ตู้หนังสือ : 80 ปีอาจารย์ชาญวิทย์ 62 ปีเอี้ยก่วยเจ้าอินทรี

ตู้หนังสือ : 80 ปีอาจารย์ชาญวิทย์ 62 ปีเอี้ยก่วยเจ้าอินทรี

หากมิใช่ผู้ใฝ่รู้ หากมิใช่ผู้ใฝ่รักการถ่ายทอด หนังสือเรื่องเดิมเรื่องเดียวหรือชุดเดียว ไฉน เสถียร จันทิมาธร จึงอ่านแล้วอ่านอีกซ้ำถึง 4 สำนวนแปล เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสาระ หรือถ้อยความรายละเอียดทั้งที่เหมือนและแตกต่าง สู่ผู้อ่าน เพื่อความเข้าใจและเห็นภาพงานชิ้นนั้นรอบด้าน นี่ย่อมเป็น “วิถีคุรุ” ที่แท้ คุรุที่ปรารถนาจะแบ่งปันความรู้รอบที่ศึกษามาแก่ผู้สนใจเรียน

​โดยเฉพาะการศึกษา “วิถีแห่งอำนาจ” อันมีรูปลักษณ์ที่ละม้ายและผิดแผกนานากับอิทธิพลซึ่งมีต่อผู้คน ให้เห็นแจ้งและสามารถแยกแยะ “วิถีแห่งอำนาจ” ต่างๆรอบตัว

หลังจากถ่ายทอด วิถีแห่งอำนาจ ซุนยัดเซ็น ชาวจีนแคะ ผู้นำการปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พันปีของจีน มาสู่ระบอบสาธารณะรัฐ ให้พ้นจากภาวะที่ถูกเหยียดหยามว่าเป็น “คนป่วยไข้แห่งเอเชีย” โดยบรรดามหาอำนาจตะวันตกที่ย่ำยีข่มเหง ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 อันละเอียดละออ เร้าใจ จากการเล่าเรื่องที่กระชับ ตื่นเต้น เห็นภาพ

​ผู้เขียนก็หันมาจับตัวละครที่อาจเรียกได้ว่า มีผู้คนรู้จักมากที่สุดในโลกตัวหนึ่ง เพราะที่ใดในโลกมีคนจีน ที่นั้นย่อมมีอมตะนิยายของ กิมย้ง (จินหยง) ทองธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ที่เพิ่งจากไปเมื่อ 3 ปีก่อนด้วยวัย 94 ปี ซึ่งประเมินกันว่า งานที่ตีพิมพ์เผยแพร่(โดยเฉพาะหากรวมงานละเมิดลิขสิทธิ์) อาจขายไปได้ถึงพันล้านเล่ม จากนิยาย 14 เรื่องกับอีก 1 เรื่องสั้น

Advertisement

ตัวละครนั้นคือ เอี้ยก่วย ที่ผู้เขียนมานะอ่านงานแปลของ จำลอง พิศนาคะ (ผู้นำ มังกรหยก สู่โลกนักอ่านสยาม)ในชื่อ “มังกรหยก ภาค 2” งานแปลของ ว.ณ เมืองลุง ในชื่อ “อินทรีเจ้ายุทธจักร” งานแปลของ น.นพรัตน์ ในชื่อ “เอี้ยก้วยเจ้าอินทรี” และงานแปลของ คนบ้านเพ ที่ว่ากันว่า เก็บตามต้นฉบับทุกเม็ดในชื่อ “จอมยุทธอินทรี” ครบสี่สำนวน

​ลองคิดดูว่าหากมิใช่ผู้ใฝ่รู้ ผู้รักการถ่ายทอด ยังจะอุตสาหะได้ถึงขนาดนี้ และมิใช่เพียงสี่สำนวนนี้เท่านั้น บรรดางานหลากหลายซึ่งกล่าวถึงมังกรหยกภาคนี้ ก็ถูกเสาะหาค้นคว้ามาประกอบให้รอบด้านด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากพูดถึง “วิถีแห่งอำนาจ” โดยยี่ห้อ “เสถียร” แล้ว มิใช่เพียงแต่ตะบันทีเดียวลงหลุม (โฮล อิน วัน – hole in one) แต่เป็นทั้งหมดหรือครบหมดในเล่มเดียว (โฮว์ล อิน วัน – whole in one) ด้วย กำไรนักอ่านเห็นๆ ซื้อเล่มเดียวแต่ได้เพิ่มมาอีกหลายเล่ม ในงานซึ่งเปี่ยมรายละเอียดและความคิดคับคั่งถึง 624 หน้า

Advertisement

​ไม่ว่านักอ่านหรือนักดูหนังชุดตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ย่อมรู้จักเอี้ยก่วยเป็นอย่างดี ตัวละครที่สุดแสนน่ารักที่ โกวเล้ง นิยมชมชอบที่สุดนี้ มีรักมั่นรักเดียว รักไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่า เซียวเหล่งนึ่ง จะสูงวัยกว่า มีราคีโดยไม่รู้ตัว อุปสรรคขวากหนามมากมาย จนแม้ต้องรอถึง 16 ปีก็ยังอดทน กระทั่งยอมโดดหน้าผาลงไปหาโดยไม่คิดถึงความเป็นตาย

โกวเล้งกล่าวไว้ใน “ว่าด้วยบู๊เฮียบ” ว่า เมื่อเซียวเหล่งนึ่งออกปากยก ก๊วยเซียง แก่เอี้ยก่วย เพราะคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสมหลายประการดังกล่าวมา แล้วเรื่องจบลงอย่างนั้น “ข้าพเจ้าคงโกรธจนกระอักเลือดแน่ๆ”

​เอี้ยก่วยเกิด 2502 ปีนี้ก็ 62 แล้ว จอมยุทธกำพร้า พเนจร เหลือแขนข้างเดียว กบฎต่อธรรมเนียมสังคม อยู่กินกับอาจารย์ สุดท้ายร่วมมือกับอา ก๊วยเจ๋ง ขับไล่ศัตรูผู้รุกรานแผ่นดิน วิถีอำนาจเอี้ยก่วยเล่มนี้แม้มิใช่ต้นฉบับนิยาย แต่เหมือนต้นฉบับนิยาย ทั้งเพิ่มเติมแง่มุมของนักอ่านนิยายเข้าไปอีกมากมายหลายด้าน

เหง่ยคัง นักเขียนนิยายเจ้าของ เดชไอ้ด้วน นักเขียนบทภาพยนตร์ นักวิจารณ์ เพื่อนสนิทกิมย้ง ผู้จัดเรียงลำดับความยอดเยี่ยมของงาน 15 ชิ้นจนเป็นที่กล่าวขวัญ พูดประโยคลือลั่นประโยคหนึ่งว่า “ไม่ได้อ่านงานกิมย้ง คือความสูญเสียใหญ่หลวงในชีวิต”

​ดังนั้น วิถีแห่งอำนาจเอี้ยก่วย จึงไม่สมควรพลาดอย่างยิ่ง


​๐ หนึ่งในสี่วรรณกรรมจีนระดับโลก สามก๊ก เป็นหนังสือเล่มหนาโดย หลอกว้านจง แต่เป็นหนังสือเล่มซึ่งมีคนพูดถึงและเขียนถึงทั่วโลกในสารพัดแง่มุม รวมกันแล้วหนาหรือวางตั้งเรียงกันสูงกว่าต้นเรื่องไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ที่เขียนเป็นนิยายเพิ่มจากต้นฉบับอิงประวัติศาสตร์เดิมไปไกลก็มี เช่น นิยายซึ่งเนรมิตตัวละครแหวกแนวขึ้นใหม่ ๐จารชนสามก๊ก๐ เล่มนี้ ที่เขียนขึ้นจากมุมซึ่งไม่เคยปรากฏ คือเรื่องของบรรดาสายลับนักสืบ อันจำเป็นยิ่งยวดยามสงคราม กลายเป็นนิยายรสชาติใหม่ที่ทำให้ฉากเดิมตื่นเต้นสนุกระทึกใจเพิ่มขึ้น

จารชนสามก๊ก เล่ม 1 ของ เหอมู่ ตอน “การศึกที่เขาเตงกุนสัน” ผ่านไปด้วยความเพลิดเพลินของนักอ่านแล้ว จึงมาถึง จารชนสามก๊ก เล่ม 2 ตอน “เมฆหมอกเกงจิ๋ว” เมื่อขงเบ้งจับมือกังตั๋งโดยจิวยี่ผู้บัญชาการภาคใต้ของซุนกวน ทำยุทธนาวีผาแดงเซ็กเพ็ก ฝั่งใต้แม่น้ำแยงซี จนโจโฉแตกทัพเรือสูญเสียรี้พลมหาศาล หนีกลับขึ้นเหนือ เล่าปี่ซึ่งมีกำลังเพียงหมื่นกว่าคนกับสองหัวเมืองเล็กๆจึงคิดรุกคืบหาเกงจิ๋วเพื่อเอาเป็นฐานที่มั่น หวังจะมุ่งต่อไปเสฉวน เช่น ปฐมกษัตริย์ฮั่นโกโจเคยทำเมื่อสี่ร้อยปีก่อนหน้า แต่โจหยินยังตั้งมั่นอยู่ และจิวยี่ก็คิดเช่นเดียวกัน การเดินหมากนอกกระดานในพื้นที่รบ จึงเครียดเขม็งด้วยการหยั่งท่าทีกันและกัน ไม่มีใครอยากเพลี่ยงพล้ำ

​เหล่าจารชนจึงต้องทำงานกันเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย กับสถานที่ซึ่งเกิดสำนวนจีนที่คนจีนต้องรู้จักคือ “เล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว ไม่ยอมคืน” ที่มีบรรยากาศงานใต้ดินอันแปลกออกไป ชาญ ธนประกอบ ยังแปลอย่างเข้าอกเข้าใจ เผ็ดร้อนกลมกล่อมอย่างกับพริกเสฉวนทีเดียวเชียว

๐ และในวาระฉลอง 80 ปีอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งพากเพียรทำงานวิชาการเปิดหูเปิดตาสังคมมาตลอด ย่อมมีหนังสือดีๆมาเสนอเพื่อยืนยันว่า ความรู้ฤาแล้ง แหล่งสยาม เล่มแรกคืองานที่ไม่ยอมถูกทำให้ลืมว่าเคยปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ดังปรารถนาของชนชั้นผู้สูญเสียประโยชน์

ประวัติการเมืองสยาม พ.ศ.2475-2500 งานที่ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงนับแต่การปฏิวัติสยาม โดยมุ่งอธิบายเหตุปัจจัยตลอดจนความหมายต่อเหตุการณ์และปรากฏการณ์สำคัญๆทางการเมือง มากกว่าเพียงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้ช่วงเวลาศึกษาจะครอบคลุมเพียง ๒๕ ปี คือยุคคณะราษฎร (2475-2500) และยุคคณะรัฐประหาร (2470-2500) แต่ก็ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยจากสมัยปฏิรูปการปกครองประเทศตามแบบตะวันตกในรัชกาลที่ 5 ทั้งให้แนวคิดต่อการเข้าใจพลังทางสังคมที่ก่อเป็นพลังมหาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยภาพรวม เป็นประวัติการเมืองไทยยุคใหม่ ที่มีความต่อเนื่องยาวนานกว่าศตวรรษจากปี 2435 จนปัจจุบัน

​จึงสรุปการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยได้ว่า เป็นผลจากการต่อสู้และพลังนอกระบบราชการ โดยมีมหาอำนาจจากภายนอกเป็นปัจจัยแทรกแซงที่สำคัญ

๐ จากนั้นจึงต้องย้อนอ่านที่อาจารย์ชาญวิทย์กับอาจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เขียนถึง 2475 การปฏิวัติสยาม กับ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติใน ปฏิวัติ 2475 เพื่อเข้าใจและเห็นภาพการปฏิวัติอย่างครอบคลุม เห็นระบอบรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น เห็นกองทัพสยาม และรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กับรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ว่าหลังจากนั้น เกิดปฏิปักษ์ปฏิวัติต่อมาอย่างไรจนเดี๋ยวนี้


​๐ กับหนังสืออีกเล่มและเหตุการณ์ที่พยายามทำให้ถูกลืม โดยไม่พยายามพูดถึง ทั้งต่อสาธารณะและในตำราเรียน ก็คือ ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้เขียนมากหลาย เนื่องมาจากเป็นการรวบรวมหนังสือเก่า บทความเก่าใหม่ และบทกวีเก่าใหม่ในช่วงเหตุการณ์และรอยต่อ มาไว้ในที่เดียว เพื่อรำลึกเหตุการณ์การเมืองที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นกลางกรุง 4 ครั้ง

​เหตุการณ์เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรรมรัฐ” ที่ใช้กำลังกระทำต่อประชาชนด้วยความรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธสงคราม ทั้งเหตุการณ์ที่ถูกตอกย้ำและเหตุการณ์ที่ทำให้ถูกลืม ราวกับเป็นเหรียญด้านเดียว จึงเป็นอดีตที่ต้องเรียนรู้อย่างสำคัญ

​จากบรรดาผู้เขียน เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์, เสน่ห์ จามริก, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, สุรินทร์ มาศดิตถ์, เบเนดิก แอนเดอร์สัน, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ฉลอง สุนทราวาณิชย์, นฤมล ทับจุมพล, วีระ สมบูรณ์, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, วัฒน์ วรรลยางกูร

​สมควรต้องหาอ่าน อย่ายอมถูกทำให้ลืม


​๐ สุดท้ายเป็นนิยายแปลญี่ปุ่นที่อาจอนุมานเอาสภาพการเมืองไทยอันมึนงง หลงทิศหลงทาง และสภาพแวดล้อมอันรุนแรงเข้าเทียบเคียง เป็นงานของนักเขียนผู้มีสาวกติดตามอุ่นหนาฝาคั่ง ๐ฮะรุกะ มุะระกะมิ๐ ปกแข็งเรื่อง บันทึกนกไขลาน ร่วมกันแปลโดย นพดล-จินตนา เวชสวัสดิ์ งานที่สรุปภาพได้ว่า

​เป็นผืนผ้าใบสี่มิติที่กว้างไพศาล จากก้นบ่อน้ำแห้งสงัด ถึงกระดิ่งเลื่อนหิมะในไซเบอร์สเปซ จากกล่องน้ำหอมในถังขยะ ย้อนเวลาถึงการแล่หนังมนุษย์ทั้งเป็นในแมนจูเรีย แะการสังหารหมู่เฟอะฟะในสวนสัตว์ซินเกียง จิตรกรแต้มเหตุการณ์ทีละจุด ทีละสี ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง เลอะเลือนมืดมนเหมือนเดินทางในเขาวงกต

จะต้องถอยห่างเพียงใดจึงเห็นภาพทั้งหมดได้ จะต้องย้อนเวลาไกลแค่ไหน กี่ทศวรรษ ก่อนถือกำเนิดมาเป็นตัวตน จึงเติมเศษเสี้ยวชีวิตให้ครบถ้วนได้ ทางเลือกอีกสาย คือเดินดุ่มไปในเขาวงกต ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ไม่ว่าชอบหรือชัง คำตอบรออยู่ในนั้นอย่างพร้อมมูลแล้ว หากผู้ใดเป็นคนเดียวที่ได้ยินเสียงนกไขลาน

​โฆษณาราวบทกวีที่อ่านไม่รู้เรื่องแต่ฟังไพเราะเช่นนี้ ต้องหาอ่านแล้วล่ะ ช้าไม่ได้


​๐ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวที่พลาดไม่ได้เช่นกัน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับแสงทะลุกำแพง ยามที่เยาวชนคนหนุ่มสาวได้รับการประกันตัวจากที่จับกุมคุมขัง ยุคสมัยของการปะทะทางความคิด ความรุนแรงที่ยังไม่จบสิ้น และการต่อสู้ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์หมู่คณะ ฯลฯ

จะได้รู้ว่าหลังไปยาลใหญ่ ยังมีอะไรติดตามมาอีก.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image