ตู้หนังสือ : การเมืองอริสโตเติล ภาพเหมือนสุภาพสตรี โดย บรรณาลักษณ์

นักเขียนอังกฤษอเมริกันนามหนึ่ง ซึ่งถือเป็นนักเขียนอัตนิยมก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ผู้ซึ่ง ฮิวจ์ แกรนท์ ใน นอตติง ฮิล ระบุว่า จูเลีย โรเบิร์ตส์ นางเอกในหนัง น่าจะรับบทตัวละครของ เฮนรี เจมส์ สักเรื่อง จะเหมาะที่สุด

เฮนรี เจมส์ มักจะเขียนถึงตัวละครในโลกใหม่กับโลกเก่า ระหว่างอังกฤษกับอเมริกา การดิ้นรนต่อสู้จากความคิดที่ต้องการปลดเปลื้องธรรมเนียมคร่ำครึ สู่อิสระและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในยามที่โลกเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน

The Portrait of a Lady เดอะ พอร์เทรท ออฟ อะ เลดี้ หรือพากย์ไทยว่า ในภาพเธอ โดยนักแปล นักวิจารณ์ มือเที่ยง นพมาส แววหงส์ อันถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมของเจมส์ ที่นักอ่านนิยมกันมากที่สุด และนักอ่านทั้งหลายยอมรับว่า น่าจะเป็นงานชิ้นดีที่สุดของเขา ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2424 โน่นแล้ว เป็นการสำรวจจิตวิญญาณอันเข้มข้นของหญิงสาวผู้รักอิสรภาพ อันเป็นแบบอย่างของงานเขียนฝีมือชั้นครูแห่งศตวรรษที่ 19

เรื่องของสาวสวยอเมริกันที่เดินทางมายุโรปกับป้า โดยรู้ว่าไม่ช้าต้องแต่งงาน แต่เธอมีเข็มมุ่งของชีวิตอยู่แล้ว จากการปฏิเสธชายสองคน เธอได้พบกับจิตรกรอิตาเลียนฐานะปานกลาง ผู้อุทิศตนแก่งานศิลปะและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งภูมิฐาน ชาญฉลาดที่ทำให้เธอหลงรัก แต่ความรักนั้นมาพร้อมความโหดร้าย ซึ่งทำให้งานคลาสสิกชิ้นนี้ตั้งใจถ่ายทอดความรัก การแต่งงาน การทรยศหักหลัง และสำนึกอันขมขื่นรุนแรงของหญิงผู้โหยหาอิสระด้วยการปลดเปลื้องขนบพันธนาการเดิมของสังคม

Advertisement

ผู้แปลถ่ายทอดความงามจากผู้เขียนออกมาให้ได้ซาบซึ้งอิ่มเอมใจ

ยังสั่งจองหนังสือยอดเยี่ยมเล่มนี้ได้ในราคาพิเศษ 670 (840) บาท จนถึง 23 กุมภาพันธ์นี้ ที่เว็บไซต์ www.matichonbook.com ก่อนจะเริ่มทยอยส่งในวันที่ 10 มีนาคม ตามลำดับการโอนเงิน

• สองทศวรรษแรกแห่งศตวรรษที่ 21 การเมืองโลกเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตยสหรัฐคลอนแคลนไปพักหนึ่งด้วยพฤติกรรมความคิดของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ หนึ่งประเทศสองระบบของจีนผลักดันเศรษฐกิจขึ้นมา ทุนนิยมกำลังแกว่งให้เห็นการทำลายทรัพยากรโลกชัดเจน ความเชื่อทางศาสนาเริ่มผสมผสานความรู้โลกที่ผู้คนเสาะแสวงสิ่งดีๆ ต่างๆ ต่อตนเข้าด้วยกันได้ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งนั้นมาจากความเชื่อใด ลัทธิ ศาสนาแท้หรือเทียมแบบไหน

Advertisement

แต่พื้นฐานความคิดทางการเมืองเพื่อคนในสังคมยังมีหลักดั้งเดิมอยู่ เผด็จการก็ไม่เคยล้าสมัยตราบเท่าที่ผู้ถืออาวุธยังนิยมการควบคุมและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

โพลิติกส์ Politics หลักรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของกรีกโบราณยุคจักรวรรดิของ อริสโตเติล ยังใช้เป็นตำราเรียนรัฐศาสตร์กระทั่งปัจจุบัน

งานซึ่งแปลอย่างหมดจดเล่มนี้โดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์ สันนิษฐานว่าเป็นงานที่ปริมาณเหลือรอดมาเพียงหนึ่งในสาม มิได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นลักษณะงานที่บันทึกการบรรยายย่อๆ ซึ่งไม่ได้ตั้งใจเผยแพร่ต่อสาธารณะ พูดถึงระบอบการปกครองด้วยข้อมูลเหตุการณ์ความจริงในยุคสมัยของตน จากนครรัฐต่างๆ รวมถึงนครรัฐเอเธนส์ โดยอธิบายความเป็นมาของรัฐ ว่าเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ เริ่มจากปัจเจกบุคคล ขยายเป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง จนเป็นนครรัฐในที่สุด การอยู่รวมกันของมนุษย์จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักเหตุผลและความยุติธรรม นั่นคืออยู่ภายใต้กฎหมาย

ลองดูว่าความคิดนับพันปีมาแล้วเกี่ยวกับการปกครอง คนวันนี้ยังคิดได้ดีกว่า หรือถี่ถ้วนกว่าหรือเปล่า เช่น เรื่องครัวเรือนและนคร, การทบทวนเรื่องรัฐธรรมนูญ, ทฤษฎีความเป็นพลเมืองและรัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญที่เป็นจริงกับประเภทต่างๆ (คนฉีกรัฐธรรมนูญย่อมไม่สนใจ แต่เจ้าของรัฐธรรมนูญต้องสนใจที่จะดูแลชีวิตและคุณภาพของรัฐธรรมนูญ), สาเหตุการขัดแย้งเป็นก๊กเป็นเหล่า การเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญ (นี่ขนาดผ่านมา 2,400 ปีแล้ว ย่อมยืนยันได้ว่ารัฐธรรมนูญบางประเทศงี่เง่าขนาดไหน), วิธีสร้างประชาธิปไตยและคณาธิปไตย กับความเห็นเฉพาะต่อความมั่นคงพิเศษของมัน, อุดมคติทางการเมือง และหลักการทางการศึกษา, การฝึกฝนของคนหนุ่ม

เห็นได้ชัดเจนว่า คนสองพันปีก่อนใช้สมองเพื่อสังคมมากระดับไหน คิดก้าวหน้าเผื่ออนาคตอย่างไร คนเกิดหลังถึงสองพันกว่าปีที่ทำงานปกครอง และยังคิดไม่ได้ถึงส่วนเสี้ยวจะเรียกว่าอะไร ยิ่งกว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำอีกใช่ไหม

นี่เปรียบเทียบชนิดให้รู้เรื่องที่สุดแล้วแบบไม่ต้องด่ากัน จะเข้าใจหรือเปล่า

หนังสือเล่มนี้จึงช่วยให้เข้าถึงปัญญาอารยธรรมโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี

• ส่วนความเป็นมาของการเมืองไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเพียงชั่วอายุคนยังไม่ถึง 100 ปีดี แต่ความคิดทางการเมืองซึ่งครอบงำด้วยมายาคติต่างๆ ยังทำให้ทรรศนะที่ปรากฏมักเบี่ยงเบนไปจากความเหมาะควร หรือถูกแท้จากหลักการ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ที่เป็นปากคำของอดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เมื่อ 200 กว่าปีก่อน – เพี้ยนไปไกลสุดกู่

วันนี้จึงควรทบทวน ความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสยามไทย ของอาจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กันอีกหน จากบทความวิเคราะห์และตีความความคิดของไพร่กระฎุมพีกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะก้าวผ่าน จากสังคมเดิมมาสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ เพราะหากไม่เข้าใจ ก็คงยังหลงงงงวยและเห็นชอบอยู่กับระบอบเผด็จการประชาธิปไตย ปริ๊ด ปรี้ ปริ๊ด กันอยู่ไม่แล้ว

เราต้องศึกษาเรื่องจารีตของความคิดทางการเมืองไทย, ต้องรู้คุณธรรมในความคิดทางการเมืองตะวันตกก่อน, แล้วหันมามองมโนทัศน์คุณธรรมในความคิดทางการเมืองไทยจากยุคโบราณถึงสมัยใหม่, ดูบทเรียนการค้าเสรีกับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง, ดูบูรพาคดีศึกษาแบบสมบูรณาญาสิทธิ์กับหมอบรัดเลย์, แล้วศึกษาความจริงในศิลปะ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม, จึงถึงความคิดเรื่องทาสกับเสรีภาพชนชั้นนำสยาม, และคำถามสำคัญ – ทำไม “สิทธิ” ถึงต้อง “ขาด”,ก่อนมาถึงความคิดเศรษฐศาสตร์ยุคแรก และทุนกับแรง

กระทั่งถึงเทียนวรรณ นักหนังสือพิมพ์เสรีชนยุคแรก และเรื่องน่ารู้ตามมาอีกมาก ที่จะช่วยให้เห็นการเวียนว่ายของการเมืองไทยในเขาวงกตอันน่าสมเพช

• นามของปราชญ์ระดับโลก นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ นักเขียนรางวัลโนเบล เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ รู้จักกันดีในหมู่คนร่วมสมัยหลังสงครามโลกครั้งหลัง จะน่าสนใจขนาดไหน หากนักปรัชญานักคณิตศาสตร์จะเขียนนิยายให้อ่าน

แถมว่ากันว่า เป็นนิยายที่แสนจะทรงพลังยิ่งยวดเสียด้วย

เริ่มต้นด้วยการสมมุติสังคมอนาคต ผู้เขียนวาดโครงสร้างทางสังคมให้มีลัทธิความเชื่ออันน่าขบขัน วัฒนธรรมประเพณีที่ไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนทนยอมรับได้ กฎหมายไร้สาระ และศาสนาก็เจือยาพิษเป็นศรัทธาและอำนาจ

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ทันทีที่ตัวละครปรากฏ กลับมีบทบาทสมจริง มีอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่ถูกสร้างให้มีชีวิตขึ้นมา สิ่งไม่น่าเป็นไปได้ทั้งหลายเหล่านั้นกลับเป็นไปได้จนหมดสิ้น อย่างน้อยก็เป็นจริงขึ้นในโลกนิยาย มีผลกระทบต่อชีวิตที่ดำรงอยู่ในโลกนั้น แม้จะมีตัวละครที่ไม่เห็นด้วย แต่ตัวละครที่เหลือก็พร้อมจะปกป้อง รักษา สยบยอม และเอาชีวิตเข้ารับใช้รูปแบบค่านิยมเหล่านั้นอย่างเต็มใจ ด้วยความยินดี

ทั้งยังเป็นพฤติกรรมซึ่งมีเหตุมีผลเชิงปรัชญา อันเกิดจากข้อเท็จจริงที่มองเห็นอยู่ จนไม่อาจบอกได้ว่า นั่นเป็นสิ่งหลอกลวงที่มารองรับเสียด้วยซ้ำ

หนังสือเล่มนี้คือ ซาฮาโตโพล์ค (Zahatopolk) แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 เดือนที่แล้วนี้เอง หนังสือ 108 หน้าที่ให้การบ้านทำจนตาย

• หนังสือคิดไม่ถึงอีกเล่ม ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพชรน้ำงามของวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย ซึ่งพิสดารด้วยรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาอันชวนติดตาม จากการพูดถึงเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ที่สูญหายไป หายสาบสูญชนิดที่เราส่วนมากไม่รู้ถึงการมีอยู่เสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าเกาะ สัตว์ คฤหาสน์ วัยเยาว์ บทกวี คัมภีร์ ฯลฯ กับส่วนผสมน่าตะลึงสำหรับนักอ่านไม่ว่าขาจรหรือขาประจำ ด้วยการผสานข้อมูล เกร็ดประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ชีวประวัติ มาร้อยด้วยจินตนาการ โดยผูกเรื่องแต่งกับเรื่องจริงเข้าด้วยกัน มีตัวชูโรงให้เห็นเป็นปรากฏการณ์อันหลากหลายของการเสื่อมสลาย หายสาบสูญ กระจ่างใจ

เป็นหนังสือซึ่งหากไม่ได้อ่าน จะคิดไม่ถึงว่ามีงานเขียนเรื่องเหล่านี้ด้วยกลวิธีอันสามารถเช่นนี้ด้วย พาย้อนอดีต หาอนาคต เข้าป่า ลงหุบเขา ขึ้นดวงจันทร์ ให้ดูนามธรรมที่มองเห็น และรูปธรรมที่หายไป อัศจรรย์ใจเหลือกำลัง

หายสาบสูญ ของ จูดิธ ชลันสกี้ แปลโดย โปรดปราน อรัญญิก

บอกได้แต่ว่า – ต้องอ่าน

• ให้หนังสืออ่านเอาปฏิบัติหนึ่งเล่มของอาจารย์ นพดล ร่มโพธิ์ เพื่อค้นหาหรือเปล่งศักยภาพความคิดและการทำงานของทั้งตัวเองและองค์กรออกมาให้ได้เต็มความสามารถ ตรงความมุ่งหมายอย่างเหมาะเหม็งที่สุด นั่นคือ

Personal OKRs ชีวิตจะสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าวัดผลได้เป็นระบบ เพราะหากตั้งเป้าหมายในชีวิตด้วยเครื่องมือซึ่งวัดผลได้ ชีวิตย่อมประสบผลได้เช่นกัน

OKR คืออะไร โอเคอาร์ ย่อมาจาก “อ๊อบเจคถีฟ แอนด์ คีย์ รีซัลท์ส” (Objective and Key Results) หนึ่งในวิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ

แต่ใครที่พอรู้บ้างเกี่ยวกับการพัฒนาคนพัฒนาองค์กร อาจถามว่า แล้วโอเคอาร์นี่ต่างอะไรกับอีกเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันจากตัวย่อ KPI หรือ “คีย์ เพอร์ฟอร์มแมนซ์ อินดิเคเตอร์” (Key Performance Indicator) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดผลงานอีกตัว

ในที่นี้จึงอาจพอแยกแยะได้ว่า KPI จะตั้งโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะเป็นแนวคิดจากบนลงล่าง แต่ OKRs พนักงานจะมีส่วนร่วมวางเป้าหมาย ด้วยความคิดที่ผสมผสานกันของเหล่าผู้ปฏิบัติงาน

KPI คงรูปแบบตัวเลขเต็มตามที่ตกลง ผลลัพธ์ตั้งเป้าหมายที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ OKRs ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ ตัวเลขอาจอยู่ระหว่าง 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้พนักงานมีความหวังอันเป็นไปได้ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อน

KPI มีผลโดยตรงต่อผลตอบแทนที่พนักงานจะได้รับ แต่ OKRs ไม่เกี่ยวกับการได้รับหรือไม่ได้รับผลตอบแทน แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ไม่เว้นสุขภาพ หรือการออกกำลังกาย

ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายที่ไม่เขม็งเครียดจนบั่นทอนตัวเองไปในลักษณะต่างๆ จึงเป็นวิธีการที่น่าหามาเรียนรู้รายละเอียดปฏิบัติ

• โฆษณาว่าเป็นหนังสือเล่มที่ V BTS นักร้องไอดอลเกาหลีหรือ คิม แทฮย็อง อ่าน ทั้งเป็นหนังสือติดอันดับขายดีในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วย

พลังภายในคำพูด ร่วมกันเขียนโดย ชินโดยอน กับ ยุนนารู และนำมาพากย์ไทยโดย ศิริกร สังขพันธ์ เรื่องนี้ที่จริงเราก็จดจำกันมานานแล้วว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา” หรือที่ สุนทรภู่ ว่าไว้ใน เพลงยาวถวายโอวาท ต่อกันสองบทว่า “…แม้นผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์ อุตส่าห์ทรงทราบแนบที่แยบคาย / อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย…” ว่าถ้อยคำนั้นสำคัญต่อชีวิต ความสัมพันธ์ และการทำงานขนาดไหน (แต่เราดูที่ใช้สื่อสาธารณะกันทุกวันนี้คงมีคนไม่เข้าใจกันอยู่มาก)

แม้จนในมรรคทั้ง 8 นั้น “พระจตฺตสนฺโล ภิกฺขุ” จัดสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อยู่ในข้อ “ศีล” จัดสัมมาวาจา (วาจาชอบ – เว้นพูดโกหก ส่อเสียด หยาบคาย เพ้อเจ้อ เหลวไหล) สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่ในข้อ “สมาธิ” จัดสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อยู่ในข้อ “ปัญญา” ซึ่งหมายรวมเป็น “ไตรสิกขา” จึงเห็นได้ว่า ปากนั้นสำคัญยิ่งต่อผู้พูดและผู้ฟังอย่างไร

ดังนั้น การเรียนรู้เพิ่มจากหนังสือเล่มนี้ย่อมเป็นคุณแก่ตน ด้วยศาสตร์แห่งวาทศิลป์เก่าแก่จากปราชญ์ตะวันตกและนักคิดตะวันออก ที่จะประทับอยู่ในใจ ด้วยเทคนิค 8 ขั้น ซึ่งจะเปลี่ยนมุมมองกับวิธีคิดในการเลือกใช้ถ้อยคำให้สื่อสารออกจากใจ เพื่อส่งต่อความคิด ความรู้สึกสู่ใจผู้ฟังได้ ไม่ว่าจะด้วยการฝึกสังเกต ตั้งคำถาม คิดอย่างสร้างสรรค์ ถึงการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างมีศิลป์

แน่นอน ความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตไม่ได้อยู่ที่การพูดมากหรือพูดน้อย (พูดมากไปก็มีปัญหา พูดน้อยไปก็มีปัญหา) แต่อยู่ที่ความจริงใจที่จะพูด ด้วยการรู้จักใช้ถ้อยคำอันเหมาะสมมากน้อยเพียงใด แม้คำพูดจริงมักบาดหูก็ตาม วิธีการพูด กับการเลือกใช้คำจึงสำคัญยิ่ง

อย่างน้อย หาก “สมาธิ” ไม่หลุดกับการระวังที่จะมีสัมมาวาจาในแต่ละวัน ก็เลิศแล้ว (อย่าลืมว่า การมีสัมมาวาจาก็คือการบำเพ็ญเพียรประการหนึ่ง)

• นิตยสารรายเดือนที่เป็นหลักหมายบอกระยะเส้นทางประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ซึ่งคนชอบเรียนรู้รู้จักกันดี ศิลปวัฒนธรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าด้วยสถานีหัวลำโพงกับผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ อาจารย์ ประภัสสร์ ชูวิเชียร มาชวนรำลึกอดีตของหลักหมายแรกของคมนาคมขนส่งมวลชนระบบราง (ซึ่งเป็นปัญหามานับร้อยปีเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่เริ่มในเวลาไล่เลี่ยกัน วันนี้ญี่ปุ่นบริจาครถไฟมือสองให้ ขณะไทยยังไปไม่ถึงครึ่งทางที่ญี่ปุ่นวิ่งถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างไป) ในแง่มุมและคุณค่าต่างๆ หลังจาก (ตรากตรำ) รับใช้ผู้คนมายาวนานนับร้อยปี

นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่ารู้อีกมาก เช่น ข่าวสารจากผู้สร้างอุโมงค์ขุนตาน เมื่อตกเป็นเชลยสงคราม, มาคืนชีพ “น้ำพริกไทย” กัน จากบันทึกฝรั่ง, อ่านความอาย ความรัก และความตาย ของพระเพื่อนพระแพงในวรรณคดีเอก (ที่เดี๋ยวนี้ยังเรียนกันหรือเปล่าไม่รู้), จีนกับทฤษฎีสามโลกสมัยราชวงศ์หมิง (นี่ก็น่าอ่าน อย่างน้อยน่าคิดบ้างว่า การเมืองไทยเคยสร้างทฤษฎีอะไรที่เป็นคุณค่าของตัวเองบ้างไหม อย่าว่าไปถึงจะสร้างคุณค่าให้กับโลก)

เป็นฉบับที่น่าอ่านอย่างยิ่งอีกฉบับหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image