ตู้หนังสือ : โมงยามสุดท้าย ก่อนตะวันลับต้าถัง

ตู้หนังสือ : โมงยามสุดท้าย ก่อนตะวันลับต้าถัง

ในช่วง 150 ปีแรก ราชวงศ์ถังก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่า เป็นจักรวรรดิซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคกลางขณะนั้น – ในโลกนะ ไม่ใช่เฉพาะในจีนหรือในเอเชีย

เมืองหลวง “ฉางอัน” กลายเป็นเมืองหลวงแรกของโลก ที่มีประชากรมากถึง 1 ล้านคน การค้าตามเส้นทางสายไหมโบราณรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่ทว่า หลังจากกบฏอันสื่อ ค.ศ.755-763 (พ.ศ.1298-1306 เทียบเวลากับตำราเก่าของเรา ก็เป็นช่วงต้นสมัยทวารวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16) ในรัชกาลเสวียนจงฮ่องเต้ จักรวรรดิถังก็เริ่มถดถอย แต่ถึงอย่างนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกนานถึง 150 ปี จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้จึงล่มสลายลง

ตะวันลับแห่งต้าถัง เล่มนี้ เล่าถึงช่วง 150 ปีหลังดังกล่าว ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นรายละเอียด และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ราชวงศ์อันสำคัญราชวงศ์หนึ่งของโลก ก้าวไปสู่จุดจบ

ปัจจัยเหล่านั้น มิได้มาจากเหตุภายนอกเลย หากเป็นปัจจัยภายในเองที่กัดกร่อนความเจริญให้ตกต่ำ ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่เป็นศูนย์กลางกับเขตทหารทั่วประเทศที่ต่างต้องการตั้งตนเป็นใหญ่ อันเนื่องจากศูนย์กลางอำนาจอ่อนแอลงจากกบฏอันสื่อ จักรพรรดิก็เป็นเหตุ อำมาตย์มหาเสนาบดีฝ่ายบริหารก็แก่งแย่งชิงดี

Advertisement

แม้จะมีฮ่องเต้ที่ปรีชาสามารถ แต่ก็มีฮ่องเต้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ทั้งนำพาและบ่อนเบียนบ้านเมือง เป็นช่วงเวลาที่สีสันประวัติศาสตร์เปล่งประกายหลายรสชาติให้ชวนสนใจเรียนรู้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ

ยิ่งอำนาจบริหารกลายสภาพจาก เจ้าชีวิตผู้สั่งการ เปลี่ยนสถานะจนบ่าวไพร่กลายเป็นนาย ขันทีจึงกลับเป็นผู้กุมอำนาจราชสำนัก สามารถแต่งตั้งและถอดถอนโอรสสวรรค์ ราษฎรไยไม่เดือดร้อนสาหัส

ท้ายสุดจึงเกิดกบฏชาวนา อันเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของทุกการปกครองที่ใช้อำนาจปกครองเพื่อเสพสุขส่วนตัว ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด ที่หากผู้นำสร้างความทุกข์ร้อนแก่ชาวบ้านไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อราษฎรหมดหนทางทำกิน อยู่ไม่เย็นกินไม่เป็นสุข ย่อมลุกฮือขึ้นก่อการไปทุกแห่งหน กระทั่งยึดเมืงหลวงได้สำเร็จ จนฮ่องเต้ต้องลี้ภัยพเนจรอยู่หลายปี แต่กบฏชาวนาเหล่านั้นก็ย่อมแพ้ภัยตัวเองในท้ายที่สุด เนื่องจากขาดการนำและยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเหมาะสม

Advertisement

เรื่องราวในช่วงศตวรรษครึ่งนี้โลดแล่นอย่างน่าตื่นเต้น เห็นสัจธรรมอันจริงแท้ของชีวิต อนิจจังของโลก และความสำเร็จอันเนื่องมาจากประชาชนสนับสนุน กับความล้มเหลวอันเนื่องมาจากประชาชนเสื่อมศรัทธาตีจาก

“น้ำหนุนให้เรือลอย น้ำก็ล่มเรือได้” สำนวนจีนที่บรรดาผู้นำจีนทุกยุคสมัยรู้ซึ้ง ผู้มีสติก็ท่องบ่นไว้เตือนตัวเอง ผู้ขาดสติเมื่อคิดได้ก็สายเสียแล้ว

จ้าวอี้ บรรยายเล่าเรื่องอย่างเพลิดเพลิน ขณะ ๐เรืองชัย รักศรีอักษร๐ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างเข้าฝัก ได้อารมณ์รู้สึก

ทำไมการกลับมาอีกครั้งของ อรุณธตี รอย กับ สดใส จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องสนใจ ไม่เฉพาะเพียงนักอ่านทั่วไป

อรุณธตี รอยหรือ อรุณธตี ซูซานนา รอย วัย 59 เป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพชาวอินเดีย ซึ่งถูกพูดถึงและเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากหลังจาก เดอะ ก้อด ออฟ สมอล ธิงส์ (The God of Small Things) ซึ่ง สดใส พากย์ไทยในชื่อ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ นิยายเรื่องแรกของเธอได้ตีพิมพ์ในปี 2540 และถูกแปลไปถึง 30 ภาษาทั่วโลก โดยได้รับรางวัลใหญ่ประจำปี “บุ๊กเกอร์ ไพรซ์” รางวัลระดับนานาชาติในโลกการอ่านที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอายุยาวนานมากว่า 50 ปี มีเงินรางวัล 50,000 ปอนด์ อย่างไม่เหนือความคาดหมายของบรรดานักอ่านและนักวิจารณ์นานา

แต่ชื่อเสียงและความโด่งดังของเธอ ไม่ทำให้ติดอยู่เพียงเส้นทางสร้างสรรค์งานวรรณกรรม เธอเขียนบทความที่เป็นกระบอกเสียงของปัญหาความไม่เสมอภาคในอินเดีย จนหลายสถาบันต่างมอบรางวัลสิทธิและเสรีภาพให้

ส่วนสดใสหรือ สดใส ขันติวรพงศ์ นั้น มิใช่นามแปลกหูนักอ่านหรือแม้มิใช่นักอ่านเลย หากเคยเดินดูหนังสือบนชั้นวางมาบ้างในร้าน ต้องเห็นชื่อนี้เข้าสักเล่ม

สดใสเป็นนักแปลระดับบรมมายาวนาน โดยเฉพาะการแปลงานวรรรกรรมระดับโลก หนังสือที่นักอ่านชอบ แต่นักอ่านเกณฑ์เฉลี่ยเห็นว่าเป็นหนังสือยาก เช่น งานระดับโลกของ แฮร์มัน เฮสเสะ เจ้าของ สิทธารถะ ที่แปลมามากถึง 10 เล่ม พี่น้องคารามาซอฟ อันโด่งดังของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ หรือ อันนา คาเรนินา แสนคลาสสิกของ เลียฟ ตอลสตอย ที่ล้วนกลายเป็นงานอมตะไปแล้วทั้งสิ้น

นักแปลที่อุตสาหะอ่านงานเล่มหนามหาหิน แล้วมานะถ่ายทอดให้คนไทยได้รับอรรถรสลึกซึ้งเหล่านั้นด้วย โดยหมั่นทำมาเป็นเวลายาวนาน หากไม่คารวะขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง ที่ช่วยให้คนไทยซึ่งไม่รู้ภาษาต้นฉบับอื่นๆ ได้รับรสชาติสร้างสรรค์อันอุดมคมคายด้วยปัญญารอบรู้ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของชีวิต จากงานวรรณกรรม โดยเพิกเฉยไป – ต้องใช้คำสาหัสบอกตัวเองว่า นั่นเป็นการอกตัญญูยิ่งยวด
การกลับมาพบกันอีกครั้งของอรุณธตี รอยกับสดใส จึงสำคัญ

เพราะไม่มีเหตุผลใดที่นักอ่านจะพลาด กระทรวงสุขสุดๆ (The Ministry of Utmost Happiness) นิยายเล่มที่ 2 ของรอย หลังห่างเล่มแรกไปนานถึง 20 ปี โดยสดใสเป็นผู้พากย์ไทยอีกครั้ง

เรื่องของคู่แฝดหญิงชายในครอบครัวชนชั้นกลางของเมืองเล็กๆ ที่สามารถสื่อสารกันทางโทรจิต อันซ่อนเร้นความขัดแย้ง ศรัทธา ค่านิยม ขนบธรรมเนียม และสภาพสังคมอินเดียหลังยุคอาณานิคมใน เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ สู่สภาพอินเดียร่วมสมัยจากชีวิตอดีต “ฮิจรา” หรือกะเทยดาวเด่นของนครโอลด์เดลี กับสถาปนิกสาวผู้มีภูมิหลังชวนสงสัย ที่โชคชะตากำหนดให้เธอทั้งสองต้องเผชิญกับบางสิ่งเหมือนๆกัน

อดีตกะเทย (หมายความว่าไง) กับสถาปนิกสาว ต้องสนุกตื่นเต้น และเจ็บปวดแน่ๆ แค่นึกถึงอินเดียก็เหมือนกับนึกถึงเขาวงกตแล้ว

ต้องรีบหาอ่าน


ชื่อหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผู้เขียนเป็นนักสัมภาษณ์ที่รู้จักกันในภาษาไทย In Conversation-Sex, Religion, Politics and Other Stories (ในการสนทนา-เซ็กซ์ ศาสนา การเมือง และเรื่องอื่นๆ) ของ ๐ใบพัด นบน้อม๐ หนังสือรวมบทสัมภาษณ์เข้มข้น 24 บุคคลน่าสนใจหลากหลายวงการ

เห็นแค่แซมเปิล (ตัวอย่าง) ก็คงอยากอ่านกันแล้ว เชอรี่ สามโคก Fall Forward, คำ ผกา เรื่องบนเตียง, นางแบบลึกลับ คนมักเห็นนมก่อนเห็นหัวใจเสมอ, จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ตอบตรงๆ, สุรชาติ บำรุงสุข ทหาร สมการที่ไม่เคยเปลี่ยน, มาโนช พุฒตาล When I’m Sixty-Four, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล Disruption, สุชาติ สวัสดิ์ศรี แหวนหูมุ้งของบรรณาธิการ, เอ๊าะ ขายหัวเราะ แม้แต่เสียงหัวเราะก็ยังมีเดดไลน์, พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไม่(ไลก์)โค้ช, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ฮาวทูความหวัง (ในประเทศที่สิ้นหวัง) ฯลฯ

สัมภาษณ์ดีๆ ย่อมมีราคา หนังสือ 700 หน้าเล่มนี้ราคา 550 บาท ตอนนี้มีราคาชวนอ่าน 495 บาท


หนังสือแปลน่าอ่านอีกเล่ม ที่เหมาะกับทุกยุคสมัยซึ่งกฎหมายกับศีลธรรม (โดยเฉพาะความเชื่อ) ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะไปด้วยกันอย่างไร ยิ่งในสังคมที่ฆ่าฟันคนเห็นต่างได้ง่ายๆ จนแม้แต่นักบวชยังออกปากได้ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ยิ่งเป็นสังคมที่ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กันหลายๆ เที่ยว

สะพรึง จากความเกรี้ยวโกรธสู่กระบวนการยุติธรรม (Terror) จากบทละครสามองก์ของ แฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค เป็นงานซึ่งผสานความคิดนิติปรัชญากับนิติจริยศาสตร์ ให้มนุษย์เช่นเราท่านได้ใช้ความคิดกันหนักๆ จากการยกตัวอย่างคนร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนคน 7 หมื่นกว่าคนในสนามฟุตบอล

การยิงเครื่องบินให้คนบนเครื่องตาย 160 กว่าคนรักษาชีวิต 7 หมื่นคน เป็นเรื่องสมควร ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ นี่คือปัญหารักษาชีวิตหรือหลักการ เสียสละคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนมากอย่างที่มักคิดๆ กัน แต่หากเราเคยเชื่อว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน การชั่งน้ำหนักชีวิตจากจำนวนคนน้อยกับคนมาก เป็นเรื่องถูกต้องหรือ

คิดเลยๆ คิดกันหลายๆ ครั้ง หลายๆ รอบ หลายๆ แง่มุม

ตัวอย่างนี้เกิดจากกฎหมายเยอรมันซึ่งตราขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ให้กองทัพใช้อาวุธต่อเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้เพื่อทำร้ายฝูงชนได้ ซึ่งต่อมาภายหลังมาตรานี้ก็ถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ เพราะความคิดประเด็นสละชีวิตหนึ่งเพื่ออีกชีวิตนั้นใช้ไม่ได้

อย่างนั้น สังคมที่สามารถฆ่าคนเห็นต่างได้ จะคิดอะไรออกหรือไม่

ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ แปลให้อ่านเข้าใจจุดมุ่งหมายของเรื่อง


นิยายยอดเยี่ยมอันทรงพลังเรื่องหนึ่งปลายศตวรรษที่ 19 จากชีวิตกรรมกรถ่านหินหลายรุ่นหลายวัยในภาคเหนือของฝรั่งเศส งานชิ้นเอกของโลกอีกเรื่องของ เอมิล โซลา (2383-24๒๓๘๓-๒๔๔๕)

ฉายสภาพชีวิตและสภาวะจิตใจของคนสองฝ่าย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันด้วยความอยุติธรรม ก่อนสถานการณ์จะกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของกลุ่มคนผู้จนตรอก อันนำมาซึ่งหายนะใหญ่หลวงด้วยกันทั้งสองฝ่ายในท้ายที่สุด

พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ มิใช่นิยายปลุกเร้าหรือโฆษณาชวนเชื่อเชิงอุดมการณ์ แต่แสดงปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมอย่างถึงแก่น ขณะเดียวกันก็ตีแผ่สันดานมนุษย์อย่างล่อนจ้อนไม่ไว้หน้า คุณค่าของนิยายเล่มนี้จึงนอกจากเกิดขึ้นจากการทำการบ้านอย่างดีของผู้เขียน ยังถูกการเล่าเรื่องด้วยภาษาอันจริงใจและจริงจังจนเห็นภาพ

ทั้งการแปลของ ชาลีมาน ยัง “ถูกต้องสละสลวย” (ทัศนีย์ นาควัชระ อาจารย์ภาษาฝรั่งเศส อักษรศาสตร์ จุฬาฯ) จึงทำเราเข้าใจงานทรงพลังนี้อย่างเกาะกุมประเด็นของผู้เขียนได้อย่างมั่นคง และหากไม่เผอเรอไปกับสังคมวัตถุที่คอยล่อลวงสำนึก ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นแบบอย่างในนิยายเรื่องนี้ ย่อมไม่ถูกหลงลืมไปง่ายๆ แม้เวลาจะล่วงไปอีกศตวรรษแล้วก็ตาม

หาอ่านได้จะเป็นคุณ


นิตยสารเกินค่าฉบับพิเศษซึ่งพลาดไม่ได้เดือนนี้คือ เนชั่นแนล จีออกราฟิก ภาษาไทย เดือนมกราคม ๒๕๖๔ ฉบับ “๒๐๒๐ ปีที่เราจะไม่มีวันลืม” ซึ่งพิเศษอย่างยิ่งคือ เป็นฉบับภาพเล่าโลกในรอบปี โดยช่างภาพ “เนชั่นแนล จีออกราฟิก” ทั่วโลก รวบรวมภาพถ่ายยอดเยี่ยมจากทุกมุมทุกแห่งหน ทุกพื้นที่ มาเตือนความทรงจำเราถึงปีที่ไม่วันลืมเลือนนี้ ไม่ว่านักอ่านหรือไม่ใช่ ย่อมรู้แก่ใจดีว่า นิตยสารฉบับนี้ เป็นนิตยสารที่มีภาพยอดเยี่ยมขนาดไหน ดังนั้น รีบหาก่อนขาดตลาด


สุดท้ายนี้ เช่นเคย เมื่อถึงวันหยุด ไม่ลืม มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว นิตยสารซึ่งทาผัวหอมเมีย ทาเมียหอมผัว ครอบครัวเห็นดีเห็นงามกับความคิดต่าง อ่านมติชนสุดสัปดาห์ อวิชชาหงอยเหงา

อย่าประมาท หาทางทำกิน แต่อย่าสิ้นความระวังโรคระบาด.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image