ศ.พิเศษ ธงทอง เยือนบูธมติชน สนใจ ‘รัฐสยดสยอง-พจนานุกรมสร้างชาติ-รสไทย(ไม่)แท้’ ฯลฯ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดมาแล้วเป็นวันที่ 6 โดยจัดตั้งแต่วันที่ 12-23 ตุลาคม เวลา 10.00-21.00 น.

เมื่อเวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชน

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าวว่า ทุกครั้งที่มางานหนังสือ เป็นผู้ที่ต้องสัญญากับตัวเองว่าจะแวะที่บูธมติชนอยู่เสมอ เพราะมีงานใหม่ๆ ที่เสนอความคิด เสนอมุมมองที่น่าสนใจ

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองยังกล่าวถึงหนังสือ พจนานุกรมสร้างชาติ : อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดย มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง ว่า เป็นเล่มที่อยากอ่าน แค่ชื่อก็ท้าทายมากแล้ว

Advertisement

“คำคำหนึ่งในแต่ละยุค แต่ละสมัยมันมีเหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง คำว่าชาติคำนี้ก็เถียงกันตายแล้วว่าคืออะไร ในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีคนอธิบายแตกต่างกันไป เรื่องของอุดมการณ์การทำรัฐไทยให้เป็นรัฐชาติ กระบวนการ การสร้างพจนานุกรมที่เราเรียก ราชบัณฑิตยสถาน สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถที่จะผูกขาดความหมายของพจนานุกรมภาษาไทยได้โดยเฉพาะ พจนานุกรมฉบับมติชน และพจนานุกรมฉบับคึกฤทธิ์ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนในทางชวนหัว กับคำหลายคำ วันหลังจะลองเขียนพจนานุกรมบ้าง อยากลองเหมือนกัน

พจนานุกรมไม่ใช่สารานุกรมที่เขียนยาวได้ 3 หน้ากระดาษ ต้องเขียนในพื้นที่ 3-5 บรรทัดเท่านั้น ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย และผมอยากรู้ว่าในเวลาที่พจนานุกรมพัฒนามาจะต้องมีการชำระพจนานุกรมทำไม พจนานุกรมปี 2540 กว่าๆ มา 2565 มีคำเพิ่มขึ้นมีคำลดลง ความหมายอาจจะอธิบายเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้จะลองอ่านดูว่าเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การสร้างรัฐชาติอย่างไรบ้าง ผมว่าคงมีประเด็นอะไรที่น่าเรียนรู้” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คำที่ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมไม่ได้แปลว่าไม่ได้เป็นภาษาไทย มีคำหลายคำที่ได้พบในการทำงาน อ่านหนังสือ และเปิดพจนานุกรมก็ไม่มี จึงต้องขวนขวายเพื่อสร้างความรู้ และอ่านหนังสือเล่มอื่นประกอบ แล้วจำของตัวเอง

Advertisement

“เวลาแปลหนังสือ คำบางคำที่ภาษาอังกฤษมีความหมายเฉพาะ เราแปลเบื้องต้นแล้วเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต มันยังไม่ได้ดั่งใจ ปรากฏว่าพอเปิดพจนานุกรมฉบับมติชน ปรากฏว่าเจอคำแปลที่เป็นคำเลือกอื่นซึ่งน่าสนใจ ผมว่าพจนานุกรมในความหมายอย่างกว้างไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่ง แต่ว่าเป็นผลงานวิชาการที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

เมื่อสอบถามว่าหนังสือออกใหม่ของมติชนทั้งหมด 9 เล่ม สนใจเล่มไหนเป็นพิเศษบ้าง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าวว่า ซื้อไปหลายเล่ม เช่น ‘รัฐสยดสยอง’ ผลงาน ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ เพราะสอนประวัติศาสตร์กฎหมาย จึงอยากทราบว่าการบังคับใช้กฎหมาย การบังคับโทษในอดีตนั้นเป็นอย่างไร

“ตัวบทกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในอดีต ผมก็ได้นำไปปะติดปะต่อกับความรู้เดิม ทำให้เราเห็นมุมมองที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าฟังดูโหดร้าย ฟังดูสยดสยอง เรารู้ว่าไม่ได้สวยงาม หรือเป็นไปตามมาตรฐานที่เราเข้าใจหรือคุ้นเคยในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ความผิด เพราะในโลกยุคนั้นยังไม่ได้พัฒนามาถึงขนาดนี้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือเราเคยเป็นอย่างไรแล้ววันนี้เราเดินมาถึงตรงไหน และเป็นบทเรียนสอนใจในวันข้างหน้า เราจะทำอย่างไร” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงหนังสือรัฐสยดสยองที่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯกทม.ได้ซื้อไปด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าวว่า

“เดี๋ยวเจออาจารย์ชัชชาติแล้วค่อยคุย”

 

ศาตราจารย์พิเศษ ธงทองยังกล่าวถึงหนังสือ ‘รสไทย(ไม่)แท้ : ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม’ โดย อาสา คำภา ว่า อาหารการกินหรือสิ่งที่เรียกว่าอาหารไทยในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยต่างๆ การเปลี่ยนแปลงมีปัจจัย ตัวเร่ง คือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

“เวลาเราคบค้าสมาคมด้วยเหตุผลทางการเมืองกับต่างชาติ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การนำเข้าของรสชาติอาหาร การปรับรสชาติอาหาร เราจะมองอาหารเหล่านั้น ที่ผ่านมิติการเมืองอย่างไร เอาเข้าจริงแล้ว รสไทยแท้มีจริงหรือไม่จริง” ศาตราจารย์พิเศษ ธงทองกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทองได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ความดังนี้

‘งานหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้สำหรับผมอยู่แล้ว แต่ต้องวางแผนดีๆ ครับ เพราะปีนี้มีอาการป่วยไข้เนื่องจากกระดูกทับเส้นประสาทกำลังอยู่ในระหว่างบำบัดรักษา แขนซ้ายยังอ่อนแรงและชาอยู่ จึงต้องรบกวนอาสาสมัครรุ่นน้องไปช่วยลากกระเป๋าเดินทางวนเวียนไปตามบูธต่างๆ ได้หนังสือมามากพอสมควร ที่ได้มามากเล่มที่สุดคือบูธของมติชน เดินได้ 1 ชั่วโมงครึ่งก็เต็มกระเป๋า สมควรแก่เวลากลับบ้านแล้ว’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image