ตู้หนังสือ : ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ สยามสู้จักรวรรดินิยม โดย บรรณาลักษณ์

กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 กระบวนการศึกษาไทยที่ต้องให้ประชากรรู้จักตัวเองจากการเรียนประวัติศาสตร์ ไม่อยู่ในความคิดของฝ่ายบริหารบ้านเมือง นอกจากยัดเยียดความคิดชาตินิยมใส่สมองผู้คนชนิดไม่ลืมหูลืมตา เพื่อประโยชน์ในการปกครอง เพ้อฝันถึงความยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมี สร้างอาณาจักรเสมือนจริงขึ้นในตำราหวังกล่อมนักเรียนนักศึกษาให้ลุ่มหลงงมงาย โดยมีเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายคอยต่อกร

แต่มนุษย์เป็นเพศพันธุ์ที่เติบโตจากการเรียนรู้ มิได้เติบโตจากสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แม้จะมีคนประเภทไม่อยากรู้ หรือพอใจจะรู้แค่เขาเล่ามาอยู่มาก ที่ใช้ชีวิตเพียงกิน นอน สืบพันธุ์ แต่ความจริงที่ผ่านมาก็คือโลกเคลื่อนไปข้างหน้าได้ก็จากฝ่ายที่เป็นเพศพันธุ์แห่งการเรียนรู้ ถึงจะมีฝ่าย “ล่าแม่มด” ที่มืดบอดทางปัญญา คอยขัดขวางทำร้ายถึงขนาดฆ่าฟันมาทุกยุคทุกสมัยก็ตาม

แต่ก็ยุติหรือจำกัดการแสวงความจริงของมนุษย์ด้วยกันไม่ได้

เมื่อหาความรู้ในห้องเรียนไม่ได้ ก็ต้องหาจากนอกห้องเรียน

Advertisement

• การเอาตัวรอดจากการรุกรานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบรรดาชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกสมัยล่าอาณานิคม ซึ่งนักเรียนนักศึกษาไทยควรได้ความรู้อย่างแตกฉานจากห้องเรียน เนื่องจากเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากสมัยเก่าสู่สมัยใหม่ แต่ไม่ได้ จึงต้องอาศัยงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งปรับมาเป็นหนังสือบนแผง หรืองานเขียนของเหล่านักวิชาการ ที่ต่างมีความชำนาญเฉพาะด้าน ถ่ายทอดหลักฐานให้ศึกษาค้นคว้า

ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดินิยมบุกอุษาคเนย์ โดยอาจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ กับ วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ หัวหน้างานจดหมายเหตุศิริราช มหิดล เป็นหนังสืออีกเล่มที่ต้องเรียนรู้

ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 มิได้เป็นเพียงยุคของการค้า การพระศาสนา หรือการรักษาความมั่นคงภายในแต่เพียงนั้นไม่ เพราะยังเป็นยุคที่ต้องเผชิญภัยคุกคามครั้งสำคัญครั้งแรกๆ จากจักรวรรดินิยมอังกฤษ เจ้านโยบาย “เรือปืน” ที่ใช้เป็นกำลังบังคับ มหาอำนาจตะวันตกชาติแรกที่ขยายแสนยานุภาพมายังภาคพื้นอุษาคเนย์ในศตวรรษที่ 19 โดยมุ่งหมายจะยึดครองให้สิ้นทั้งเส้นทางการค้า และเข้าเป็นเจ้าของดินแดนอันอุดมด้วยทรัพยากรกับแรงงานมหาศาล

Advertisement

ราชอาณาจักรอังวะเผชิญสงครามต่างสมรรถนะการสู้รบซึ่งไม่อาจคาดฝันถึง ที่สั่นคลอนบ้านเมืองและขวัญกำลังใจคนอย่างใหญ่หลวง ขณะที่ราชอาณาจักรสยามในรัชกาลที่ 3 นั้น ตื่นตัวทุกวิถีทางในอันจะรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการข่าวที่แม่นยำ การวิเคราะห์จากประสบการณ์ยาวนาน และแน่นอน ด้วยพระอัจฉริยภาพของสายพระเนตรอันยาวไกล ในการต่างประเทศที่รู้เท่าทัน ดังบั้นปลายพระชนม์ชีพที่ทรงตรัสไว้ว่า

ต่อไปนี้ “การศึกข้างญวนข้างพม่าไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างฝรั่งต้องระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว”

ทรงเตือนไว้ครบ 170 ปีเต็มๆ ปีนี้แล้ว แต่ที่ดีๆ ของเขามีเรียนกันสักเท่าไหร่ (ระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น) ขณะมีแต่ที่หลงนับถือเลื่อมใสฝรั่งกันไปหมด จนลืมตัวเอง ทิ้งตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองก็มีความคิดความสามารถเหมือนกัน

ทรงเตือนไว้แล้วแท้ๆ นี่นะ ความเป็นไทย รักภูมิปัญญาไทย

หนังสือเล่มนี้ให้ภาพรัชสมัยพระนั่งเกล้าฯกับบทบาทของสยามอีกด้านที่ไม่ค่อยเห็นกัน อันเป็นทักษะการต่างประเทศ ด้านภูมิปัญญา แสดงสติปัญญาต่อรองกับมหาอำนาจตะวันตกผู้มีกำลังอย่างสามารถ

และที่พลาดไม่อ่านด้วยไม่ได้คือ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ประทานนิพนธ์คำนำเสนอทีเดียวเชียวนะ

• จากเล่มนั้นจึงมาถึง สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม เต็มๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จากแผนที่และภาพถ่ายโบราณหายาก เพื่อรู้เรื่องจักรวรรดินิยมและการเสียดินแดนปลายศตวรรษที่ 19

ตั้งแต่ภาค 1 นักสำรวจหรือหัวขโมย เมื่อนักสำรวจฝรั่งเศสผู้ขนย้ายสมบัตินครวัดบอกว่า ไม่ได้ขโมยแต่เพื่อ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” กับ “ยืมเอาไปแสดงที่ปารีส” (2 ตอน) ภาค 2 แผ่นดินของใคร 1.รัฐสุวรรณภูมิตามทรรศนะฝรั่ง 2.เบื้องหลังแผนที่กรุงสยามฉบับแรก จากฐานข้อมูลที่มิใช่ของคนไทย 3.รัชกาลที่ 5 ทรงชิงชันแผนที่ส่งเดชของฝรั่งเศส 4.ราชสมาคมภูมิศาสตร์ แผนยุทธศาสตร์สูตรสำเร็จของนักจักรวรรดินิยม 5.ตามหาแชงกรี-ลา เป้าหมายสุดท้ายของนักล่าเมืองขึ้น และภาคสุดท้าย เรื่องสำคัญ เมกะโปรเจ็กต์ เส้นทางรถไฟไปจีนซึ่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางรถไฟ “สายนิรนาม” ของสยามที่ไม่อยู่ในประวัติรถไฟไทย

เห็นไหมว่าไม่มีอะไรใหม่ คิดกันมาตั้งแต่ก่อนโน้นแล้ว ก่อนที่ลาวจะเปิดเส้นทางลาวจีนขบวนแรกไปยูนนาน เดือนธันวาคมนี้

• หนังสือการเมืองต่างประเทศที่น่าอ่านเล่มหนึ่ง เพื่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์กว่าครึ่งศตวรรษเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนรุ่นพ่อกับรุ่นเรายังไม่ลืมแต่อาจต่างความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน : ประวัติศาสตร์ชาติไต้หวัน เขียนโดย เซียะฮั่วหยวน กับ ไท่เป่าซุ่น และ โจวเหม่ยลี่ ร่วมกันพากย์ไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับ อัครวัฒน์ ศิริพัธนโชค และ โทนี่ ซู

เพื่อย้อนดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน เป็นมาอย่างไร ใช่พี่น้องเชื้อชาติเดียวกันจริงหรือไม่ ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนจริงไหม ทั้งติดตามดูว่าผู้คนบนเกาะนี้สร้าง “ความเป็นไต้หวัน” และ “สำนึกแบบไต้หวัน” ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันอย่างไร

อ่านความคิดเพ้อฝันเกี่ยวกับจีน, สัมพันธ์เริ่มแรกของสองฝ่าย, จากเจิ้งเฉิงกงสู่ญี่ปุ่นปกครอง, ลักษณะชาติพันธุ์ของชาวไต้หวัน, สังคมและวัฒนธรรมไต้หวัน, การก่อรูปอัตลักษณ์ไต้หวัน, สถานะไต้หวันในกฎหมายระหว่างประเทศ, ไต้หวันต้องเลือกเส้นทางตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเกาะนี้และจีนดีขึ้น

• มาถึงยุคออนไลน์ ยุคไซเบอร์สเปซ กันแล้ว หากยังไม่รู้เรื่องแนวทางเศรษฐศาสตร์บ้าง ก็คงเหนื่อยยากกับอนาคต ซึ่งการทำมาหากินเปลี่ยนแปลงไป เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม : เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ที่มองคนไปไกลกว่าสัตว์เศรษฐกิจ เขียนโดย ริชาร์ด เอช.ทัลเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน และนักพฤติกรรมศาสตร์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจบูธแห่ง ม.ชิคาโก ซึ่งเผยแพร่งานทำนองนี้ออกมาหลายเล่มจนเป็นที่รู้จักทั่วไปแล้ว ช่วยกันแปลไทยโดย ศรพล ตุลยเสถียร กับ พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล

เพื่อให้หนทางเราพัฒนาทฤษฎีบรรดาที่มีอยู่ ในการปรับปรุงนโยบายสาธารณะให้เกิดประโยชน์ยิ่งยวดแก่ผู้คนจริงๆ ไม่ใช่มนุษย์สมมุติในทฤษฎี ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกร่วม ไม่เกี่ยวกับเรา

คำถามคือ ถ้าตลาดมีประสิทธิภาพจริง อย่างที่มักยืนยันกัน ทำไมวิกฤตการเงินจึงเกิดขึ้นเสมอ ทำไมเราต้องแพ้ “ป้ายลดราคา” ไปเสียทุกที-เออ และทำไมต้อง “เบรกแตก” ทุกครั้งที่กินของโปรด หลักเศรษฐศาสตร์มักอยู่บนฐานเชื่อที่ว่า มนุษย์มีเหตุผล แต่หลายครั้งหลายหน มนุษย์มักมีพฤติกรรม “ขาดสติ” ขาดเหตุผลอย่างเหลือเชื่อไปได้

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกนำผลวิจัยจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ จนเห็นพฤติกรรมจริงๆ ของมนุษย์ ว่าขัดกับสมมุติฐานทั่วไปของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าคนมีเหตุผลและเห็นแก่ตัว เช่น เรายอมเสียประโยชน์เพื่อลงโทษคนที่เอาเปรียบผู้อื่น หรือ “เงินของเจ้ามือ” ทำให้เรากล้าเสี่ยงมากขึ้นในการพนัน

นี่เป็นหนังสือซึ่งให้ประโยชน์จริงกับเราและบรรดาผู้บริหารสังคม

• อีกเล่มซึ่งเหมาะจริงยามนี้สำหรับทั้งนักเขียนและนักอ่าน จากรูปแบบของเรื่องที่เล่ากันปากต่อปาก ถึงอักษรบนหน้ากระดาษ ที่กลายไปเป็นจอโทรทัพท์มือถือ เรื่องเล่าที่เรียกกันว่า วรรณกรรม

วรรณกรรม : ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ โดย จอห์น ซุทเธอร์แลนด์ แปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ จะนำท่องอาณาจักรวรรณกรรมอันงดงามของเหล่านักเขียนเอก ซึ่งมีฉากชีวิตเข้มข้นไม่แพ้งานประพันธ์ของตัวเอง เช่น ชะตาชีวิตของสามพี่น้องตระกูลบรอนเต ซึ่งรันทดกว่านิยายฟองสบู่ เรื่องของคาฟกาผู้ไม่ปรารถนาให้ผู้ใดอ่านงานของตน หรือเบื้องหลังคัมภีร์ไบเบิลพากย์อังกฤษที่แลกมาด้วยความตายของนักเขียนผู้ถูกเผาทั้งเป็น

นอกจากนี้ ยังนำเราไปหาแง่มุม “ระหว่างบรรทัด” ที่นักอ่านอาจไม่เคยสังเกตอย่าง ทำไมเรารู้สึกสนุกเมื่อดูโศกนาฏกรรม หรือการกำเนิดของนิยายเกี่ยวพันกับระบบทุนนิยมอย่างไร หรือนิยายยูโทเปีย กับดิสโทเปีย ทำนายสังคมมนุษย์ได้ถูกต้องหรือไม่

หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนสะพานเชื่อมโลกวรรณกรรมกับโลกความจริงเข้าหากัน เพื่อสำรวจบริบทต่างๆ ที่แวดล้อมวรรณกรรมอยู่ ทั้งชาติพันธุ์ สังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และตั้งคำถามชวนคิดว่า ที่ทางวรรณกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อชะตากรรมของวรรณกรรมไม่ได้อยู่ในมือผู้เขียนอีกต่อไป แต่อยู่ในมือนักอ่านอย่างเราท่านทั้งหลาย-โห, เป็นภาระอันยิ่งใหญ่

นักเลงวรรณกรรม วิญญูชนวรรณกรรม บัณฑิตวรรรกรรม วณิพกวรรณกรรม นักวรรณกรรมพเนจร เนติกรวรรณกรรม กระทั่งกรรมกรวรรณกรรม หรือกุลีวรรณกรรมทั้งหลาย ไม่น่าพลาด

• เราควรตายที่บ้านหรือโรงพยาบาล คำพูดแบบไหนเป็นคำพูดต้องห้ามสำหรับคนใกล้ตาย ผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึมเศร้าจริงไหม คนใกล้ชิดควรรับมืออย่างไร อะไรคือนิยามความตายที่ดี เราจะสร้างความตายที่ดีได้อย่างไร และจะก้าวข้ามความโศกเศร้าของการสูญเสียคนรักได้แบบไหน

วาระสุดท้าย : คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง ของ แซลลี่ ทิสเดล พยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ศึกษาพุทธนิกายเซน และนักเขียน แปลโดย ดลพร รุจิวงศ์ นำประสบการณ์หลายสิบปีที่ผ่านการตายของผู้คน มารวบรวมเป็นแนวปฏิบัติดัง “แผนที่” นำทางไปสู่วาระสุดท้าย อย่างเตรียมพร้อมทั้งผู้กำลังจากไปและผู้ใกล้ชิด โดยมีสติมั่นคง

หนังสือเล่มนี้ชวนเราพิจารณาความตายรอบด้าน ตั้งแต่ประเด็นถกเถียง เช่น การุณยฆาต ผ่านปรากฏการณ์ชวนพิศวงในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นใจ พบธรรมเนียมการฝังศพในหลายวัฒนธรรม เช่น การฝังศพบนฟ้าของทิเบต จนนวัตกรรมล้ำยุค เช่น ชุดฝังศพที่เร่งการย่อยสลาย หรือการไหว้หลุมศพเสมือนจริง – อืมมม

หนังสือสำหรับคนเยี่ยมไข้ เพื่อนใกล้ชิด ผู้ดูแล และใครก็ตามที่กำลังเผชิญการตายอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพบความตายอย่างซื่อตรง เพื่อทบทวนนิยามของชีวิต และเพื่อตระหนักถึงความหมายของการเป็นมนุษย์

• นิตยสารซึ่งแพร่หลายไม่เพียงแต่ในวงวิชาการ แม้นายทหาร นายธนาคาร ก็ยังติดตามอ่าน นอกเหนือจากคนรักเรียน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยืนยงเข้าปีที่ 42 แล้ว ฉบับล่า 11 กันยายน ว่าด้วย “กำเนิดคุกสมัยใหม่ในกรุงเทพฯ” จากการค้นคว้าของ ศรัญญู เทพสงคราะห์ ตั้งแต่บันทึกของไทยเองและชาวต่างชาติ ที่พูดตรงกันว่าคุกสยามสมัยก่อนแสนสกปรก เต็มไปด้วยปฏิกูล กลางวันใช้แรงงานนักโทษอย่างหนัก กลางคืนร้อยรวมกันแออัดด้วยโซ่ กว่าจะเริ่มปฏิรูปหลังรัชกาลที่ 5 เยือนสิงคโปร์ ชวา อินเดีย ปฏิรูปราชทัณฑ์สมัยใหม่ในกรุงเทพฯ

ยังมีเรื่องน่ารู้ เช่น ค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดี ขุนทัพพม่า ไปดูกันที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ เรื่องพระรูปทรงม้าที่เมืองเขมร เริ่มจากนโปเลียน แล้วไปรู้จักชีวิตพิสดารของ “อาจารย์เซ่ง” หมอดูลือชื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าดังขนาดไหน ยังมีตำนานพระแก้วมรกต จากเอกสารล้านนาสู่รัตนโกสินทร์ ให้ศึกษาอย่างมีโยนิโสมนสิการในประวัติศาสตร์ มิใช่ด้วยอคติชาตินิยม

• อีกสัปดาห์หนึ่งผ่านไป เมื่อไหร่จึงจะอยู่กินและทำมาหารับประทานกันได้อย่างที่เห็นจากการถ่ายทอดสดกีฬาต่างประเทศ ซึ่งผู้คนชมกีฬากันได้แน่นสนาม นั่งไหล่ชนไหล่ ไม่คาดหน้ากาก ทั้งที่การติดเชื้อยังแพร่อยู่มาก แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยลงแทบจะถึงที่สุด

ข่าวว่า วัคซีนฝรั่งทำมาหาเงิน เลี้ยงไข้ไวรัสคนทั่วโลกให้ฉีดกันไปเรื่อยๆ นี่ – ยังไง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image