เพนกวิน ชี้ บทกวีการเมือง ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ประจักษ์พยานแห่งยุคสมัย ให้ปากคำ เล่มไหนอ่านในเรือนจำ ?

เพนกวิน แวะบูธมติชน เล่าถึงเล่มที่อ่านในคุก ปลื้มบทกวีการเมือง ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดมาแล้วเป็นวันที่ 8

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 13.50 น. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักกิจกรรมทางการเมือง เข้าเลือกซื้อหนังสือภายในบูธมติชน

นายพริษฐ์กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือ ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ซึ่งฉายให้เห็นมิติหลายอย่างที่เราไม่ได้พูดถึงงานปฏิวัติ 2475

Advertisement

“เวลาเราพูดถึงคณะราษฎร เราพูดถึงการที่เขาเป็นข้าราชการ เป็นกระฎุมพี แต่ในมิติของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก สิ่งที่ผมรู้สึกว่า เล่มนี้ได้ฉายขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่มันเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมด้วย โดยเป็นผลคลื่นของการเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งสืบทอดมาจากคนรุ่นใหม่สมัย ร.ศ. 130 สืบมา ทำให้เห็นว่า หลังจากที่คลื่นความคิดของคนรุ่นใหม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมาแล้ว เขาพยายามที่จะรักษาความเปลี่ยนแปลงผ่านประชาธรรมนโยบาย

ผมคิดว่าคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ควรอ่านว่าเราจะใช้กระแสของความคิดสร้างพลังทางการเมืองได้อย่างไร เมื่อมีอำนาจเป็นรัฐบาลแล้ว จะใช้ฐานตรงนั้นขยายความคิดให้เกิดเป็นวงกว้างทางความคิดได้อย่างไร”  นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงหนังสือ ‘หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง’ โดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ว่า ตนอ่านเล่มดังกล่าวขณะอยู่ในเรือนจำ ทำให้เห็นภาพของคู่ชีวิต นอกจากจะเป็นมิติเรื่องครอบครัว ชีวิต เพศ ยังทำให้เห็นมิติการประนีประนอม มิติของการเจรจาหลังฉากของการเมืองในยุคสมัย 2475 ทั้งระหว่างการปฏิวัติและหลังการปฏิวัติอีกด้วย

Advertisement

“สิ่งที่หน้าบ้านคณะราษฎรใช้อำนาจทางการเมืองในการการตัดสินใจ การออกกฎหมาย แต่หลังบ้านซึ่งดูแลโดยภรรยา ใครจะเข้าจะออก ใครจะเข้าหา อย่าง จอมพล ป. จะว่าอย่างไร จะสนิทอย่างไร เครือข่ายการกินเลี้ยงกัน เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม สโมสรวัฒนธรรมฝ่ายสตรี มีบทบาทต่อการเมืองอย่างไร เป็นมิติที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง มันต้องมีสักแง่มุมหนึ่งทางการเมือง หรือว่าคนไม่ได้พูดถึงเพราะอยู่หลังบ้าน หนังสือเล่มนี้เป็นการเอาหลังบ้านมาฉายให้เห็น” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวด้วยว่า ตนติดตามผลงานต่างๆ ในเครือมติชนมานาน ชื่นชอบในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม รวมถึงบทกวีวิพากษ์รัฐบาลของนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

“เริ่มอ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่เริ่มพ้นวัยอ่านหนังสือการ์ตูนแล้ว และชอบโคลงสี่สุภาพวิพากษ์รัฐบาลของอาจารย์ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) รวมถึงบทกวีของอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น อย่างพวกบทเสภาทั้งหลาย พวกเสภาเผด็จการ เสภาไพร่ เสภาน้ำท่วม เราก็ได้อ่าน รู้สึกว่าเป็นประจักษ์พยานของยุคสมัย สิ่งที่เขียนเป็นแนวคิดวิพากษ์ต่อกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างอาจารย์สุจิตต์ มองด้วยสายตาว่าเผด็จการแต่ละยุคเป็นอย่างไร ซื่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับคนในยุคเราก็ได้ รวมถึงสไตล์ที่เป็นอาจารย์สุจิตต์เลย คือ การเอาอะไรเก่าๆ อะไรที่เป็นจักรๆ วงศ์ๆ มาขยำแล้วรวมกับยุคใหม่แล้วใส่สไตล์ลูกทุ่งไป พออ่านแล้วจะสัมผัสได้ถึง ลูกนักเลง ลูกตลกโปกฮาของเขา” นายพริษฐ์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image