‘ณัฐพล’ ออกไอเดีย ‘ใจกว้างทำได้อย่างไร’ หนังสือใหม่ที่ต้องมีในบรรณโลก

‘ณัฐพล’ ออกไอเดีย ‘ใจกว้างทำได้อย่างไร ‘ หนังสือใหม่ที่ต้องมีในบรรณโลก มองรัฐไทยแปลก ลูกผสมแต่อยากเป็น ‘เอกพันธุ์’

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ซึ่งโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคม เวลา 10.00 – 21.00 น. หลังจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห่างหายจากการจัดงานอีเวนต์ เนื่องจากปิดปรับปรุงไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 เป็นต้นมา โดยตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีทยอยผู้เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือ ส่วนมากเป็นวัยรุ่น ที่มาพร้อมประเป๋าผ้า ไปจนถึงกระเป๋าล้อลาก เพื่อเตรียมช้อปหนังสือภายในงานที่ปีนี้จัดเต็ม 306 สำนักพิมพ์ 788 บูธ กิจกรรมเวที และเสวนากว่า 100 รายการ

สำหรับ สำนักพิมพ์มติชน ในปีนี้ได้ พิชัย แก้ววิชิต ศิลปินและช่างภาพผู้มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว Matichon X Phichai Keawvichit มาร่วมออกแบบธีมบูธ i48 และของพรีเมียม ในแนวคิด “BookPath” (อ่านวิถี) มาท่องมหานครนักอ่าน ที่ใครก็เข้าถึงง่าย มองเห็นได้เหมือนฟุตปาธที่มีอยู่ทุกมุมถนน เปิดพื้นที่ชวนมาหยิบจับ “อ่าน” ได้อย่างเสรีและเท่าเทียม

บรรยากาศ เวลา 13.30 น. ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์และนักประวัติศาสตร์การเมืองชื่อดัง ผู้เขียน “ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน ที่ซุ้มศิลปวัฒนธรรม โดยสนใจหนังสือหมวดประวัติศาสตร์การเมือง เป็นพิเศษ

Advertisement

พร้อมหยิบจับหลายเล่มใหม่ที่สำนักพิมพ์มติชนเพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมานี้ ซึ่งขึ้นแท่นขายดีติดอันดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม เขียนโดย อาสา คำภา, รัฐสยดสยอง เขียนโดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ และ กรุงเทพฯยามราตรี โดย วีระยุทธ ปีสาลี ซี่งทีมงานภายในบูธเปิดเผยว่า ขายหมดเกลี้ยงในวันนี้

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวถึงหนังสือ รสไทย(ไม่)แท้ ว่า น่าสนใจว่าความเป็นไทยถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร จึงเดินทางมาซื้อที่งานนี้

เมื่อถามว่า ในมุมมองส่วนตัว ความเป็นไทยประกอบสร้างขึ้นจากอะไรบ้าง ?

Advertisement

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ความเป็นไทยภาษาของตนคือ ‘ต้มจับฉ่าย’ ที่มีปนๆกัน ทั้งแขก เจ๊ก มอญ ความเป็นไทยก็อาจจะแปลว่า ลูกผสมก็ได้

กล่าวคือไม่มีไทยแท้ เหมือนที่หนังสือเล่มนี้พูดไว้?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับรสชาติของอาหาร

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐพลยังกล่าวถึงหนังสือเล่มใหม่อย่าง รัฐสยดสยอง และ กรุงเทพฯ ยามราตรี ว่ามีความน่าสนใจ

เมื่อถามว่า 2 เล่มนี้ อาจจะถือว่าเป็นสายดาร์ก เพราะอะไรถึงสนใจ ?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ใช่ๆ แต่เล่ม รสไทย(ไม่)แท้ จะออกทางสว่าง (หัวเราะ)

“ผมสนใจเรื่องของยามค่ำคืน สนใจเรื่องผีอยู่ช่วงนี้ อยากรู้ว่ายามค่ำคืนสมัยก่อนเป็นอย่างไร

ส่วนเรื่องรัฐสยดสยอง ก็เป็นเกี่ยวกับการจัดการความตาย โรคระบาด ผมยังไม่ได้ทราบเนื้อหาโดยละเอียดแต่คิดว่าน่าสนใจ เลยดูๆ เอาไว้ จะได้เข้าใจมุมมองเรื่องโรคภัย ความตาย” ผศ.ดร.ณัฐพลระบุ

เมื่อถามว่า คิดว่ารัฐไทยสยดสยองในเรื่องอะไร มีเรื่องไหนที่คิดว่าไม่น่าจะเกิด แต่ไทยมี ?

ผศ.ดร.ณัฐพลเผยว่า สำหรับรัฐไทย นอกจากสยดสยองเรื่องการจัดการเชื้อโรคแล้ว ยังชอบจัดการความคิดคนด้วย

“ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นลูกผสม แต่ชอบทำให้ทุกอย่างเหมือนกัน แปลกมาก”

ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของรัฐไทย?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า น่าจะเป็นเอกลัก ไม่ใช่ลักษณะ แต่เป็นลักโขมย (หัวเราะ)

“ตัวเองเป็นลูกผสม แต่ชอบทำให้เป็น ‘เอกพันธุ์’ เหมือนกัน ถ้าเป็นลูกผสมแล้วใจกว้าง ก็ต้องยอมรับว่า คนมีความคิดหลากหลาย” ผศ.ดร.ณัฐพลระบุ

เมื่อถามว่า จะมาลองชิมขนมฝรั่งกุฎีจีน ช่วงตอน 15.00-16.00 น. ที่ นายอาสา คำภา เจ้าของผลงาน “รสไทย(ไม่)แท้” มาแจกลายเซ็นหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ณัฐพลเผยว่า อาจจะแวะมาดู

เมื่อถามว่า เวลานี้สังคมไทยควรจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม ?

ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่า สิ่งที่สังคมไทยควรจะเรียนรู้เพิ่มเติม คือการมีใจกว้าง มีความคิดแบบเสรีนิยม

“คือยอมรับว่าคนมีความคิดหลากหลาย คนมีหลายเพศ คนมีหลายความเชื่อ คนมีหลายศาสนา” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

แล้วหนังสื่อชื่อว่าอะไร ที่คิดว่าควรจะต้องมีในบรรณโลก และสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า หนังสือ “การมีใจกว้างทำได้อย่างไร”

สำหรับบรรยากาศ เวลา 15.00 น. มีนักอ่านหลั่งไหลเดินทางมาเลือกซื้อหนังสือในบูธมติชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มพระสงฆ์ ที่สนใจหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมือง เข้ามาเดินเลือกดูในชั้น “ลานการเมือง” พร้อมสอบถามพนักงานถึงหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ คณะราษฎร 2575

ทั้งนี้ สำนักพิมพ์มติชน เปิดตัวหนังสือใหม่ ไฮไลต์ถึง 9 ปก ที่มีผู้ให้ความสนใจแวะเวียนมาเลือกซื้ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่วางจำหน่ายในงานวันแรก ได้แก่

1.ข้างขึ้นข้างแรม โดย ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ราคา 790 บาท ราคาภายในงาน 700 บาท

2.ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว (A History of Civilization with Cats and Dogs) เรียบเรียงโดย Hu Chuan-an และแปลโดย อารยา เทพสถิตย์ศิลป์ ราคา 320 บาท ราคาภายในงาน 272 บาท

3.MORE เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี เขียนโดย Philip Coggan แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ ราคา 650 บาท ราคาภายในงาน 553 บาท

4.เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ เขียนโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ราคา 400 บาท ราคาภายในงาน 340 บาท

5.รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม เขียนโดย อาสา คำภา ราคา 320 บาท ราคาภายในงาน 272 บาท

6.Laziness Does Not Exist ผ่อนชีวิต บิดขี้เกียจ สำนักพิมพ์ broccoli book เขียนโดย Devon Price แปลโดยพรรษรัตน์ พลสุวรรณา ราคา 480 บาท ราคาภายในงาน 408 บาท

7.รัฐสยดสยอง เขียนโดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ ราคา 340 บาท ราคาภายในงาน 289 บาท

8.Amidst the New World Order ไทยในระเบียบโลกใหม่ เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ราคา 420 บาท ราคาภายในงาน 357 บาท

9.The Colour Code รหัสนัยแห่งสี เขียนโดย Paul Simpson แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ราคา 580 บาท ราคาภายในงาน 493 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image