ผู้กำกับหนังดังทุ่ม 30 ปี ร่าย ‘คนจรดาบ’ ใช้สำนวนพงศาวดารยกเล่ม! เผยคนตรวจปวดหัว ทวงต้นฉบับ 3 ปี เขียนจบเพราะเกรงใจ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ The Marshal Social Club ในงาน Matichon Book Launch 9 เล่ม ก้าวต่อไปของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งมีการเปิด 6 เวทีเสวนาจากการรวมตัวของ 13 นักเขียน นักวิชาการและนักแปลระดับประเทศ กับหนังสือ 9 เล่มใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เมื่อเวลา 13.00 น. ในวงเสวนา ‘กำลังภายใน พงศาวดารและวรรณกรรมนักเลง ใน หนังสือเรื่องคนจรดาบ’ โดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง โดยผลงานสร้างชื่อคือ ฟ้าทะลายโจร

นายวิศิษฏ์กล่าวว่า หนังสือเรื่อง คนจรดาบ เป็นสิ่งที่อยากเขียนมานาน อย่างไรก็ตาม ตนเลือกโจทย์ยากไปสักนิด โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟันดาบต่อสู้ จุดที่ทำให้อยากเขียนหนังสือคือ ความที่อยากอ่านแต่ไม่มีใครเขียนให้อ่านสักที จึงใช้เวลา 30 ปี ในการเขียน เป็นนิยายทดลองว่าผู้อ่านจะตอบรับอย่างไร เป็นภาษาพงศาวดารที่ทำให้ง่าย และแปลงให้ได้รสชาติเป็นพงศาวดารจำแลง ประหนึ่งอ่านพงศาวดารแต่เป็นนิยาย การใช้ความโบราณเป็นความตั้งใจ ทั้งนี้ การที่จำลองพงศาวดาร ซึ่งมีการสะกดไม่เหมือนปัจจุบัน เป็นนิยายที่คนตรวจปวดหัวมาก เขียนและหยุดไป 5 ปีก็มี กอง บก.ปวดหัว สุดท้ายตัดสินใจให้งานลักลั่นอย่างนั้นไป เพราะเป็นพงศาวดารทำให้มีการเขียนจึงเพี้ยนไปบ้าง จึงปล่อยไว้อย่างนั้น

ในเรื่องการเขียนได้มีโครงค่อนข้างสมบูรณ์เขียนลงกระดาษเป็นเรื่องย่อ แต่มีน้ำท่วมใหญ่ที่บ้านปทุมธานีทำให้ต้นฉบับหาย จึงตัดสินใจว่าเลิกเขียนดีกว่า จนทิ้งไว้เป็นเวลายาวนานจนกลับมาเขียนและจำเรื่องเดิมไม่ได้ จึงเขียนขึ้นมาใหม่ จุดเปลี่ยนที่ทำให้มาเขียนต่อเพราะเสียดาย เพราะเขียนไปเยอะเกือบครึ่งทาง ถือเป็นจุดที่จะทิ้ง หรือเดินหน้าต่อ จนมาหานายสุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเพื่อนเก่า นำต้นฉบับให้ดูว่าพอใช้ได้ไหม ถ้าได้ก็เขียนต่อ ถ้าไม่ได้ก็โยนทิ้ง เมื่อทาง บก.โอเค จึงตามทวงงานต่ออีก 2-3 ปี เกรงใจจึงเขียนจบ

Advertisement

“ต้นฉบับที่หายไปกับฉบับที่เห็นนี้ ตอนจบเหมือนกัน แต่ระหว่างทางจำไม่ได้ โดยรายละเอียดใกล้เคียง ถ้าเสร็จตอนนั้นไม่รอดแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากอ่าน ตอนที่เขียนเรื่องนี้ยังไม่ได้ทำหนัง จนไปเขียนนางนาคก็ใช้วิธีเขียนแบบบทพงศาวดาร และยืมนิยายเรื่องนี้มาใช้ในหลายจุด เช่น หนังฟ้าทะลายโจร พระเอกมีปานดวงจันทร์ที่หน้าผาก

หนังสือคนจรดาบเนื้อเรื่องเป็นช่วงอยุธยา ชอบอ่านพงศาวดารยุคนั้นซึ่งพีคมาก มีการฆ่าฟันแย่งชิงรัฐประหารตลอดเวลาจนไม่รู้ใครเป็นใคร ประวัติศาสตร์เป็นโลกที่แฟนตาซี เช่น การประหาร 7 ชั่วโคตรเป็นเรื่องจริงไหม ในเรื่องมุมมองตัวละครพม่ายอมรับว่าโดนปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมไทย แรกเริ่มไม่ได้คิดอะไรมาก ยังใช้ตามกลุ่มความคิดที่ว่าพม่าเป็นศัตรู แต่เมื่อผ่านไป 30 ปี ความรู้สึกเปลี่ยน อยากใส่ความเป็นคน เหตุผลของการกระทำ ฝั่งเราอาจจะมองว่าเลว แต่อีกฝ่ายอาจจะว่าเป็นหน้าที่ จึงคุยกับกอง บก.ว่าขอเปลี่ยนพม่าเป็นอังวะทั้งหมด

Advertisement

สำหรับเนื้อเรื่องมีตัวละครเอกเป็นตำรวจ มีหน้าที่จับผู้ร้ายให้ได้ ไม่มีเรื่องรักชาติ เพราะยุคนั้นยังไม่มีชาติ จะมีเรื่องอาณาจักร เจ้านาย บุญคุณ มีการฆาตกรรมในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี” นายวิศิษฏ์กล่าว

นายวิศิษฏ์กล่าวต่อไปว่า  ส่วนที่มาของชื่อหนังสือ มีนักเขียนที่ตนชื่นชอบคนหนึ่งให้นิยามคาวบอยว่า ‘คนจรม้า’ ซึ่งตนรู้สึกว่าเขาบัญญัติคำได้สวย จึงยืมมาเพราะดูสวยดี นอกจากนี้ ในหนังสือมีการใช้กลอนที่หลากหลาย เปรียบเหมือนดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ต้องมีหลากหลาย กลอนคือวิธีการของดนตรีอย่างหนึ่ง เป็นวิธีการให้ดูดีแบบง่ายๆ

“ชอบหน้าปกมาก ขอให้คุณนักรบ มูลมานัส ช่วยออกแบบ ไม่มีแก้เลย เล่มนี้หนาสุดตั้งแต่เคยเขียนมา เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์พอให้อ้างอิงถึง แต่ไม่ได้ค้นคว้าอย่างละเอียด มีการปรุงแต่งเยอะ เทียบกับกำลังภายใน เรายังสู้ไม่ได้ ของเราเพิ่งเริ่ม ไม่ได้ลึกซึ้งเท่าของโกวเล้งกับกิมย้ง เรียกว่าเป็นน้องใหม่แบบไทย อยากทำแบบนั้น ตอนนี้อาจจะยังไม่สำเร็จแต่ได้ลองแล้ว มีเล่มนี้จารึกไว้สักครั้ง ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบอะไร ก็น้อมรับคำวิจารณ์เพราะเป็นเรื่องแรกที่ได้เขียน อยากให้ลองชิมดู” นายวิศิษฏ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image