ตู้หนังสือ : 2021 ประเทศไทยไปต่อ สังคมจีนในไทยกับกาดเมือง

ตู้หนังสือ : 2021 ประเทศไทยไปต่อ สังคมจีนในไทยกับกาดเมือง

แม้สังคมจะมีอุปสรรคการเมือง ปัญหาโรคระบาด เป็นเงื่อนไขลำบากต่อการดำเนินชีวิต ธุรกิจ คือการทำมาหากิน ที่ต้องดิ้นรนกันอย่างรุนแรง แต่บ้านเมืองจะหยุดนิ่งไม่ได้ ถึงวันนี้ ปี 2021 ประเทศไทยยังต้องไปต่อ การจัดงานสัมมนาสำคัญของหนังสือพิมพ์มติชนในสถานการณ์นี้ จึงต้องดำเนินไป หลังจากจัดต่อเนื่องมาแล้วก่อนหน้านี้สองครั้ง ตั้งแต่โลกเกิดวิกฤตโควิด 19 เพื่อเป็นเพื่อนคิดกับสังคมร่วมทุกข์ ในการเดินทางชีวิตต่อไปด้วยกันอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะที่เราเองทุกคนก็ต้องพยายามแสวงหนทางกินอยู่ไปด้วย

๐ เปิดจองก่อนล่วงหน้าอีกแล้ว หนังสือสำคัญอีกเล่มสำหรับนักอ่านไทย ที่ต้องรู้จักโลกรู้จักตัวเอง ท่ามกลางปัญหาสถานการณ์การเมืองโลก และการเศรษฐกิจโลก ซึ่งมหาอำนาจจีนประจันหน้ากับสหรัฐ ขณะที่ไทยเองก็มีจีนอพยพรุ่นใหม่เข้าเมืองมาอย่างไม่หยุดยั้ง ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อมหาวิทยาลัย สร้างกิจการท่องเที่ยวของตัวเอง ชนิดไม่ให้เงินหยวนรั่วไหล แต่คนไทย นักเลือกตั้งไทย ข้าราชการไทย ที่ตระหนักปัญหาซึ่งจะเกิดอย่างยืดเยื้อยาวนานต่อไปนี้หรือไม่ บอกได้ไม่ยาก จากตลาดคนจีนที่เกิดขึ้นเป็นชุมชนใหม่ใหญ่โต

สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งผู้เขียนคือ จี.วิลเลียม สกินเนอร์ นักมานุษยวิทยาอเมริกันคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนที่ผู้รู้ในโลกยอมรับ ที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อปี 2551 ด้วยวัย 83 ปี

Advertisement

หนังสือเล่มนี้มีอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ มีอาจารย์นักวิชาการร่วมแปลมากมาย เช่น พรรณี ฉัตรพลรักษ์,ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ,ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข,ภรณี กาญจนัษฐิติ,ปรียา บุญญะศิริ,ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ ทั้งยังประกอบด้วยบทความพิเศษของอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล,สิทธิเทพ เอกสิทธิพงศ์ ดังนั้นจึงไม่ต้องคิดเรื่องคุณค่าและคุณภาพหนังสือว่าจะคับเล่มแค่ไหน

หนังสือเล่มนี้เปิดให้จองได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 เมษายน จากราคา 650 บาทเหลือเพียง 500 บาท กับงานค้นคว้าเกี่ยวกับไทยเราเอง

โดยจะเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนเป็นต้นไป

Advertisement

ไม่เร่งกันหาอ่านเพื่อเห็นภาพและทำความเข้าใจคงไม่ได้แล้ว

ผู้เขียนเข้ามาวิจัยเรื่องคนจีนในไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 โดยรวบรวมเรื่องคนจีนในอดีตแต่ก่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอ่าวไทย จนถึงไทยยุคต้นสงครามเย็น 2500 เพื่อวิเคราะห์ จำแนก และแจกแจงเรื่องคนจีนในไทยเวลานั้น ระหว่างที่คนจีนและประเทศจีนกำลังอยู่ในความสนใจของสหรัฐ

ข้อมูลค้นคว้าของผู้เขียน นอกจากได้เห็นการวิเคราะห์และคำอธิบายว่า คนจีนถูกกลืนเป็นคนไทยอย่างไรแล้ว ยังได้เห็นข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะข้อมูลร่วมสมัยของผู้เขียนเอง ไม่ว่าสถิติตัวเลขคนจีนในไทย ข่าวหนังสือพิมพ์จีนในไทย การกระจายตัวและชุมชนคนจีนในพื้นที่ต่างๆทั่วไทย หลักฐานเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย เศรษฐกิจไทย และประเด็นสังคมอื่นๆ

สำหรับนักวิชาการไทย เช่น อาจารย์วรศักดิ์ อาจารย์สิทธิเทพ และอาจารย์ชาญวิทย์แล้ว ต่างออกปากคนละคำได้เพียงว่า “คลาสสิค” กับ “ทรงคุณค่า” และ “แปลกใจ ประทับใจ” เท่านั้น

อย่าพลาดทีเดียวเชียว


๐ เมื่อจะรู้จักคนจีนในไทย ซึ่งมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ เพื่อเข้าใจปัจจุบันแล้ว การเข้าใจปัจจุบันอีกมุมกว้างมุมหนึ่ง ก็คือเข้าใจประวัติศาสตร์ตัวเองก่อนจะเกิดมาเป็นรัฐชาติ ก่อนจะหวงแหนกันเอาเป็นเอาตายปัจจุบัน ที่มาของเราเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ตำราประวัติศาสตร์กล่อมเกลาให้เราเชื่อมาตลอดไหม

ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน หนังสือโดยอาจารย์ วิชญา มาแก้ว จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ราชภัฏเชียงใหม่ ที่อาจารย์ สรัสวดี อ๋องสกุล เขียนคำนำให้คิดว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมของล้านนา วิเคราะห์พลังการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เป็นเพราะพระบรมเดชานุภาพ อาณาจักรจะรุ่งเรืองหรือเสื่อมสลายขึ้นอยู่กับกษัตริย์ แนวทางวิเคราะห์เช่นนี้ ละเลยบทบาทของสามัญชนคนชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้รากฐานของอาณาจักร”

ดังนั้น ในคริสตศตวรรษที่ 14-16 ของล้านนา ผู้เขียนจึงนำผู้อ่านย้อนวลากลับไปยังดินแดนที่หุบเขาและสายน้ำยังอุดมสมบูรณ์ ให้เห็นสามัญชนทั้งหลายร่วมกันสร้างยุคสมัยอันรุ่งเรืองด้วยการค้า

ล้านนาอันเป็นแหล่งทรัพยากรป่าที่สำคัญ เปิดประตูรับยุคการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตัวขึ้นจากเครือรัฐต่างๆในดินแดนหุบเขาทางเหนือของไทย แม้เป็นรัฐตอนในที่ไม่ติดทะเล แต่อาศัยเครือข่ายระหว่างเมืองและรัฐต่างๆในการกระจายสินค้ากับทรัพยากรจากหุบเขาไปสู่เมืองท่าชายฝั่ง เพื่อส่งออกตลาดการค้าใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประกอบกับโครงสร้างสังคมและการปกครองของล้านนา ที่เอื้อให้ชนชั้นล่างหรือไพร่ในการผลิตและทำการค้า จนไพร่เหล่านี้บางส่วนกลายเป็นพ่อค้า ช่างฝีมือ และบางคนในกลุ่มเหล่านี้สามารถสะสมทุนได้จากการค้าที่รุ่งเรือง กระจายความมั่งคั่งผ่านการหาทุนสร้างวัด ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และการค้าอีกต่อหนึ่ง

๐ ที่กล่าวแนะนำมาดังกล่าวนั้น จึงเป็นหนังสือที่จะเผยบทบาทสามัญชนต่อเศรษฐกิจการค้าของล้านนาในยุคทอง ทั้งเป็นหนังสืออีกเล่ม ที่หากใช้คู่กับเล่มก่อนหน้าข้างต้น ถ้ามีนักเขียนที่รักการค้นคว้าผู้เปี่ยมความคิดจินตนาการกว้างไกล ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการสร้างนิยายอิงประวัติศาสตร์ชั้นเยี่ยมขึ้น ก็อาจได้งานสนุกน่าอ่าน มีกลเม็ด ชั้นเชิง จากข้อมูลเท็จจริงหลายประการที่เพิ่มความน่าเชื่อถือแก่รสชาติขึ้นได้ เช่นที่นักเขียนฝรั่งหรือจีนค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ของตนเขียนนิยายดีๆ ให้เราได้อ่านกันมาแล้วยาวนาน แต่นักเขียนย้อนโลกอดีตเช่นนี้ของเรายังมีน้อยเหลือเกิน ในการนำผู้คนและสังคมให้เข้าใจที่มาตนเองทางอ้อมได้โดยไม่รู้ตัว อย่างที่บ้านเมืองอื่นทำมาอย่างสม่ำเสมอ เช่นตัวอย่างใกล้ที่สุดคือ หนังชุดเกาหลีที่เราติดตามกันอย่างงมงายเหล่านั้นเอง

นั่นคือการศึกษาตัวเอง ศึกษาประวัติศาสตร์ทางอ้อม ที่ได้ผลยิ่ง

การเรียนรู้ที่สนุกสนานเพลิดเพลินนี้จะเห็นได้ดังตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งของ กิมย้ง คือ เพ็กฮ้วยเกี่ยม เทพบุตรงูทอง ที่แปลโดย จำลอง พิศนาคะ หรือในชื่อ เพ็กฮ้วยเกี่ยม กระบี่เลือดเขียว โดยนักแปลมือทอง น.นพรัตน์ ซึ่งกล่าวถึงขุนพลคนสำคัญคนหนึ่งในสมัย หมิงซือจง ฮ่องเต้ ก่อนทัพแมนจูจะเข้าด่านมาล้มล้างราชวงศ์ นามตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า อ้วงชงฮ้วง โดยกิมย้งเชิดชูว่าเป็นยอดขุนพลผู้ต่อต้านทัพแมนจูของ หวงไท่จี๋

แต่ในภาคแรกของ จอมทัพพลิกแผ่นดิน ของแพนด้าสีเทา ฮุยสงเมา ซึ่งแปลโดย น.นพรัตน์เช่นกัน กลับกล่าวถึงขุนพลคนเดียวกัน ซึ่งเรียกโดยสำเนียงจีนกลางว่า หยวนฉงหวน นั้น เป็นขุนพลที่ไม่รู้กลการศึกโดยสิ้นเชิง แม้จะทิ้งประเด็นให้ผู้อ่านขบคิดเองจากภาพที่เสนอพฤติการณ์ขุนพลผู้นี้ในนิยาย ว่าเป็นคนขายชาติสมคบแมนจู หรือเป็นผู้ไม่เดียงสาในการรบก็ตาม แต่สมมติฐานของผู้เขียน ก็เนื่องมาจากที่เคยศรัทธาในขุนพลดังกล่าวโดยเฉพาะจากงานที่กิมย้งเชิดชู แต่เมื่อค้นคว้าศึกษาลึกลงไปและผ่านการถกเถียงมากมาย กลับเห็นร่องรอยพิรุธต่างๆในประวัติศาสตร์ จนต้องเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมานอกเหนือความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานาช่วงปลายราชวงศ์หมิง

นี่คือความสนุกสนานของการเรียนประวัติศาสตร์จากนิยาย ที่มีนักเขียนชั้นดีสร้างสรรค์งานประเทืองสมองให้อ่าน

๐ จากยุคทองของล้านนา สมควรอ่านหนังสืออีกเล่มต่อจากนั้น กาดก่อเมือง : ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา โดยอาจารย์ประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ วราภรณ์ เรืองศรี ที่มุ่งชี้ให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าในล้านนาก่อนยุคเทศาภิบาล ว่าไม่อาจแยกจากเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งสามารถอธิบายกระบวนการก่อรูปของรัฐจารีตและการสร้างเสถียรภาพภายในอาณาจักร ผ่านการกลายเป็นศูนย์กลางการค้าได้ทางหนึ่ง

ผู้อ่านจะได้เห็น 1.ผู้คนและการค้า พื้นที่การค้า บริบทและการเปลี่ยนแปลง ผู้คนไม่อาจแยกจากตลาด และประวัติศาสตร์ไม่เคยแยกจากผู้คน 2.ขึ้นดอย ลอยห้วย ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม การค้า และการแลกเปลี่ยน องค์ประกอบการตั้งเมือง การก่อรูปของรัฐ การค้าทางบก ส่วย สินค้าและผู้คน การค้าทางน้ำกับลำน้ำสายสำคัญ
3.ตลาดและเส้นทางการค้า ทางหลักทางรอง การขยายเครือข่าย การแข่งขัน เมืองและตลาด ไฉนเส้นทางเปลี่ยน 4. สินค้า เงินตรา และเครือข่าย โยนกเชียงแสนกับเครือข่ายสินค้าตอนบน หริภุญไชยกับเครือข่ายการค้าเมืองท่า รายการสินค้า 5. คนกับชีวิตในตลาด ตลาดคือพื้นที่การเรียนรู้ วรรณกรรมและเรื่องเล่าถึงผู้คน 6.ระหว่าง 2442 กลุ่มชนชั้นนำใหม่ การเมืองของสยามในล้านนา เงี้ยวก่อจลาจล ความขัดแย้งทางความคิด ผลิตเพื่อขาย

แต่ละเรื่องน่ารู้ชวนสนใจจริงแท้

๐ อ่านงานหนักๆ เอาจริงเอาจังเพื่อรู้จักตัวเองมาสามเล่ม กับนิยายแปลกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ชั้นเยี่ยมอีกสองเรื่อง ก็ต้องปิดท้ายด้วยนิตยสารบันเทิงปัญญาฉบับครอบครัว  ฉบับไปแก้มา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน – ฮะฮา

อ่านปฏิบัติการกระชับพื้นที่ สลายรีเดม และการกลับมาของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านมาตรการปราบเข้มกับปรากฏการณ์ 17 มีนาคม อ่านศึกแก้รัฐธรมนูญ ศึกสามก๊ก กับฝ่ายค้านใต้ระบอบ 3 ป.

อุบัติเหตุทำ กม.ประชามติสะดุด เนติบริการเปิดทางออก ห้ามคว่ำ,ทัพไทยโยนหิน แผนส่งออกทหารม้า เสือป่า แก้ปมเสือข้ามห้วย,ลากไส้ขบวนการขวางประชาธิปไตย อยากสืบทอดอำนาจชัดเจน “กลัวถูกเช็คบิล” จะสู้ระบอบเผด็จการอย่างไร,จับชีพจรฤดูท่องเที่ยวไทย ยื้อลมหายใจธุรกิจ เร่งฉีดวัคซีน,ธนาคารใหญ่ มุมมองและชีพจร,

นิธิเขียน สามเกลอ กรุงเดียว,ณัฐพลเขียน “เจ้าแดง” ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ, ชาตรีเขียน วัฒนธรรมการขนส่งสาธารณะในสังคมไทย,มงคลเขียน เมื่อผมฉีดวัคซีนโควิด 19 ในอเมริกา,สุรชาติเขียน การเมืองเมียนมา การทูตไทย, เกษียรเขียน การเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา,ญาดาเขียน พร้อมเพย์ พร้อมพัง,อาจารย์นิตยายังเขียน ภาษาไทยกับเทคโนโลยี ฯลฯ

อ่านวันนี้ รับมือสถานการณ์ดีถึงวันหน้า แต่ยังต้องระวังไวรัสมากๆ อย่าเผลอประมาททีเดียวเชียว


———————-
บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image