‘ชานันท์’ ยก จอมพล ป. สร้างภรรยามีบทบาทสาธารณะ ชวนอ่านหลังบ้านคณะราษฎร

‘ชานันท์’ ยก จอมพล ป. สร้างภรรยามีบทบาทสาธารณะ ชวนอ่านหลังบ้านคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่บูธมติชน i48 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในแนวคิด “Booktopia มหานครนักอ่าน” ซึ่งจัดขึ้นวันนี้เป็นวันสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในช่วงบ่ายถึงค่ำว่า มีผู้เข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างคับคั่ง

นายชานันท์ ยอดหงษ์ เจ้าของผลงาน “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 ที่มากับปกใหม่ฉลองพิมพ์ครั้งที่ 9 และ “หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง” หนังสือรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19” ให้สัมภาษณ์หลังจบกิจกรรมแจกลายเซ็นในช่วงบ่ายว่า วันนี้ได้แจก Rainbow Pen ปากกาสีรุ้ง เป็นของที่ระลึกให้ผู้มาขอลายเซ็น เนื่องจากตนผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และ LGBTQ ด้วย ปากกาสีรุ้งน่าจะตรงความหมายมากที่สุด เพราะ “ธงรุ้ง” ก็เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว LGBTQ และสอดคล้องกับหนังสือ “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 ด้วย

“วันนี้ดีใจ คนแรกคือรองศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.) มาซื้อหนังสือ ดีใจที่มีคนอ่าน คือไม่ว่าใครซื้อก็ดีใจอยู่แล้วที่เขาจะได้อ่าน เพราะอยากให้ทำความรู้จักกับคณะราษฎรในมิติที่หลากหลายมากขึ้น ในมุมมองต่างๆ ว่ามีกลไกการเคลื่อนไหวอย่างไร ส่งผลในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร เขาอาจไม่รู้ว่าเป็นมรดกของคณะราษฎรอีกชุดหนึ่งเหมือนกัน” นายชานันท์กล่าว

Advertisement

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงหนังสือหลังบ้านคณะราษฎรที่โด่งดัง นายชานันท์กล่าวว่า เรื่องของการปฏิวัติ 2475 และเรื่องของคณะราษฎรยังเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจรู้จักได้เรื่อยๆ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนผันของการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ถือว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญมาก และมีชุดประวัติศาสตร์ที่หลากหลายมาก ในเรื่อง 2475 ที่ผ่านมาอาจมีมุมมองในเชิงลบบ้าง การเขียนประวัติศาสตร์ในเชิงรบต่อต้านราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในปี 2563 เป็นต้นไป มีการใช้คำว่าคณะราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และมีการพูดถึงประวัติศาสตร์คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 อีกครั้งหนึ่ง อย่างเข้มข้นมาก อย่างมีนัยสำคัญ

“ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนจะได้มาดู ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจ และวิวัฒนาการการเจริญเติบโตของประชาธิปไตยไทยด้วย ไม่มีเฉพาะหลังบ้านคณะราษฎร สำนักพิมพ์มติชนจะมีหนังสือหลายเล่มที่ว่าด้วยคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 และไม่ได้เป็นการพูดถึงเรื่องการเมืองล้วนๆ ในสภา หรือการปฏิวัติอย่างเดียวแล้ว

“เช่น หลังบ้านคณะราษฎรก็จะพูดถึงเรื่องบทบาทของผู้หญิงเรื่องของเพศสภาพ หรือบางเล่ม เช่น ปฏิวัติที่ปลายลิ้น เขียนโดย ชาติชาย มุกสง เป็นเรื่องโภชนาการอาหารไป หรือ 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน
เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ จะเป็นประวัติศาสตร์ในมิติต่างๆ ของคณะราษฎร เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น มีการพูดถึงคณะราษฎรในมิติที่หลากหลายและกว้างขึ้น” นายชานันท์กล่าว

Advertisement
ชานันท์ ยอดหงษ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่า ในเรื่องหลังบ้านคณะราษฎรสนใจอะไรเป็นพิเศษ นายชานันท์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นการพูดถึงการปฏิวัติ 2475 ในเรื่องของเพศสภาพและบทบาทของผู้หญิงเลยอยากพูดสิ่งเหล่านี้ที่หายไปในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ด้วยโดยเฉพาะคนที่เป็นภรรยา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในบรรดาท่านผู้หญิง หรือคุณหญิงในหลังบ้านคณะราษฎร มีคนไหนประทับใจเป็นพิเศษหรือไม่ นายชานันท์กล่าวว่า คนที่โดดเด่นที่สุดจะเห็นเป็น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เพราะด้วยความที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากในสมัยคณะราษฎรด้วย และเป็นรัฐบาลที่ยาวนานมากในช่วงเวลานั้น จึงทำให้ท่านผู้หญิงละเอียดมีบทบาทมาก

“ในขณะเดียวกันถ้านับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา จอมพล ป.ก็ถือว่านายกฯคนเดียวในประเทศไทย ที่ให้บทบาทภรรยามากในพื้นที่สาธารณะ และท่านผู้หญิงละเอียดก็มีโครงการ มีบทบาทมาก เหมือนกันที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับระบบการปกครองใหม่ด้วย ทั้งเรื่องผู้หญิงเอง ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ วิถีประชาชน และความรู้ที่เกี่ยวกับประชาชนด้วย” ชานันท์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สนใจที่จะทำเรื่องอะไรในผลงานต่อไป นายชานันท์กล่าวว่า ยังคิดไม่ออก แต่สนใจหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ หรือ LGBTQ ในช่วงของเดือนตุลาคม 2516 หรือ 2519 ซึ่งเขาน่าจะมีตัวตนเช่นเดียวกัน เพราะยังไม่มีใครพูดถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ในช่วงเวลานั้น หรือว่าในช่วงนั้นมีกลุ่มเคลื่อนไหวอะไรบ้าง มีบทบาทตัวคนอย่างไรบ้าง เหมือนหลังบ้านคณะราษฎรที่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องผู้หญิง อาจลองเขียนดูและหาข้อมูล

นอกจากนี้ นายจักรภัทร พิบูลย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมขอลายเซ็น แต่ไม่ได้นำหนังสือมาจึงให้เซ็นในเศษกระดาษแทน

นายจักรภัทรกล่าวว่า เห็นในอินสตาแกรมของนักเขียนในสตอรี่จึงมาขอลายเซ็นในวันนี้ เพราะตอนแรกไปเจอที่งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงได้ติดตามไอจีและเขาติดตามกลับมา ตอนแรกก็ไม่ได้รู้จักกันขนาดนั้น

ชายรายหนึ่ง ไม่ประสงค์ออกนาม หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม ได้ซื้อหนังสือ “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 และ “หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง” กล่าวว่า ที่ซื้อ 2 เล่มนี้ เนื่องจากตนชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะมีกิจกรรมในวันนี้ แต่ทราบว่าวันนี้จะมีนักเขียนสลับกันมา ครั้งนี้มาครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ และมางานหนังสือวันนี้เป็นวันที่ 3 และมากับลูกด้วย ที่สนใจซื้อ 2 เล่มนี้ เพราะมีรอยต่อระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อจนถึงรัชกาลที่ 6 มีอะไรที่น่าสนใจจึงต้องเก็บรายละเอียดเล็กน้อย ในหนังสือที่ลงรายละเอียดในช่วงนั้น

“วันนี้มาซื้อของอาจารย์ชานันท์อย่างเดียวเลย ที่จริงซื้อไปแล้วหลายเล่ม แค่วันนี้มาเจอเลยใช้จังหวะนี้ซื้อเลย งานหนังสือครั้งนี้ค่อนข้างคึกคัก เข้าใจว่ารถติดมาก เมื่อวานมาก็รถติดมาก” ชายรายหนึ่งกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image