ตู้หนังสือ : ไทยทำไทยไม่ใช้ เงินไทยทูนให้ต่างชาติ โดย บรรณาลักษณ์

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คนไทยจำนวนไม่น้อย เพิ่งได้ยินชื่อบริษัท “ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์” ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ของ “มาดามรถถัง” นาง นพรัตน์ กุลหิรัญ ว่าได้ส่งมอบรถเกราะยาง 15 คันแก่ประเทศภูฏาน เพื่อไปประจำการที่สหประชาชาติ

ยังเพิ่งรู้ต่อมาว่า บริษัทนี้ตั้งมาแต่ปี 2506 โน่น และเริ่มค้ากับกองทัพไทยในปี 2511 โดยทำสัญญาซ่อมบำรุงรถ ค้าขายอะไหล่ และซ่อมรถทั้งรถจิ๊บ รถบรรทุกทหาร รถกู้ซ่อม รถถังจีน รถถังอเมริกัน รถเกราะยาง รถข้อต่อสายพานตีนตะขาบ มายาวนานถึง 54 ปีแล้ว ซ่อมกระทั่งสามารถผลิตช่วงล่างของรถถังขายตรงกับกองทัพทั่วโลกไปได้ถึง 44 ประเทศ

และซ่อมจนสามารถผลิตรถเกราะยางกันกระสุน กันระเบิด ที่ออกแบบได้เองขึ้นมา ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนผลิต และซ่อมได้เองอย่างที่บริษัททำ

แต่เมื่อปี 2562 กองทัพไทยต้องไปอยู่งานรักษาสันติภาพในเซาธ์ ซูดาน ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ บริษัทออกแบบรถเกราะพยาบาลที่ช่วยคนได้คราวละมากๆ แต่กองทัพไทยบอกว่าไม่มีเงินซื้อ บริษัทก็ให้กองทัพไปใช้ไม่ต้องเสียเงิน แต่กองทัพก็ไม่รับ บอกว่าไม่มีกฎหมายรองรับ “มาดามรถถัง” จึงได้แต่เสียใจ เพราะทุ่มเทคิดสร้างรถเกราะพยาบาลที่ยังไม่มีใครผลิตขึ้นมาให้ใช้

Advertisement

แต่กองทัพไทยปฏิเสธที่จะใช้

ชาวบ้านทั้งหลายที่ได้รับ ได้ยินข่าวสารจึงได้แต่งงงวย ทางหนึ่งก็ดีใจที่ไทยก็มีความสามารถที่ไม่เคยได้รับรู้เป็นเรื่องเป็นราว (ประเทศเพื่อนบ้านยังรู้ และยังเคยติดต่อซื้อใช้) ทางหนึ่งก็ได้แต่คิดประสาไม่รู้กฎหมายว่า บ้านเรามีอย่างนี้ด้วยหรือ มิน่า คนรุ่นใหม่ถึงบอกว่า อย่างนี้บ้านเรามี อย่างนั้นบ้านเราก็มี – เออ, จริง

มีที่เพื่อนบ้านอารยประเทศเขาไม่ค่อยมีกันทั้งนั้น

Advertisement

ซื้อเขาดีกว่าใช่ไหม ใช้ภาษีชาวบ้าน ใครๆ ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมต้องซื้อ แล้วปากก็บอกชาวบ้านว่า ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ

• มาถึงวันนี้แล้ว ไม่ใช่ไม่ตระหนัก แต่เพราะโลภ โกรธ หลง บังตาบังใจ เห็นชัดเจนจากวิกฤตโรคระบาดแล้วว่า ใครเป็นผู้นำเทคโนโลยี วิทยาการทางแพทย์ ผู้นั้นก็กอบโกยทรัพย์สินเงินทองทั้งโลก แทนที่จะทุ่มเทกับงานวิจัยเพื่อจะเป็นเจ้าของวิทยาการ เจ้าของลิขสิทธิ์ ก็ได้แต่ตามขอซื้อคนอื่นเขา ให้นักวิทยาศาสตร์ไทย นักวิชาการไทย หมอไทย ที่มีสติปัญญาดิ้นรนก๊อกๆ แก๊กๆ ไป แทนที่จะเป็นเจ้าของความคิดเอง มีทรัพยากรพืชพันธุ์สมุนไพรเองก็รักษาไม่ได้ ญี่ปุ่นไม่มีหญ้าก็มาซื้อหญ้าไทยไปผลิตยา ไทยผลิตไม่ได้เพราะเขามีลิขสิทธิ์ แต่ใช้ข้าวของของเราทำ

อีกหน่อย ทั้งทุเรียน ทั้งลำไย ที่ตอนนี้ยังขายดิบขายดี แต่พันธุ์ดีๆ ยอดเยี่ยมงามๆ หลุดออกไปข้างนอกแล้วเท่าไหร่ ไม่ใช่ไม่รู้ ปิดตาข้างเดียวบ้างสองข้างบ้าง พอจีนหรือเวียดนามเขาพัฒนาพันธุ์ได้คุณภาพเมื่อไหร่ ก็ค่อยล้อมคอกผุๆ กันอีกที

• บ้านเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และอาจเป็นครัวโลกได้จริง แต่ไม่ใช่ให้นายทุนมั่งคั่งเกษตรกรยากจนเช่นทุกวันนี้ มีรัฐบาลไหนบ้างที่ปกป้องพัฒนาทั้งผลิตผลและคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างจริงจัง มุ่งมั่น ในระยะยาว เหมือนอย่างญี่ปุ่นที่แค่อำเภอแค่จังหวัด แต่เขาก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองและชุมชนได้อย่างผาสุกมีคุณภาพ

หนทางเจริญเติบโตทางการเกษตรยังไปได้อีกยาว เห็นหนังสือส้มสูกลูกไม้บนแผงแล้ว รูปการณ์เหมือนกับชาวบ้านช่วยให้ความรู้ชาวบ้านด้วยกันมากกว่ารัฐจะเป็นผู้อุดหนุนส่งเสริม ดู ลำไยนอกฤดูยุคใหม่ 5 ภาค แนวทางเพื่อเกษตรกรและผู้ประกอบการที่พบปัญหาต่างๆ ได้รวบรวมเทคนิควิธีเพิ่มผลผลิต และได้มาตรฐานส่งออก ด้วยการปลูกระยะชิด ควบคุมการแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก จนถึงจัดการหลังเก็บเกี่ยว ทั้งการปลูกนอกฤดู การแปรรูปเมื่อล้นตลาด โดยความรู้จากคุรุด้านลำไยทั้ง 4 ภาค มาเปิดเผยอย่างไม่ปิดบัง

อภิชาติ ศรีสอาด กับ พัชรี สำโรงเย็น ช่วยกันรวบรวมความรู้มาให้

ยังมี มะนาวนอกฤดู คู่มือการปลูกมะนาวอย่างมืออาชีพ โดยอภิชาติกับ ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์ มาพร้อมเคล็ดลับมากมาย ตั้งแต่พฤกษศาสตร์ วิธีการปลูก การดูแล เทคนิคการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ พร้อมตัวอย่างสวนมะนาว และสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว คนรักมะนาวอย่าพลาด

ยังมี สับปะรด สุดยอดผลไม้ไทย ปลูกง่าย กำไรงาม หนังสือเด็ดจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน ซึ่งให้คุณประโยชน์นักอ่านมายาวนาน แค่ได้เรื่องสับปะรดก็คุ้มเวลาแล้ว สับปะรดศรีราชา พันธุ์ดั้งเดิมของไทย, สับปะรดสวี เสริมรายได้ในสวนยาง, สับปะรดห้วยมุ่นอุตรดิตถ์ หวานอร่อย ไม่กัดลิ้น, สับปะรด MD2 พันธุ์ใหม่ กลิ่นหอมเฉพาะ, สับปะรดตราดสีทอง สินค้าใหม่เข้าตลาดโลก ยังมีสับปะรดนครพนม สับปะรดภูเก็ต สับปะรดหนองพันธุ์จันทร์ ราชบุรี สับปะรดเพชรบุรี 1 ให้ความรู้ท้นทั้งปลูกส่งโรงงานปลูกลงกระถางในบ้าน และแปรรูป

แล้วยังจับตากระแสตลาดสับปะรดให้อีกด้วย

อีกเล่มจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมะละกอ พืชเศรษฐกิจ พิชิตทางรวย แม้ผู้อ่านที่เพียงอยากปลูกไว้กินสักไม่กี่ต้นในบ้าน ก็จะได้ความรู้ครบ ตั้งแต่แหล่งที่มา สารพัดพันธุ์ เช่น “แขกดำ” พันธุ์อเนกประสงค์ที่กินได้ทั้งสุกและดิบ “พันธุ์ครั่ง” ที่ใช้ตำส้มโดยตรง สร้างงานสร้างรายได้เป็นอย่างดี “แขกนวล” จากดำเนินสะดวก ผลสวย เนื้อกรอบ “ฮอลแลนด์” กับ “เร้ดเลดี้” ที่ปลูกขายกินสุกโดยเฉพาะ ยังมีเทคนิคการปลูก รับมือกับโรคพืช การแปรรูป ผลิตภัณฑ์เพิ่มรายได้ ถึงเส้นทางธุรกิจที่ควรรู้ประกอบผู้ทำกิจการอีกด้วย

นี่คือพืชใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดาเลย หากมีพื้นที่สักนิดลองคิดวางแผนเสริมดู

• จากนี้ก็อ่านเอาเรื่องกันสักหน่อย เข้าใจที่มาและความหมายของสถาปัตยกรรมโบราณ ผ่านหนังสือ ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของอาจารย์ เชษฐ์ ติงสัญชลี ซึ่งจะนำผู้อ่านรู้จักปราสาทในศิลปะต่างๆ ทั้ง เขมร จาม ทวารวดี ชวา พม่า พร้อมเนื้อหาซึ่งประกอบภาพงดงามทั้งเล่ม ให้เห็นปราสาทในดินแดนแต่ละพื้นที่ในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้อย่างชัดเจน ว่าได้รับการถ่ายทอด หรืออิทธิพลจากอินเดียใต้ตรงไหน อย่างไร ทั้งเปิดมุมมอง และให้ความรู้เรื่องปราสาทต่อยอดไปยังสถาปัตยกรรมโบราณอื่นๆ ได้อีกมาก

• หนังสือสนุกอ่านเองให้สำราญเป็นความรู้รอบด้าน โดยเฉพาะกับนักเลงนิยายจีนสารพัดประเภท หรืออ่านไว้คุยให้ลูกหลานฟังยามว่าง เทพนิยายจีนและตำนานพื้นบ้าน ฝรั่งช่วยกันเขียนคือ ริชาร์ด วิลเฮล์ม กับ เฟรเดอริก เอช. มาร์เทนส์ แปลโดย ชลลดา ไพบูลย์สิน

จีนเป็นแหล่งกำเนิดมนุษยชาติและอารยธรรมโบราณหลายยุคหลายสมัยแห่งหนึ่งของโลก ร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์พบที่นั่นมาร่วม 2 ล้านปี นอกเหนือละแวกลุ่มน้ำฮวงโหกับแยงซี ที่มีหลักฐานว่ามนุษย์ยุคดังกล่าวเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ มานาน

หนังสือเล่มนี้รวบรวม 74 เทพนิยายกับนิทานพื้นบ้านซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด เป็นที่รู้จักทั่วไปของชาวจีน ที่แสดงให้เห็นจินตนาการ การสร้างสรรค์อันน่าอัศจรรย์ เช่น วานรซุนหงอคง, นาจา, เหล่าเซียนทั้งหลาย บางเรื่องก็เป็นบทกวีไพเราะ เช่น หนุ่มเลี้ยงโคกับสาวทอผ้า, เทพีแห่งดวงจันทร์, ภูมิบุปผชาติ เทพนิยายเหล่านี้ให้ความเพลิดเพลินแก่คนทุกเพศทุกวัย ทั้งยังถูกนำมาเรียงร้อย บรรยาย เรียบง่าย กระชับ เพื่อให้ผู้อ่านมีความสุขเช่นเดียวกับบรรดาผู้เล่าซึ่งจดจำเรื่องสืบต่อกันมา

ในเล่มจะแบ่งประเภทเพื่อความเข้าใจชัดแจ้ง วรรณกรรมเทพนิยาย, ตำนานประวัติศาสตร์, ตำนานเทพเจ้า, นิทานสำหรับเด็ก, นิทานเกี่ยวกับผี, นิทานเทพและเซียน, นิทานธรรมชาติและสัตว์ เพื่อจำแนกเนื้อหามิให้สับสนปนเปกัน

• อ่านเอาเรื่องอีกเล่มเพื่อเป็นหลักในการเข้าใกล้วิถีสังคมประชาธิปไตยที่แท้อีกหน่อยคือ กฎหมายย่อมเป็นกฎหมาย? : ว่าด้วยสำนักกฎหมายบ้านเมืองสมัยใหม่ เขียนโดย ศศิภา พฤษฎาจันทร์ พูดถึงแนวความคิดทางกฎหมายของนักคิดในสำนักกฎหมายบ้านเมืองศตวรรษที่ 20 สองคนซึ่งมีชื่อเลื่องลือ

หากจะให้เห็นแนวทางของเนื้อหา และประโยชน์ต่อการเรียนรู้เรื่องนี้ ควรที่จะฟังจากนักกฎหมายไทยซึ่งเป็นที่รู้จักสักนามคือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ น่าจะดี

“ศศิมาสามารถถ่ายทอดแนวความคิดของนักคิดทั้งสอง ‘ฮันส์ เคลเซน’ และ ‘เอช.แอล.เอ.ฮาร์ท’ ออกมาได้อย่างน่าสนใจและชวนติดตาม ทำให้ผู้อ่านชาวไทยเห็นทรรศนะนักคิดในสำนักกฎหมายบ้านเมืองหลังยุค ‘จอห์น ออสติน’ ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคือ งานเขียนนี้น่าจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพของ ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ ว่า โดยเนื้อแท้แล้วสำนักความคิดนี้ไม่ใช่สำนักความคิดฝ่ายอธรรม เช่นที่ผู้เขียนคำนำเสนอใช้ความพยายามตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชี้ให้นักศึกษาเห็นประเด็นสำคัญนี้ เพราะที่สุดแล้ว ทรรศนะทางนิติปรัชญาแต่ละทรรศนะล้วนพยายามจะให้คำตอบว่ากฎหมายคืออะไร จากการอภิปรายโต้แย้งกันทางวิชาการทั้งสิ้น และผู้ศึกษาควรศึกษาความคิดของนักคิดแต่ละคนอย่างปราศจากอคติ เพื่อที่สุดจะได้มีทรรศนะที่รอบด้านและหนักแน่นเป็นของตนเอง”

ลองศึกษาดูว่าอธรรมหรือไม่อธรรม เพื่อจะมีทรรศนะเป็นของตนเอง

• หนังสือน่าอ่านวางแผงเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้เอง อาจารย์ฝรั่งเขียนถึงเมืองไทยที่แสนจะน่าสนใจคิดไตร่ตรอง โดยมีผู้ช่วยกันแปลถึง 6 นามทีเดียว

จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน ของอาจารย์ เครก เจ. เรย์โนลด์ส ผู้มีงานประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ช่วยเปิดมุมมองอดีตของสังคมไทยอย่างเฉียบแหลมด้วยสายตานักวิชาการที่ตั้งคำถามจากหลักฐานและสิ่งที่เกิดขึ้นให้เราคิด เช่น บทความที่ผู้เขียน คณะผู้แปล และบรรณาธิการ ได้ใช้เวลาถึง 5 ปีเพื่อจัดการหนังสือเล่มนี้ให้ลุล่วงด้วยคุณภาพซึ่งเพียบพร้อมที่สุด ด้วยเรื่องและเนื้อหาต่อไปนี้

“หลายชีวิต การทำงานของศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส แปลโดยอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ‘ลัทธิมาร์กซ์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย’ แปลโดยรวีตะวัน โสภณพนิช ‘ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้วิพากษ์ของท่าน และการวิพากษ์ใหม่’ แปลโดยตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ‘ศาสน์และศาสตร์เพื่อรักษ์สงบ’ แปลโดยอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ‘ชุมนุมเทวดาแห่งเมืองโบราณแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา’ แปลโดยชนิดา พรหมพยัคฆ์

‘เอกลักษณ์ของชาติไทยและผู้ปกป้อง’ แปลโดยพศุตม์ ลาสุขะ ‘เอกลักษณ์ในยุคโลกาภิวัตน์’ พศุตม์แปลอีก ‘สังคมชายล้วนในวัฒนธรรมการเมืองไทยสมัยใหม่’ แปลโดยปรีดี หงษ์สต้น ‘รากฐานทางสังคมของการปกครองแบบอัตตาธิปไตยในย่านนี้’ แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

เห็นแต่ละเรื่องต้องรีบหาอ่านแล้ว ดูว่าประชาธิปไตยโดยธรรมจะมีร่องรอยอนาคตให้เห็นหรือเปล่า

• สำหรับคนรักภาษาไทยเป็นเล่มส่งท้ายประจำสัปดาห์ วิเคราะห์คำยืมภาษาบาลีสันสกฤตในภาษาไทย โดย ชะเอม แก้วคล้าย คนปากพะยูน พัทลุง ผู้เชี่ยวชาญอักขระจารึกโบราณ มีผลงานอ่านและแปลจารึกในไทยจำนวนมาก ทั้งแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤต เป็นข้าราชการบำนาญซึ่งมีงานด้านภาษาและจารึกอยู่ตลอด เป็นผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร อาจารย์พิเศษ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในหลายหน่วยงาน วัย 80 ปีปีนี้แล้ว

งานเล่มนี้เป็นหนังสือนิรุกติศาสตร์ วิเคราะห์ศัพท์ ทั้งจากความรู้และประสบการณ์ตัวเอง กับที่เป็นข้อมูลรวบรวมจากปราชญ์เก่าก่อนทำไว้ด้วยกัน

เป็นหนังสือประโยชน์ตรง

• วันนี้ การทำมาหากินเริ่มมีช่องทางหายใจ ถนนมีรถราคับคั่งขึ้น คนได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก กำลังจะกินแดนลงถึงเด็กๆ ขณะที่การเมืองไทยแม้มีเลือกตั้งซ่อม ก็แทบเรียกว่าการเมืองไม่ได้แล้ว แต่เป็นการชักเย่อของบรรดาผู้กุมอำนาจที่ไม่ยอมไปกับสำนึกประชาธิปไตยที่ไม่เคยมี เพราะฉะนั้น ผลจึงสามารถคาดเดาได้ ว่าหากไม่มีกำลังประชาชน และกำลังตัวแทนประชาชน ช่วยลากดึงด้วย ก็คงยากที่จะไปได้

อะไรคือภาวะสุกงอมของสถานการณ์ – ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือ

เห็นๆ อยู่แล้วว่าไม่ใช่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image