ฉ้อฉลเชิงอำนาจ-นโยบายประชารัฐ-ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประเด็นสำคัญไม่ควรพลาดใน “ระบอบลวงตา”

 

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ หยิบจับเรื่องสำคัญมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “Behind the Illusion ระบอบลวงตา” อันเป็นผลงานเล่มล่าสุดของเธอ โดยในหนังสือเล่มนี้สฤณีพูดถึง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใหญ่ อาทิ คำสั่งจำนวนมากของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ยังมีผลบังคับอยู่และถูกรองรับโดยรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประเทศได้ดำเนินการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วการฉ้อฉลเชิงอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่ขั้นกว่าของคำว่า “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

เรื่องของ “ประชานิยม” อันประจักษ์เด่นชัดผ่านนโยบาย “ประชารัฐ” ต่างๆ 

เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่สฤณีบอกว่าลวงตาสังคมอยู่ และสิ่งสำคัญที่ควรต้องทำคือการสร้างมายด์เซ็ต ให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิที่เท่าเทียมในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   

Advertisement

ส่วนเรื่องความยากจนนั้น สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญคือ ส่วนแบ่งรายได้และส่วนแบ่งความมั่งคั่งระหว่างกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 10% หรือ 1% กับกลุ่มคนที่อยู่นอกเหนือจากนั้น ซึ่งสัดส่วนของ Top 10% หรือ Top 1% นั้นพบว่าสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งนั่นคือข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ว่าความเหลื่อมล้ำเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ

สฤณียังเสนอความเห็นว่าเรื่องที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ ระบบเศรษฐกิจและอำนาจของกลุ่มทุนที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง เพราะตลอด 7 – 8 ปีที่ผ่านมาในระบอบประยุทธ์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากอีกอย่างหนึ่งคือ ความแนบแน่นของระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง ซึ่งสิ่งนี้ชัดเจนว่าผลประโยชน์ตกอยู่ที่กลุ่มทุนใหญ่

Advertisement

 

แม้แต่เรื่อง “ไอโอ (IO)” ก็เป็นส่วนหนึ่งของการฉ้อฉลเชิงอำนาจเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนเห็นได้ชัดคือไอโอจากข้าราชการและกองทัพ แม้ว่ากองทัพจะออกมาให้เหตุผลว่า นั่นคือการอบรมปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งรับมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งสงครามเย็น สิ่งที่ควรถูกตั้งคำถามกับกองทัพว่า ณ วันนี้ ภัยคุกคามของประเทศคืออะไร ในเมื่อประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้การอบรมปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารอย่างช่วงสงครามเย็น ที่ไทยใช้เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามจากภายนอกประเทศแล้ว 

ความคิดที่ว่าประชาชนในประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจเป็นภัยคุกคามประเทศ นั่นเป็นเรื่องที่ผิด และยังน่าเศร้ามากที่ไอโอของกองทัพถูกใช้กับประชาชน 

ทั้งนี้ในปัจจุบันหลายประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบไอโอของไทย ยังมีการกำหนดชัดเจนในกฎหมายว่า ห้ามกองทัพใช้ไอโอกับประชาชน เนื่องจากประชาชนไม่มีวันเป็นภัยคุกคามของชาติได้ แต่ประเทศไทย ไอโอนับเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบอำนาจนิยม ซึ่งไม่มีความชอบธรรมในหลักการใดๆ

สฤณียังบอกด้วยว่า กลุ่มคนที่เธออยากสื่อสารผ่านหนังสือเล่มนี้มากที่สุด คือกลุ่มบุคคลที่เชื่อมั่นในระบบอำนาจนิยม ว่าจะทำให้ชาติเจริญและพัฒนามากขึ้น คนที่เกิดในยุคก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งออกมาต่อต้าน “ทุนสามานย์” ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ต่อต้านประชานิยม ต่อต้านการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งทั้งหมดที่กลุ่มคนเหล่านี้ต่อต้านยังคงไม่หายไป และหลายอย่างยังมีวิวัฒนาการมากขึ้นในระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบันในทางที่แย่ลงกว่าเดิมแต่มองเห็นได้ยากขึ้นเหมือนเป็นภาพลวงตา

ท้ายที่สุด สฤณียังคงย้ำว่า มี 3 มายาคติที่ชัดเจนมากในหนังสือ “Behind the Illusion ระบอบลวงตา” มายาคติแรกคือคนเราไม่เท่ากันเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกหลงลืมไปจากสังคม ต่อมาคือเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งสามารถเป็นภัยคุกคามได้ นับเป็นมายาคติที่อันตรายมาก เช่น การบังคับใช้มาตรา 112 การบังคับใช้กฏหมายยุยงปลุกปั่น อย่างเหตุการณ์การชุมนุมหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมายาคติในเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่การออกมาแสดงความคิดเห็น นำมาสู่การปิดปากเสียงที่ไม่เห็นด้วยอย่างไม่ถูกต้อง และทำให้สังคมมีความอดทนอดกลั้นน้อยลง ซึ่งความอดทนอดกลั้นและความเห็นต่างคือหัวใจสำคัญในสังคมประชาธิปไตย และมายาคติสุดท้ายคือปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเมื่อหลายครั้งที่พูดถึงการคอร์รัปชั่น สังคมมักมีธงกับนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันการคอร์รัปชั่นไม่ได้มีเฉพาะในนักการเมือง เราต้องตั้งคำถามกับนักธุรกิจ หรือแม้แต่สถาบันต่างๆ อาทิ องค์กรอิสระ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นหนึ่งในวงจรการฉ้อฉลก็ได้

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้มีรายละเอียดชวนให้อ่านอยู่พร้อมใน “Behind the Illusion ระบอบลวงตา” 

 

 

เรื่อง : ภีมรพี ธุรารัตน์

ภาพ : สุทธิพจน์ เพชรแสน / ธนศักดิ์ ธรรมบุตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image