สำรวจงาน Matichon Bookmark 2021 หนังสือเล่มไหนพลาดไม่ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สำนักพิมพ์มติชนได้จัดงาน Matichon Bookmark 2021 #คั่นไว้ในใจเธอ โดยมีสำนักพิมพ์ชั้นนำหลายแห่งเข้าร่วม นำหนังสือมาจำหน่ายในราคาพิเศษลด 20-90 % ที่มติชนอคาเดมี โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน และเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. นั้น ในวันนี้ (6 พฤศจิกายน) ยังคงมีนักอ่านให้ความสนใจมาเลือกซื้อหนังสืออยู่ตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่าแต่ละสำนักพิมพ์นำหนังสือมาเสนอให้นักอ่านในหลากหลายประเภท อย่างไรก็ดีเมื่อขอให้แต่ละแห่งเลือกแบบจำกัด คือเพียง 1 เล่มที่ไม่อยากให้นักอ่านพลาด นายมณฑล ประภากรเกียรติ รักษาการรองผู้อำนวยการและผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ก็เลือก ‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา’ โดยผู้เขียน อภิชาต สถิตนิรามัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ โดยให้เหตุผลว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เข้าใจรากเหง้าของอำนาจ ระบบเศรษฐกิจและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ให้รายละเอียดตั้งแต่ช่วงก่อนปี พ.ศ.2475 ที่ระบบเศรษฐกิจอยู่ในมือของคนชั้นสูง และแม้คณะราษฎรจะเข้ามาปฎิรูปเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด แต่จนถึงปัจจุบันก็ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก

“นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เกือบจะ 100 ปีก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก ทุกอย่างยังเอื้ออยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพออ่านแล้วมันจะตอบโจทย์ว่า เมื่อเรามีรัฐบาลที่มีความมั่นคง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ก็จะสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าได้ และมันน่าจะดีขึ้นขนาดไหน”

Advertisement

สำหรับหนังสือที่นายจรัญ หอมเทียนทอง ผู้จัดการสำนักพิมพ์แสงดาวแนะนำ คือ ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต’ ของสุพจน์ ด่านตระกูล ที่นำคำพิพากษาและคำฟ้องที่ปรากฏเป็นหลักฐานมานำเสนอ

“ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือเป็นหนังสือที่มิได้มีความเห็นของผู้เขียน เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการเข้าใจกรณีสวรรคต เล่มนี้น่าอ่านที่สุด เป็นกลางที่สุด และเขานำคำพิพากษามาลงให้เห็น ว่าสิ่งที่ทุกคนเคยกล่าวหาใคร สุดท้ายแล้วเป็นยังไง”

ขณะน.ส.ฤทหัยรัตน์ นันต๊ะ กราฟฟิคสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ แนะนำ ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ โดยนิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวต่างชาติที่ศึกษารายละเอียดเชิงลึก ให้รู้จักการ์ตูนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

ด้านน.ส.เดือนนภา สุรามิตร ผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์แอร์โรว์ เลือก ‘แผนที่ร่างกายมนุษย์’ ที่ศจ. เคน แอชเวลล์ เขียน แปลโดยภญ. น้ำทิพย์ พันธุ์อนุกูล ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกการทำงานของร่างกาย ให้รู้ว่าอวัยวะต่างๆมีบทบาทอย่างไรในการทำงาน เพื่อเราจะได้รู้จักร่างกายของเราได้ดีขึ้น

สำหรับสำนักพิมพ์เลเจ้นด์ บุ๊คส์ น.ส.ศิริธาดา กองภา บรรณาธิการ ไม่อยากให้พลาด ‘ขัปปะ’ นิยายที่เขียนโดยอะคุตะคะวะ ริวโนะสุเกะ ที่สะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดในจิตใจมนุษย์

“จากความเห็นแก่ตัว ความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นยุคนั้น ทำให้ตัวละครเอกตัดสินใจหนีออกจากสังคม จนพลัดเข้าไปอยู่ในดินแดนของขัปปะ ซึ่งตามตำนานญี่ปุ่น ขัปปะเป็นสัตว์ประหลาดที่น่าเกลียด น่ากลัว แต่ตัวละครกลับพบว่าขัปปะมีความจริงใจ เมตตา และน่าเชื่อถือกว่ามนุษย์เสียอีก เป็นเรื่องเสียดสี และชี้ให้เห็นว่าจริงๆมนุษย์เราต้องไม่มองกันที่ภายนอก เพราะคนที่ดูดี บางทีก็ร้าย”

ฝั่งนายวิลาศ วศินสังวร บรรณาธิการเอิร์นเนสต์ พับลิชชิ่ง แนะนำ ‘กำเนิดกระแสเกาหลี The Birth of Korean Cool’ ที่เขียนโดย Euny Hong แปลโดยวิลาส วศินสังวร โดยว่า จากการที่วัฒนธรรม K-pop กลายเป็นวัฒนกรรมกระแสหลักที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก หนังสือเล่มนี้จะตอบถามว่าทำไมเกาหลีถึงสามารถพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด

“กำเนิดกระแสเกาหลีทำให้เราเห็นว่า การพัฒนาประเทศต้องเกิดจากการวางยโยบายระยะยาว และภาครัฐเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน ซึ่งพอหันกลับมามองบ้านเรา ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ถ้าเรายังไม่มองวัฒนธรรมเป็นสินค้าหลัก เราไม่มีทางพัฒนาประเทศในแบบที่เกาหลีทำได้เลย หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม จะเป็นติ่งเกาหลี หรือไม่ติ่งเกาหลี ก็ควรอ่าน”

นางปรียา พุทธประสาท ผู้จัดการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม แนะนำ ‘กองโจรของเชอร์ชิล’ ที่ Giles Milton เขียน แปลโดยนพดล เวชสวัสดิ์ เรื่องราวเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอังกฤษตั้งองค์กรลับเพื่อรับมือกับเยอรมัน

“เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุก ลุ้นไปกับการชิงไหวชิงพริบของตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง” นางปรียากล่าว

ในส่วนนายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี แนะนำ ‘ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า’ ของสุกัญญา หาญตระกูล ด้วยเหตุผลว่าเป็นงานสารคดีที่หาได้ยากในบ้านเรา เนื้อหาเป็นเรื่องกึ่งอัตชีวประวัติของครอบครัวชาวจีนซึ่งอพยพมาอยู่เมืองไทย

“เรื่องน่าสนใจและถือเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของคนที่มีพื้นเพ มีบรรพบุรุษที่อพยพมาแบบนี้ และยังสะท้อนมุมมองเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าว เรื่องกิจการโรงสีที่ครอบครัวเขาทำ ที่ผ่านมาเรามักจะมีมุมของชาวนา นี่เป็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีคนเขียนถึง และยังพ่วงไปกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยด้วย เพราะผู้เขียนเล่าถึงประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งของบ้านเรา คือเขาเล่าประวัติศาสตร์ครองครัวก็จริง แต่ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัวเท่านั้น เป็นเรื่องราวของสังคม ของประเทศที่มีแทรกอยู่”

นายณัฐกร วุฒิชัยพรกุล กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ เวิร์ดส์วอนเดอร์ แนะนำ ‘มิสต์บอร์น จักรวรรดิไฟนอล’ วรรณกรรมแนวแฟตาซี เรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้กับเผด็จการ เขียนโดย Brandon Sanderson ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ

สำหรับนายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการสํานักพิมพ์ต้นฉบับ แนะนำ ‘สมุดภาพกรมการปกครอง’ ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพถ่ายเก่าของข้าราชการกรมการปกครอง เช่น นายอำเภอ ปลัดอำเภท กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีอยู่จำนวนมาก เป็นภาพตั้งแต่ราวปี 2460  จนกระทั่งถึง 2510 ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

นายชิตพล จันสด ผู้จัดการฝ่ายขายสำนักพิมพ์ยิปซี แนะนำ ‘SAPIENS เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ตั้งแต่ยุควานร กำเนิดมนุษย์ การดิ้นรนต่อสู้ ความขัดแย้ง ความร่วมมือ กระทั่งถึงปัจจุบัน

น.ส.ลลิตา ลิมปปโภชน์ ฝ่ายขายสำนักพิมพ์ P.S. แนะนำ ‘Be Fairy, Be Real’ ผลงานของ ‘ปัฐน์’ นักเขียนใหม่ lgbtq+ ที่เล่าเรื่องของเหล่าตัวละครสายมูที่เปี่ยมไปด้วยความรักและความหวัง

ด้านนายวรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บทจร ไม่อยากให้พลาด ‘รักเมื่อคราวห่าลง’ นิยายที่เขาบอกว่าจะทำให้ทุกคนกลับมาครุ่นคิดเรื่องความรักด้วยสายตาที่หลากหลาย

“จะได้เห็นความรักหลายรูปแบบ คู่รักที่อยู่กินกันเป็นเวลานาน รักแบบในนิยายที่เหมือนอัศวิน รักที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือความรักชั่วคราว มีอะไรเต็มไปหมดในนั้นและเขียนด้วยอารมณ์ขัน”

ฝั่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น น.ส.สุภาณี เงินครีดี หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่าย แนะนำ ‘THE LOST FAIRY หลง เงา รัก’ งานเขียนของชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง ที่เล่าเรื่องราวอันสะท้อนให้เห็นประเด็นเรื่องความไม่มั่นใจในรูปร่าง ความรู้สึกผิดต่อการกิน ปัญหาสากลของผู้หญิงทุกวันนี้

ขณะที่นายปรัชญ์ สืบสันติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์เป็ดเต่าควาย แนะนำ นิทานภาพ ‘หมูบินได้’ โดยองอาจ ชัยชาญชีพเรื่องของหมูที่คิดว่าตัวเองน่าจะบินได้ เพราะมีปีกงอกติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่สังคมหมูไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้ดำเนินรอยตามหมูตัวอื่นๆทั่วไป หนังสือเล่มนี้เคยได้รางวัลเซเว่น บุ๊คส อวอร์ด และนำกลับมาพิมพ์ใหม่ในโอกาสครบรอบ 20 ปี

สำหรับหนังสือจากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นางอัญชลี ตุ้มสุภาพ ฝ่ายขาย แนะนำ ‘ประวัติการเมืองไทยสยาม 2475-2500’ ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงนับแต่สมัย 2475 โดยมุ่งอธิบายสาเหตุปัจจัย ตลอดจนให้ความหมายต่อเหตุการณ์และปรากฏการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองไทย มากกว่าที่จะเพียงนำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้นและเกิดขึ้นเมื่อไหร่

“ปัจจุบันพิมพ์เป็นครั้งที่ 8 แล้ว โดยเล่มนี้คนอ่านส่วนใหญ่คือนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่ระยะ3-4ปี ที่ผ่านมากลุ่มคนอ่านกลับอายุน้อยลง เป็นกลุ่มนักเรียน ม.ปลาย-ม.ต้น ที่ให้ความสนใจกันมาก”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image