้ทั้งหมดจากนักอ่านเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อ “สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน”

ทุกความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตั้งสเตตัสเฟซบุ๊กเพียงสเตตัสเดียว

Advertisement

“จุดเริ่มต้นมาจากข้อจำกัดของตัวเองครับ คือผมอยากไปม็อบ แต่ไปได้ไม่บ่อย ครั้นจะช่วยเหลือเป็นเงิน อาชีพนักเขียนก็ไม่ได้มีรายได้มากพอจะเปย์เยอะๆ ก็เลยคิดว่าพอจะช่วยอะไรได้บ้าง คำตอบคือเราพอจะขีดๆ เขียนๆ ได้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีเวทีที่จะเอางานของเราไปทำอะไร ก็เลยตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กขึ้นมาเล่นๆ ว่าวงการนักเขียนน่าจะมีการรวมกลุ่มทำอะไรแบบนี้บ้าง

ปรากฏว่ามีคนในวงการหลายคนที่คิดแบบเดียวกัน แต่ส่วนตัวรู้ตัวเองดีว่าไม่มีความสามารถมากพอจะทำคนเดียวได้ โชคดีที่ตั้งสเตตัสไปไม่นานก็มีพี่ฟลุก ละอองอักษรา ซึ่งเป็นนักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์สตรีทไรท์เตอร์ ทักเข้ามาว่าอยากช่วยทำโครงการนี้ พอคุยแนวทางกันได้คร่าวๆ ก็ประกาศหน้าเฟซบุ๊กอีกครั้งว่าเราได้ทีมแล้วนะ และจะเริ่มแล้ว ใครอยากมาช่วยก็ติดต่อเข้ามาได้เลย” ปราปต์เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มสดใส

โปรเจ็กต์นี้คือการทำหนังสือรวมเรื่องสั้นขึ้นมาเล่มหนึ่ง และวางจำหน่ายเป็นอีบุ๊ก เพื่อระดมทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝั่งประชาชน ปราบต์บอกว่าแผนงานคือพยายามทำให้ง่ายที่สุด และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีชื่อเสียงหรือมีผลงานมาก่อน เพราะเชื่อในความหลากหลายและอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน

Advertisement

“ผมว่าหลักๆคือทุกคนเชื่อมั่นในประชาธิปไตยเรามองเห็นปัญหา เห็นความไม่ยุติธรรม และอยากเห็นบ้านเมืองที่ดีกว่านี้ ทีมงานบางคนที่ทักเข้ามาตอนเราระดมขอความช่วยเหลือ เขาบอกผมตรงๆว่ามีบางอย่างที่ยังไม่โอเคกับม็อบฝั่งประชาชนเหมือนกัน แต่หลักๆแล้วเขาก็เชื่อในประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเขายินดีช่วยเรา

พอประกาศออกไปก็เริ่มมีคนทักเข้ามาว่ายินดีช่วยทำงานหลังบ้าน มีน้องจักร เจ้าของนามปากกาอุ้มสม นักรีวิววรรณกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งทำโปรเจ็กต์ “หน้ากากนักเขียน” จบไป มีคุณมิว ธุวัฒธรรพ์ และน้องดิว error407 ที่เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของต้นฉบับด้วยเหมือนกัน น้องดิวเป็นนักเขียนแฟนฟิกชั่น ก็จะช่วยกันอ่านต้นฉบับ ส่วนผมจะดูแลงานพีอาร์หน้าบ้านเป็นหลัก ชวนพี่วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มาช่วยเป็นที่ปรึกษา เพราะมีประสบการณ์การทำงานโปรเจ็กต์ใหญ่ๆมาค่อนข้างมาก มีพี่เบียร์-คุณพัฒนพงศ์ คงศักดิ์ มาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย แต่รวมๆก็ช่วยกัน”

ปราบต์บอกว่างานที่ส่งเข้ามาหลากหลายมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสั้น โดยแนวของเรื่องสั้นมีทั้งแนวครอบครัว มิตรภาพ การเดินทาง แนวไซไฟ แนวแฟนตาซี นิทาน เมืองสมมุติ แนวบอยเลิฟ แนวรัก ระทึกขวัญ ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีเนื้อหาที่พูดถึงการเมืองในระดับต่างๆกัน

“ผมว่าความน่าสนใจของงานอยู่ที่แต่ละเรื่องนั้นพูดถึงในสิ่งที่ตัวคนเขียนอยากพูดจริงๆ เหมือนเราได้เห็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ แต่ละส่วนของสังคมที่ถูกส่งเข้ามาปะติดปะต่อเป็นภาพใหญ่ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับที่ที่เราอยู่ และคนที่อยู่ด้วยกันกับเราเขากำลังคิดอะไร

เจ้าของงานบางท่านเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก เราจะไม่เห็นเขาพูดถึงเหตุบ้านการเมืองใดๆเลย แต่เขาก็ส่งเข้ามา นี่กลายเป็นเวทีแสดงออกของเขา หรือมีนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วส่งมา แต่จำเป็นต้องใช้นามปากกาอื่น ออกตัวกับเราว่า คนอ่านกลุ่มใหญ่ของเขาเชื่อในอีกทาง ทั้งหมดนี้เป็นสีสันอีกอย่างที่หลากหลายและน่าสนใจไม่ต่างจากตัวชิ้นงานที่ถูกส่งเข้ามาเลยครับ”

“Short Story 2020” ประกาศเจตจำนงว่า รายได้จากอีบุ๊กเล่มนี้จะมอบให้หน่วยงานต่างๆที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝั่งประชาชน ปราบต์บอกว่านิยามของ “ฝั่งประชาชน” ในความหมายของเขาคือ ฝั่งที่ยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

“ฝั่งที่มองเห็นว่าคนเราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน สามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ตรวจสอบได้ และไม่รู้สึกว่ามีใครควรจะได้รับการกระทำอย่างรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนครับ” เขาอธิบาย

เมื่อถามถึงมุมมองต่อความตื่นตัวทางสังคมการเมืองของนักเขียนไทยในปัจจุบัน ปราบต์ก็บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเขียนก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป เมื่อเริ่มแสดงจุดยืนทางการเมืองชัด ก็จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

“นักเขียนก็มีความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่แค่สองข้าง แต่เฉดความเชื่อก็ต่างกันด้วย แล้วก็รับสารจากสื่อที่แตกต่างกัน หลายคนบ่นว่ายอดไลค์ยอดฟอลโลว์เวอร์เฟซบุ๊กหายไป หรือคนอ่านที่ตามกันมาติ ว่าไม่คิดเลยว่าคุณจะคิดอย่างนี้ แล้วก็เลิกรากันไป ตอนนี้กลายเป็นว่านักเขียนที่แสดงจุดยืนในงาน หรือสื่อต่างๆ ชัดเจนมาแต่ต้นจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะเขาถูกคัดกรอง หรือเขาเลือกจะคัดกรองคนตามมาแต่ก่อนแล้ว

ตอนนี้โซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนมีอำนาจพอๆกัน นักเขียนที่กลั่นกรองอุดมการณ์และความคิดเห็นของตัวเองออกมาเป็นเล่ม หรือแม้แต่เป็นบทความออนไลน์ อาจจะมีคนอ่านงานของเขาน้อยกว่าแอคเคาต์ปริศนาแอคเคาต์หนึ่งในทวิตเตอร์ก็ได้

อีกสิ่งที่ผมว่าน่าสนใจ คือนักเขียนที่เคยแสดงจุดยืนและตัวตนในทางหนึ่ง และคนทั่วไปศรัทธาเขาในทางนั้น แต่พอถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน การแสดงออกทางความคิดและการเลือกข้างของเขากลับเป็นคนละอย่างกับที่แสดงออกมาตลอด นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนอ่านตาสว่างขึ้นมาเหมือนกันว่าอะไรเป็นอะไร”

ในฐานะคนทำงานศิลปะ ปราบต์มองว่าศิลปะคืองานที่สะท้อนตัวตนหรือความคิดของศิลปินออกมา ขณะที่ตัวตนและความคิดของศิลปินก็ถูกสร้างขึ้นมาจากสภาวะแวดล้อมที่เขาอยู่ ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิตงานออกมาได้โดยไม่ได้แสดงถึงแง่มุมใดๆเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองนั้น และการที่ไม่แตะอะไร ก็กลับเป็นการสะท้อนชัดในอีกทาง ไม่ใช่แค่ตัวตนของเขา แต่สะท้อนถึงตัวตนของบ้านเมืองเขาด้วย

“ในความรู้สึกผม การใช้พื้นที่ที่ตัวเองมีเป็นพิเศษแสดงปัญหานั้นออกมาเพื่อหาทางแก้ไข ในทางหนึ่งจึงเป็นการตอบแทนคนที่ซัพพอร์ตตัวศิลปินด้วยเหมือนกัน แล้วยิ่งถ้าศิลปินยังนิ่งเฉยจนคนที่ซัพพอร์ตคุณพังพินาศเพราะปัญหานั้นไป สุดท้ายตัวศิลปินเองก็จะไม่มีวันอยู่ได้ เพราะในที่สุด การมีอยู่ของศิลปินก็เป็นด้วยกำลังสนับสนุนของคนเหล่านี้ ไม่ใช่ใครอื่น

สิ่งนี้เป็นพื้นฐานง่ายๆที่จะมีผลกับทุกคน ต่อให้ศิลปินคนนั้นจะอ้างว่ามีข้อจำกัดต่างๆมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคิดร่วมด้วยก็คือ การที่เขาแสดงออกว่าวางเฉย จริงๆข้างหลังเขาอาจช่วยเหลือในทางอื่นๆ อยู่ก็ได้ การวางเฉยจึงเป็นภาพที่ไม่สามารถเอามาใช้พิพากษาใครได้ทั้งหมด และการแสดงออกว่าวางเฉยก็ยังเป็นสิทธิของเขานะครับ” ปราบต์เอ่ยด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

Short Story 2020 เกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่ปราบต์เรียกว่า “ความหวัง”

“มีความหวังว่าเรายังอยู่ในสังคมที่มีคนเชื่อในสิ่งคล้ายๆ กัน และอยากเห็นสิ่งคล้ายๆ กัน

การที่พวกเราขยับ ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมนิ่งเฉย และยื่นมือมาช่วยเหลือกันคนละนิดละหน่อยเท่าที่ตัวเองช่วยได้ สุดท้ายจะต้องเกิดมูฟเมนต์บางอย่างแน่ๆ

อย่างน้อยที่สุดคือพอเราได้ทำอะไรอย่างนี้ ความกลัวจากความโดดเดี่ยว หรือความสิ้นหวังในใจของเราจะค่อยๆ หมดไป ความกล้าหาญกับความหวังมันเป็นสิ่งตอบแทนที่ดีมากๆ สำหรับผม และเป็นสิ่งสำคัญมากๆ กับการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วยครับ”

สนใจติดตามโปรเจ็กต์นี้ได้ที่ https://www.facebook.com/Shortstory2020-106485717906611/

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image