ประกาศผลรางวัลชมนาดครั้งที่ 11 ส่งเสริมนวนิยายสตรีสู่ตลาดโลก

ประกาศผลรางวัลชมนาดครั้งที่ 11 ส่งเสริมนวนิยายสตรีสู่ตลาดโลก

ก้าวสู่ปีที่ 11 สำหรับ โครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (NOVEL) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัดจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล โดยผลงานชนะเลิศรางวัลชมนาด นอกจากจะได้ตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กภาษาไทยแล้ว จะได้รับการแปลเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กภาษาอังกฤษอีกด้วย

โดยในปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับเกียรติจาก สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในการมาร่วมแปลและถ่ายทอดผลงานชนะเลิศเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เพื่อวางจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมผลงานของนักเขียนหญิงให้ออกไปสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง โดยการสนับสนุนจาก 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผศ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดานายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ม.ล.วีรอร วรวุฒินายกสมาคมนักแปลและล่าม แห่งประเทศไทย

สำหรับปีนี้คณะกรรมการรอบคัดเลือก ดำเนินการพิจารณาผู้ผ่านเข้ารอบตัดสิน การประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 ประกอบด้วย  คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด พร้อมด้วยคณะกรรมการ คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์ , คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์ , คุณตรีคิด  อินทรขันตี , คุณพึงเนตร อติแพทย์โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน  30 เรื่อง และผ่านเข้ารอบตัดสินทั้งสิ้น 9 เรื่อง เพื่อเข้าชิงรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11  ได้แก่  ไกรสร , ผู้พิทักษ์ตนสุดท้าย , กุสุมาอีกครั้ง , 5,929 ไมล์…ระยะฝัน , The Present ของขวัญ , เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์ , ดอกไม้ในแจกันเหล็ก , ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ และ คมบุหลัน

Advertisement

ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแปลนวนิยายหรือแปลหนังสือทุกเล่ม เราให้ความสำคัญกับเนื้อหาและบริบท การเล่าเรื่อง การสื่อสารของตัวละคร การถ่ายทอดอารมณ์ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้อ่านหนังสือแปลรู้สึกเหมือนได้อ่านจากต้นฉบับภาษาไทย

“การแปลวรรณกรรมหรือนวนิยายไทยเป็นภาษาอังกฤษ ที่ต้นฉบับมีความสละสลวย สำนวนโดดเด่น บรรยายได้เห็นภาพ จัดว่ามีความยากมาก เพราะเวลาที่เราถ่ายทอดจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง ไม่ใช่แค่คำนึงถึงเรื่องภาษาอย่างเดียว เราต้องคำนึงถึงนักเขียนซึ่งเป็นคนไทยกับผู้อ่านซึ่งเป็นคนต่างชาติด้วย เพราะฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะเลือกใช้ภาษาและสำนวนให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้อารมณ์เดียวกัน ซึ่งสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติในการแปลผลงานชนะเลิศรางวัลชมนาด และมีส่วนร่วมผลักดันวรรณกรรมไทยสู่ตลาดโลก” ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กล่าว

Advertisement

สำหรับสถิติการอ่านหนังสือในตลาดโลกที่มีมูลค่าการส่งของหนังสือและจัดพิมพ์มีมูลค่ามากกว่า 2,319 ล้านดอลลาร์ น่าจะเย้ายวนใจให้นักเขียนไทยพยายามขอแทรกรับส่วนแบ่งที่ท้าทายกว่าในตลาดไทย ขณะที่ผลงานชนะเลิศรางวัลชมนาดและได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเรื่องที่โดดเด่นพิมพ์แล้ว จำนวน 5 เล่ม อาทิ รอยวสันต์ นวนิยายรางวัลโล่พระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลชมนาด ครั้งที่ 1 ปี 2551 โดยยุวดี ตันสกุลรุ่งเรือง แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อเรื่อง A WALK THROUGH SPRING

ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน โดย ธนัดดา สว่างเดือน รางวัลชมนาด (ประเภท Non-Fiction) ครั้งที่ 2 ปี 2553 แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อเรื่อง I am Eri my experience overseas  และ พฤกษามาตา โดยชัญวลี ศรีสุโข แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อเรื่อง Preuksa Mata รางวัลชมนาด (ประเภท Non-Fiction) ครั้งที่ 3 ปี 2556 , เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน โดยอู๋ฮุยเชียง แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อเรื่อง A Physician was Branded a Murderer รางวัลชมนาด (ประเภท Non-Fiction)ครั้งที่ 4 ปี 2557 และ ขังหญิง โดยธนัดดา สว่างเดือน แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ CAGED รางวัลชมนาด (ประเภท Non-Fiction) ครั้งที่ 5 ปี 2559 นอกจากนี้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในฐานะผู้จัดงานประกวดเตรียมวางแพลตฟอร์มออนไลน์เสิร์ฟนักอ่านแบบคู่ขนานพร้อมกับหนังสือเล่มด้วย

โดยรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 ประกาศผลในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อวางจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในทวีปอเมริกา, ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 จะได้รับเกียรติบัตรชมเชย พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมค่าลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เผยแพร่ภาษาไทยตามมาตรฐาน

ปิดท้าย เปิดกติกาใหม่ในการรับพิจารณาประกวดผลงานชิงรางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 โดย ดร.พิสุทธิ เลิศวิไล กรรมการบริหารสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.praphansarn.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image