อานนท์ ช้อปรัวบูธมติชน จัดหนักปวศ.การเมืองหลากเล่มฮิต ยัน หนังสือ ‘ได้อารมณ์’ กว่าออนไลน์

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดมาแล้วเป็นวันที่ 7

เมื่อเวลาราว 17.45 น. นายอานนท์ นําภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชนหลายเล่ม อาทิ  ปฏิวัติ ร.ศ. 130 โดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 โดย ณัฐพล ใจจริง, ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยราษฎร โดย ณัฐพล ใจจริง และศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นต้น

นายอานนท์กล่าวว่า ตนติดตามอ่านผลงานของ ณัฐพล ใจจริง มานาน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้นำไปใช้ในการปราศรัยระหว่างชุมนุมทางการเมืองด้วย ซึ่งหลายเรื่องไม่น่าเชื่อว่าจะถูกนำมาตีพิมพ์ข้างนอกได้

“อาจารย์ณัฐพล มีเอกสารชั้นต้นเยอะมากเวลาอ้างอิงจะเห็นภาพ และบางอย่างของการเมืองมันถูกซุกซ่อนอยู่ในหนังสือ และเอกสารพวกนั้น ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจยังไม่ถูกเปิดเผยขึ้นมา หนังสือเรื่องราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยราษฎร ที่ซื้อวันนี้น่าจะเข้ากับยุคสมัยด้วย เลยลองเอาไปอ่าน ปกติชอบอ่านหนังสือแนวการเมือง และบทความจากมติชนสุดสัปดาห์ที่ถูกนำมารวบรวมเป็นหนังสือ” นายอานนท์กล่าว

Advertisement

เมื่อสอบถามถึงจุดเด่นของสำนักพิมพ์มติชน นายอานนท์กล่าวว่าในส่วนของรูปเล่ม มีทรงสวย น่าจับต้อง น่าอ่าน ส่วนเนื้อหาโดดเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ไทยที่เจาะลึก นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่า หนังสือแปลของมติชน ดีมาก

”มติชนทำงานแปลได้ดีมาก คนแปลเก่ง หลายเรื่องเราเข้าไม่ถึงในด้านของกำแพงภาษา พอมีการแปลออกมามันก็ทำให้เราสะดวกขึ้น” นายอานนท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอยากให้สำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์หนังสือแนวใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายอานนท์ตอบว่า อยากให้แปลผลงานคลาสสิกเพื่มเติม

Advertisement

“ผมคิดว่าเท่าที่ทำมาก็ดีแล้ว แต่อาจจะต้องมีการอัพเดตให้เข้ากับยุคสมัย มันมีอีกหลายชิ้นงานที่ไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการแปลงานคลาสสิก เช่น ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ยุโรป ประวัติศาสตร์อเมริกา หรืองานแนวที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ยากต่อการเผยแพร่ งานวิจัยของฝรั่งที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยเยอะมาก แต่เรายังไม่มีโอกาสได้อ่าน ถ้ามติชนนำมาแปลก็จะสุดยอดมากขึ้น เพิ่มฐานความรู้ที่มากยิ่งขึ้น คิดว่าฐานผู้อ่านมติชนมีจำนวนมากอยู่แล้ว” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ตนคิดว่าการอ่านหนังสือในปัจจุบันจะตายแล้ว เพราะมีสื่อดิจิทัลเข้ามา มีบทความออนไลน์เข้ามา แต่ในความเป็นจริงๆ สู้การอ่านหนังสือเป็นเล่มไม่ได้

“หนังสือมันได้อารมณ์มากกว่า หนังสือคือทรัพย์สินที่เราสามารถเก็บสะสมเป็นคุณค่าทางจิตใจได้ บางเล่มก็เก่า เราไม่สามารถหาซื้อได้ ก็เป็นคุณค่าทางจิตใจแบบหนึ่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ผมแปลกใจมาก หลังๆ มาเห็นคนรุ่นใหม่ไปแวะบูธสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สำนักพิมพ์มติชน สำนักพิมพ์ที่มีเนื้อหาหนักๆ มากขึ้น ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือการเมือง และสังคมมากขึ้น และอ่านจริงจังด้วย คงเพราะสถานการณ์ทางสังคมก็มีส่วนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงจุดนี้มากขึ้น เรามองเด็กรุ่นใหม่คลาดเคลื่อนไป ตอนแรกคิดว่าเด็กไปติดเกม หรือสมาธิสั้น ซึ่งมันไม่ใช่ พวกเขาอ่านทั้งเรื่องยาวๆ และแสดงออกอย่างรวดเร็วผ่าน Twitter และ Facebook คนรุ่นใหม่สนใจการอ่านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับคำว่าหนังสือกำลังจะตาย แต่จริงๆ มันไม่ตาย” นายอานนท์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image