‘ป๋าเต็ด’ ซื้อ MORE ปวศ.เศรษฐกิจหมื่นปี เชื่อ ‘รสไทย(ไม่)แท้’ ทำ ‘สนุกกิน’ ยิ่งขึ้น ชี้หลายเมนูเกินคาดถึง

‘ป๋าเต็ด’ ช้อป 5 เล่มดังมติชน เปรียบหนังสือเหมือนหีบสมบัติ เชื่อแรงบันดาลใจเกิดได้ทุกแง่มุม หนังสือ ปวศ.อาจสร้างเทศกาลดนตรีได้

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่ 3 โดยจะจัดถึงวันที่ 23 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.

เวลา 18.10 น. นายยุทธนา บุญอ้อม หรือป๋าเต็ด พิธีกรและดีเจชื่อดัง มาเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน โดยได้ซื้อไปทั้งหมด 5 เล่ม ได้แก่ พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผู้เขียน มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง, เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว ผู้เขียน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, The Colour Code รหัสนัยแห่งสี ผู้เขียน Paul Simpson แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์, MORE : เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี ผู้เขียน Philip Coggan แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ และ รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม ผู้เขียน อาสา คำภา

 

Advertisement

นายยุทธนาให้เหตุผลว่า เลือกหยิบเล่ม รหัสนัยแห่งสี เพราะค่อนข้างเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนทำอยู่ในเรื่องของการออกแบบโปสเตอร์ โลโก้ สิ่งที่ใช้ในงานต่างๆ ให้เรารู้ว่าสีมีอิทธิพลต่อเรื่องความคิดและจิตวิทยาอย่างไร ส่วนหนังสือ MORE : เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี นั้น ตนเคยดาวน์โหลดเลคเชอร์ในหนังสือเสียงมาฟัง ซึ่งมันอาจจะคนละแบบกัน แต่เป็นหัวข้อนี้เลย ซึ่งคิดว่าสนุกมากถ้าได้อ่านคงจะได้เก็บรายละเอียดได้มากขึ้น ส่วนตัวเป็นคนสนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว คิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องสนุก อยู่ที่ว่าใครจะอธิบายอย่างไรในแง่มุมไหน และหนังสือ รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม ตนเองเป็นคนชอบกินอาหารไทยอยู่แล้ว คิดว่าอาหารหลายๆ เมนูมีที่มา ประวัติและเรื่องราวที่เราคาดไม่ถึง ถ้าเราได้รู้อาจจะทำให้เราสนุกกับการกินมากขึ้น

“ไม่ว่าจะหนังสืออะไรก็ตาม อ่านเมื่อไรก็ได้ความรู้เมื่อนั้น เพียงแค่ว่าเราจะนำมาประยุกต์กับการใช้งานอย่างไร สังเกตได้จากหนังสือที่ผมซื้อแทบไม่มีหนังสือเกี่ยวกับวงการบันเทิงเลย ทั้งๆ ที่ผมทำงานในวงการบันเทิง แทบไม่มีเรื่องเพลงหรือดนตรี เพราะว่าผมเชื่อเรื่องแรงบันดาลใจมันเกิดได้จากทุกแง่มุม คือบางทีเราอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ก็อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราคิดงานเทศกาลดนตรี คิดงานที่เกี่ยวกับดนตรีในแบบที่มันลึกซึ้งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะว่าหนังสือมันเป็นเหมือนหีบสมบัติ เปิดเมื่อไรมันมีสมบัติอยู่ในนั้น ก็เลยสนุก ผมโตมากับการอ่านหนังสือที่คุณพ่อซื้อทิ้งไว้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันเป็นหนังสือผู้ใหญ่ แต่เราหยิบมาอ่านเรากลับรู้สึกว่าความซีเรียสมันเป็นเปลือกนอกมาก

หลายๆ เรื่องถ้าเราเซตความคิดของเราให้มันตรงกับหนังสือ เรื่องซีเรียสแค่ไหนก็สนุก ผมเลยชอบอ่านหนังสือและพยายามที่จะหาหนังสือที่พูดเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเราเลย เพราะบางทีมันอาจจะซ่อนอะไรที่ทำให้เราสนใจเรื่องนั้นมาในหนังสือเล่มหนึ่งได้” นายยุทธนากล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image