ศุ บุญเลี้ยง สะดุด ‘ข้างขึ้นข้างแรม’ เชื่อ ตั้งชื่ออย่างนี้ต้องมีอะไรดีแน่ เผยยังอยาก ‘เสพบทกวี’

‘ศุ บุญเลี้ยง’ แวะชิม ‘รสไทย(ไม่)แท้’ คาใจ อาหารไทยร้านไหนก็บอกตัวเองดั้งเดิม แซว ‘ข้างขึ้นข้างแรม’ เห็นชื่อแล้วอยากรู้ใครเขียน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดมาแล้วเป็นวันที่ 8 โดยจะจัดไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ระหว่างเวลา 10.00 – 21.00 น.

เมื่อเวลา 16.00 น. ศุ บุญเลี้ยง นักร้อง นักแต่งเพลง และนักเขียนชื่อดัง เข้าเยี่ยมชมบูธสำนักพิมพ์มติชน โดยกล่าวว่าเมื่อหลายวันก่อน ตนมาซื้อหนังสือ รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม ของ อาสา คำภา ไปแล้ว เพราะมีประเด็นที่คาใจมานานมาก  กล่าวคือ เมื่อไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารต่างๆ แต่ละร้านมักบอกว่าร้านของตนเป็น ‘สูตรดั้งเดิม’

“เมื่อไหร่เราจะเข้าใจสักทีว่าอาหารและวัฒนธรรมของเรามันไม่ดั้งเดิม มีแต่ตอนที่เราเกิดมาแล้วเคยกินแบบนั้น และเราคิดว่าโลกเป็นแบบที่เราเกิดมา พอได้มาเห็นหนังสือเล่มนี้ตอนแรกก็ไม่สนใจเพราะคิดว่าเป็นตำราทำอาหาร แต่เห็นว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองและวัฒนธรรม เลยคิดว่าอาหารจะเกี่ยวข้องกับการเมืองและวัฒนธรรมอย่างไร เมื่อเห็นว่าผู้เขียนเป็นนักวิชาการที่มีผลงานประจักษ์อยู่จึงคิดว่าเล่มนี้ต้องไม่พลาด” ศุ บุญเลี้ยง กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ศุ บุญเลี้ยง ยังกล่าวถึงหนังสือ ‘ข้างขึ้นข้างแรม’ บทกวีการเมืองร่วมสมัย ผลงาน ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า เมื่อเห็นชื่อเรื่อง คิดว่า ต้องมีอะไรดีอย่างแน่นอน จึงกล้าตั้งชื่อเช่นนี้

“เราอยู่ในวงการหนังสือ เวลาตั้งชื่อ ก็ต้องทำตั้งให้หวือหวา เช่น รัฐสยดสยอง แล้ววันหนึ่งมีคนมาตั้งชื่อหนังสือ ข้างขึ้นข้างแรม ใครตั้งชื่อหนังสือจืดชืดอย่างนี้ มันต้องมีอะไรดีแน่ ถึงกล้าตั้งแบบนี้ เลยขอดูหน่อยว่าใครเขียน พอเห็นชื่อก็ อ๋อ เข้าใจแล้วว่าทำไมถูกลดทอนมาเหลือแค่นี้ เพราะคนเขียนคือเฮียสุจิตต์กับบิ๊กขรรค์ชัยนั่นเอง” ศุ บุญเลี้ยง กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า โดยปกติเป็นคนที่ชอบอ่านโคลงกลอนอยู่แล้วหรือไม่ ศุ บุญเลี้ยง ตอบว่า ตนอยู่ในรุ่นที่ยังอยากอ่านนิตยสาร ยังอยากเสพบทกวี ยังรู้สึกว่าบทกวีมันเป็นสิ่งที่ละเมียดละไมและตกผลึก เหมือนถูกกลั่นออกมา สำหรับคนไม่ใช้ร้อยกรองแต่เป็นร้อยกลั่น คือการกลั่นชีวิตให้เหลือแต่ถ้อยคำที่สละสลวย สวย และมีพลัง

Advertisement

“มันยังเป็นอาหารของคนแบบเรา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะไม่เข้าถึงคนจำนวนมาก เหมือนอาหารบางอย่างที่ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน” ศุ บุญเลี้ยง กล่าว

ศุ บุญเลี้ยง กล่าวต่อไปว่า การที่มหกรรมหนังสือกลับมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้นค่อนข้างไกลบ้านตนมาก แต่คนอื่นสะดวกเพราะเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน คิดว่าการที่มีคนมามากเพราะน่าจะโหยหาอดีต นอกจากนี้ ยังเดินทางสะดวก และเรารู้สึกว่าเอาชนะโควิดได้แล้ว สามารถกลับมาเจอกันได้แบบตัวเป็นๆ ได้เห็นคนอ่านและสำนักพิมพ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image